นพ.ศิษฏิคม เบ็ญจขันธ์


การสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขและมีสุขภาวะด้วยหลักอริยสัจสี่และหลักเศรษฐกิจพอเพียง

การสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขและมีสุขภาวะด้วยหลักอริยสัจสี่และหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ประสบการณ์จาก รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 

นพ.ศิษฏิคม  เบ็ญจขันธ์

1.         บทนำ

       ปัจจุบันปัญหาด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมืองและสาธารณสุขเป็นที่สนใจของประชาชนมากขึ้น  เพราะการสื่อสารสาธารณะที่มีการเข้าถึงอย่างกว้างขวาง   ทำให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของสังคมมากขึ้น   โดยเฉพาะปัญหาด้านสาธารณสุขที่พบว่าสังคมตั้งแต่ระดับเล็กๆอย่างครอบครัว  ชุมชน  ไปจนถึงระดับภาคหรือระดับประเทศกำลังทวีความรุนแรงขึ้น   ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการระบาดของโรคติดต่อ   โรคอุบัติใหม่   โรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ   โรคที่เกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของประชาชน  เช่น โรคอ้วนโรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง   โรคหลอดเลือสมอง  โรคเอดส์  โรคมะเร็ง  โรคหอบหืดโรควัณโรค  และโรคที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจร   ยิ่งสังคมก้าวเข้าสู่การพัฒนาสมัยใหม่ตามกระแสโลกาภิวัฒน์มากขึ้นเท่าใด  ปัญาหาด้านสุขภาพก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามัว   ดังแสดงในภาพที่ 1-1 ถึง 1-2 ซึ่งเป็นปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อนยากแก่การเยียวยาและแก้ไข

       ประชาชนมีความเสี่ยงด้านโรคภัยเพิ่มขึ้น   พฤติกรรมการบริโภคอาหารเปลี่ยนไป     มีการบริโภคอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเพิ่มขึ้น   อาหารขยะหรืออาหารประเภท Fast Food เพิ่มขึ้น    ประชาชนมีเวลาดูแลตนเองน้อยลง   ทำงานตัวเป็นเกรียว   มุ่งสร้างรายได้   หาเงินเพื่อเลี้ยงชีพโดยไม่สร้างความสมดุลให้แก่ตนเองและครอบครัว  ทำให้สุขภาพทรุดโทรมมีโรคภัยเพิ่มขึ้นอีก    หลายโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม

        นอกจากนี้สังคมสมัยใหม่ยังมุ่งเน้นแต่การแสวงหาความสุขด้านวัตถุนิยม   โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือ  ทำให้ผู้คนแสวงหาเงินซึ่งถือว่าเงินเป็นวาระ    ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่จึงแสวงหาเงิน  โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง  ขอให้บรรลุเป้าหมายคือความร่ำรวย   แม้ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง  หรือต้องเอารัดเอาเปรียบคนอื่น    เข้าหลักของมือใครยาวสาวได้สาวเอา  ทำให้สังคมเสื่อมโทรมและเป็นพิษ   เกิดความไม่สมดุลทุกระดับ  บางคนร่ำรวยอย่างมหาศาล  ในขณะที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะประชาชนในระดับพื้นฐานรากหญ้ากลับทุกข์ยาก   ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ  และสุดท้ายถึงแก่การล้มละลาย   ครอบครัวแตกแยก  สามีภรรยาต้องแยกกันอยู่   มีครอบครัวใหม่หรือครอบครัวทับซ้อน   อพยพแรงงานทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องไปทำงานหาเงิน   ลูกหลานขาดที่พึ่ง   ผู้สูงอายุขาดคนดูแล    ไร่นาปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า  แห้งแล้ง  เสื่อมโทรม   บ้างก็ถูกนายทุนยึดไป      มีหนี้สินล้นพ้นตัว  ไม่มีทรัพย์สิน  ไม่มีทุนรอนใดๆเหลืออยู่   นับเป็นการล่มสลายของผู้คนระดับพื้นฐานจนเกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมากมาย  ทั้งด้านอาญชากรรม  ยาเสพติด  โรคภัยไข้เจ็บ  ฯลฯ

          ปัญหามากมายเหล่านี้ซับซ้อน  และละเอียดอ่อนมาก  ยากต่อการจัดการ  แต่มีผู้ที่พยายามจะหาหนทางในการแก้ไขเยียวยา  ให้พวกเราเห็นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างเหลือเชื่อ   แม้จะใช้เวลาอันยาวนานและความอดทน   อดกั้นอย่างมากมาย   นั่นก็คือ คุณหมออภิสิทธิ์  ธำรงวรางกูร ผอ.โรงพยาบาลอุบลรัตน์และ คุณหมอธารทิพย์  ธำรงวรางกูร  สองสามีภรรยาที่เสียสละความสุขส่วนตัวและทำงานอย่างมุ่งมั่น  ทุ่มเท  มาตลอดระยะเวลากว่า 26 ปี จนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาทั้งปวง  ซึ่งพบว่าปัญหาต่างๆทั้งทางเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคม  การศึกษา  ล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพทั้งสิ้น    โดยการใช้หลักง่ายๆ  คือ  หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน  ชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน  และใช้หลักของอริยสัจสี่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหา    จนเกิดชุมชนที่เข้มแข็ง   มีสุขภาวะที่ดี   ลดการเจ็บป่วยและลดอัตราการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลงได้   นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเอาชนะกระแสทุนนิยมและค่านิยมแห่งการบริโภคและการใช้จ่ายอย่างเกินตัว   หันมาพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

 2.  วิเคราะห์และจัดาการปัญหาด้วยอริยสัจสี่

         อริยสัจสี่ ได้แก่ ทุกข์  สมุหทัย  นิโรธและมรรค  นับเป็นความชาญฉลาดคุณหมออภิสิทธิ์ และภรรยา  ที่นำหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธเข้ามาประยุกต์ใช้กับชาวบ้าน  เพราะชาวบ้านที่อำเภออุบลรัตน์เกือบร้อยเปอร์เซนต์นับถือศาสนาพุทธ    ดังนั้นจึงไม่เป็นการยากที่จะทำให้ชาวบ้านเข้าใจและร่วมมือ    ดังนี้        

        2.1 ทุกข์   การค้นหาทุกข์ของชาวบ้าน  โดยให้ชาวบ้านระดมสมอง  จากเวทีประชาคมหมู่บ้าน  เวทีแลกเปลี่ยนต่างๆ  ทั้งในหมู่บ้าน  ในชุมชนและในโรงพยาบาล     พบว่าทุกข์ของชาวบ้านมีมากมาย  ที่สำคัญได้แก่  สุขภาพไม่ดี  มีโรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง โรคเอดส์  โรคจากอุบัติเหตุจราจร  ติดการพนัน  ติดยาเสพติด  ติดสุราและบุหรี่    คนชราและเด็กไม่มีคนดูแล  สิ่งแวดล้อมไม่ดีมีสารพิษและสารเคมีเจือปน  ป่าไม้ถูกทำลาย  คุณภาพดินเสื่อมโทรม     ผู้คนเห็นแก่ตัว   ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน   ทุกข์เหล่านี้ค่อยๆเกิดกับครอบครัวทีละครอบครัว  และหลายครอบครัวในเวลาต่อมา และกระจายไปหลายหมู่บ้านจนเกิดกับครอบครัวทุกทั่วหัวระแหง   เป็นทุกข์ที่กลัดกร่อนความเข้มแข็งของชุมชน         

 2.2 สมุหทัย  การหาสาเหตุแห่งทุกข์   จากการระดมสมองและจาการไปพูดคุยกับตัวแทนชาวบ้านคือคุณมาร์ตินที่เป็นชาวอังกฤษแต่หลงไหลในชนบทเมืองไทย    พบสาเหตุแห่งทุกข์ของชาวบ้านที่สำคัญ  ได้แก่  การมีรายได้น้อย  ไม่มีเงินออม  ยากจน  ใช้จ่ายเกินตัว  เงินไม่พอใช้จ่าย  หนี้สินมาก   ยากจน  ครอบครัวแตกแยก  วัยแรงงานย้ายออกนอกหมู่บ้านไปทำงานที่อื่น  การทำการเกษตรที่หวังพึ่งลมฝนจากธรรมชาติ   การปลูกพืชเชิงเดี่ยว  เช่น ปลูกอ้อย  มันสำปะหลัง  ยูคาลิปตัส   มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้   ทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสาพิษและสารเคมี  ดินจืดและเสื่อม  แห้งแล้ง  ป่าไม้ถูกทำลายโดยนายทุน   การเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านล้มเหลว  ขาดทุน  มีหนี้เพิ่มขึ้น  จึงต้องอพยพแรงงานไปทำงานที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ   มีปัญหาครอบครัว  ไม่มีพ่อแม่ดูแลอบรมสั่งสอนลูก  ไม่มีคนดูแลผู้สูงอายุ   ถูกปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว   ขาดสารอาหาร  ขาดความอบอุ่น  สุขภาพกายและสุขภาพจิตทรุดโทรม  ซึมเศร้า ตามมาด้วยปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ฯลฯ

2.3 นิโรธ  คือหนทางดับทุกข์   ทุกข์ของชาวบ้านมีทางออก  โดยหมออภิสิทธิ์  และทีมงานโรงพยาบาลอุบลรัตน์ได้ใช้วิธีการอย่างมากมายในการหาหนทางที่จะดับทุกข์ให้ชาวบ้าน   ได้ศึกษาทดลอง  ลองผิดลองถูก   ช่วงแรกๆ หมออภิสิทธิ์กับทีมงานก็หลงทางไปนานพอสมควรเพราะไปยึดติดกับการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลให้โรงพยาบาลดี  มีความสมารถสูง   แต่สิ่งที่ตามมาคือประชาชนหลั่งไหลมารับบริการที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น  เพราะแพทย์และพยาบาลดีผู้คนเชื่อมั่นและศรัทธา  เกิดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลประชาชนไปใช้บริการเพิ่มขึ้นทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน  กำลังของเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไม่พอที่จะดูแลคนไข้  ทั้งแพทย์และเจ้าหน้าที่สาขาหลักขาดแคลน   ซึ่งเป็นเส้นทางที่ หมออภิสิทธ์บอกว่าหลงทางเพราะเป็นการพัฒนาโดยการมุ่งซ่อมแซมสุขภาพ  ไม่ใช่การสร้างสุขภาพ   คนป่วยเพิ่มขึ้น  ไม่แข็งแรงและเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้  หมออภิสิทธิ์และทีมงานได้ค้นพบอีกว่าผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลมี 3 กลุ่มหลักๆ  คือ กลุ่มที่รักษาแล้วหายถ้าไม่รักษาตาย   กลุ่มที่รักษาก็หายไม่รักษาก็หาย  และกลุ่มที่รักษาก็ตายไม่รักษาก็ตาย  โดยพบว่ากลุ่มที่รักษาก็หายไม่รักษาก็หายเป็นส่วนใหญ่ และเป็นโรคพื้นฐานเช่นไข้หวัด  โรคกระเพาะอาหาร  โรคปวดกล้ามเนื้อ  โรควิตกกังวล โรคเรื้อรังที่ควบคุมได้ เป็นต้น  ซึ่งโรคกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลถ้าประชาชนรู้จักรักษาตนเอง  เช่นการออกกำลังกาย  การบริโภคอาหารที่เหมาะสม  การพักผ่อน  การใช้สมุนไพรพื้นบ้าน   การดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีปราศจากแหล่งเพาะพันธ์เชื้อโรค   การใช้บริการในหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน  เป็นต้น  

        คุณหมออภิสิทธิ์และทีมงานได้ค้นพบว่าในชุมชนมีทุนเดิมที่ดีมากๆอยู่แล้วคือภูมิปัญญาชาวบ้านและปราชญ์ท้องถิ่น  เพราะจากประสบการณ์ที่เคยไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้านที่อยู่ต่างจังหวัดหลายท่าน  ทำให้พบว่าขุมพลังแห่งปัญญาและผู้นำแห่งการปฏิบัติอยู่ในหมู่บ้านนั่นเอง   จึงใช้วิธีการ Mapping ทั้งอำเภอเสาะแสวงหาผู้นำชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตนและการประกอบสัมมาอาชีพจนประสบความสำเร็จ  และเป็นปราชญ์ที่สามารถถ่ายทอดอบรมชาวบ้านได้  ทำให้คุณหมออภิสิทธิ์ค้นพบปราชญ์ชาวบ้านอีกมากมายและส่งเสริมให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชุมชน สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มนี้คือ  การดำรงตนอยู่อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรีโดยไม่อิงอยู่กับเงิน ไม่ยึดเอาเงินเป็นวาระ  แต่ขึ้นอยู่กับความพอเพียง  รู้จักประมาณตน  ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล  ประกอบสัมมาอาชีพ  อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  ภาษาพระเรียกว่าอยู่ในอุตระประเทศ  คือ ผู้คนรอบข้างเป็นคนดี  สังคมดี  มีคุณธรรม  เอื้ออาทรต่อกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายใต้ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามแบบดั้งเดิมที่เหมาะกับชุมชนนั้น ๆ

        สรุปว่าหนทางดับทุกข์ของชาวบ้านคือการอยู่อย่างพอเพียงนั่นเอง

2.3 มรรค คือการลงมือดับทุกข์ด้วยการอยู่อย่างพอเพียง    การอยู่อย่างพอเพียงนี้มีขอบเขตที่กว้างมาก  แล้วแต่คนจะนำไปใช้และปรับตามสภาพความเหมาะสมของตน สำหรับอำเภออุบลรัตน์ จะถือเป็นหัวใจสำคัญของวิธีการแก้ปัญหา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้นให้คนไทยนำไปปฏิบัติเพื่อความอยู่เย็นป็นสุข   ชาวอุบลรัตน์โดยการชี้แนะของคุณหมออภิสิทธิ์   ได้นำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและมีการเรียนรู้ลองผิดลองถูกจนได้วิธีการที่ดีที่สุดและเห็นผลจนมีผู้มาศึกษาดูงานมากมาย  ซึ่งอยากจะเล่าในส่วนที่เก็บมาได้ดังนี้

        1. เรื่องที่ดูเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนคือ  การปรับพฤติกรรมของชาวบ้าน  ด้วยการรู้จักประมาณตน  ประหยัด  อดออม  ไม่ใช้จ่ายเกินตัว   และไม่หวังพึ่งนายทุน  ให้พึ่งตนเอง   คุณหมออภิสิทธิ์บอกว่า  อัตตาหิ  อัตโนนาโถ  ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนซึ่งเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นเหมาะที่ชาวบ้านจะยึดถือไว้ว่า  การช่วยเหลือตัวเราเองโดยไม่หวังพึ่งนายทุนจะทำให้เราลืมตาอ้าปากได้เร็ว  ไม่กูหนี้ยืมสิน   ไม่ซื้อปุ๋ยเคมี  ไม่ซื้อยาฆ่าแมลง  แต่ให้ใช้พืชพรรณธรรมชาติที่เรามี  แล้วค่อยบำรุงรักษาด้วยปุ๋ยอิทรีย์ที่ผลิตเอง  ใช้ยาฆ่าและป้องกันแมลงจากธรรมชาติที่ผลิตเองจากพืชผักสมุนไพร  จะทำให้เราไม่เป็นหนี้  มีพอกินพอใช้  เหลือกินและเหลือใช้ก็แบ่งปันหรือขายบ้างก็ได้

       2. ป้องกันและอุดรูรั่วต่างๆ  เช่น  การสูญเสียเงินด้วยเหตุไม่บังควร  เช่น  เล่นการพนัน  เที่ยวเตร่แหล่งอบายมุข  เสพยาเสพติด  ดื่มสุรา  สูบบุหรี่    แม้กระทั่งการมีพฤติกรรมในเชิงชู้สาวที่จะทำให้เกิดการใช้จ่ายอย่างไม่เหมาะสม  และเกิดปัญหาครอบครัวด้วย    เรื่องเหล่านี้ผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดีดูเหมือนจะเป็นคุณมาร์ติน   ซึ่งเป็นคนต่างชาติชาวอังกฤษที่มาได้ภรรยาเป็นคนไทยที่อำเภออุบลรัตน์   ก่อนหน้านี้ประมาณ 20 ปี คุณมาร์ตินเป็นคนที่มีปัญหามาก   พฤติกรรมโดยรวมถือว่าแย่  เพราะติดทั้งเหล้า  บุหรี่และยาเสพติดทุกชนิด  มีอารมณ์รุนแรง  ต่อมาได้รู้จักกับคุณหมออภิสิทธิ์และภรรยา  และได้รับการชี้แนะให้เห็นพิษ  โทษภัยของอบายมุขเหล่านั้น  โดยความพยายามของคุณหมอทั้งสองที่ไปแวะเยี่ยมและให้ความรู้แนะนำอยู่บ่อยๆ  โชคดีที่คุณมาร์ตินเป็นคนที่เข้าใจง่าย  รับรู้เร็ว  และพูดเก่ง  แรกๆก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ   ต่อมาคุณมาร์ตินมีลูกชายที่เกิดกับภรรยาที่เป็นคนไทย  คุณหมอได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของลูก  ลูกที่จะค่อยๆเติบโตขึ้นและเห็นพฤติกรรมของพ่อที่ไม่ดีต่างๆ  โชคดีอีกครั้งที่คุณมาร์ตินเป็นคนที่รักลูกมาก ไม่อยากให้ลูกเป็นดังเช่นตน  จึงตัดสินใจลดละและเลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้งปวง  ด้วยการใช้จิตที่เข้มแข็งของคุณมาร์ตินทำให้คุณมาร์ตินเอาชนะกับความต้องการเสพอบายมุขเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง   โดยไม่หวนกลับไปข้องแวะอีก  และทำให้คุณมาร์ตินเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต  มีครอบครัวที่อบอุ่น  และเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงและคอยชี้แนะให้กับชาวบ้านที่มาปรึกษา  ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อย่างกว้างขวาง ขณะนี้ถือว่าแป็นปราชญ์ชาวบ้านอย่างสมภาคภูมิทีเดียว  นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมมากๆ

        3. นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆที่สำคัญและบูรณาการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษและการเกษตรแบบผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว   การออมดิน  ออมน้ำ  ออมป่า  การปลูกไม้ยืนต้น   การส่งเสริมการเกษตรระยะสั้นระหว่างที่รอผลผลิตจากไม้ยืนต้น   การทำการเกษตรปราณีต 1 ไร่    การสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน  (ศูนย์ค้ำคูณ)  การรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น    นำเอาขนบธรรมเนียมประเพณีแต่เดิมมาใช้ในหมู่บ้าน   ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนเกิดปัญญานำสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง  ดูเหมือนผลลัพธ์จะเกิดต่อเนื่องจาก  อริยสัจสี่  คือทุกข์  สมุหทัย  นิโรธ  และมรรค  ต่อด้วยผล  ภาษาพระมักจะพูดคำว่า “มรรคผล” เป็นคำเดียวกัน  แต่จริงๆแล้วผลเป็นสิ่งที่ตามจากมรรค  เพราะมรรคเป็นวิธีการหรือกระบวนการทั้งหลายที่ใช้แก้ปัญหา  

  3. ผลลัพธ์สำคัญ

     ผลลัพธ์ที่สำคัญของการจัดการปัญหาของชาวอำเภออุบลรัตน์  คุณหมออภิสิทธิ์ได้ใช้แนวทางของ ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  ที่ได้อธิบายสังคมที่ประสบความสำเร็จมีลักษณะ 5 ประการ  คือเป็นสังคม 5ส. ซึ่งได้แก่  สัมมาอาชีพ  สิ่งแวดล้อมดี   สังคมเอื้ออาทร   สมองดี   และสุขภาพดี   จะขอขยายความเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นดังนี้

     สัมมาอาชีพ  ประชาชนมีอาชีพที่แน่นอน  คืออาชีพการเกษตรปลอดภัย  มีแปลงผัก  สวนผัก  สวนสมุนไพร มีต้นไม้ที่เป็นเสมือนทุนที่ฝากไว้ใช้ในวันข้างหน้า  พึ่งตนเองได้  ไม่พึ่งนายทุน    ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน   ผลผลิตใช้กินใช้อยู่   เหลือกินก็สามารถแลกเปลี่ยนกันหรือจำหน่ายก็ได้   ไม่เป็นหนี้    มีเงินออม  ไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานต่างถิ่น  ครอบครัวอบอุ่น  มีคุณภาพชีวิตที่ดี

       สิ่งแวดล้อมดี   ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีเจือปนในดิน  อากาศบริสุทธิ์  ดินดี  น้ำดี   ไม่มีแหล่งเพราะพันธุ์เชื้อโรค   มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์    มีสัตว์ป่า   มีเห็ดและผักที่สะอาด   อาหารดี   ยาสมุนไพรที่ดี  มีธรรมชาติและนิเวศน์วิทยาที่สมดุล  

 &nbs

หมายเลขบันทึก: 277023เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2009 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 06:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เก็บได้ละเอียดมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท