สรุปโครงการWHA เสนอกระทรวงสาธารณสุข


สรุปและข้อเสนอหลังการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 62 (62nd World Health Assembly)

โดยตัวแทนกรมควบคุมโรค

ตามที่ผู้แทนจากกรมควบคุมโรคได้รับมอบหมายให้สรุปรายละเอียดผลการประชุมในหัวข้อที่มีรายงานการแก้ไขปัญหา (Resolution) พร้อมข้อเสนอเพื่อดำเนินการต่อเนื่อง ในหัวข้อ

1.    Pandemic Influenza Preparedness: Sharing of Influenza Viruses         and Access to Vaccines and Other Benefits

2.    Prevention and control of multidrug-resistant tuberculosis and extensively drug-resistant tuberculosis

 

บัดนี้ตัวแทนกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการเรียบร้อย โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1.      Pandemic Influenza Preparedness: Sharing of Influenza Viruses and Access to Vaccines and Other Benefits

ความเป็นมา

เรื่องการประชุมเพื่อร่างข้อตกลงในการแบ่งปันไวรัสไข้หวัดใหญ่และผลประโยชน์ ซึ่งดำเนินการมานาน 2 ปี ยังไม่ได้ข้อสรุป แม้ว่าประเทศสมาชิกจะได้มีการประชุม Intergovernmental Meeting (IGM) มาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2552 ก็ยังคงไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ รวมทั้งเอกสาร Standard Material Transfer Agreement (SMTA) ซึ่งประเทศทางตะวันตกมีท่าทีปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทวัคซีน อย่างจริงจัง ในทางตรงข้ามประเทศอินโดนีเซียมีท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องที่ไม่ยอมแบ่งปันไวรัสไข้หวัดนก Influenza A H5N1 หากไม่ได้ผลประโยชน์เป็นที่น่าพอใจ โดยมีประเทศบราซิลและ
อินเดียเป็นแนวร่วม

 

สาระสำคัญ 

ในระหว่างการประชุม WHA 62 หลายๆประเทศได้ยกกรณีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากไวรัส Influenza A H1N1 ซึ่งสามารถมีการแบ่งปันไวรัสและความร่วมมือโดยคำนึงถึงประโยชน์ของมนุษยชาติมากกว่าประโยชน์ทางการค้า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศไทย มีความเห็นในแนวทางเดียวกันว่าควรมีการประนีประนอมเพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม โดยมีมติในวันสุดท้ายเป็น Resolution WHA62.10 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2552 มอบให้ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกตัดสินใจและจัดการประชุมหารือกับประเทศสมาชิกเพื่อดำเนินการในส่วนที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมช่วยให้การตกลงในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยพร้อมเข้าร่วมการประชุมเจรจาหากองค์การอนามัยเชิญตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย

ข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการต่อไป

1.      เห็นควรมอบหมายให้นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าร่วมการประชุม IGM ในฐานะตัวแทนประเทศไทยมาโดยตลอด เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม กรณีองค์การอนามัยโลกเชิญตัวแทนประเทศไทย

2.      มอบสำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นแกนในระดับประเทศ ติดตามความก้าวหน้าเรื่องนี้กับ Thai Mission ที่นครเจนิวาเพื่อแจ้งความคืบหน้าให้กับนพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ และกรมควบคุมโรคต่อไป

 

2.      Prevention and control of multidrug-resistant tuberculosis and extensively drug-resistant tuberculosis

 

ความเป็นมา

สืบเนื่องจากการประชุม ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในเรื่องวัณโรคดื้อยาโดยมี 27 ประเทศสมาชิกที่มีภาระด้านวัณโรคสูง ที่พบว่าปัญหาวัณโรคดื้อยาได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศจีนได้ผลักดันเรื่องวัณโรคดื้อยา เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม WHA 62 โดยระเบียบวาระนี้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นในการจัดทำรายงานการแก้ไขปัญหา (Resolution) “Prevention and control of multidrug-resistant tuberculosis and extensively drug-resistant tuberculosis”

 

สาระสำคัญของ Resolution 

            เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของการควบคุมวัณโรคที่กำหนดไว้ใน MDG ( Millennium development goal) ประเทศต่าง ๆ ต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้บรรลุผลสำเร็จในปี ค.ศ.2015 กลยุทธ์ที่ใช้คือ Stop TB Strategy รวมทั้งการรักษาพยาบาลปฐมภูมิ (Primary health care) และคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ ( Social determinant of health)

            แผน Stop TB Strategy   ได้กำหนดไว้สอดคล้องกับ MDG goal ที่จะลดแนวโน้มจำนวนการเกิดโรคสำคัญต่าง ๆ ภายในปี ค.ศ. 2015 และลดความชุก (Prevalence) ของวัณโรคและการเสียชีวิตด้วยวัณโรคลงครึ่งหนึ่งในปี ค.ศ. 2015 เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 1990

            ถึงแม้ว่าสถานการณ์วัณโรค จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงตั้งปี ค.ศ. 2003 แต่ร้อยละ 37 ของผู้ป่วยวัณโรคยังไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาที่ถูกต้อง วัณโรคยังเกิดในสัดส่วนที่สูงในประชากรบางกลุ่ม และมีการเกิดการดื้อยาทั้งในระบบชนิด MDR(Multidrug resistant Tuberculosis)  และ XDR (Extensive drug resistant Tuberculosis)

โดยการคาดประมาณมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาเกิดขึ้นประมาณปีละห้าแสนรายในจำนวนนี้มี X-DR ประมาณ 50,000 ราย และมีเป็นร้อยละ 3 เท่านั้นที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งด่วนในการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ยารักษา วัคซีน การวิจัยเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีมาตรการจูงใจในการคิดค้นยาและลดค่ายาโดยตัดการเชื่อมโยงค่ายาจากค่าค้นคว้าวิจัย และยังได้อ้างถึงการประชุมที่ปักกิ่งในเรื่องวัณโรคดื้อยาโดย 27 ประเทศสมาชิกที่มีภาระด้านวัณโรคสูงซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกได้ขอให้ประเทศสมาชิกและผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก

ดำเนินการดังนี้

ประเทศสมาชิก

1. เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคดื้อยา

1.1. พัฒนาระบบการดำเนินงานวัณโรคดื้อยา โดยครอบคลุมการรักษาแบบมีพี่เลี้ยง โดยชุมชน โดย 

                  ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ยากจน

                  กลุ่มเสี่ยง เช่น นักโทษ คนงานเหมืองแร่ ผู้ย้ายถิ่น ผู้ใช้ยา ผู้ติดสุรา และปัจจัยทางสังคมต่าง ๆ)

1.2.  สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบข้อมูล และการเฝ้าระวังเพื่อเป็นข้อมูลทางระบาดวิทยา และสามารถ

                  ติดตามผลการดำเนินงาน

1.3. กำจัดปัญหาอุปสรรคต้านการเงินที่ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคไม่สามารถเข้าถึงบริการโดยเท่าเทียม

1.4. พัฒนาทรัพยากรบุคลากรสาธารณสุขให้มีคุณภาพ มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน

1.5. เสริมความเข้มแข็งให้กับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งในเรื่องบุคลากร คุณภาพ และการเข้าถึง

1.6. การมีส่วนร่วมของบริการสุขภาพภาคเอกชน และการบริการปฐมภูมิ

1.7. มีนโยบายการควบคุมการแพร่เชื้อทางระบบหายใจ (Airborne Infection Control) และมีการปฏิบัติ 

ในสถานที่ต่าง ๆ เช่นในโรงพยาบาล และสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง และมีความตระหนักในชุมชนถึงความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ

1.8. สนับสนุนให้มียาวัณโรคทั้งแบบพื้นฐานและแบบดื้อยาให้พอเพียง โดยมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และ

                   ยาเม็ดชนิดรวมยาหลายชนิด ที่มีคุณภาพและมี Bioavailability ที่ดี

1.9. มีกลไกในการควบคุมการจำหน่ายยาวัณโรคโดยโดยต้องใช้การสั่งยาจากผู้ประกอบวิชาชีพ

1.10.        มีการผลักดันนโยบาย การสื่อสาร และการขับเคลื่อนทางสังคม (advocacy , communication, Social immobilization) โดยที่ไม่ทำให้เกิดการตีตรา แต่ทำให้ชุมชนมีความตระหนักในเรื่องวัณโรค

1.11.        กำหนดเป้าหมายการทำงานในระดับชาติ เพื่อที่ให้เกิดการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา

 

2. เพิ่มคุณภาพและความครอบคลุมของการรักษาแบบมีพี่เลี้ยงเพื่อทำให้ประสบความสำเร็จในการค้นหาผู้ป่วยได้ร้อยละ 70 และผลการรักษาสำเร็จ ได้ร้อยละ 85 จึงจะป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยาในอนาคต

3. ใช้กลไกทางการเงินเพื่อที่จะสนับสนุนในการปฏิบัติงานโดยใช้ทั้งทุนภายในและภายนอกประเทศ

4. เพิ่มการลงทุนโดยประเทศและหุ้นส่วนต่าง ๆ ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการ และพัฒนาการตรวจทาง 

   ห้องปฏิบัติการ ยาใหม่ ๆ

 

องค์การอนามัยโลก

1.      ให้ความสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ประเทศสมาชิก

2.      ให้ความสนับสนุนพัฒนากลยุทธ์ในการร่วมมือกับบริการสุขภาพภาคเอกชนในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค

3.      ให้คำแนะนำแก่องค์การอาหารและยาของแต่ละประเทศในการควบคุมมาตรฐานยา และสนับสนุนให้ผู้ผลิตยาภายในประเทศสามารถผลิตยาที่มีมาตรฐาน

4.      ให้ความสนับสนุนแก่ประเทศสมาชิกในการเพิ่มความสามารถของการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

5.      เสริมความเข้มแข็งให้คณะกรรมการ Green Light Committee เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพทั้งยาพื้นฐานและยาสำหรับเชื้อดื้อยา และส่งเสริมให้บริษัทยาที่ผลิตยาในประเทศได้รับมาตรฐานการผลิต ซึ่งรับรองโดยคณะกรรมการดังกล่าว

6.      สำรวจโอกาสและความเหมาะสม ให้แรงจูงใจสำหรับการศึกษาวิจัยยา เพื่อที่จะตัดการเชื่อมโยงทุนศึกษาวิจัยยาจากราคายา

7.      ปฏิบัติงานร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในการติดตามผลการดำเนินงาน

8.      ให้รายงานให้กับคณะกรรมการบริหารในการประชุมครั้งที่ 63 และรายงานต่อสมัชชาองค์การอนามัยโลกในการประชุมครั้งที่ 65

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการต่อไป

1.      มอบให้กรมควบคุมโรค เป็นแกนหลักในการประสานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามมติที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ตามรายละเอียดใน Resolution WHA62.15 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2552 และติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

2.      เสนอให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้งานควบคุมวัณโรคไว้ในนโยบายการดำเนินงานในระดับกระทรวง มีการติดตามและประเมินผล การเพิ่มคุณภาพและความครอบคลุมของการรักษาแบบมีพี่เลี้ยงเพื่อทำให้ประสบความสำเร็จในการค้นหาผู้ป่วยได้ร้อยละ 70 และผลการรักษาสำเร็จ ได้ร้อยละ 85  ตามรอบการตรวจราชการ

3.      มอบให้กรมควบคุมโรค พัฒนาระบบการดำเนินงานวัณโรคดื้อยา โดยครอบคลุมการรักษาแบบมีพี่เลี้ยง โดยชุมชน โดย ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ (เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ยากจน  กลุ่มเสี่ยง เช่น นักโทษ คนงานเหมืองแร่ ผู้ย้ายถิ่น ผู้ใช้ยา ผู้ติดสุรา และปัจจัยทางสังคมต่าง ๆ) รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4.      มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รับดูแลเรื่องมาตรฐานของยาวัณโรคซึ่งต้องมีทั้งคุณภาพที่ได้มาตรฐานและราคาที่เข้าถึงได้ ส่งเสริมให้ผู้ผลิตยาในประเทศผลิตยาที่จะใช้ในการรักษาวัณโรคให้ได้ตามมาตรฐาน และป้องกันการจำหน่ายยาวัณโรคโดยไม่มีใบสั่งแพทย์

5.      แจ้งองค์การเภสัชกรรมให้รับทราบมติของสมัชชาอนามัยโลกในเรื่องมาตรฐานของยาวัณโรคที่ต้องได้ WHO prequalification standards  หรือ strict national regulatory

6.      แจ้งประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อรับทราบถึงปัญหาวัณโรคดื้อยาและแนวโน้มของการใช้ยารักษาที่มีราคาแพงขึ้น

7.      มอบให้กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พิจารณาเรื่องการพัฒนาและขยายศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้านการประเมินความไวต่อยา และรองรับภาระงานที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาสนับสนุนงบประมาณของการตรวจเพาะเชื้อและความไวต่อยา

8.      มอบให้กรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงแนวทางการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา พร้อมฝึกอบรมให้แพทย์มีความรู้ที่ทันสมัยต่อการรักษาวัณโรคดื้อยา รวมทั้งกำหนดนโยบายการควบคุมการแพร่เชื้อทางระบบหายใจ (Airborne Infection Control) และมีการปฏิบัติ  ในสถานที่ต่าง ๆ เช่นในโรงพยาบาล และสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง

9.      มอบให้กรมควบคุมโรคประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมการแพทย์ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันพัฒนาระบบข้อมูลวัณโรคให้มีความครบถ้วนและเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรค

10.  มอบกรมควบคุมโรคประสานหน่วยงานอื่นๆ เช่น สสส มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาวัณโรคดื้อยาผ่านกระบวนการเครือข่ายประชาชนและโครงสร้างนอกกรอบกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การผลักดันนโยบาย การสื่อสาร และการขับเคลื่อนทางสังคม (advocacy, communication, Social immobilization) เป็นไปอย่างเต็มรูปแบบเพื่อทำให้ประชาชนและชุมชนมีความตระหนักในเรื่องวัณโรค โดยที่ไม่ทำให้เกิดการตีตรา

คำสำคัญ (Tags): #wha#สรุปโครงการ
หมายเลขบันทึก: 280518เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2009 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาเติมความรู้ค่ะอาจารย์ นับวันเชื้อโรคติดต่อที่ควบคุมยากยิ่งฟอร์มตัวกันท้าทายมนุษย์จริงๆนะคะ ที่โรงพยาบาล ประชากรทั้งอำเภอ 7 หมื่นกว่าแต่มีเชื้อวัณโรคดื้อยาทุกปี ปีละ 2-3 คน คงมีความรู้ดีๆที่อาจารย์แบ่งปันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมาก แล้วจะคอยติดตามค่ะ

ขอบคุณที่คุณGiant bird มาเยี่ยมค่ะ หมอรู้ระดับบริหารทั่วไป ถ้ารายละเอียดทางคลินิคก็จะถามผู้เชี่ยวชาญให้ค่ะ

อยู่โรงพยาบาลอำเภอความรับผิดชอบคงมากและงานคงเยอะรวมทั้งปัญหาวัณโรคประเทศเราระบบการรักษาคงต้องพัฒนาอีกนะคะ

ในช่วงอยู่ที่บำราศเจอดื้อยาเยอะแต่ลืมตัวเลขไปแล้วค่ะ เข้าใจว่าอย่างน้อยคง10% (ไม่แน่ใจค่ะ)

เป็นกำลังใจให้ทุกคนในครอบครัวนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท