190. หมูกระดาษ กับห้องผ่าตัดของพ่อ (2)


วันนี้พี่มีงานทำไม่มากนอกจากการสอน เพียงแค่ 5 ชั่วโมง

ตอนนี้ก็ว่างแล้ว หลังจากตรวจงานแบบฝึกเขียนประโยคของเด็กน้อยเสร็จ

ก็อยากจะเล่าเรื่องของหมูกับห้องผ่าตัดของพ่อต่อ

สมัยที่พี่ยังเป็นเด็กพี่อยู่กับพ่อ แม่

ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่

สิ่งที่พ่อ และแม่ย้ำสอนหนักหนาคือ

การให้ พี่ถูกฝึกให้เป็นผู้ให้ กับน้องๆ และเพื่อนบ้าน ถึงเพื่อนที่โรงเรียน 

เป็นพี่ต้องเสียสละ 

แล้ววันหนึ่งความดีใจก็มาถึงที่ได้เป็นเจ้าของหมูแดง

แม้จะเป็นเพียงเจ้าของหมูแดงกระดาษร่วมกันในหมู่พี่น้อง

เพราะพ่อซื้อหมูกระดาษสีแดงสดตัวใหญ่ 

ปากทาสีดำ เล็บดำ มาให้พวกเรา 1 ตัว พวกพี่ดีใจมาก

น้องชายคนเล็กกระโดดขึ้นขี่หมูทันที

ส่งเสียงหัวร่อชอบใจ พร้อมกับทำเสียง มอ มอ มอ ไปด้วย

พวกเราขำในความไม่ประสี ประสา ของน้องชายมาก

พ่อก็หัวเราะหึๆ แม่บอกว่า เเล่นอย่างนี้ไม่นานหรอก...เดี๋ยวก็พัง

พี่เองดีใจมากที่ไม่ต้องแปลงร่างเป็นม้า เป็นวัว และเป็นควาย ให้น้องนั่ง

รู้สึกขอบคุณพ่อมาก ในวันหยุดเรียนเราจะมีโอกาสเล่นด้วยกัน

 หลังจากที่แม่ฝึกให้เราทำงานบ้านและรับผิดชอบงานต่างๆในบ้านตามวัย

  ดังนั้นเมื่อเราทำหน้าที่เสร็จแล้ว

แม่จะอนุญาตให้เราเล่นสนุกได้ 

 เสาร์วันนั้นก็เช่นกัน น้องชายเอาหมูแดงมาขี่เล่น

พี่ก็นึกสนุกช่วยดันก้นหมูแดงให้เคลื่อนไปข้างหน้า

แต่วันนี้เราไม่ร้องเสียงฮี้ๆ มอๆ แล้ว

 เพราะเมื่อวานพ่อขับรถโฟรค์เต่าของป้าช.

 มารับแม่ไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจฟัน 

พี่จึงร้องเสียงบรื๊นนนนๆๆๆๆแทน

  พร้อมกับเข็นหมูไปข้างหน้า 

ซึ่งน้องชายสนุกมาก ถึงกับปล่อยมือที่จับหัวหมูมาทำท่าขับรถแทน

เป็นผลทำให้การทรงตัวเสียศูนย์ เอียงลงมาด้านข้าง

โชคดีคว้าไว้ทัน พี่เห็นน้องตกใจเกรงจะร้องไห้จึงทำเสียงเอี๊ยดดดด.เบรค

พร้อมกับม้วนตัวลงนอน นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก

เพราะน้องหัวเราะ และพูดว่า เอาอีกๆๆ

ชักเหนื่อยเข้าก็เลยไม่เล่น

ปล่อยให้น้องพยายามขึ้นขี่หมูแดงเอง

เด็กๆถ้าให้เล่นคนเดียวจะเล่นได้ไม่นานเดี๋ยวก็เบื่อ 

และเลิกเล่นไปเอง

แต่ถ้าเล่นด้วยกันแบบถ้อยที ถ้อยอาศัยกัน

ก็จะเล่นได้นาน ยิ่งเป็นเรื่องที่เขาร่วมกันคิด ตัดสินใจ

ทำการใดร่วมกันแล้ว

ก็ดูเหมือนว่าชั่วโมงการเล่นจะมากขึ้นถึงขนาดลืมกินข้าวเลย

สุดท้าย เมื่อน้องมั่นใจว่าเห็นว่าพี่ไม่เล่นด้วยแล้ว

ก็ลากหมูแดงไปนั่งแทะที่หู น้ำลายเทือกไปหมดเลย 

และห้ามก็ไม่ฟัง กว่าแม่จะกลับมา หมูก็ถลอกเป็นรอยฟัน

และสีก็ลอกออกมา ต้องรับเอาน้องไปอาบน้ำ

 ซักเสื้อที่เลอะสี เพราะเกรงว่าจะถูกตำหนิ

แต่เมื่อแม่กลับมา แม่เป็นคนช่างสังเกต

เพราะที่ปากของน้องชาย ยังมีสีแดงเรื่อๆอยู่

ครั้งแรกแม่นึกว่าน้องปากแตก

พี่จึงตัดสินใจเล่าให้แม่ฟัง

แม่เงียบและลุกไปหยิบแอลกอฮอล์มาเช็ดตามมือ

ตามแขนของน้อง และบอกให้พี่เอาแอลกอฮอล์ไปเช็ดหมูด้วย

แม่บอกว่าน้ำลายคน หากออกมานอกปากและไปติดค้างตามของเล่น

อาจสกปรกกลายเป็นเชื้อโรคได้ 

เย็นวันนั้น น้องชายหายไป 

พี่ตามหา นึกว่าไปเล่นอยู่แถวใกล้ๆใต้ต้นมะไฟข้างบ้าน 

เพราะที่นั่น เราจะช่วยกันสร้างบ้านโดยเอาทางกล้วย ใบตอง มาวางบนกอตำลึง กับกระทกรก ที่เลื้อยพันกันหนา  สามารถเอาของเบาๆวางได้ ให้เป็นร่ม แล้วเราก็มุดเข้าไปใต้บ้านหลังนี้ บ้างก็เล่นแอบ

บางครั้งก็เอาเสื่อมาปูนอน แต่ครั้งนี้ผิดพลาด ไม่เจอน้องชาย

 เมื่อกลับเข้าบ้านมา ก้มๆมองๆไปใต้เตียงคนไข้  

 โอ้ พระเจ้า เจ้าหมอนั่นเอาหมูไปแทะ และดึงกระดาษออกทีละชั้นๆ

เกือบครึ่งตัว เมื่อถูกเอ็ดก็ร้องเสียงดัง  

 พี่ต้องเอามืออุดปาก และปลอบ เกรงว่าแม่จะได้ยิน

เพราะแม่กำลังเก็บถั่วพลูข้างบ้าน วันนี้ แม่จะยำถั่วพลูให้กิน

น้องอาจถูกเอ็ด และพี่อาจโดนที่ไม่ดูแลน้องเพราะความซนมากๆ

  น้องชายพี่เป็นเด็กไม่อยู่นิ่ง ช่างลื้อ ประจำบ้าน

ของเล่นทุกอย่างจะต้องถูกลื้อออกเป็นชิ้นๆ

แต่ก็ไม่เคยประกอบชิ้นส่วนได้ 

แต่ตรั้งนี้พี่ได้พยายามประกอบมันขึ้นมาใหม่ โดยไปเปิดหม้อข้าว

แล้วตักข้าวสุกในหม้อมาทำหน้าที่แทนกาวเพื่อทำการซ่อมให้กระดาษติดกันเป็นรูปหมูตัวเดิม แต่ก็ไม่สำเร็จ เป็นอันว่าเราไม่มีหมูขี่เล่นอีกแล้ว

พ่อกลับมาและรับรู้ว่าเราไม่มีหมูเล่นแล้ว

พ่อขอดูหมู และบอกว่า หมูกระดาษเมื่อแกะออกมาแล้วไม่มีอะไรข้างในเลย

ไม่มีโครงสร้างที่จะยึดกระดาษ นอกจากกาวที่มีความเหนียว 

ก็เหมือนคนเราที่ไม่เรียนหนังสือ ไม่ทำงาน

 ข้างในก็จะไม่มีอะไร ไม่มีโครงสร้างที่แข็งแรง มีแต่เปลือกนอก

เมื่อเปลือกนอกถูกแกะ ถูกทำลายออก เราจึงไม่เห็นอะไร

 คนเราเกิดมา ไม่หาความรู้ ไม่มีความพยายาม

ไม่ทำสิ่งดีงาม ไม่สร้างความดี

จะมีไม่มีอะไรทำ  และทำอะไรก็ทำไม่เป็น มันติดขัดไปหมด

แม้อยากจะทำก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ ความชำนาญ

เขาเรียกว่ากลวง

คนๆนั้นอาจรูปร่างหน้าตาดี

แต่อาจไม่มีคุณลักษณะที่จะนำพาชีวิตของตัวเองให้เคลื่อนไปในทิศทางที่ดี

ไม่มีความรัก ความเมตตา ขาดความรู้ ขาดประสบการณ์

ทำอะไรไปก็จะมีแต่ผลเสีย มากกว่าผลดี

เผลอไปแว๊บเดียวหมดเวลา.. เด็กน้อยขึ้นมาเรียนแล้ว

พรุ่งนี้พี่จะเล่าให้ฟังต่อค่ะ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 280698เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ  เรื่องหมูหมู  แต่มีคุณค่ามากค่ะ  เดี๋ยวจะฟังเล่าต่อนะคะ

สวัสดี ค่ะ P

เป็นเรื่องเล่า ที่น่ารัก และแฝงไว้ด้วยคำสอนดีๆ+ฝึกวินัยให้ลูก และความรักผูกพันของพี่น้องนะคะ

รูปสีเขียวของใบไม้+หยดน้ำ ดูแล้วสบายตามากค่ะ เป็นจุดพักสายตาดีนะคะ

พรุ่งนี้ ได้หยุดอีก 1 วัน จะอ่านรอตอนต่อไปค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ

มาเริยนรู้เรื่องดีๆ ครับ

ที่บ้ามผมก็ซื้อหมูกระดาษให้ลูก ครับ ลูกๆได้ใช้เล่นเมื่อเป็นเด็ก แล้วจะนำรูปมาฝาก เพราะยังไม่เป็นรูปแบบดิจิทัล ต้องสแกนก่อนนะครับ

เด็กๆอายุประมาณ 10 ปี หลายคน คงยังไม่เคยเห็น ไม่มีใครขายของเล่นแบบนี้มานานแล้ว ครับ

P

ขอบคุณค่ะ

น้องkruPOM

เรื่องหมูๆ ก็เป็นหมูๆค่ะ อิอิ

เรื่องของหมูที่อยู่ในความทรงจำ

ต้องขอบคุณน้องคนไม่มีรากที่กรุณาส่งสิ่งดงามมาให้พี่ได้พิจารณษ

ทำให้ความทรงจำในอดีต กลับคืนมา

ช่วยป้องกันโรคหลงลืมในวัยสูงอายุค่ะ

P ผศ. เพชรากร หาญพานิชย์

ขอบคุณค่ะ สำหรับรูปหมูกระดาษที่จะนำมาฝากในบันทึกนี้

จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กน้อยรุ่นหลังๆ

ได้เรียนรู้ถึงนวัตกรรมของคนรุ่นปู่ย่า ตายาย นะคะ

สมัยนั้นคนทำหมูกระดาษมีมากเป็นอาแป๊ะสูงอายุ

ครูต้อยได้มีโอกาสเรียนรู้เมื่อโตแล้วค่ะ ไปนั่งดูอาแป๊ะว่าทำอย่างไร

แต่ยอมรับว่าความสามารถของคนรุ่นก่อนในการประดิษฐ์ สร้างสรรค์

งานแต่ละชิ้นล้วนมีความหมายยิ่งใหญ๋ทั้งสิ้น เพียงแต่

เทคโนโลยีเท่านั้นที่ดูจะด้อยไปหน่อย

หากเราหันมามองและนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

สิ่งต่างๆที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ กลับเหมาะเป็นอย่างยิ่ง

ให้เรารู้จักพิจารณาคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

 

P 

ขอบคุณค่ะ น้องsubah

  • ภาพหมูน่ารักมากค่ะ
  • ทำให้บันทึกนี้มีสีสรรขึ้นมาทันทีค่ะ
  • รูปหมูในสมัยนั้นก็ไม่มีการถ่ายรูปไว้
  • แต่จะลองหาในเน็ต
  • เผื่อจะได้เห็นภาพหมูสมัยนั้นค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท