จี้พัฒนาคุณภาพบัณฑิตครู


ครูพันธุ์ใหม่

เผย 57 สถาบันผลิตครูคุณภาพแค่พอใช้ พบ "ม.มหาสารคาม" ดีมากแห่งเดียว
+โพสต์เมื่อวันที่ : 31 ก.ค. 2552

.....

 

สมศ.เผยผลประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของคณะคุรุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ 57 สถาบันอุดมศึกษารอบสอง พบคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผ่านการประเมินระดับดีมากเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้เท่านั้น ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในเรื่องคุณภาพบัณฑิตและงานวิจัย ชี้หลักสูตรส่วนใหญ่เน้นวิชาครูมากเกินไป

วานนี้ (30 ก.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุม “การปฏิรูปการศึกษารอบสอง การประเมินรอบสาม : คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา” และปาฐกถาพิเศษ ว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ตนได้ลงนามในหนังสือสรุปทิศทางการปฏิรูปการศึกษารอบสอง เพื่อจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว โดยประเด็นที่จะนำเสนอ ครม.นั้น การปฏิรูปการศึกษารอบสองจะเป็นการปรับแต่งและต่อยอด ติดตามการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการมาตั้งแต่รอบแรก ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษารอบแรกจะเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างขององค์กรทางการศึกษามารวมด้วยกันจนเกิดเป็น ศธ.และยังเกิดองค์กรขึ้นอีกหลายแห่งจากการปฏิรูปการศึกษา อาทิ สถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ที่ทำหน้าที่วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สมศ.ที่ทำหน้าที่วัดมาตรฐานคุณภาพของสถานศึกษา และยังมีอีกหลายองค์กรที่เกิดขึ้นแล้วและองค์กรที่ยังไม่ได้ดำเนินการ นอกจากนี้ ในช่วง10 ปีที่ผ่านมาได้เน้นการปฏิรูปการศึกษาในระบบค่อนข้างมาก

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า เรื่องที่ต้องติดตาต่อยอดในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง คือ เรื่องคุณภาพ การให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่เสนอ ครม.จะเน้นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน คือ ต้องการทำให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยการศึกษาทุกระบบ ทั้งการศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน สายอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ซึ่งการศึกษานอกระบบก็จะต้องมีคุณภาพ โดยมีเรื่องที่ เน้น 3 เรื่อง ที่ต้องช่วยกัน คือ 1.คุณภาพจะเน้นสร้างคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ การการบริหารจัดการยุคใหม่ และพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ 2.โอกาส และ 3.การมีส่วนร่วมจะต้องให้ทุกส่วนเข้ามาร่วมในการสนับสนุนการศึกษา นอกจากนี้จะมีการเสนอ ครม.ตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาอบรมวิชาชีพครูเพื่อคุมคุณภาพของครู และการเข้ามาดูแลการผลิตครูของครูหรืออาจารย์ในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ซึ่งต้องยอมรับว่ากำลังจะเป็นวิกฤติหนักอันเนื่องจากปัญหาการขาดครูของครูหรืออาจารย์ในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่จะมีการเกษียณอายุราชการเกินครึ่งของจำนวนอาจารย์ที่มีอยู่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า จากผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของคณะคุรุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ 57 สถาบันอุดมศึกษารอบสอง พบว่า มีเพียง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ผ่านประเมินในระดับดีมาก อีก 53 แห่งอยู่ในระดับดี 2 แห่ง อยู่ในระดับ พอใช้ และอีก 1 แห่งต้องปรับปรุง ซึ่งในภาพรวมนั้นคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศมีมาตรฐานในระดับพอใช้ เพราะยังมีปัญหาในเรื่องคุณภาพบัณฑิตและงานวิจัย ส่วนหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาครูมาก ครูที่จบออกมาก็สอนได้ดีแต่ไม่สามารถตามวิทยาการและความก้าวหน้าได้ทัน

ด้านนายวิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวบรรยาพิเศษเรื่อง “สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ” ว่า สถาบันคุรุศึกษาฯ จะเน้นการเสริมสร้างเอกภาพด้านนโยบาย คุณภาพและมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครู การรับรองวิทยฐานะสถาบัน ส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งของสถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครูตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษารูปแบบและวิธีการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนผลิตและพัฒนาคณาจารย์ วิทยากรและผู้นำทางการศึกษาตามความต้องการของสถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู ทั้งนี้จากข้อมูลของคณะศึกษาศาสตร์-คุรุศาสตร์ประมาณ 26 แห่ง พบว่า มีอาจารย์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 20% ปริญญาโท 60% และระดับปริญญาเอก 20% และมีอาจารย์ที่มีตำแหน่งศาสตราจารย์ในภาพรวมเพียง 0.15% ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก ซึ่งหากอาจารย์ในคณะดังกล่าวไม่มีคุณวุฒิ คุณภาพทางวิชาการแล้วก็คงจะคาดหวังคุณภาพของนักศึกษาที่จบออกมาได้ไม่มาก


ที่มา  ASTVผู้จัดการออนไลน์ 31 กรกฎาคม 2552 และจาก http://www.kroobannok.com/16291


 

จี้พัฒนาคุณภาพบัณฑิตครู-วิจัยผลประเมินสมศ.คะแนนต่ำ-ห่วงครูเกษียณ7.2หมื่น

สมศ.ประเมินคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ 57 แห่ง ชี้แค่ 1 แห่งอยู่ระดับดีมาก อีก 52 แห่งระดับดี คะแนนน้อยด้านคุณภาพบัณฑิต-วิจัย จี้ปรับปรุงครั้งใหญ่ รมว.ศธ.ห่วง 9 ปีครูเกษียณกว่า 7.2 หมื่นคน เร่งผลิตเพิ่ม 3.5 หมื่นคน เร่งตั้งสถาบันคุรุศึกษา

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า สมศ.ได้ประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อรับรองมาตรฐานคณะคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ 57 แห่ง พบว่า มีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แห่งเดียวผ่านประเมินระดับดีมาก ระดับพอใช้ 4 แห่ง ระดับต้องปรับปรุง 1 แห่ง ที่เหลือ 52 แห่ง หรือร้อยละ 90 อยู่ระดับดี ซึ่งคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยชั้นนำอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ส่วนใหญ่ทำคะแนนประเมินได้สูง ระดับดี หรือดีมาก ในมาตรฐานที่ 3 ถึง 7 คือ บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม การพัฒนาสถาบันและบุคลากร หลักสูตรและการเรียนการสอน และการประกันคุณภาพ

ส่วนมาตรฐานที่ 1 และ 2 คือ คุณภาพบัณฑิตและงานวิจัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ส่วนใหญ่ทำคะแนนระดับพอใช้ถึงระดับดี โดยมาตรฐานที่ 1 มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)พระนครศรีอยุธยาแห่งเดียวได้ระดับดีมาก ส่วน 31 แห่ง ซึ่งรวมมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ระดับดี อีก 22 แห่ง ระดับพอใช้ อีก 3 แห่งต้องปรับปรุง เป็นมรภ. 2 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 1 แห่ง ทั้งนี้ พบว่า บัณฑิตได้งานทำร้อยละ 84.6 และได้งานทำตรงสาขา ร้อยละ 79.88 มหาวิทยาลัยรัฐชั้นนำมีปัญหาบัณฑิตไปทำงานในสายอื่นมาก ส่วนมาตรฐานที่ 2 มรภ.นครปฐมและมรภ.สุราษฎร์ธานีได้ระดับดีมาก อีก 26 แห่งได้ระดับดี ส่วน 22 แห่งได้ระดับพอใช้ และ 3 แห่ง ต้องปรับปรุง เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ 1 แห่ง มรภ. 1 แห่ง และสถาบันเฉพาะทางสังกัดอื่น 1 แห่ง

"จะต้องปรับปรุงการผลิตบัณฑิตวิจัยของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ครั้งใหญ่ รวมทั้งปรับการผลิตครูให้พอดีกับความต้องการ ไม่ใช่ผลิตจนล้น จบแล้วไม่มีงานทำ อาจจะให้ทุนและให้หลักประกันหาตำแหน่งบรรจุให้หลังจบ เพื่อดึงดูดคนเก่ง อยากเป็นครูจริงๆ มาเรียนครู“ ศ.ดร.สมหวังกล่าว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษารอบสอง จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูและระบบผลิตครู โดยจะตั้งสถาบันคุรุศึกษาเพื่อวิจัยและผลิต พัฒนา คณาจารย์และวิทยากรด้านครุศึกษา ศธ.จะมีปัญหาขาดแคลนครูเพราะปี 2552-2560 จะมีครูเกษียณปีละ 8,000 คน รวม 9 ปีมีครูเกษียณทั้งสิ้น 7.2 หมื่นคน จะเร่งผลิตครูตามแผน 9 ปีให้ได้ 35,100 คน หรือร้อยละ 50 ของครูเกษียณทั้งหมด

 

ที่มา คมชัดลึก วันที่ 31 กรกฎาคม 2552

และจาก http://www.kroobannok.com/16291

 

หมายเลขบันทึก: 282153เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสค่ะคุณครู ดิฉันเป็นครูเช่นกันกำลังเรียนป . บัณฑิตอยากทราบวิจัยห้าบท

คุณครูพอมีตัวอย่างรึป่าวคะ พอดียังไม่เคยทำวิจัยห้าบทค่ะ รบกวนด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • เข้ามารับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรื่องราวครูพันธุ์ใหม่
  • แล้วจะมาเยี่ยมอีกค่ะ

ตอบคำถาทที่ 1

ตอนนี้ผมก็พึ่งเริ่มงานเหมือนกันครับ ยังไม่มีหรอกครับ

ยังไม่ได้ทำเลย........

แต่ผมพอที่จะแนะนำให้ได้ ให้เข้าไปใช้อินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย

ตามห้องสมุดหรือศูนย์คอมพิวเตอร์นะครับเพราะว่ามันจะสามารถดาวโหลด

วิทยานิพนธ์ หรือ วิจัย 5 บท ได้ทั้งเล่มเลยครับ สามารถนำมาศึกษาได้

พิมพ์ google ว่า วิทยานิพนธ์ แล้วก็เลือกโหลดของมหาวิทยาลัยที่สนใจได้เลยครับ

จะสามารถโหลดเล่มเต็มมาศึกษาได้

คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์นะครับ ผมก็แนะนำได้เพียงเท่านี้แหละครับ

ขอบคุณครูแป๋มมากนะครับ ที่แวะเข้ามาทักทาย

ขอบคุณครับ........

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท