สอบเพื่อวัดความจำ...ความล้มเหลวของระบบการศึกษา?


ช่วงนี้เป็นเทศกาลสอบของหนุ่มน้อยทั้งสองที่ยังอยู่กับเรา ส่วนพี่วั้นก็จะสอบอาทิตย์หน้า พี่เหน่นชั้นม.5 น้องฟุงชั้นป.6 ยังคงมีพฤติกรรมเหมือนปกติทุกวันไม่ว่าจะสอบหรือไม่ คือดูหนังการ์ตูน, หนัง action ญี่ปุ่นช่วง 2 ทุ่มกว่าๆ กับอ่านหนังสือ (อ่านเล่น) ที่เพิ่งซื้อมาจากงานมหกรรมหนังสือ เมื่อกิจวัตรประจำวันเสร็จสิ้นก็จะถือหนังสือกันคนละเล่ม นั่งตั้งหน้าตั้งตาอ่านกันไปอย่างขะมักเขม้น ถ้าไม่บอกคุณแม่ก็ไม่รู้หรอกว่าตอนไหนสอบหรือไม่สอบ

ถามน้องฟุงว่าพรุ่งนี้สอบวิชาอะไรครับ เมื่อต้นๆสัปดาห์ น้องฟุงก็บอกว่า ไม่วิทยาศาสตร์ก็ประวัติศาสตร์ ไม่ก็สังคม ไม่ก็ภาษาไทย....สรุปว่าวิชาที่เรียนทั้งหลายนั่นแหละ ไม่อันใดก็อันหนึ่งสักประมาณวันละ 3 วิชา น้องฟุงไม่เคยเดือดร้อนอ่านหนังสืออะไรเพิ่มเติม เพราะบอกว่าคุณครูก็ออกที่เรียนในห้องนั่นแหละ (เขาจะพูดน้อยมากเกี่ยวกับเรื่องเรียน) สรุปว่าเรียนในห้องแล้ว ก็จำได้แล้ว ไม่มีอะไรต้องอ่านเพิ่มเติม โชคดีที่น้องฟุงเป็นคนมีความจำดีมาก ดังนั้นถ้าเป็นข้อสอบพวกวัดความจำ น้องฟุงก็ไม่ต้องเตรียมสอบอะไรเลย สอบผ่านสบายๆ

ส่วนพี่เหน่น เล่าถึงการสอบว่า มีเพื่อนแว่วข่าวมาว่า ข้อสอบเป็นเรื่องนี้...นี้...นี้...ก็มีการนั่งท่องกันใหญ่ พอถึงเวลาเจอข้อสอบจริงๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับที่ท่องเลย กลายเป็นเรื่องอื่นๆที่ต้องจำคนละเรื่องไปเลย

ฟังลูกๆแล้ว นึกขึ้นมาว่าระบบการศึกษาของเราเน้นการท่องจำจริงๆ สอบเพื่อประเมินว่า จำเนื้อหาได้ขนาดไหน ซึ่งจริงๆแล้วสมัยนี้มีเครื่องมือช่วยจำ ช่วยค้นคว้าข้อมูลมากมาย เด็กๆก็เลยเรียนเพื่อจะเก็บข้อมูลจากคนสอน ไม่ใช่เรียนเพื่อให้รู้เรื่องราวที่น่าเรียน เรียนเรื่องที่หาอ่านเองก็ได้ แต่ต้องเข้าเรียนเพื่อจะได้เก็บข้อมูลว่าคุณครูหรืออาจารย์จะออกข้อสอบแนวไหน เรียนแล้วก็ต้องไปเรียนพิเศษเพื่อที่จะรู้แนวข้อสอบ จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเรียนดูเหมือนจะกลายเป็น เพื่อที่จะสอบให้ผ่าน ยิ่งถ้าอาจารย์บอกข้อสอบมาเลยก็จะยิ่งดี ทุกคนต้องเรียนเหมือนๆกันหมด ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบวิชาอะไรก็ตาม เรียนๆจำๆท่องๆเพื่อจะสอบๆ ช่างเป็นการเรียนที่ไร้ชีวิตชีวาจริงๆ กว่าจะถึงเวลาที่ได้เรียนรู้สิ่งที่อยากเรียนจริงๆ สมองส่วนที่ใช้เพื่อคิด ก็คงฝ่อไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะเอาไปใช้เพื่อท่องจำอะไรต่ออะไรที่ไม่จำเป็นเยอะแยะไปหมด

ยังนึกไม่ออกนะคะว่า ระบบแบบนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่....

หมายเลขบันทึก: 279904เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2009 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เราสอนให้จำว่า กรุงศรีฯ แตกเมื่อพ.ศ.เท่าไหร่ (2310 100 ปี ก่อนผมเกิด)
  • แต่เราไม่สอนให้วิเคราะห์เนื้อหาว่า ทำไม กรุงศรีฯ ถึงแตก
  • เศ-ร้า เศ-ร้า อ่านว่า (เศ  ร้า)

การสอนให้วิเคราะห์ ครูต้องวิเคราะห์ให้เป็นระบบก่อน และต้องรับฟังเหตุผลที่เด็กวิเคราะห์ด้วย หลายครั้งที่เคยอ่านเอกสารของอาจารย์ ยังไม่เข้าใจเลยว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้น

หลายปัจจัยนะคะ

การออกข้อสอบก็เป็นวิธีการให้เด็กเกิดการเรียนรู้เช่นกัน

ออกแต่จำ เด็กก็ได้แต่จำ ออกให้คิดเด็กก็จะคิดเป็น

วานนี้มีแนวปฏิบัติออกมาว่า หลังสอบ 5 วันให้ส่งเกรด

หากเป็นเด็กปีสุดท้าย ให้ส่งภายใน 3 วัน

นี่ก็ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้เช่นกันนะคะ ...

แบบนี้ข้อสอบอัตนัยลืมไปได้เลยนะคะ

เฮ้อววว์เจ็บปวดหัวใจค่ะ

อ่านความเห็นอ.krittaya แล้ว ทำให้ย้ำความคิดที่ว่าครูอาจารย์บ้านเรา ก็โดนระบบตีกรอบให้เป็นเครื่องสอนกันหมดเลยนะคะ เป็นเครื่องสอน เครื่องออกข้อสอบ เครื่องตรวจข้อสอบ คนสอนเป็น"เครื่อง"ไปเสียแล้วแบบนี้ จะให้เด็กเป็นอื่นไปได้อย่างไรนะคะ ได้เฮ้อ...กันอีกที 

จำนวนนักเรียน นักศึกษาต่อครูอาจารย์ก็เยอะแยะจน เราไม่มีโอกาสมองคนให้เป็น individual เลยนะคะ มองเป็นกลุ่ม คนโดนลดความสำคัญของตัวตนลง self-esteem ของคนก็ยิ่งลดลง มาเจอการวัดผลแบบไม่สร้างสรรค์อีก เราก็เลยเสียทรัพยากรไปอีกอย่างน่าเสียดาย คนเราเก่งกันได้หลากหลายแบบ มาเจอการวัดผลแบบเดียวนี่ คนจะได้ภูมิใจว่าตัวเองมีดีเลยลดลงจนเหลือไม่กี่คน เฮ้อ...อีกทีค่ะ
 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท