ชีวิตที่พอเพียง : ๘๐๙. สุขใจไปกับงานสร้างสรรค์



          วันที่ ๑๖ ก.ค. ๕๒ เป็นวันแห่งการสร้างสรรค์สำหรับผม   ที่จริงผมไม่ได้สร้างสรรค์หรอก   แต่ผมไปร่วมใบบุญในการสร้างสรรค์กับเขาด้วย   ถึง ๔ เรื่องในวันเดียว

          เช้ามืด เป็นเรื่อง “โครงการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” ที่ สกอ.   ที่จะเป็นกลไกหนึ่งของการ “ปฏิรูปการศึกษา”    ในลักษณะที่ดำเนินการนอกกรอบของทางการ    เรื่องนี้ รศ. ประภาภัทร นิยม แห่งสถาบันอาศรมศิลป์และคณะจะเป็นผู้ดำเนินการ    โดยใช้ Model 3 ห่วง : Three components of holistic education for Transformative Learning   คือ (1) Deep learning  (2) Learning by Doing  (3) Communication – Based Learning   โดยมีการเรียน Morality & Ethics เป็นห่วงกลางร้อย ๓ ห่วงเข้าด้วยกัน


          ตอนสายไปร่วมประชุมเตรียมการเปลี่ยน พรพ. เป็น สรพ. (สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน))   ซึ่งต้องมีการเตรียมเรื่องข้อบังคับต่างๆ  เรื่องการเงิน  และเรื่องการเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง    นี่ก็เรื่องใหญ่ของขบวนการคุณภาพของบ้านเมือง   และเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาวะ

 
          ตอนบ่ายไปร่วมประชุมคณะทำงานของสถาบันคลังสมองของชาติ   ในการเตรียมเปิดหลักสูตรส่งเสริมธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดีในมหาวิทยาลัย   เราได้ข้อสรุปวิธีทำงานที่ชัดเจนมาก   ว่าสถาบันฯ จะต้องเป็นเจ้าของ teaching material ทั้งหมด   ไม่ใช่ learning facilitator เป็นเจ้าของอย่างในมหาวิทยาลัย   และสถาบันจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประสานงานที่เป็นเจ้าของแต่ละ learning module   คอยประสานงานและ “ใช้” วิทยากรที่ทำหน้าที่ facilitator ด้วยความนอบน้อม   เราหวังว่าการดำเนินการของสถาบันนี้ จะมีเสน่ห์ดึงดูดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยอยากมาเข้าเรียน   โดยที่ กกอ. จะค่อยๆ ชักจูงให้เข้าเรียน   และในที่สุดออกกฎว่าผู้ที่จะเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้จะต้องผ่านหลักสูตรนี้เสียก่อน    นี่คือการเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย   ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับบ้านเมือง


          ตกเย็น ผมไปร่วมเวที ลปรร. ด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม   จัดโดย สวทน.   ซึ่งเชิญ อ. นพ. สรภพ เกียรติพงษ์สาร นักเรียนทุนอานันทมหิดล ที่ไปเรียนด้าน Science Policy ที่เวลานี้เป็น research fellow ด้าน Science, Technology and Public Policy ที่ John F. Kennedy School of Government, Harvard University   มาพูดเรื่อง Healthcare Innovations : Global Trend and Opportunities for Thailand   ซึ่งตัวสาระจริงๆ คือเรื่องเซลล์ต้นกำเนิด (stem cells)   ที่ในเมืองไทยมีคนนำมาหากินแบบ stem cell tourism


          ผมไม่ได้อยู่จนตลอดการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็น   แต่เมื่อฟังแล้วผมคิดว่าหลักการง่ายนิดเดียว    แต่ในทางปฏิบัติซับซ้อนมาก   ความซับซ้อนอยู่ที่กิเลสตัณหามนุษย์   หลักการอยู่ที่ do good, avoid doing harm    ดังนั้นก่อนจะนำเทคโนโลยีใหม่ใดๆ มาใช้ ต้องมีหลักฐานเสียก่อนว่ามีความเข้าใจผลดีและผลเสียชัดเจนพอ    และรู้วิธีป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้น   เรื่องนี้นอกจากเป็น science policy แล้ว ยังเป็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมทางการแพทย์ด้วย  


          ผมมีความสุขจริงๆ กับชีวิตสร้างสรรค์ในวันนี้

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ก.ค. ๕๒

       

หมายเลขบันทึก: 283683เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท