สร้างความสำเร็จในการทำงานจาก…..“ การเป็นผู้ให้ ”


สร้างความสำเร็จในการทำงานจาก…..“ การเป็นผู้ให้ ”

 

 สร้างความสำเร็จในการทำงานจาก…..“ การเป็นผู้ให้ ”

จากบทความของคุณอาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ ได้กล่าวถึง การสร้างความสำเร็จในการทำงานโดยการเป็นผู้ให้

สรุปได้ดังนี้     "การให้ ”   เป็นการคิด การพูด และการแสดงออกที่อาจหวังผลตอบแทนหรือไม่หวังผลตอบแทนก็ย่อมได้ ซึ่งรูปแบบของการให้นั้นอาจเป็นได้ทั้งการเสนอหรืออาสาที่จะให้ผู้อื่นก่อนเสมอ หรืออาจจะเป็นการให้เมื่อมีได้การร้องขอจากผู้อื่น

          การให้ที่ดีนั้นผู้ให้ย่อมต้องมีความสุขไปกับสิ่งที่ตนได้ให้ เป็นการให้ในลักษณะที่ไม่คาดหวังผลตอบแทนไว้ล่วงหน้าก่อนเสมอ ซึ่งการให้ดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ให้มีความสุขมากกว่าการให้ที่มัวแต่คอยคิดคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ ทำให้ผู้ให้มีแต่ความทุกข์ เหตุเพราะความกังวล และการรอคอยในสิ่งที่ตนเองต้องการหรือคาดหวังไว้ ทั้งนี้พื้นฐานของการให้ที่ดีและทำให้ตนเองมีความสุขได้นั้นจะต้องมาจากความรัก เป็นความรักต่อผู้อื่นที่นอกเหนือจากการรักตนเอง รวมถึงการมองโลกในทางบวก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณจะต้องไม่กล่าวโทษตนเองและผู้อื่น มองว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมต้องแก้ไขได้ ไม่ดูถูกในความรู้ ความสามารถของผู้อื่น

          บ่อยครั้งที่อานิสงค์ของการให้นั้นจะส่งผลมาถึงตัวคุณไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม โดยที่คุณอาจไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ และคุณเชื่อไหมว่า มีหลายคนที่ประสพความสำเร็จและมีความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานได้นั้น มาจากการเป็นผู้ให้ โดยไม่หวังผลตอบแทน บารมีที่เกิดขึ้นจากการให้นั้นจะผลักดันให้คนเหล่านั้นได้รับโอกาสและความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน โดยสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับนั้นจะเป็นสิ่งที่พวกเค้าไม่คาดคิดมาก่อนเลยก็ว่าได้ ดิฉันขอนำเสนอผลที่เกิดขึ้นจากการเป็น “ ผู้ให้ ” ต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดังต่อไปนี้

การให้นำพา..... ความร่วมมือ : การที่คุณเป็นฝ่ายให้ผู้อื่นอยู่เรื่อย ๆ คุณลองไปขอความร่วมมืออะไรสักอย่างจากกลุ่มคนเหล่านั้น รับรองได้ว่าคุณจะได้รับความร่วมมือจากกลุ่มคนดังกล่าวไม่มากก็น้อย และความร่วมมือจากผู้อื่นนี้เองจะเป็นสิ่งผลักดันให้งานหรือโครงการที่นำเสนอประสพผลสำเร็จ

การให้ก่อให้เกิด ...... ความช่วยเหลือ : ยามเมื่อคุณเดือดร้อน หรือต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น คุณจะเป็นผู้หนึ่งที่หลายต่อหลายคนยื่นมือให้ความช่วยเหลือ ดังสุภาษิตหนึ่งที่ว่า “ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ” คนที่คุณเคยให้ความช่วยเหลือพวกเค้า สักวันหนึ่งพวกเค้าอาจจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่คุณก็เป็นได้

การให้ส่งผลต่อ ...... โอกาสอันงามที่ได้รับ : คุณเชื่อเรื่องพลังแห่งการให้บ้างหรือไม่ การให้เปรียบเสมือนกับการสั่งสมบารมีแห่งความดี และความดีนี้เองจะทำให้คุณมีโอกาสหรือทางเลือกที่จะทำอะไรมากมาย ซึ่งบางครั้งคุณอาจไม่เคยคาดคิดถึงโอกาสหรือสิ่งที่คุณได้รับมาก่อนเลย

การให้บ่อเกิดของ ...... ความเห็นอกเห็นใจ : เมื่อคุณทำงานผิดพลาด หรือมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ คุณจะได้รับความเข้าใจและความเห็นใจมากกว่าที่จะโดนซ้ำเติม หรือได้รับการตอกย้ำจากบุคคลที่คุณเคยเป็นผู้ให้แก่พวกเค้า ผู้ให้ย่อมจะได้รับความเข้าใจ ความพร้อมที่จะรับฟังในปัญหาหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

          สิ่งสำคัญที่ดิฉันอยากให้คุณตระหนักไว้เสมอว่า จงอย่าคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ โดยที่คุณไม่ได้ร้องขอหรือไม่ได้คาดคิดมาก่อน ดิฉันอยากให้หลายต่อหลายคนเห็นความสำคัญของการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ทั้งนี้การให้นั้นคุณไม่จำเป็นต้องให้ในรูปของทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้เป็น “ ผู้ให้ ” บ้างแล้วล่ะก็ คุณสามารถทำได้ในรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ

ให้ “ ความรู้ ” คุณไม่ควรเก็บหรือกั๊กข้อมูลไว้ เหตุเพราะกลัวคนอื่นจะเก่งกว่าหรือรู้มากกว่า การให้ความรู้อาจจะเป็นในรูปแบบของการถ่ายทอด หรือการสอน หรือการจัดกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่นในสายวิชาชีพเดียวกัน หรือบุคคลต่าง ๆ ที่สนใจในสิ่งที่คุณรู้

ให้ “ ความคิดเห็น ” รูปแบบหนึ่งของการให้นั่นก็คือ การแสดงความคิดเห็นของตนแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นความคิดเห็นทั้งในแง่มุมของการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย รวมทั้งเหตุผลประกอบความคิดเห็นของตนด้วย ในกรณีที่คุณไม่เห็นด้วยนั้น คุณควรระวังในคำพูด โดยพยายามใช้คำพูดในทางบวกเพื่อให้อีกฝ่ายมีความรู้สึกดีด้วยเช่นเดียวกัน

ให้ “ คำปรึกษา ” การให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นนั้นจะเป็นได้ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน การให้คำปรึกษาที่ดีนั้นคุณควรเป็นผู้รับฟังที่ดีด้วย รวมถึงเป็นผู้ตั้งคำถามเพื่อค้นหาข้อมูลหรือเหตุผลในเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น และในระหว่างที่คุณให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นอยู่นั้น ขอให้ลองสังเกตสีหน้าและแววตาของอีกฝ่าย เพื่อที่ว่าคุณจะได้ปรับน้ำเสียงและคำพูดของคุณให้เหมาะสมกับความรู้สึกของฝ่ายตรงกันข้าม

ให้ “ ความช่วยเหลือ ” เมื่อมีคนมาขอร้องคุณให้ช่วยทำสิ่งต่าง ๆ ให้ โดยที่คุณวิเคราะห์แล้วว่าสิ่งนั้นคุณสามารถทำได้ (สบายมาก) คุณไม่ควรนิ่งดูดาย คุณควรรับปากด้วยความเต็มใจ รวมถึงคุณควรเป็นผู้หนึ่งที่อาสาให้ความช่วยเหลือก่อนโดยไม่ต้องรอคำร้องขอหรือคำสั่งใด ๆ ก็ตาม

ให้ “ ทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ” การให้ในที่นี้จะหมายถึงการบริจาค หรือเป็นการทำทานแก่ผู้อื่นตามกำลังทรัพย์ที่คุณมี “ มีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย ”… . การบริจาคนั้นอาจเป็นได้ทั้งตัวเงินหรือไม่ใช่ตัวเงินก็ว่าได้ และที่สำคัญคุณอย่าไปนึกเสียดายในสิ่งที่คุณบริจาคหรือให้ไป.... แล้วคุณจะรู้สึกมีความสุขไปกับสิ่งที่คุณบริจาค

ให้ “ จิตที่เป็นกุศล ” การส่งใจหรือส่งจิตที่เป็นกุศล ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้ ซึ่งเป็นการคิดสงสารหรือเห็นใจในสิ่งหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการแผ่เมตตาจิต เป็นการขอให้คนที่คุณไม่รู้จักแต่คุณบังเอิญไปรับรู้และรับฟังเรื่องราวของพวกเค้า โดยขอให้พวกเค้าพบเจอแต่สิ่งดี ๆ มีความสุขและสามารถผ่านพ้นในเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปได้

ให้ “ อภัยในความผิดของผู้อื่น ” การให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นคิด ทำ หรือพูดไม่ดีกับคุณ คุณไม่ควรถือสาหรือคิดแก้แค้นในสิ่งที่พวกเค้าทำกับคุณ แต่ในขณะเดียวกันถ้าทำได้ คุณควรช่วยเหลือพวกเค้ายามเมื่อเค้าเดือดร้อน เพราะการให้อภัยจะทำให้จิตคุณไม่วิตกกังวล ไม่ฟุ้งซ่านหรือคิดมาก เท่ากับว่าเป็นการฝึกจิตให้มีพลัง มีความเข็มแข็ง

          ลักษณะของการให้ตามที่กล่าวถึงไปแล้วนั้นเป็นเพียงลักษณะหนึ่งที่คุณสามารถทำได้อย่างแน่นอน ขอให้คุณเป็นฝ่ายให้โดยไม่หวังผลตอบแทน เพราะทำให้คุณมีความสุข มีความภาคภูมิใจว่าคุณเป็นผู้ให้ และบารมีหรือผลบุญของการเป็นผู้ให้นั้น ดิฉันเชื่อว่าจะส่งผลต่อตัวคุณทำให้คุณเป็นผู้หนึ่งที่ประสพความสำเร็จในหน้าที่การงาน อย่างน้อย ๆ จิตใจที่สดใส ไม่วิตกกังวล ย่อมจะทำให้คุณมีจิตที่นิ่ง พร้อมที่จะทำงาน มีสติสมาธิ และในที่สุดคุณจะเกิดปัญญาในการทำงาน รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และทำไมถึงต้องทำสิ่งนั้น แน่นอนว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็จะส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานของตน เราควรจะมาเป็นผู้ให้กันดีกว่าค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 277547เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มาแว๊วค่ะ พี่หน่อย หาตัวยากนะคะเนี่ย

เข้ามาเยี่ยมชมบทความของพี่หน่อยค่ะ เจ๋งไม่เบาเลยนะคะ

       สวัสดีน้องหน่อยแวะมาอ่านค่ะ การเป็นผู้ให้สุขใจกว่าเป็นผู้รับ

  • ตามมาจากบันทึก  พี่นายช่างใหญ่
  • การให้ที่ประเสริฐ
  • และยิ่งใหญ่
  • คือ  การให้อภัย ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
  • สนใจการให้ในข้อนี้ค่ะ
  • ให้ “ อภัยในความผิดของผู้อื่น ” การให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นคิด ทำ หรือพูดไม่ดีกับคุณ คุณไม่ควรถือสาหรือคิดแก้แค้นในสิ่งที่พวกเค้าทำกับคุณ แต่ในขณะเดียวกันถ้าทำได้ คุณควรช่วยเหลือพวกเค้ายามเมื่อเค้าเดือดร้อน เพราะการให้อภัยจะทำให้จิตคุณไม่วิตกกังวล ไม่ฟุ้งซ่านหรือคิดมาก เท่ากับว่าเป็นการฝึกจิตให้มีพลัง มีความเข็มแข็ง

    ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณทุกคนนะคะที่แวะมาเยี่ยมชมบทความ แล้วแวะมาใหม่นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท