ทำไมถึงอยากจะศึกษาเรื่อง "การพิสูจน์สัญชาติ"..!!!


ความเป็นมาเป็นไปที่ทำให้ข้าพเจ้าสนใจศึกษาประเด็นการพิสูจน์สัญชาติ.. เริ่มต้นอาจจะเกิดจากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเคสหนึ่งที่เป็นคนหนีภัยความตายมาจากประเทศกัมพูชาสมัยที่เขมรแดงเข้ายึดอำนาจ แล้วก็ต้องการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชา โดยผ่าน MOU แต่ต่อมาก็นึกไปถึงกรณีอื่นๆ เช่น นางนา คำแสง คนเวียดนามที่ไปขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานกัมพูชา ก็เลยสงสัยว่าแล้วจะพิสูจน์สัญชาติผ่านได้ยังไง แล้วจะมีวิธีไหนที่จะพิสูจน์สัญชาติเวียดนามไหมนะ.. สุดท้ายก็เลยออกมาอย่างที่เห็น..!?!

จากข้อเท็จจริง พบว่า ผลของการเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ (Globalization) นั้น ทำให้โลกเราไม่สามารถหยุดยั้งความเคลื่อนไหวอย่างเสรี (Free Flow) ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของสินค้า, บริการ, ทุน, ข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่ "คน" ก็ตาม

ประเทศไทยเองก็เป็นรัฐที่มีอาณาบริเวณที่ติดต่อกับหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศพม่า, ลาว, กัมพูชา และมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมี ประเทศเวียดนาม และ จีน ซึ่งแม้จะไม่ได้มีพรมแดนที่ติดต่อกัน แต่ก็ตั้งอยู่ไม่ห่างจากประเทศไทยมากนัก และยังมีการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ใกล้ชิดกับไทยอย่างมาก ทั้งเรื่องการค้า การลงทุน หรือการเดินทางไปมาระหว่างประเทศของคนชาติ จึงจะเห็นได้ว่าการห้ามหรือจำกัดไม่ให้คนชาติของแต่ประเทศที่กล่าวมาเดินทางไปมาข้ามพรมแดนนั้น เป็นไปได้ยากยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน

และด้วยเหตุนี้ ประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงไม่ได้มีเฉพาะ "คนชาติ" (คนสัญชาติไทย) เท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยคนต่างด้าวจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศพม่า, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย, เวียดนาม และจีน ที่เดินข้ามเข้ามาและอาศัยอยู่ ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป

ในจำนวน คนต่างด้าวเหล่านี้มีทั้ง 1) คนที่อาจจะมีสัญชาติไทย คือ คนต่างด้าวที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างเข้มข้น และรัฐไทยมีหลักเกณฑ์ยอมให้สัญชาติไทย 2) คนที่มีสัญชาติของรัฐอื่น คือ คนต่างด้าวที่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลของรัฐต้นทาง 3) คนที่อาจจะมีสัญชาติของรัฐอื่น คือ คนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลของรัฐต้นทาง แต่มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างเข้มข้น กล่าวคือ มีพยานเอกสารหรือพยานบุคคลที่สามารถยืนยันได้ และ 4) คนที่ไม่มีสัญชาติของรัฐใดเลย (คนไร้สัญชาติ) คือ คนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล และไม่มีพยานเอกสารหรือพยานบุคคลที่สามารถยืนยันจุดเกาะเกี่ยวของตนได้ เช่น คนไร้รากเหง้า เป็นต้น

เพราะฉะนั้น จากหลักเกณฑ์ด้านกฎหมายนโยบายที่มีอยู่ การให้ความช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลสำหรับ คนต่างด้าวเหล่านี้ จึงมีความแตกต่างกันออกไปตามข้อเท็จจริงของแต่ละกลุ่มบุคคลที่กล่าวมาข้างต้นการให้สัญชาติไทยมิใช่ภารกิจที่รัฐไทยต้องกระทำเสมอไป แต่การทำให้คนเหล่านี้กลับคืน หรือ ได้รับสิทธิในสถานะบุคคลที่เหมาะสมกับจุดเกาะเกี่ยวที่พวกเขามีกับรัฐต้นทาง หรือที่เรียกว่า การพิสูจน์สัญชาติกับรัฐต้นทาง ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถกระทำได้ ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายระหว่างประเทศได้วางหลักไว้ว่า การกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐ แต่รัฐก็ไม่อาจปฏิเสธบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างเข้มข้นกับรัฐได้ เว้นแต่มีกฎหมายระหว่างประเทศว่าไว้เป็นอย่างอื่น

ปัจจุบันประเทศไทยมีเพียงข้อตกลงในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากประเทศพม่า ลาว และ กัมพูชา เพื่อส่งแรงงานต่างด้าวกลับประเทศต้นทาง ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน (Memorandum of Understanding: MOU) ที่รัฐบาลไทยได้ทำกับรัฐบาลของประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา เท่านั้น แต่ยังไม่ปรากฏแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนที่จะพิสูจน์ความเป็นคนชาติของ 1) คนต่างด้าวที่อาจจะมีสัญชาติของประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา อื่น ที่ไม่ได้อยู่ในสถานะแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐไทย และ 2) คนต่างด้าวที่อาจจะมีสัญชาติของประเทศประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และ จีน

การพาคนเหล่านี้กลับบ้าน โดยผ่านวิธีการพิสูจน์สัญชาติกับรัฐต้นทาง จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของประชากรในอำนาจอธิปไตยของรัฐไทย และเมื่อประเทศไทยสามารถจัดการ คนซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ได้แล้ว การจัดการประเทศในด้านอื่นๆ ก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดภาระของรัฐไทยในการจัดการคนต่างด้าวที่มีหรืออาจจะมีสัญชาติของรัฐอื่นอีกด้วย

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องการจะ 1) ศึกษาแนวทางหรือหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์สัญชาติประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ทั้งแนวทางตาม MOU และ อื่นๆ และ 2) ศึกษาแนวทางหรือหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์สัญชาติประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และจีน ด้วยความหวังที่จะสามารถพัฒนาแนวทางและหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปสู่ "ความตกลงในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติ" ต่อไปในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 282362เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2009 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตกลงจะมาคุยให้ฟังวันจันทร์ เวลา ๑๔.๐๐ น. ใช่ไหมคะ

พวกนักศึกษาปริญญาโทเอกที่สนใจ กรุณาบอกมานะคะ จะได้เตรียมห้องถูก

รบกวนใครที่รู้จักคุณนก ธนภัทร โทรชวนหน่อยค่ะ

 

การจำแนกคนจากมุมของการพิสูจน์สัญชาตินั้นอาจทำได้หลายแบบนะคะ

ลองมาแลกเปลี่ยนกันนะคะ

น่าสนใจมากครับ

ผลของ Globalization ทำให้เกิด Free Flow ...

ขอบคุณครับ

จากการอ่านบันทึกที่นี่ นอกจากอาจารย์Archanwell
คุณเป็นอีกหนึ่งท่านที่เขียนบันทึก ตอกย้ำปัญหาและตีแผ่ปัญหาของคนไร้สัญชาติได้น่าสนใจ

 

ชื่นชม ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท