จิตตปัญญาเวชศึกษา 104: หลักสูตรแพทย์ใหม่ (1)


Social Sciences and Humanities Courses

อาจจะไม่เชิงเป็น "หลักสูตรใหม่" แต่เนื่องจากบริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง อาจารย์ประเวศ วะสี เคยให้ภาพกว้างไว้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงของ paradigm shift หรือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากที่มุ่งเน้นการเข้าถึงการบริการ เข้าสู่ยุคของ "การแพทย์ที่ใช้หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์" ซึ่งมีคำเรียกอื่นๆ อาทิ Humanized healthcare, Humanistic Medicine, Compassionate Medicine, etc แต่ความหมายโดยรวมก็คือ หันกลับมามองที่ "ความเป็นมนุษย์" ที่มีมิติอื่นๆนอกเหนือจาก bio-medical หรือการแพทย์ที่มุ่งสนใจแต่เฉพาะความลึกซึ้งทางชีววิทยาเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ไม่เพียงเพราะเพื่อความสมบูรณ์พร้อมที่เหมาะสมมากขึ้น แต่ถูกผลักดันด้วย "ภาวะคุกคาม" ต่อวงการวิชาชีพหากเราไม่พยายามทำอะไร หรือปล่อยให้ "กระแสการตลาด" เป็นตัวกำหนดหลักของการเปลี่ยนแปลง โดยไม่สนใจว่ามีอะไร "ภายใน" ที่กำลังเน่าเปื่อย ผุพัง rotten อยู่ภายใต้เปลือกที่หนาขึ้นๆเรื่อยๆ

พี่โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ บรรยายเรื่อง Humanized Medical Curriculum ในงานประชุมใหญ่ทุก 7 ปี แพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ได้นำเสนอ 5 modules (มีมากกว่านี้) สำหรับ Medical Social Sciences and Humanities Courses ไว้ดังนี้

Medical Social Sciences and Humanities Courses

  • History of Medicine: professiona reflexivity

  • Medical Anthropology/Sociology: Cultural understanding/macro-structural view

  • Literature/Poetry: personal growth, hermeneutic/humanistic sensibility

  • Philosophy/Epistemology: knowing what we know and how we know

  • Medical Kalology: Aesthetics and Art of Appreciation in Medicine and Healing

ซึ่งเฉพาะ slide นี้ slide เดียว ก็เพียงพอที่จะทำเป็น stand-alone seminar ได้แล้วหนึ่งการประชุมสบายๆ ผมจึงได้ขออนุญาตนำมาหย่อนไว้ตรงนี้ ด้วยสาเหตุหลายประการ กันลืม ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง เอามาพรวนและปลูกเอาไว้ ณ​ ผืนดินของ Gotoknow ซึ่งเป็นที่ดินอุดม หวังว่าอะไรดีๆน่าจะงอกเงยตามมา

History of Medicine

"ประวัติศาสตร์การแพทย์" เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจโดยตัวเนื้อหามันเองอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมองในแง่ของการสร้าง "professionalism" หรือ จิตวิญญาณวิชาชีพแล้ว การที่นักศึกษาได้เรียน รับทราบ นำไปใคร่ครวญ ในเนื้อหาของประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวิชาชีพแพทย์ พยาบาล สามารถมีอิทธิพลต่อกระบวนความคิด ความรู้สึก และมุมมองในงานนีได้เป็นอย่างดี

ในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์นั้น เราเรียนได้หลายวิธี ขึ้นกับการจัดประสบการณ์การเรียน การสอน ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของผู้สอนและผู้เรียน ถ้าหากมีการ "เข้ากันได้" ของผู้สอน ผู้เรียน และการจัดกิจการการเรียนให้ดี ผลลัพธ์ก็น่าจะทึ่งมากทีเดียว และในทำนองกลับกัน หากเป็นเพียงแค่การเรียนเพื่อเอาไปสอบ หรือไม่ได้มีการปรับแต่งความต้องการ วัตถุประสงค์ ให้ดีเสียก่อนเริ่ม เราก็จะได้คำ feedback จากนักเรียนที่แสดงถึงความ "ผิดหวัง" หรือ "ไม่เข้าใจ" ว่าทำไมเขาสมัครมาเรียนแพทย์แผนปัจจุบัน อาจารย์ยังไปสอนเรื่องสมุนไพร การแพทย์สมัยก่อนของไทย ตำรับตำราเนื้อหาแปลกๆ ความเชื่อในเรื่องสุขภาพของคนไทยโบราณ (ซึ่งบางอย่างก็ยังมีในปัจจุบัน) มาให้พวกเขาเสียเวลาอ่าน เวลาท่อง กันมากมาย

การเรียนประวัติศาสตร์นั้น มีความน่าสนใจ มีคำกล่าว "History repeats itself" หรือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แสดงถึงแนวโน้มที่ถ้าเราไม่ได้ใส่ใจในเหตุปัจจัยและผลลัพธ์ เราก็มีแนวโน้มที่จะทำอะไรซ้ำๆ ทำผิดซ้ำๆ หรือทำๆไป "ความหมายที่ลึกซึ้ง" ที่อยู่ในกิจกรรมที่เราทำ สูญหายกลายเป็นอะไรที่ routine ที่ซ้ำซาก จำเจไป การศึกษาเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่เพียงแต่จะทำให้เราเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับอะไร และที่มาของสิ่งที่เราเชื่อ เราทำอยู่ในปัจจุบัน บ่อยครั้งเรายังสามารถนำไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ในตอนนี้้ และป้องกันสิ่งไม่พึงปราถนาในอนาคตได้ด้วย

การสอน history of medicine จึงควรเน้นประโยชน์ในการทำ professional reflection เหมือนการสะท้อนโดยใช้กระจกที่ใสกระจ่าง เป็นธรรม์ ปราศจากอคติ ทำให้เราสามารถมองย้อนหลังและศึกษาความเป็นมาของวิชาชีพเราได้กระจ่างชัดขึ้น Values หรือคุณค่าหลายๆประการของวิชาชีพของเราจะไม่เจือจาง หรือแม้กระทั่งสูญหายไปอย่างที่เป็นอยู่ เพียงแค่เราได้ยึดหลักธรรม์หลายๆประการในอดีต ที่ครูแพทย์ ปู่แพทย์ บรรพบุรุษแพทย์ได้ว่าไว้ว่าเรา "ควรยึด ควรทำ"

ในการสอน history of medicine ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสที่จะได้ทบทวนและเรียบเรียงที่มาของการแพทย์ในประเทศไทย และในโลกนี้เท่านั้น การศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเกิดแรงบันดาลใจยังสามารถทำได้โดย "ศึกษาเพื่อสะท้อน" ในการค้นหาแรงผลักดัน ความมุ่งมั่น และเหตุปัจจัยในการเกิดเหตุการณ์ต่างๆในอดีต ถ้าหากพ่วงวัตถุประสงค์นี้เข้าไปด้วย การสอนโดยวิธีบรรยายอาจจะไม่ใช่วิธีที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด แต่อาจจะต้องใช้วิธีอื่นๆที่มีการเอาตัวตนของผู้เรียนลงมาเชื่อมโยงด้วย ข้อสอบหรือการประเมินก็ไม่ควรจะเป็นปรนัย ถาม พ.ศ. ถามว่าอะไร แต่เป็นข้อสอบอัตนัย เชิงพินิจพิเคราะห์ เชิงสะท้อน ที่ตัวตนหรือปัจเจกของผู้เรียนได้ถูกนำมาใช้

ข้อสำคัญคือ ประสบการณ์การเรียนการสอนต้องสนุก ผ่อนคลาย และน่าสนใจ โดยมุมมองแบบต่างๆของผู้เรียน

จะทำอย่างไรให้ผู้เรียน เกิดเห็นประโยชน์ของการทบทวนชีวิต ทบทวนประวัติศาสตร์ มองเห็นที่มารากเหง้าของวิชาชีพ ไม่เห็นว่าการศึกษาเรื่องเหล่านี้เป็นอะไรที่เชย เสียเวลา หรือเรียนเพื่อสอบเท่านั้น?

เพราะไปๆมาๆ พอจะสอนประวัติศาสตร์ ในกระบวนทัศน์ที่พึ่งพา expert และผู้เชี่ยวชาญเป็นสรณะ คนจัดก็อาจจะคิดเชื้อเชิญครูประวัติศาสตร์มาสอน ซึ่งจะทำอย่างนั้นก็ไม่เสียหายอะไร ขอเพียงทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าสาระวิชานี้ เรา (คณะแพทยศาสตร์) ที่เป็นคนรับผิดชอบจัดหลักสูตร "ต้องการอะไร" ในวัตถุประสงค์การจัดการเรียนการสอนวิชานี้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย สำหรับทั้งเจ้าของหลักสูตรและอาจารย์ต่างคณะที่เชิญมาสอนด้วย

Medical Anthropology/Sociology

มานุษวิทยาเวชศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นสาขาที่จะเสริมเหตุ เสริมผล ในการเรียนประวัติศาสตร์การแพทย์ เพิ่มมิติด้านลึกของความรู้ที่ศึกษา โดยมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนมากขึ้นว่า สิ่งที่เรียนไปทั้งหมดนี้ ก็เพื่อทำให้เรา "บัณฑิตแพทย์ หรือว่าที่บัณฑิตแพทย์" เข้าใจมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ และสิ่งที่สำคัญของความเป็นมนุษย์มากขึ้น เกิดสุนทรีย์ หรือการรับรู้ถึงความสำคัญ ผลกระทบ ของงานวิชาชีพแพทย์ว่า เรามีบทบาทส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร

ในสังคมปรนัย เกิดการ dehumanize หรือการลดความสำคัญของปัจเจกลงไปอย่างมากมาย มองหาแต่ KPI (key performance indicators) มองหาหน่วยนับเพื่อคำนวณ ประเมิน และตัดสิน เป็นโลกที่อุดมไปด้วย judgmental attitude หรือการด่วนตัดสิน เกิดความพึงพอใจในการได้ตัดสิน ได้วิจารณ์ "ผู้อื่น" ซึ่งเป็นอันตรายต่อคุณค่าประการหนึ่งของจริยศาสตร์ นั่นคือ Principle of Autonomy

ในขณะที่แพทย์ทั่วไปเข้าใจความสำคัญของโรค อาทิ เบาหวาน อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนการเสียขา เสียตา เสียไต ความเข้าใจเพิ่มเติมและการสนใจว่าการเสียขาอาจจะหมายถึงคนไข้ไม่สามารถเดินเล่นกับภรรยา หรือครอบครัวได้อีกต่อไป การเสียตาหมายถึงการมองไม่เห็นสิ่งที่สวยงาม อ่านสิ่งที่สุนทรีย์ หรือมีชีวิตยาวนานเพื่อทำอะไรที่มีความหมายต่อชีวิต เมื่อแพทย์รับรู้เรื่องราวและความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ ความงดงามของวิชาชีพ มันก็จะไม่ได้อยู่เพียงแค่ การรู้มาก การมียศตำแหน่งวิชาการ การได้เงินตอบแทน แต่เป็นการฝึกจิต ฝึกใจ ให้เรารับรู้สิ่งที่เราพึงได้ ทุกๆครั้งที่เรามีส่วนทำให้คนไข้ ผู้ป่วย และญาติ รู้สึกว่าได้อะไรบางอย่าง

สิ่งสำคัญก็คือ วิชาต่างๆเหล่านี้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ contents เท่านั้น และถ้าหากเราไป focus เฉพาะเนื้อหา ก็จะ missleading และเป็นที่น่าเสียดายมาก

ประเด็นสำคัญคือ เราจะปลูกฝัง appreciative skill หรือทัศนคติเชิงบวก ที่แพทย์พึงสนใจในขนบธรรมเนียม ประเพณีที่แตกต่าง และผลกระทบของสิ่งเหล่านี้ต่อ "สุขภาวะ" หรือ "สุขภาวะกำเนิด (salutogenesis) ของมนุษย์ และสามารถนำเอามาผนวกในการทำงานทุกวี่วันได้

ความเข้าใจในประเพณีและวัฒนธรรม สามารถมีส่วนช่วยในการดูแลคนไข้ และครอบครัวของเขาได้เยอะ (ตรงนี้ก็สามารถจัดเป็น workshop ต่างหากได้อีกหนึ่ง workshop สบายๆเหมือนกัน)

ข้อสำคัญก็คือ ถ้าหากหมอมีความสนใจเป็นต้นทุนเดิมในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ จะช่วยอย่างมากในการสัมภาษณ์ประวัติของคนไข้ในแบบที่ไม่ได้เน้นทั้งหมดในการค้นหาอวัยวะที่ก่อพยาธิสภาพ แต่สามารถมองเห็นความสำคัญในข้อมูลมิติอื่นๆที่ประกอบมาเป็นตัวคนไข้ และเข้าใจใน "ความทุกข์" ของคนไข้ได้ ไม่เพียงแค่เข้าใจ "ความเจ็บป่วย" ของคนไข้เพียงอย่างเดียว เวลาเราสัมภาษณ์ประวัติครอบครัว และเขียน Genogram เราจะมีความเข้าใจเชิงลึกว่า เรากำลังมอง "ต้นทุนชีวิต" ของคนไข้รายนี้ มองเห็นความสัมพันธ์รอบด้านของคนไข้ พอเข้าใจใน supporting system ของคนไข้ ว่ามีใครที่พอจะเป็นคนดูแลที่บ้านหลัก มีกี่คน ต้องการความช่วยเหลือแบบใด

เป็นที่น่าเสียดาย ที่ Genogram จะถูกวาดออกมาแบบเฉพาะกิจ คือใน block health promotion และ block family medicine (community medicine) เท่านั้น แทนที่จะทำเป็นปกติในทุกๆ block กลายเป็น "ตารางเฉพาะกิจ" แสดงว่าบางหน่วยใช้ บางหน่วยไม่ใช้ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเรื่องทักษะเท่านั้น แต่สะท้อนถึง "เจตคติ" ว่าเราจะทำ หรือไม่ทำอะไร การมองเห็น/ไม่เห็นประโยชน์ในการทำ

 

หมายเลขบันทึก: 280315เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2009 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

  • การแพทย์ที่ใช้หัวใจความเป็นมนุษย์ 
  • สุดยอดไปเลยครับ น่าจะทำให้ระบบการแพทย์กลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งนะครับเนี่ย 
  • ผมเคยได้อ่านเรื่อง "โรงเรียนแพทย์ที่ทำให้ช้างบินได้" ของท่านอาจารย์ประเวศ 
  • ทุกวันนี้ก้ยังนึกแนว ที่ว่า เราสามารถสร้างเรื่องราว และวิธีคิดดีๆได้ผ่านแพทย์และนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบัน 
  • ให้เป็นแพทย์ ... ที่มีวิญญาณ
  • ขอบคุณครับ  

คุณตาเหลิม Pครับ

ขอบคุณและสวัสดีที่มาเยี่ยมเยียนครับ

อ่าน profile ของคุณตาเหลิมแล้ว คิดว่าอาจจะสนใจกลุ่ม CanTeen นี้ครับ เขามีกิจกรรมน่าสนเยอะเหมือนกัน

ลูกสาวของดิฉันมีความฝันอยากเป็นแพทย์ ถ้ามีบุญวาสนาคงได้เห็นแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ เพราะถึงยุคเค้าหลักสูตรแพทย์ที่ผู้ใหญ่กำลังปรับปรุงก็เกิดขึ้นแล้ว แค่จินตนาการก็มีความสุขแล้วค่ะอาจารย์ วันนี้เเวะเข้ามาอ่านเพื่อเตรียมตัวเองเข้าประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แผนพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ค่ะ ชื่นชอบมากกับบทความ สร้างอุดมการณ์ให้กับคนพันธุ์"แหกคอก"ได้ดีค่ะ ก็น่าจะมีความหมายคล้ายๆกับ สังคมปรนัยของอาจารย์โกมาตร ไหมคะอาจารย์ วันใดอ่อนล้าจะกลับมาอ่านเพือช๊าตแบตให้ตนเอง ยุคนี้ยังต้องอดทนกับความคิดที่แตกต่างการไล่ล่าตามตัวชี้วัดค่ะอาจารย์ ขอบคุณมากค่ะ ที่อาจาย์ได้ช่วยนำมาบันทึกไว้

สวัสดีครับ คุณคนเดินดิน

ขอเพียงมีความฝัน และมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตอย่างที่เราฝัน จะมีหรือไม่มีหลักสูตรแบบใด เราก็สามารถเป็นอย่างที่เราอยากจะเป็นได้จริงๆครับ มนุษย์มีความสามารถที่จะ "หยิบยืม" พลังแห่งความรัก ความเมตตา จากรอบๆข้างมาเป็นเครื่องค้ำจุนในการใช้ชีวิตอย่างไม่น่าเชื่อ

ในที่สุดแล้ว "ปรนัย" ในที่นี้ จะไม่ได้มีเพียงแค่ 5 choices ที่คนอื่นเป็นคนกำหนดคำตอบไว้ล่วงหน้า แต่เป็น free choices มากมายมหาศาลแห่งความเป็นไปได้ ป็นสังคมที่ปัจเจกและองค์รวมกลายเป็น oneness

ก่อนจะถึง nothingness ในที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท