ผู้บริหารระบบสุขภาพกับการสนับสนุนงานวิจัยr2r


คุณค่าของr2r

ได้มีโอกาสเข้าร่วมอภิปรายในงานมหกรรมนำเสนอผลงานวิจัยของสวรส.ที่โรงแรมริชมอนต์ ได้รับเชิญร่วมอภิปรายที่ฐานะผู้บริหารโรงพยาบาลที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยที่มีผลงานที่ออกมามากมายจึงอยากทราบแนวคิดว่าคิดอย่างไรทำอย่างไรจึงทำให้งานวิจับเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำได้

ในประเด็นที่ว่า r2r มีความหมายและคุณค่าต่อการพัฒนาองค์กรในระบบสุขภาพหลายประการ 

ผมมองว่าตลอดระยะเวลากว่า๗ปีที่ รพ.สิชล ทำงานด้านคุณภาพ เพื่อคุณภาพบริการ ไม่ใช่เพื่อการรับรองทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดของเจ้าหน้าที่ในหลายด้านดังนี้

  • การพัฒนาตนเอง
  • การพัฒนาทีมงาน
  • การพัฒนางาน
  • เกิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
  • ที่ทำงานน่าอยู่
  • สร้างผลงานทางวิชาการ

ด้านการพัฒนาตนเองเห็นชัดเจนว่ามีการพัฒนาในสามด้าน

  • ด้านการคิด รู้จักคิดอย่างเป็นระบบ คิดเชิงบวกเชิงลบ คิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุมีผล
  • ด้านการพูด กล้าพูดแสดงความเห็น พูดระดมสมอง พูดโน้มน้าวจูงใจคน พูดนำเสนอผลงาน
  • ด้านการกระทำ เห็นความมุ่งมั่นพัฒนางาน ในวิชาชีพ ไฝ่เรียน ไฝ่รู้ มีระเบียบวินัย เคารพกฎกติกามารยาท เป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม

ด้านการพัฒนาทีมงาน

  • รู้จักสร้างทีมงาน
  •  พัฒนาทีมงาน
  • ทำงานเป็นทีม
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • รู้บทบาทตนเองในทีม
  • สร้า้้งพันธมิตร
  • และชื่นชมในความสำเร็จของทีม

ด้านการพัฒนางาน

  • รู้จักวิเคราะห์ข้อมูล
  • วิเคราะห์ปัญหา
  • วินิจฉัยปัญหา
  • ค้นหาโอกาสพัฒนา
  • พัฒนาคุณภาพบริการ
  • มีจิตสำนึกเพื่อประชาชน

คุณค่า r2r

  • แปรประสบการณ์เป็นวิชาการ
  • พลังความร่วมมือ
  • มีกำลังใจ เห็นคุณค่า
  • มีศรัทธาจงรักภักดีองค์กร
  • นำองค์กรสู่เป้าหมาย
  • ช่วยตัดสินใจ
  • สร้างชื่อเสียง

การสนับสนุนr2rในโรงพยาบาล 

  • กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาองค์กรให้การวิจัยเป็นภารกิจหลักที่จะต้องดำเนินการในทุกหน่วยงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
  • กำหนดเป้าหมาย แผนงาน กรอบเวลาที่จะให้งานวิจัยเป็นผลงานหนึ่งขององค์กรที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาและพัฒนางาน
  • ช่วยประสานความร่วมมืองานวิจัยทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร
  • สนับสนุนทรัพยากรอย่างเต็มที่ให้สามารถขับเคลื่อนได้ 
  •  สนับสนุนการอบรม การเรียนการสอนทางวิชาการ 
  • เป็นพี่เลี้ยง อำนวยความสะดวก คอยชี้แนะ แก้ปัญหาอุปสรรค ข้อขัดแย้ง
  • กระตุ้นให้มีการคิดสร้างสรรค์ คิดสิ่งใหม่ๆเพิ่อการเปลี่ยนแปลงไม่ยึดติดกรอบ วิธีปฏิบัติเดิมๆ
  • สนับสนุนให้มีการเผยแพร่ นำเสนองานวิจัยในองค์กร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • สนับสนุนให้มีการเผยแพร่ระดับประเทศ นานาชาติ

ทิศทางการขับเตลื่อนอนาคต 

  •  ยกระดับทีมงานจากคณะกรรมการเป็นหน่วยงาน
  • กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักขององค์กร
  • สนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
  • พัฒนาคนทำงานในทุกระดับ
  • ให้รางวัลเพื่อกำลังใจคนทำงาน ก้าวหน้า ค่าตอบแทน
  • ขยายผลให้เกิดประโยชน์ข้ามองค์กร

 

คำสำคัญ (Tags): #สร้างทีมงาน
หมายเลขบันทึก: 277839เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ยินดีด้วยครับที่มีบุคลากรที่มีคุณภาพ
  • สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คน ถ้าคนพร้อม ยอมรับ ก็โอเค ทุกอย่างสำเร็จแน่

คัดลอกมาจากบล็อกของ อ.kapoom สรุปได้ดีครับ

ลานเวทีเสวนาในวันที่สอง…นั้นเป็นประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น “ความสุขในการบริหารเครือข่าย ด้วยแนวทางการสนับสนุนการทำ R2R” โดยวิทยากรรับเชิญที่มาร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันนี้...มาจากองค์กรสามหน่วยงาน ได้แก่ โรงพยาบาลสิชล โรงพยาบาลยโสธร และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

เป็นความโชคดีของลานเวทีเสวนาที่ท่านผู้บริหารทั้งสามองค์กรให้เกียรติมาร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย...

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล

นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร

นพ.กวี ไชยศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๙ โมง...เป็นการพูดคุยในเชิงทัศนะของผู้บริหารที่มีต่อ R2R และการสนับสนุน

โดย นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ (ผอ. รพ.สิชล) ได้ให้เกียรติในการแบ่งปันประสบการณ์ครั้งนี้...ก่อนในฐานะภาพการสนับสนุนงาน R2R

“เริ่มต้นงาน R2R จากการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล พัฒนาเครือข่าย และต่อยอดมาที่งาน R2R”

R2R ในมุมมองของผู้บริหาร มีคุณค่า มีความหมายอย่างไร ต่อการบริหารองค์กร

- บุคลากรในองค์กรมีการพัฒนาตนเอง

o ด้านความคิด : มีความคิดเชิงระบบมากขึ้น มองจากระบบกว้างสู่ระบบย่อย คิดเชิงบวก คิดนอกกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลา และคิดแบบมีเหตุผล

o ด้านการพูด : R2R เปิดเวทีให้บุคลากรต่างๆ พูดแสดงความคิดเห็น และนำเสนอผลงาน

o ด้านการกระทำ : บุคลากรในองค์กรมีความมุ่งมั่นในการทำงาน มีระเบียบวินัยในการทำงาน ทำงานอย่างมีกฎกติกา มีคุณธรรม และจริยธรรม

- มีการทำงานเป็นทีมซึ่งทำให้การให้บริการแก่ประชาชนดีขึ้น : แต่ละหน่วยงานมีการสร้างทีมร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ โดยแต่ละคนจะได้รับมอบหมายภารกิจให้ไปหาข้อมูลเพื่อมาแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างหน่วยงานย่อยที่มีงานคาบเกี่ยวกัน ก็สามารถสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน รวมถึงมีการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร และค้นหาโอกาสในการพัฒนาคุณภาพบริการ

- ผลงานที่ออกมานำไปใช้ประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

- เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

- เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างมีความสุข รู้สึกมีคุณค่าต่อองค์กร ทำให้เกิดความศรัทธา และมีความจงรักภักดีต่อองค์กร

- เจ้าหน้าที่นำสิ่งที่ทำไปใช้เป็นผลงานวิชาการในการเลื่อนตำแหน่ง และให้ผู้บริหารนำข้อมูลที่ได้ไปขับเคลื่อนนโยบายในเชิงระบบ

นอกจากนี้ท่านได้ให้การสนับสนุนและเกื้อหนุนการทำ R2R ของคนในองค์กรโรงพยาบาลสิชล...คือ

กลุ่มผู้บริหารของโรงพยาบาลได้กำหนดนโยบาย และทิศทางการพัฒนาองค์กรให้การวิจัยเป็นภารกิจหลักที่จะต้องดำเนินการในทุกหน่วยงาน ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดเป้าหมาย และกรอบเวลาที่ชัดเจน (แต่ละหน่วยงานทำ 2 เรื่องใน 1 ปี) รวมถึงกำหนดให้มีการจัดเวทีนำเสนอผลงานในโรงพยาบาล และมีการติดตามการดำเนินงานเป็นระยะๆ ทั้งนี้องค์กรจะมีการสนับสนุนทั้งงบประมาณ การเรียนการสอน การอบรมทางวิชาการ และการอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงได้มีการกระตุ้นความคิดอย่างสร้างสรรค์ และสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ นำเสนองานวิจัยในองค์กร เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

จากคำถามที่ว่า...ท่านมีแนวทางหรือมีการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อน R2R เชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบัน และนำไปสู่อนาคตในองค์กรท่านอย่างไร นพ.อารักษ์ทางได้ให้มุมมองในส่วนนี้ว่า...

ที่ผ่านมาการพัฒนา R2R เป็นเพียงคณะกรรมการ แต่ปีที่ผ่านมาได้ยกระดับเป็นหน่วยงาน R2R และกำหนดให้เป็นแผนยุทธศาสตร์หลักขององค์กร รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น พัฒนาคนทำงานในทุกระดับ และกำหนดให้ R2R เป็นเกณฑ์ในการชี้วัดในการให้รางวัล ความก้าวหน้า และค่าตอบแทนแก่บุคลากรในองค์กร ท้ายที่สุดคือการขยายผลงานวิจัยไปสู่องค์กรอื่นๆ

จากมุมมองของ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชลได้พูดถึง R2R นั้นทำให้ทราบได้ว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้บริหารนั้นท่านสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อคุณาประโยชน์ที่เกิดขึ้นในการพัฒนางาน พัฒนาคน ผ่านกระบวนการทำ R2R ของคนในองค์กร

ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมในทัศนะของท่านต่อการส่งเสริมกระบวนการคิดให้มีเกิดขึ้นในคนหน้างาน

จากนั้นท่าน นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันดร์ (ผอ.รพ.ยโสธร) ก็ได้ร่วมเสวนาพูดคุย อย่างอารมณ์ดี ต่อมุมมองของการสนับสนุนการทำ R2R ให้มีต่อเนื่องในโรงพยาบาลยโสธร

ท่าน ผอ.อดิเกียรติ ได้บอกเล่าถึงทัศนะของการทำวิจัยสำหรับคนทำงานประจำว่าค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยาก แม้แต่ท่านเองท่านก็ยังไม่ค่อยจะมีเวลาในการทำวิจัยที่เต็มรูปแบบมากนัก แต่เมื่อได้มาศึกษาถึงแนวคิดของการทำ R2R ท่านมองว่านี่เป็นช่องทางหรือเป็นโอกาสของคนหน้างานที่ทำงานประจำจะได้ทำสิ่งที่เรียกว่างานวิชาการ...

และท่านก็ได้หยิบยกผลงานวิจัยที่ได้รางวัลของปีนี้ของโรงพยาบาลยโสธร...ว่าเป็นก้าวออกมานอกกรอบของการทำงานประจำที่ศัลยแพทย์ที่คอยทำงานตั้งรับ แล้วเปลี่ยนมาทำงานเชิงรุกมากขึ้น จนเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานประจำเชิงป้องกันในผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดโรคหนังเน่า...ทำให้ส่งผลต่อการลดอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นได้

และท่านยังได้ให้ความเห็นต่อ R2R ในมุมมองของผู้บริหาร ว่ามีคุณค่า มีความหมายอย่างไร ต่อการบริหารองค์กร

“R2R ช่วยสนับสนุนในการพัฒนางานในองค์กร เป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินหน่วยงานและตัดสินให้ความดีความชอบบุคลากร”

“สนับสนุนให้จัด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ระหว่างบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ในองค์กร และสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานวิจัยในองค์กร”

ในทัศนะดังกล่าวนี้ ท่านเคยบอกเล่าต่อมุมมองการพัฒนาองค์กรว่า ทุกอย่างต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำ R2R หรือ KM

สำหรับแนวคิกในการขับเคลื่อน...ท่านมีแนวทางหรือมีการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อน R2R เชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบัน และนำไปสู่อนาคตในองค์กรท่านคือ

“เน้นให้บุคลากรในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข มีเวทีให้ถ่ายทอดประสบการณ์ และมีกลุ่มบุคลากรที่เป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือ ดูแล แก้ไขปัญหาต่างๆ และองค์กรจะสนับสนุนให้มีการทำงานงานวิจัยให้มากขึ้น”

ท้ายสุด คือ ...ความเน้นย้ำของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธรว่า... “ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการพัฒนางานประจำด้วยการทำวิจัยนี้”

ผู้บริหารที่เปี่ยมด้วยเมตตาและการให้โอกาส นำพาการคิดออกนอกกรอบในการทำงาน...ท่าน นพ.กวี ไชยศิริ R2R (ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา) เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศนะที่มองกว้างและลึกซึ้ง และให้โอกาสอย่างมากมายต่อคนหน้างานในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ บริหารงาน องค์กร และคน...อย่างมีทั้งศาสตร์และศิลป์

ท่านได้พูดถึง...R2R ในมุมมองของผู้บริหาร มีคุณค่า มีความหมายอย่างไร ต่อการบริหารองค์กร

ท่าน ผอ.กวีท่านบอก “ว่า...เชื่อว่า 80% ของความล้มเหลวเกิดจากผู้บริหาร และ 80% ของความสำเร็จเกิดจากผู้ปฏิบัติ ดังนั้น หน้าที่ของผู้บริหารคือ การจัดบรรยากาศคนทำงานในองค์กรมีความสุข ทำงานได้อย่างราบรื่น และสนับสนุนให้บุคลากรในองค์กรมีความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างงานใหม่ๆ ในหน้าที่ของตนเอง”

ต่อข้อคำถามที่ว่า...ท่านได้ให้การสนับสนุนและเกื้อหนุนการทำ R2R ของคนในองค์กรอย่างไรบ้าง (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ให้กำลังใจบุคลากรในระดับปฏิบัติงาน และสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อจัดหาให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อการทำงานในองค์กร และกำหนดค่าตอบแทนในอัตราที่เหมาะสมกับภาระงานของบุคลากรในองค์กร สิ่งสำคัญคือ ให้โอกาสบุคลากรในการทำงานที่ท้าทาย ผู้บริหารต้องกล้าคิดนอกกรอบ ต้องกล้าตัดสินใจในการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ของบุคลากรในองค์กร โดยการส่งบุคลากรไปอบรมในหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ในแนวทางหรือการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อน R2R เชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบัน และนำไปสู่อนาคตในองค์กรท่าน ผอ.กวีบอกว่า... “ให้การสนับสนุนบุคลากรในองค์กรต่อไป และพัฒนาเทคโนโลยีระบบการจัดเก็บข้อมูลให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น” แนวคิดในเชิงบริหารที่ได้จากองค์ความรู้ของท่าน ผอ.กวี คือ

การบริหารงานนอกกรอบ

การฝึกคิดนอกกรอบ

การกล้าตัดสินใจ

เน้นทำให้องค์กรมีความสุข

ยึดคติที่ว่าใครทำไม่ได้ แต่เรานั้นทำได้

ให้โอกาส

สนับสนุนทันทีที่มีคนอยากทำงาน

ทำงานอย่างท้าทาย

“ผู้บริหารต้องไม่ทำงานแบบภารโรง” คือ ประโยคทิ้งท้าย...ทำหน้าที่ให้ตรงกับบทบาทคือ สนับสนุนและเกื้อหนุนให้เกิดการทำงาน

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากมุมมองของผู้บริหารทั้งสามท่านนั้น อันเป็นองค์ความรู้ที่มีต่อการเอื้อสนับสนุนให้คนในองค์กรได้เกิดการเรียนรู้พัฒนางานประจำด้วยการทำวิจัย...ทุกท่านได้เน้นย้ำในเรื่องการจัดการบรรยากาศให้เอื้อต่อการเกิดการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เน้นการให้กำลังใจ ให้คนทำงานได้ทำงานอย่างเต็มที่

ขออนุญาติคัดลอกมาเพื่อความต่อเนื่องในวงเสวนาสำหรับแกนนำr2r

ช่วงที่สองของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ลานเสวนา รอบนี้เริ่มต้นที่เวลา 10.30 – 12.00 น. เป็นรอบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ความสุขในการบริหารเครือข่าย” จากผู้ที่ทำหน้าที่เป็น Knowledge Facilitator ของแต่ละโรงพยาบาล ตามที่เชิญมาร่วมถอดบทเรียนและสกัดความรู้นี้ก็มี

นพ. เอกรัฐ จันทร์วันเพ็ญ จากโรงพยาบาลสิชล

คุณเพ็ญประกาย สร้อยคำ จากโรงพยาบาลยโสธร

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล จากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

หากจะว่าไปแล้ว “ความหมายของการทำ R2R นั้นไม่ได้อยู่เพียงแค่ได้งานวิจัยหนึ่งเรื่อง หากแต่ว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนางานประจำที่ทำอยู่อย่างไรบ้างต่างหาก”... ดังนั้นความต่อเนื่อง และดำรงอยู่ของกระบวนการทำ R2R บทบาทของผู้เป็น Facilitator หรือคุณอำนวยตามภาษา KM นี้จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ...

นพ.เอกรัฐ จันทร์วันเพ็ญ (รพ.สิชล) “R2R สร้างคนให้ช่างคิดและใฝ่รู้” เป็นบุคคลหนึ่งที่เคยได้รับรางวัล R2R ดีเด่นในระดับทุติยภูมิ ...และกลับไปขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายเกิดขึ้นในองค์กรของตนเอง ... สิ่งที่คุณหมอไปขับเคลื่อนบริหารเครือข่ายนั้นได้บอกเล่าให้พวกเราฟัง ณ ลานเสวนาว่า...

ต้นทุนแห่งความสุขในการบริหารเครือข่ายของท่านคืออะไร / ท่านมีแรงบันดาลใจอย่างไรต่อการบริหารเครือข่าย

- การมีผู้นำที่ดี มีส่วนในการผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้

- การทำงานเป็นทีม มีระบบการเชื่อมประสานของเครือข่าย

- มีการกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานเข้าใจหลักการทำงานของ R2R

- การเชื่อมประสาน และวางแผน : ศึกษาปัญหา พิจารณาส่วนที่ขาดในองค์กร ซึ่งพบว่า องค์ความรู้การวิจัยของเจ้าหน้าที่มีน้อย จึงต้องสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ดังกล่าว โดยการจัดหาอาจารย์ผู้ให้ความรู้ในเรื่องของสถิติและระเบียบวิธีการวิจัย

- การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น high speed internet

โดยหนึ่งปีที่ผ่านมาท่านขับเคลื่อนงาน R2R ในองค์กรของท่าน คือ...

- เปิดตัวงาน R2R ในโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญ และเพื่อให้บุคลากรต่างๆ ในองค์กรรับทราบว่าผู้บริหารเห็นความสำคัญต่องานดังกล่าว

- กระตุ้นและวางแผนการทำงานเป็นระยะ

- ปูพื้นฐานความรู้ โดยเชิญนักวิชาการมาอบรม ให้ความรู้เรื่องระเบียบวิธีการวิจัย

- จัด Group Discussion โดยรวมกลุ่มบุคลากรที่มีความสนใจ / การดำเนินงานในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน จนเกิดเป็นคำถามในการวิจัยและพัฒนาเป็นโครงร่างการวิจัย

- การนำเสนอผลการวิจัยผ่านเวทีต่างๆ เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีการติดตาม กระตุ้นการดำเนินงานและจัดการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมองถึงคุณค่าของการทำ R2R และร่วมผลักดัน ขับเคลื่อนเครือข่าย R2R ของคุณหมอเอกรัฐนั้น...คุณหมอเล่าอย่างมีพลังว่า...

- R2R สร้างคนให้ช่างคิดและใฝ่เรียนรู้ ให้รู้จักกระบวนการวิจัยในการทำงาน ช่วยแก้ปัญหา

- R2R เป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพ เป็นการพัฒนางานประจำที่ใช้กระบวนการของงานวิจัยเข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลให้เป็นระบบมากขึ้น แล้วทำให้งานที่ออกมามีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ของการวิจัยมากขึ้น และในการดำเนินงานครั้งต่อไป สิ่งใดที่เราจะปฏิบัติแตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านๆ มา คือ...

- ขยายผลการดำเนินงาน R2R ไปสู่หน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อให้มีความเข้มแข็งขึ้น

- ใช้ R2R เป็นตัวขับเคลื่อนให้การพัฒนางานประจำดียิ่งขึ้น ทำให้คนทำงานมีความสุข เกิดความภูมิใจในงานที่ทำ และเกิดแรงกระตุ้นให้อยากทำงานยิ่งขึ้น

- ทีมบริหารให้การสนับสนุน ให้มีการทำ R2R ทุกหน่วยงานให้เกิดเป็นภาพรวมขององค์กรแห่งการเรียนรู้

- สำหรับคนที่เริ่มต้น อย่ามองว่างานวิจัยเป็นสิ่งที่ยาก ต้องมองว่าทำอย่างไรให้งานประจำของเราดีขึ้นกว่าเดิม โดยเริ่มจากศรัทธา มีความเชื่อมั่นในการทำงาน ให้คิดว่างานที่ทำเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน

“คุณหมอผู้คอยปกป้องดวงตาของผู้ป่วยเบาหวาน” ... พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล (รพ.มหาราชนครราชสีมา) พลังแห่งเรื่องเล่าที่ทำงานด้วยใจจากที่เป็นจักษุแพทย์คนเดียวในพื้นที่ ผลักดันและสร้างสรรค์...ให้เกิดการพัฒนางานประจำ ลดปัญหาความแออัดที่เกิดขึ้นจากงานที่ทำ สร้างและขายเครือข่าย...

คุณหมอเล่าให้ฟังว่า...ต้นทุนแห่งความสุขในการบริหารเครือข่ายของท่านคืออะไร / ท่านมีแรงบันดาลใจอย่างไรต่อการบริหารเครือข่าย

เริ่มจากการทำงานด้วยใจ ที่ต้องการพัฒนางานประจำให้คนไข้ได้รับบริการที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น เริ่มต้นจากสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การค้นหาสาเหตุที่ผู้ป่วยเบาหวานมารับบริการล่าช้า จึงค้นหาจะทำงานเชิงรุกเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าว

หนึ่งปีที่ผ่านมาท่านขับเคลื่อนงาน R2R ในองค์กรของท่านอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นจากเขียนโครงการเพื่อขออนุมัติซื้อกล้องดิจิตอลถ่ายภาพจอตา หลังจากที่ได้รับการอนุมัติแล้ว จึงจัดอบรมให้พยาบาลระดับปฏิบัติการหัดถ่ายภาพจอตา จัดอบรมให้แพทย์ใน รพช. อ่านภาพจอตา และใช้รถ refer จัดส่งกล้องหมุนเวียนไปยัง รพช. ต่างๆ ในจังหวัด ซึ่งการดำเนินงานในระยะแรกก็ประสบปัญหา ทั้งในเรื่องวิธีการใช้งาน การดูแลรักษาความสะอาด และการส่งข้อมูลจากการอ่านภาพจอตาช้า เนื่องจากแพทย์ที่เคยอบรมย้ายไปประจำอยู่ที่อื่น จึงเปลี่ยนวิธีมาสอนให้พยาบาลอ่านภาพจอตา และขออนุมัติซื้อกล้องเพิ่มอีก 1 ตัว และขออนุมัติจ้างเจ้าหน้าที่เทคนิคเพิ่มเติม เพื่อให้การบำรุง ดูแลรักษา และถ่ายภาพจอตา โดยให้พยาบาลเป็นผู้อ่านภาพจอตา และทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น และส่งข้อมูลการอ่านภาพมาทางอินเตอร์เน็ตมายังจักษุแพทย์ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการรวดเร็วขึ้น ลดระยะเวลาในการรอการเข้ารับการรักษา จากการประเมินผลการดำเนินการดังกล่าวแล้วพบว่า ประสิทธิภาพการอ่านภาพจอตาของพยาบาลและแพทย์ใกล้เคียงกัน ดังนั้น จึงได้ข้อสรุปว่า งานบางอย่างสามารถให้พยาบาลดำเนินการแทนแพทย์ได้ โดยการอบรมเพิ่มเติมความรู้ให้แก่พยาบาล

คุณหมอเล่าอย่างอารมณ์ดีและชวนมองถึงคุณค่าของการทำ R2R และร่วมผลักดัน ขับเคลื่อนเครือข่าย R2R ของท่านว่า...คืออะไร

การดำเนินการวิจัย ควรเป็นงานที่เป็น Priority โดยดูจากกลุ่มโรคที่เป็นปัญหา และเป็นความสนใจร่วมกันของเครือข่าย ต้องมีแผนงาน วัตถุประสงค์ และวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมถึงการที่มีทีมงานที่มีความเข้มแข็ง และผู้บริหารที่ให้การสนับสนุน

ในการดำเนินงานครั้งต่อไป สิ่งใดที่เราจะปฏิบัติแตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านๆ มาบ้าง เป็นคำถามที่ชวนให้ย้อนและน้อมกลับมามองในหน้างานของตนเอง คุณหมอได้ให้ทัศนะว่า...

การทำ retina center การสนับสนุนทางวิชาการและบริหาร การสนับสนุนให้กำลังใจบุคลากรที่ปฏิบัติงาน มีการติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนางานในอนาคต

สำหรับโรงพยาบาลยโสธร..."คุณอำนวยที่ไม่เคยหยุดอำนวยความรู้และการทำ R2R" ที่เริ่มต้นเหมือนการทำ R2R แบบลูกทุ่งๆ อย่างที่ข้าพเจ้าชอบบอกใครๆ ว่าข้าพเจ้าทำ KM แบบลูกทุ่ง...คุณเพ็ญประกาย สร้อยคำ (รพ.ยโสธร) ได้เล่าถึงที่มาของการเกิดเป็น R2R ของยโสธรว่า...มาจากการจับมือร่วมคิดร่วมกันทำของคนหน้างาน ไม่ได้เป็นเป็น functional ที่เป็นรูปร่างอย่างเป็นทางการ...

โดยมีต้นทุนแห่งความสุขในการบริหารเครือข่ายหรือแรงบันดาลใจต่อการบริหารเครือข่าย

คุณเพ็ญประกายเล่าว่า... “เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัวในการทำงานวิจัย และพบสถานการณ์ที่โรงพยาบาลยโสธรไม่ค่อยมีผลงานการวิจัย หรือแม้จะมีผลการวิจัย แต่ก็ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง จึงคิดจะนำงานประจำที่ทำอยู่ไปต่อยอดเป็นงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง” หนึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนงาน R2R ในองค์กร คือ...

หลังจากที่ รพ.ยโสธรได้รับรางวัล R2R ในปีที่ผ่านมา รพ.ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้ที่มีความสนใจงาน R2R / เขียน web blog เผยแพร่งาน R2R / เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้การทำ R2R ในองค์กร โดยการทำ work shop ให้แก่บุคลากรต่างๆ ในองค์กร / จัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ Researcher manager ในโรงพยาบาล

ต่อข้อคำถามที่ว่า...คุณค่าของการทำ R2R และร่วมผลักดัน ขับเคลื่อนเครือข่าย R2R ของท่านคืออะไร

คุณเพ็ญประกายบอกว่า...คือ....การมีส่วนในการกระตุ้นให้บุคลากรต่างๆ ในโรงพยาบาลที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องระเบียบวิธีการวิจัยสามารถทำงานประจำให้ผลักดันไปสู่งานวิจัยได้ และในการดำเนินงานครั้งต่อไป สิ่งใดที่เราจะปฏิบัติแตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านๆ มาบ้าง...จากคำถามนี้คุณเพ็ญประกายได้...ชี้และชวนให้มองไปที่งานที่ตนเองได้ทำและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ...การดูแลและสร้างเครือข่ายผู้ป่วยเบาหวาน...

“ปีที่ผ่านมาได้ทำโครงการการดูแลสุขภาพเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน ปีนี้จึงพัฒนางานต่อเป็นการดูแลเท้า และการจัดการแผลที่เท้าของผู้ป่วยทั้งอำเภอ การจัดทำคลินิกสุขภาพเท้า การให้ความรู้ผู้ป่วยในการดูแลเท้า และวางแผนจะขยายผลการดำเนินสู่สถานีอนามัยเครือข่าย โรงพยาบาลใกล้เคียง และอำเภอใกล้เคียง”

จากที่ได้ฟัง...ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในองค์กรนั้น...พบว่าจุดร่วมที่คล้ายกันนั่นคือ “ใจ” ที่ทำด้วยความศรัทธาต่อการพัฒนางานประจำให้ดีขึ้น ได้รับการสนับสนุนอย่างที่เป็นทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ...มีความอดทน และมีใจที่เข้มแข็ง...

การที่จะทำให้การขับเคลื่อน R2R ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับบทบาทของ Knowledge Facilitator เป็นสำคัญ... Far หรือคุณอำนวยนี้ จะท้อหรือหยุดไม่ได้ ต้องมีใจที่เข้มแข็งและอดทน ดั่งที่คุณหมออัจฉราเน้นย้ำ... แววตาแห่งความมุ่งมั่นของทั้งสามท่าน เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่า เอาจริงและกัดไม่ปล่อย ดั่งเช่นที่คุณหมอเอกรัฐ...ว่าไว้นั่นเอง

ความสุขที่ปรากฏ...ไม่ได้บอกผ่านเป็นอักษร หาแต่อยู่ในแววตา และรอยยิ้มของทั้งสามท่าน ใจที่เปี่ยมด้วยความเสียสละและมุ่งมั่นที่อยากให้ผู้อื่นได้ลิ้มลองความสุขจากการทำ R2R เคลื่อนไปสู่การขยายเครือข่าย...นี่แหละคือ การแบ่งปันอย่างแท้...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท