HR&Management : ศิลปะแห่งการบริหารชีวิต


HR&Management : ศิลปะแห่งการบริหารชีวิต

HR&Management : ศิลปะแห่งการบริหารชีวิต

 

"ไม่ต้องรอให้งานเสร็จแล้วจึงเป็นสุข แต่ทำงานอย่างเป็นสุขและทำงานให้เสร็จอยู่ในปัจจุบันขณะอยู่ตลอดเวลา"

เชื่อว่าทุกคนคงเคยเผชิญกับปัญหา "ไม่มีเวลา" มาแล้ว ไม่มีเวลาทำงาน ไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ หรือชอบ หรือทำสิ่งที่คิด ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็จะเกิดความเครียดสะสมขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางคนอาจจะเครียดมากบ้างหรือน้อยบ้างต่างกันไป แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน ผู้ที่มีกิจกรรมด้านธรรมเพื่อรับใช้สังคมมากมาย มีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารเวลา ของท่านมาแบ่งปันให้เราฟัง ว่า

"เราต้องฝึกให้ชีวิตเราอยู่กับปัจจุบันขณะ ให้รู้ทันกายทันใจในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าถ้าแม่จะใช้ชีวิตในอนาคตแม่ต้องลงทุนอย่างเต็มที่ในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล ถ้าแม่จะทำอะไรในอนาคต ก็จะวางแผนในปัจจุบันขณะให้ควรแก่การงานในอนาคต (มีกายที่เคลื่อนไหว แต่มีใจรู้ตื่นและเบิกบาน) ทุกความคิด ทุกการกระทำและคำพูด ต้องมาจากจิตที่ไม่ขุ่นมัวในปัจจุบันขณะ ทำจิตให้คมชัดอยู่ในแต่ละขณะที่เป็นปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้สิ่งที่มากระทบ ปรุงแต่งจิตอย่างมีอวิชชาไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นไม่ว่าชีวิตของแม่จะเคลื่อนไปที่ไหนก็ตาม แม่จะบริหารจัดการอย่างอยู่ในปัจจุบันขณะ อย่างเคารพตัวเอง เมื่อเราเคารพตัวเองก็ง่ายที่จะเคารพผู้อื่น เคารพงานที่เราทำ เคารพความคิดที่แตกต่าง แต่ว่าไม่โกรธกันในความแตกต่าง นั่นก็จะเป็นการบริหารจัดการชีวิต จัดการงาน จัดการสังคมของเราในขณะนั้น ให้มันราบรื่น ถ้าสมมติว่าต้องไปอยู่ต่างประเทศ ก็ใช้ปัจจุบันขณะนั้นเป็นฐานแห่งการภาวนา แม่ก็ทำงานเสร็จอยู่ทุกขณะปัจจุบัน ไม่ทำงานคั่งค้าง ทำงานให้เสร็จและเป็นสุขในขณะทำงาน"

ท่านย้ำว่า ในการทำงานนั้นเรา "ไม่ต้องรอให้งานเสร็จแล้วจึงเป็นสุข แต่ทำงานอย่างเป็นสุข และทำงานเสร็จในปัจจุบันขณะอยู่ตลอดเวลา"

ถ้าเป็นงานที่ต้องอยู่เฉพาะที่ เช่น ถ้าเราไม่อยู่ในออฟฟิศ ท่านบอกว่า ก็ต้องมีการวางแผนการทำงาน มีทีมงาน เฉลี่ยโอกาสให้คนได้ทำงาน ไม่ต้องเก่งคนเดียว ต้องสร้างคนที่เก่งกว่าเราให้ได้ เราถึงจะทำงานได้มากขึ้น สร้างคงที่ทำงานได้ดีกว่าเรา เพื่อจะให้โอกาสของงานที่จะทำได้อย่างกว้างไกล ในขณะก็ลึกซึ้งด้วย "การวางแผนที่ดีคือการวางท่าทีของจิตให้มั่นคง" ท่านชี้แนวทางเพิ่มเติมด้วยว่า "อย่าทำงานไปกังวลไป ถ้าคนที่ทำงานมาก มักจะทำงานไปกังวลไป แล้วก็ความกังวลไม่ทำให้อะไรดีขึ้น ไม่ทำให้งานดีขึ้น แม่มองงานเป็นฐานแห่งการภาวนา ก็เหมือนการทำงานเพื่อเตือนสติให้เรามีสติให้เราเจริญขึ้น ใช้การทำงานเป็นฐานแห่งการทำงานให้เราเจริญขึ้น มันก็เลยมีการพัฒนาในขณะที่ได้ทำงานมาก ใจก็ได้รับการพัฒนามากด้วย"

เมื่อคิดตามเพียงเท่านี้ เราก็จะพบว่าการทำงานนั้นจะง่ายขึ้น และเราก็จะรู้สึกเป็นสุขกับการทำงานมากขึ้น ผลก็คือจะได้งานที่ดีและมีคุณภาพมากขึ้น

ส่วนปัญหาเรื่องความเห็นที่แตกต่างในที่ทำงาน แม่ชีศันสนีย์ มองว่าปัญหาคือ ปัญญา ไม่มีงานใดที่ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเรามองให้ปัญหาเป็นแบบฝึกหัด ที่จะทำให้เรารอบคอบ อาจหาญมากขึ้น เป็นข้อสอบว่าเราผ่านหรือไม่ผ่านในงานที่ทำมากกว่า ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าปัญหาไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นเสมือนหินลับมีด ที่มีไว้ให้เราได้แสวงหาความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำงานมากขึ้น แก้ปัญหาได้ ก็จะเป็นพลัง ทำให้เราฉลาดขึ้น มีความสามารถมากขึ้น

"ในการทำงานย่อมมีคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่เราต้องไม่โกรธไม่พยาบาทกัน การทำงานก็จะลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งหมายถึงทุกคนมีความคิดต่างกันได้ แต่ทิฐิในงานต้องเสมอกัน หมายถึงมีความมุ่งหวังภายนอก คือ ความสำเร็จของงานเป็นเป้าหมายเหมือนกัน ส่วนภายในใจของเราก็ให้มีธรรมเป็นเสาหลัก ถ้าเป็นแช่นนั้นแม้จะมีความเห็นต่างเราก็ยังรวมพลังกันได้ด้วยจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน แต่ความเห็นต่างที่เป็นความเห็นแก่ตัว จะนำไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวก และเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่ไม่ใช่พรรคพวกซึ่งคงยากที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี" คุณแม่ฯกล่าว

แม่ชีศันสนีย์ ทำงานธรรมะเพื่อรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดคือการส่งเสริมให้คนรู้จักใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต สามารถอยู่ได้อย่างไม่เป็นทุกข์ และไม่สร้างทุกข์ให้ผู้อื่น ด้วยการเปิด "สาวิกาสิกขาลัย มหาวิชชาลัยธรรมะเพื่อเยียวยาสังคม" ขึ้น เพื่อให้คนได้มาเรียนรู้ในการแบ่งปันและเกื้อกูลทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอย่างสงบเย็นและเป็นประโยชน์ต่อโลกได้ เป็นการศึกษา ที่มุ่งส่งเสริมให้คนบรรลุธรรมด้วยการเรียนรู้จากทั้งในและนอกระบบ ใช้เสถียรธรรมสถานเป็นห้องทดลองเรื่องชีวิตที่เห็นผลของการปฏิบัติจริง

"ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแต่ผู้หญิงเท่านั้น" คุณแม่ฯ บอกว่า ท่านอยากให้โอกาสคนที่ด้อยโอกาสได้มาเรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ทำให้ชีวิตแข็งแรงขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการบ่มเพาะความเกื้อกูลกัน ซึ่งเป็นสิ่งท่านมองว่าในสังคมกำลังขาดแคลน ท่านอยากให้คนได้เรียนรู้ทั้งการเป็นผู้ให้และผู้รับ ได้เรียนรู้จักการเสียสละ แบ่งปัน และรู้จักรับใช้ผู้อื่นมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ หมายถึงแม้แต่ในบทบาทที่ตัวเองเป็น เช่น เป็นนักธุรกิจ ก็จะเป็นนักธุรกิจที่สงบเย็น มีจิตที่คิดจะให้ เพราะการให้จะทำให้จิตใจเบาสบาย ไม่ทุกข์ ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมของการรู้จักตัวเอง และได้ชื่นชมได้ความเสียสละของตัวเอง และไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ง่ายๆ หรือ เป็นนักการเมืองก็ไม่ทำในสิ่งที่จะสร้างความย่อยยับให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง

"การมาเรียนรู้ในเรื่องชีวิตแบบนี้ ถ้านำกลับไปใช้ในที่ทำงานก็จะทำให้ เกิดความเป็นเพื่อน เป็นที่รักของผู้อื่นได้ง่าย เพราะคนที่เข้าใจอารมณ์ตัวเอง ก็ย่อมจะเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นได้ เป็นเพื่อร่วมทุกข์ให้แก่เขาได้ และไม่เป็นทุกข์เพราะความหยาบคายของตัวเองด้วย" ทั้งหมดนี้จะเป็นพลังบวก ที่มีพลังมหาศาล นำไปสู่ความสำเร็จ

หลักในการคิดที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่ง คือ บางครั้งหากเราทำธุรกิจก็อาจมองธุรกิจของเรา เป็นแบบฝึกหัด ที่จะได้ฝึกติดตามอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นของตัวเองในแต่ละขณะจิตที่ฝึกดีแล้วจะได้ไม่หลงติดในอารมณ์หรือไม่จมอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมากเกินไป ซึ่งทำได้เช่นนั้น ก็จะทำให้พลังชีวิตของเราเข้มแข็งแข็งแรงขึ้น เป็นฐานในการดำเนินชีวิตที่ดี ทำให้เราก็จะมีจิตใจที่เข้มแข็งเบิกบาน ไม่ขุ่นมัว (หรือ จิตไม่ตกง่ายๆ นั่นเอง)

แม่ชีศันสนีย์ กล่าวถึงการเตรียมตัวในช่วงธุรกิจขาลงว่า อย่างไรชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป แต่ถ้าเรารู้จักที่จะมีความสุขมากขึ้น จากการใช้น้อยลงได้ ชีวิตก็จะเป็นสุขอยู่ได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่เราควรต้องพัฒนาคือ อริยทรัพย์ ซึ่งก็คือสติปัญญา นั่นเอง

นอกจากนี้ ในภาวะเศรษฐกิจขาลงนี้หากมองในแง่ดี อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เหมาะจะตีเหล็กขณะที่กำลังร้อนให้ขึ้นรูป ตามที่เราต้องการ "อาจจะเป็นจังหวะที่ดีในการผลักดันให้คนทำงานได้ดีขึ้น มีความฉลาดแหลมคมมากขึ้น ก็ได้" คุณแม่ฯ กล่าว

การมองโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยความเข้าใจ จะเป็นกำลังใจที่ช่วยให้ทุกคนทำงานต่อไป และมีความสุขในการก้าวไปข้างหน้าในทุกๆ วัน ได้ต่อไป และถ้าเรามีใจเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ และมีธรรม เป็นแก่นของชีวิต แม้ว่าในยามที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่พุ่งขึ้น เราก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ ถ้ารู้จักคำว่า "สุขง่าย ใช้น้อย" และนำมาเป็นหลักในการทำงานและใช้ชีวิตนับจากนี้ไป

 

 

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

 

หมายเลขบันทึก: 283144เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2009 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

แวะมาเยี่ยมเยือนค่ะ ขอบคุณที่ให้ความรู้

บริหารชีวิตดี...จะมีความสุขเสมอ

บริหาร จัดการชีวิตลงตัว สุขเสมอจ้า

การบริหารชีวิตแบบมีศิลปะ สามารถทำให้เรามีความสุขได้จริงๆค่ะ

ขอบคุณนะคะ...น้องเข้ามาเป็นกำลังใจให้ในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปนะคะ ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้คะ

  • บันทึกสาระนี้ ดีมากเลยนะครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท