นักส่งเสริมการเกษตรติดดิน ( 2 );ไปเยี่ยมครูติดแผ่นดินข้าวที่ชื่อถวิล สีวัง


ผลงานของคุณถวิล สีวังซึ่เป็นเกษตรกรต้นแบบครูติดแผ่นดินข้าวจังหวัดกำแพงเพชร

นักส่งเสริมการเกษตรติดดิน  ในตอนที่2 นี้จะขอกล่าวถึงผลงานของ คุณถวิล สีวัง  ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบครูติดแผ่นดินข้าวของจังหวัดกำแพงเพชร  เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ผมและอ.สิงห์ป่าสัก ได้ออกปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อตั้งใจไปเยี่ยมคุณพี่ถวิล สีวัง ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านสาขาทำนา หรือที่เรียกกันว่าเกษตรกรที่เป็นต้นแบบครูติดแผ่นดินข้าว ซึ่งอยู่ที่บ้านเลขที่ 2 บ้านสามง่าม ตำบลวังบัว อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีผลงานเด่นเชิงประจักษ์ในด้านการลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งมีความรู้ในการผลิตจุลินทรีย์จากหน่อกล้วยเพื่อย่อยสลายฟาง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ส่งผลให้ต้นข้าวเจริญเติบโตเร็วให้ผลผลิตสูง นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตต่อไร่ลงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

  

       คุณถวิล สีวัง ได้เล่าให้ฟังว่า ตนเองและครอบครัว ได้ทดลองทำการปลูกข้าวพันธุ์ดี  โดยใช้เมล็ดพันธุ์ในการหว่านอัตรา  2 ถังต่อไร่ มีการทำจุลินทรีย์จากหน่อกล้วยเพื่อย่อยสลายฟางข้าวไว้ใช้เอง เพื่อทำการลดต้นทุนการผลิตข้าว และมุ่งเน้นการปรับปรุงบำรุงดิน

 

 

 

        สำหรับวิธีการผลิตจุลินทรีย์จากหน่อกล้วยนั้นไม่ยากเลย โดยเริ่มต้นจากทกการคัดเลือกหน่อกล้วยที่อวบใหญ่ มีใบธง 2 ใบ ขุดเอาหัวและราก ให้ได้น้ำหนักรวม 60 กก. สับให้ละเอียดแล้วนำใส่ลงถังขนาด 200 ลิตร แล้วทำการเติมกากน้ำตาล จำนวน 20 กก. แล้วเติมน้ำสะอาดให้พอดีที่จะคนได้ นำน้ำสะอาดจำนวน 20 ลิตรผสมสารเร่งพด.2 จำนวน 4 ซอง คนทิ้งไว้นาน 5 นาทีแล้วเทลงไปในถังหน่อกล้วยที่เตรียมไว้แล้ว จากนั้นเก็บไว้ที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ใช้ภาชนะปิดโดยไม่ต้องทำการปิดมิดชิดเท่าไหร่  จากนั้นก็ทำการคนทุกเช้าและเย็นของทุกวัน จนครบ 7 วัน จากนั้นทำการคนทุก 10-15 วันต่อครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 20 วัน สามารถนำใช้ได้ โดยคั้นกรองเอาน้ำออก และสามารถเก็บไว้ได้นาน ถึง 6 เดือน

  

 

 

          จากการทดลองใช้ปริมาณของสารจุลินทรีย์จากหน่อกล้วยที่ทำนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการเร่งการย่อยสลายฟางข้าว ถ้าหากเกษตรกรที่เกี่ยวข้าวออกขากแปลงใหม่ๆอย่าให้ฟางแห้ง สูบน้ำใส่ ใช้อีขลุบย่ำเพื่อให้ฟางล้มลงให้จมน้ำ แล้วทำการฉีดพ่นจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย อัตราที่ใช้ ไร่ละ 5 ลิตรหมักไว้นาน ประมาณ 7-10 วัน หาทิ้งไว้เวลานานกว่านี้ยิ่งดี  เท่าที่จำได้และมีการบันทึกข้อมูลผลผลิตไว้ จากทำการทดสอบ ในพื้นที่นาของตนเอง จำนวน 11 ไร่ 2 งาน ครั้งที่ 1.ใช้พันธุ์ข้าวอายุสั้น ( 70 วัน ) ได้ผลผลิตเฉลี่ย 83 ถังต่อไร่ ครั้งที่ 2. ใช้พันธุ์ข้าวพิษณุโลก 2 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 90 ถังต่อไร่

 

        คุณถวิล สีวัง ยังได้เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า ในปัจจุบันนี้ มีเกษตรกร(ชาวนา)ในชุมชนเดียวกัน ได้ทำตามที่ตนเองแนะนำหลายรายแล้วและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตนเองทำการทดลองผลิตจุลินทรีย์หน่อกล้วยไว้ใช้เองมาหลายปี และยังได้ทำหน้าหน้าที่เป็นอาสาสมัครเกษตรประจำตำบลคือหมอดินอาสา ประจำหมู่บ้านอีกด้วย ปัจจุบันยังมีแนวคิดว่าจะใช้สถานที่แปลงนาของตนเองเพื่อทำการตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการลดต้นทุนการผลิตข้าวในชุมชนหรือเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และบริการทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรในชุมชนสามารถมาเรียนรู้ฝึกทักษะในการผลิตจุลินทรีย์ สูตรต่างๆรวมทั้งการตรวจวัดpH ดิน และการตรวจเช็คธาตุอาหารในดินตลอดจนการให้คำแนะในการใช้สูตรปุ๋ยที่ประหยัดตรงตามชุดดินของตนเองต่อไป ซึ่งช่วงปลายเดือนสิงหาคมได้นัดหมายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมลดต้นทุนในเขตหมู่ที่ 3 บ้านสามง่าม อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ได้นำตัวอย่างดินในแปลงนาของตนเอง  รับการฝึกทักษะด้านการวัดpH.ดิน และการตรวจสอบธาตุอาหาร  พร้อมทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไป......

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:คุณถวิล สีวัง

หมู่3 บ้านสามง่าม ต.วังบัว อ.คลองขลุงจ.กำแพงเพชร

  โทร.0810420783

ผู้เขียน: เขียวมรกต

4 สิงหาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 283056เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2009 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท