ชีวิตที่พอเพียง : ๗๙๗a. ครุ่นคิดเรื่องระบบวิจัย


          กว่าสิบหกปีครึ่งแล้วสิหนอ ที่ชีวิตของผมเข้ามาพัวพันกับระบบวิจัยของชาติ   ได้เห็นว่าชาติของเราไปไม่ถึงไหนเพราะอะไร    เอกสาร “สรุปการประชุมเครือข่ายทางปัญญา ปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย ครั้งที่ ๑๓ วันที่ ๙ ก.ค. ๕๒”   มีรายละเอียดการนำเสนอเรื่อง “การปฏิรูประบบวิจัยแห่งชาติ” ที่มองเห็นภาพใหญ่    กระตุ้นให้ผมค้นด้วย Google ด้วยคำหลัก “การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศไทย”   เลือกได้เอกสารในเว็บไซต์ของกองแผนงาน มหามกุฎราชวิทยาลัย   อ่านไปชมไปว่าเขียนได้ดีจัง    จนถึงบรรทัดสุดท้ายจึงรู้ว่าเป็นเอกสารของ สกว.   ก็รู้ทันทีว่าเป็นฝีมือของ ผศ. วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน   คนเดียวกันกับที่นำเสนอในการประชุมเมื่อวันที่ ๙ ก.ค. นั่นเอง 


          การค้นด้วย Google ทำให้ระลึกได้ว่า การเคลื่อนไหวปฏิรูประบบวิจัยของไทยเกิดขึ้นเมื่อ ๒ ปีที่แล้วดังที่ผมเคยบันทึกไว้
ที่นี่   แล้วผมก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอีก 

          ภาพระบบวิจัยที่ผมเห็น (ตาของผมอาจฝ้าฟาง) คือภาพซ้อนการแก่งแย่งอำนาจ แก่งแย่งบทบาท   ไม่ค่อยเห็นภาพความร่วมมือ   ไม่ค่อยเห็นภาพการทำงานอย่างจริงจังและประณีตอย่างที่เห็นในเอกสารของ ผศ. วุฒิพงศ์ 


          การค้นเอกสารใน อินเทอร์เน็ต ก็บอกอะไรหลายอย่าง    ใช้ประเมินการทำงานของหน่วยงานได้เลยนะครับ


          หากบ้านเมืองของเราเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวเช่นนี้    ก็ต้องปลง ว่าในที่สุดสังคมไทยก็จะค่อยๆ ล้าหลังลงไปเรื่อยๆ    การดำรงความสงบสุขก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ   


          เพราะ root cause นี้ เราจึงมีแต่แผนสวยหรู   ไม่ค่อยมีการปฏิบัติ   ดังจะเห็นว่าแผนปฏิรูประบบวิจัยยังไม่มีการนำไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติอย่างจริงจัง 


          เป็นการครุ่นคิดเรื่องอนาคตของบ้านเมืองผ่านแว่นระบบวิจัยของประเทศ    ซึ่งก็คงจะสะท้อนภาพของสังคมไทยทุกวงการ    จะแตกต่างกันบ้างก็แค่ระดับความรุนแรง 

   
          ทำฉันใดหนอ  เราจึงจะคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ส่วนหน่วยงานย่อย    ทำอย่างไร ดีกรีความร้อนแรง ของความเห็นแก่ตัวของเราจะลดลง 

 
          เพราะความเห็นแก่ตัวนี้เอง เราจึงทำงานแบบขัดแข้งขัดขากัน    ดูในทีวีจะเห็นภาพซ้อนนี้   คนที่มีตำแหน่งสูงๆ จึงเป็นคนมีวิชามารสูง    ไม่ใช่วิชาการสูง ไม่ใช่คุณธรรมสูง    ผมภาวนาให้สภาพในย่อหน้านี้เบาบางลง    เพื่ออนาคตของสังคมไทย

 

วิจารณ์ พานิช
๒๑ ก.ค. ๕๒

        
        
       

หมายเลขบันทึก: 278727เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เพิ่งเห็นข่าว(ในเยอรมัน)เมื่อกี้..อดีตนายก เปรู..ถูกตัดสินจำคุก ข้อหาคอรับชั่น..โรคผลประโยชน์เป็นโรคสากลไปเสียแล้ว..โรคขัดแข้งขัดขา..จึงเป็นโรค..ธรรมดาๆ..คนไทยคิดว่าเป็นเรื่องที่ทนได้..ถูกขัดขาหกล้ม..ขอโทษค่ะ..ไม่เป็นไรค่ะ..ยิ้มหวานๆสักนิดแถมให้..กับการถูกตัดขา...เมืองสยามเมืองยิ้มเจ้าค่ะ..ยิ้มไม่ออกก็..หัดนั่งหลับหูหลับตา..เดินถอยหลังเข้าวัดกันเป็นแถว..ขอครุ่นคิดด้วยคนเจ้าค่ะ

"คนที่มีตำแหน่งสูงๆ จึงเป็นคนมีวิชามารสูง ไม่ใช่วิชาการสูง ไม่ใช่คุณธรรมสูง"

บทความของอาจารย์สะท้อนระบบที่นำไปผิดทางได้ตรงใจมากเลยครับ

ปัจจุบันคนมีความรู้สูงคือคนที่ได้รับตำแหน่งสูง ได้รับเงินเดือนดี

เวลารับเข้าบรรจุก็ดี ตำแหน่งในทางราชการหรือเอกชน ก็จะระบุว่า ปริญญาตรี โท เอก

สมัครตำแหน่งนี้ำ ได้ ไม่ได้ ได้รับอัตราค่าจ้าง เท่านี้เท่านั้น

คนที่ตำแหน่งสูง เห็นแก่ตัวมาก วิชามารล้ำลึก หาตัวจับได้ยาก ประเทศชาติเสียหายมาก (ขออนุญาตเลี่ยงคำ_ิบหายครับ)

ถ้าเปลี่ยนเป็น ปริญญาไม่ว่าขั้นไหนก็สมัครงานขั้นต้นได้เหมือนกัน แล้วเลื่อนตำแหน่งเอาจากคุณธรรมความสามารถ ประเทศชาติคงไม่มีแต่ คนที่มีตำแหน่งสูงแต่คุณธรรมน้อยครับ

คนมีคุณธรรมท้อถอย เพราะไม่ชอบการหาช่องทางซิกแซก ถึงมีช่องให้ลัดคิวยังไม่อยากทำ

คนไม่มีคุณธรรมก้าวหน้าใหญ่โต เพราะมีแต่ช่องทางซิกแซกเยอะไปหมด

ระบบการวิจัยที่ดีเกิดจากคน

คนมีพลัง จากสังคม หากมองผ่านกรอบ social facilitation

อาจพบว่า เราอาจต้องสร้างสังคม นักวิจัยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

นักวิจัยอาวุโส ควรทำให้บรรยากาศ การวิจัย

น่าสนุก น่ารื่นรมณ์ ไม่ผลักใส การวิจัย

ออกจากชีวิต คนธรรมดา

ควรทำระบบวิจัย ให้ เข้าสู่ระบบธรรมชาติ

ตอนนี้ ข้าราชการ ส่วนมาก เกลียดและกลัวงานวิจัย

หลายคนคิดว่า งานวิจัยเป็นเรื่องที่ไม่ได้ประโยชน์(ซึ่งทำให้อยากร้องไห้)

ระบบต้องเปลี่ยน

งานวิจัย ต้องสนุก ต้องง่าย และมีประโยชน์คุ้มค่าครับ

"เพราะความเห็นแก่ตัวนี้เอง เราจึงทำงานแบบขัดแข้งขัดขากัน ดูในทีวีจะเห็นภาพซ้อนนี้ คนที่มีตำแหน่งสูงๆ จึงเป็นคนมีวิชามารสูง ไม่ใช่วิชาการสูง ไม่ใช่คุณธรรมสูง ผมภาวนาให้สภาพในย่อหน้านี้เบาบางลง เพื่ออนาคตของสังคมไทย"

อาจารย์คะ ข้อความข้างต้นตรงและชัดมากกับภาพที่เป็นจริงในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ในการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทำแล้วสนุก มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือชุมชน

แต่งานวิจัยแบบบูรณาการใช้ในท้องถิ่นไม่สามารถนำมาใช้ขอผลงานวิชาการ

ทำไมคะ ผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินผลงานวิชาการจึงมีแต่นักวิจัยที่ไม่มองมุมกว้าง มองแค่เจาะลึกในสาขาวิชาจึงจะได้รับการยอมรับ ทั้งที่ขัดแย้งกับนโยบายส่งเสริมการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ และแหล่งทุนวิจัย ที่จะให้ทำวิจัยพัฒนาชุมชนช่วยสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศชาติมากกว่าทำวิจัยในห้องLab

การทำงานวิจัยเพื่อขอผลงานวิชาการต้องทำวิจัยแล้วได้ตีพิมพ์ แม้ว่าชุมชนจะไม่ได้ประโยชน์อไรเลยจากงานวิจัยนั้น ก็ไม่เป็นไร

การทำงานวิจัยลงท้องถิ่นอย่างทุ่มเท จึงเหมือนเดินถอยหลัง ไม่ได้รับความก้าวหน้าทางวิชาการ จึงสับสน และเสียกำลังใจ ทำงานมีความสุข ก็ไม่ได้เลื่อนยศ ตำแหน่ง คงต้องกลับมาเดินตามเส้นทางวิจัยที่ทำกันทั่วไป แม้จะเป็นงานที่เห็นแก่ตัว เพราะต้องทำวิจัยเพื่อตนเองเพื่อสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จึงจะก้าวหน้าได้

เมื่อไรประเทศไทย นักวิชาการจะมีแนวคิดมุมมองว่านักวิจัยที่ดี ควรทำงานวิจัยในท้องถิ่น เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น และควรมีการส่งเสริมความก้าวหน้าในการทำงานราชการให้ด้วย

อยากทำงานวิจัยดีๆให้ชุมชน แต่ครอบครัวอยากให้ทำวิจัยเพื่อให้ก้าวหน้าในชีวิตราชการด้วย เพราะรุ่นน้องที่ทำงานวิชาการอย่างเดียว ได้เลื่อนยศ ตำแหน่งกันแซงหน้าไปหมดแล้ว

เหนื่อยใจมากคะ กับระบบการทำงาน และการประเมินผลงานวิชาการที่คับแคบมาก

ผมว่า root cause อยู่ที่ผู้กุมนโยบายวิจัยระดับประเทศ (พูดอีกอย่าง คือผู้กุมเงิน)

  1. ไม่ชอบปลูกป่า ใช้วิธีประมูล/ขโมยต้นไม้ใหญ่จากสวนหนึ่ง ไปอีกสวนหนึ่ง คือถ้าวิจัยเก่ง ทุนวิจัยจะรวมศูนย์ เทแบบหมดหน้าตัก มากจนใช้ไม่ทัน ต้องไปเททิ้งก่อนบูดเน่าให้คนอื่นคุ้ยกิน (ศัพทวิชาการเรียก subcontract งานวิจัย) แต่ไม่มีการหว่านลงทุนให้นักวิจัยใหม่ ๆ ได้มีโอกาสเกิดผ่านการลองผิดลองถูกและสร้างวัฒนธรรมวิจัยให้เป็นเรื่องธรรมดาของสังคม
  2. จิตเภท แต่ละวันบอกไม่ตรงกัน บางวันอยากให้ตีพิมพ์ บางวันอยากให้ตอบสนองชุมชนโดยไม่ต้องตีพิมพ์ บางวันบอกให้ทำร่วมมือข้ามสาขา บางวันบอกต้องทำงานคนเดียวเกินครึ่ง

ใครทำได้ มือระดับเมพขิง ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท