Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการตลาดเปิดให้เสรีและเป็นธรรมโดยกฎหมาย


ตลาดที่เปิดเสรีย่อมเป็นสถานการณ์ที่เอื้อต่อการเอารัดเอาเปรียบของผู้ที่มีกำลังเศรษฐกิจเหนือกันต่อผู้ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า ดังนั้น เพื่อที่จะเยียวยา "ข้ออ่อน" ในประการนี้ของตลาดเสรี รัฐเจ้าของดินแดนจึงจะต้องสร้างกลไกที่เสริมสร้าง "ความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ประกอบการ" โดยที่กลไกนี้จะต้องไม่ทำลาย "เสรีภาพในการเข้าสู่ตลาด"

ด้วยความคิดที่ว่า ตลาดการค้าที่มีการแข่งขันอย่างยุติธรรมน่าจะเป็นเป้าหมายประการหนึ่งของการปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะสังคมต้องการในขณะเดียวกันทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นธรรมในทางสังคม

ขอให้ตระหนักในประการแรกว่า ตลาดการค้าที่เป็นธรรม (Fair Market) ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้หากมี "การผูกขาดทางการค้า" เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวย่อมจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันทางการค้าอย่างยุติธรรมจึงไม่อาจเกิดขึ้นมิได้เลยภายใต้เงื่อนไขนี้ เมื่อไม่มีการแข่งขันในตลาด การขยายตัวของตลาดจึงเกิดไม่ได้ ในสถานการณ์นี้ การพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐเจ้าของตลาดก็ไม่อาจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน จึงเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่า ตลาดการค้าที่เป็นธรรม (Fair Market) มิอาจเกิดขึ้นได้หากตลาดเสรี (Free Market) ไม่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น หากรัฐเจ้าของดินแดนต้องการตลาดการค้าที่เป็นธรรมในดินแดนของตน รัฐนั้นจึงจะต้องเปิดตลาดการค้านั้นให้เป็นตลาดเสรีอีกด้วย

ในกรณีที่ตลาดการค้ายังปิดอยู่หรือค่อนข้างปิด การเปิดตลาดโดยพลันก็อาจทำให้ผู้ประกอบการภายในตลาดนั้นปรับตัวไม่ทัน และอาจไม่อาจประกอบการต่อไปได้ในสถานการณ์ใหม่ของตลาดเปิดเสรีซึ่งต้องการศักยภาพในการแข่งขันที่มากกว่าในตลาดปิด

โดยเทคนิค จึงต้องมีการกระบวนการเปิดตลาดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Progressive Liberalization of Markets) เพื่อเตรียมความพร้อมของทั้งภาครัฐและเอกชนภายในเสียก่อน ในทิศทางนี้

โดยหลักการ นักนิติศาสตร์ในยุคปัจจุบันนี้จึงต้องมาปฏิรูปกฎหมายมิให้เป็นอุปสรรคต่อการเกิดขึ้นของ "ตลาดที่เปิดเสรี" ทั้งในระดับภายในประเทศและในระดับระหว่างประเทศ โดยสถานการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่งเท่านั้นที่กฎหมายจะยินยอมให้ฝ่ายบริหารของรัฐปิดตลาดการค้านี้หรือตั้งเงื่อนไขในการเข้าสู่ตลาดนี้ได้

แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องตระหนักในประการที่สองว่า ความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปที่ปฎิเสธมิได้ จะเห็นว่า ตลาดการค้าที่เป็นธรรมย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกันในสถานการณ์เช่นนี้ ตลาดที่เปิดเสรีย่อมเป็นสถานการณ์ที่เอื้อต่อการเอารัดเอาเปรียบของผู้ที่มีกำลังเศรษฐกิจเหนือกันต่อผู้ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า ดังนั้น เพื่อที่จะเยียวยา "ข้ออ่อน" ในประการนี้ของตลาดเสรี รัฐเจ้าของดินแดนจึงจะต้องสร้างกลไกที่เสริมสร้าง "ความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ประกอบการ" โดยที่กลไกนี้จะต้องไม่ทำลาย "เสรีภาพในการเข้าสู่ตลาด" อันจะทำให้เกิดการปิดตลาดและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการอื่นในตลาด จะเห็นว่า วิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง ๒ ประการนี้น่าจะขัดแย้งกันและยากที่จะดำเนินการไปด้วยกัน

แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายทั้ง ๒ ประการข้างต้นได้พร้อมๆ กัน กล่าวคือ

วิธีการแรก ก็คือ การเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการนี้เข้มแข็งขึ้นและยกระดับความสามารถของตนขึ้นจนมีศักยภาพที่เท่าเทียมกับผู้ประกอบการอื่นในตลาด

วิธีการที่สอง ก็คือ การป้องกันและปราบปรามมิให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าทำร้ายหรือทำลายผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า

โดยสรุป จะเห็นว่า วิธีการนี้เกิดจากวิธีคิดแบบง่ายๆ แต่ก็ยากในทางปฏิบัติ จึงเป็นภาระหน้าที่ของนักนิติศาสตร์อีกประการหนึ่งที่จะต้น "คิดค้น" เพื่อสร้างกลไกทางกฎหมายที่เอื้อต่อการเสริมเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า

คำสำคัญ (Tags): #ตลาดการค้าเสรี
หมายเลขบันทึก: 28176เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท