อคติ อุเบกขา


ความเป็นกลาง สร้างความสามัคคีในองค์กร

อคติ คือความไม่เป็นกลาง มี 4 อย่าง คือ ไม่เป็นกลางเพราะชอบ ไม่เป็นกลางเพราะชัง ไม่เป็นกลางเพราะเขลา และไม่เป็นกลางเพราะกลัว เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความเห็นหรือความเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริง หรือที่เรียกว่ามิจฉาทิฐิได้...สองสิ่งที่เชื่อมโยงกันนี้ นำไปสู่ความเสื่อมขององค์การ

ความเลวร้ายประการสำคัญของอคติ คือการทำให้เกิดการเหมารวมหรือ “Stereotyping” เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งบางครั้งจริง บางครั้งไม่จริง เริ่มต้นลำเอียงเกี่ยวกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างไรก็จะลำเอียงไปทางนั้นเกี่ยวกับสิ่งนั้นตลอดเวลา...พูดง่ายๆ คือ ที่เคยคิดดีด้วย ก็จะคิดดีด้วยไปตลอด ถ้าเคยคิดทางลบด้วย ก็คิดทางลบด้วยไปตลอด...กลายเป็นความฝังใจที่แก้ไขยาก

เมื่อเกิดอคติเพราะความไม่ชอบคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าคนๆ นั้นจะทำอะไรก็จะมองเป็นความไม่ดี ความเลวร้าย พาลให้เบื่อหน้า ไม่อยากร่วมงาน แม้มีคุณประโยชน์อยู่บ้าง ก็จะมองไม่เห็น ทำอะไรก็ดูขัดหูขัดตาไปเสียหมด อากัปกิริยา ท่าทาง น้ำเสียง สีหน้า ที่แสดงออกมาต่อคนๆ นั้น ก็จะเป็นไปในทางลบ หรือแม้จะพยายามเก็บกลั้น ฝืนแสดงออกมาให้เป็นบวกตามมารยาททางสังคม ก็จะไม่สู้จริงใจ ทำให้คนๆ นั้น รู้สึกได้อยู่ดี

และเมื่ออีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคนที่มีอคติได้ง่ายเช่นเดียวกัน ก็ย่อมมีอคติตอบโต้กันเป็นอันไม่สิ้นสุด และเมื่อต่างฝ่ายต่างมีพรรคพวกของตนเอง ก็ยิ่งจะขยายอคตินั้นๆ ไปให้พรรคพวกของตนเองให้รู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน...ที่สุดองค์การก็แบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย...มีปัญหาการปัดแข้งปัดขา เกิดการเมืองในองค์การขึ้นมาทำลายล้างกันเอง

ด้วยเหตุนี้ อคติจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งในการบริหารองค์การ เพราะเมื่อคนในองค์การมีอคติตอบโต้กันเช่นนี้ จะพลอยทำให้สายใยของเครือข่ายที่เคยเชื่อมโยงทรัพยากรที่กระจายอยู่ทั่วองค์การค่อยๆ เสื่อม...แม้จะเป็นองค์การขนาดใหญ่ แต่ก็อาจเปราะบาง พร้อมที่จะสลายร่วงลงเป็นกองซากปรักหักพังเมื่อมีสิ่งมากระทบเพียงเล็กน้อย และแม้จะเป็นองค์การใหญ่ มีทรัพยากรอยู่มากมาย แต่ก็ไม่สามารถเชื่อมโยงทรัพยากรเหล่านั้นให้มาทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่ เหมือนเอาก้อนอิฐมากองรวมกันเฉยๆ แต่ไม่ก่อ ไม่เรียง ไม่ถือปูน

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งสำคัญในการบริหารองค์การคือ การพยายามทำให้คนในองค์การไม่มีอคติ

ต่อกัน หรือให้มีน้อยที่สุด ซึ่งการทำลายอคตินั้น ทำได้ด้วยการฝึกเพียงอย่างเดียว และต้องฝึกด้วยตัวเอง ใครเริ่มฝึกได้เร็วเท่าใด ก็จะหลุดจากอคติได้เร็วเท่านั้น ประโยชน์ทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น ก็จะตกอยู่กับองค์การ...รวมทั้งผู้คนที่อยู่ในองค์การร่วมกัน

ขึ้นชื่อว่าอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติแบบใด ล้วนแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อองค์การทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอคติที่เกิดจากความชัง หรือความชอบ...แม้หลายคนจะคิดว่า การมีอคติเพราะคนรักใคร่กัน ชอบพอกัน จะให้ผลในทางที่ดีมากกว่า เพราะอย่างน้อยก็ยังมีความสมัครสมานเกิดขึ้นภายในกลุ่ม……...แต่ที่จริงแล้วให้ผลเสียไม่ต่างจากอคติที่เกิดจากความชังเลย

ความชอบ และความชัง เป็นภาวะที่มีระดับ (Degree) นั่นคือ มีระดับที่ชอบมาก ชอบปานกลาง  ชอบน้อย เช่นเดียวกับความชัง...คนที่ถูกชอบมาก ก็ย่อมเป็นที่ไม่พอใจของคนที่ถูกชอบน้อยกว่า แล้วก็กลายเป็นความชัง และทำให้เกิดอคติตามมา จนในที่สุดผลจากอคติที่เกิดจากความชอบ และจากอคติที่เกิดจากความชังกลายเป็นของที่แยกกันไม่ออก สุดท้ายองค์การก็แตกแยกอยู่ดี

อธิบายมาอย่างนี้ ฟังดูเหมือนว่าจะบังคับให้องค์การไม่มีความรู้สึกชอบ หรือรู้สึกชัง ซึ่งเป็นสิ่งไม่ปกติของคนธรรมดาสามัญทั่วไปจริงๆ แล้ว จะบังคับคนทั้งหมด หรือฝึกคนทั้งหมดให้เป็นอย่างนั้น ก็คงจะเป็นไปไม่ได้...ความชังความชอบ ย่อมจะต้องมีได้เป็นธรรมดา เพียงแต่เมื่อจะต้องตัดสินใจในฐานะของคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การและทำงานให้แก่องค์การ จะต้องตัดสินใจโดยปราศจากอคติ....แต่ในส่วนตัวแล้ว จะชอบแค่ไหน จะชังอย่างไรล้วนแต่เป็นสิทธิส่วนบุคคล

ในพรหมวิหาร 4 ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ให้แก่พระอานนท์ในมหาปรินิพานสูตรนั้นมีอุเบกขาหรือความวางเฉย ทำใจให้เป็นกลาง ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์และของอคติ นับเป็นกุญแจสำคัญในการจะดับอคติ...เมื่อใจเป็นกลาง ไม่ลำเอียงแล้ว สิ่งเดียวที่จะช่วยในการตัดสินใจคือเหตุผลซึ่งจะทำให้สามารถอธิบายการตัดสินใจได้ด้วยความโปร่งใส และไม่ว่าผลการตัดสินใจจะออกมาอย่างไร ก็อธิบายได้ และเกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้ตัดสินใจ

อุเบกขา จึงเป็นเหมือนสายบังเหียนที่คอยดึงให้อารมณ์และความคิดของคน กลับมาอยู่ตรงกลาง   ไม่มีความชัง ไม่มีความชอบ มีแต่ความเป็นเหตุเป็นผล ทำให้อคติทั้งที่เกิดจากความชัง และอคติที่เกิดจากความชอบหมดไป

สิ่งที่แสดงอยู่ตรงหน้าเมื่อจิตใจตั้งอยู่ในอุเบกขา คือสิ่งที่อยู่สิ่งที่เป็นตามปกติ โดยไม่มีอคติส่วนตัว สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ สิ่งที่เป็นโทษก็เห็นว่าเป็นโทษ สิ่งใดที่ควรทำก็ต้องทำ แต่ต้องกำกับด้วยปัญญาและความรอบรู้

สิ่งที่ผู้บริหารจะแปลกใจหลังจากการดับอคติด้วยการฝึกอุเบกขา คือการที่เริ่มเห็นคนที่อยู่รายล้อมมี

หลายแง่หลายมุมมากขึ้น ในคนหนึ่งคน มีทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์สำหรับงานบางอย่าง และเป็นโทษสำหรับงานบางอย่าง เป็นทฤษฎีที่เรียกว่า Contingency คือไม่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งจะทำให้สามารถแยกแยะได้ว่า คนนี้ควรให้ทำอะไร ในสถานการณ์ไหน และไม่ควรให้ทำอะไร ในสถานการณ์ไหน จากที่แต่เดิมเมื่อมีอคติในทางที่ไม่ชอบแล้ว ก็เหมารวมไปหมดว่าอะไรก็คงไม่ได้เรื่อง หรือเมื่อมีอคติในทางที่ชอบคนไหนแล้วไม่ว่าจะทำอะไรก็จะดีไปเสียหมด ถูกต้องไปเสียหมด มองเห็นสิ่งต่างๆ เป็นสีเทา แยกขาวไม่ออก แยกดำไม่ออก

เมื่อเข้าถึงอุเบกขาและดับอคติได้ ประกอบกับมีปัญญาแยกแยะส่วนต่างๆ ของคนและของสถานการณ์ได้ ก็เหมือนกับมี Model ในการวิเคราะห์ที่แม่นยำอยู่ในใจ สามารถใช้คนได้ถูกต้องเหมาะสม  ทำให้เกิดความร่วมมือ ประสานงาน ประสานประโยชน์ เป็นฐานที่มั่นคงของ Strategic Alliance หรือพันธมิตรทางกลยุทธ์ ด้วยเหตุนี้ อุเบกขาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักวางแผนและนักกลยุทธ์

เมื่ออุเบกขาทำให้มองเห็นประโยชน์ในแต่ละคนแล้ว ก็ย่อมจะต้องรู้จักผูกไมตรีไว้ ไม่ตั้งท่าจะเป็นศัตรูกันโดยง่าย มองเห็นผู้คนมีค่ามากขึ้น เมื่อมีใครทำสิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ก็จะมีความอดกลั้นมากขึ้น ไม่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ เพราะจะนึกถึงคุณค่า คุณประโยชน์ที่คนๆ นั้นมีอยู่ชดเชยกัน การพูดจาตักเตือน หรือหากจะต้องลงโทษก็จะทำด้วยความเหมาะสม ไม่มีอคติ

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า สิ่งที่ยากในการขจัดอคติด้วยอุเบกขา คือการลงมือฝึก เพียงแค่อ่านตัวหนังสือ

และพยายามทำความเข้าใจเท่านั้นไม่เพียงพอ เพราะจะเข้าใจแต่จะไม่ได้ทำ และต้องฝึกทุกขณะที่รู้ตัว เพื่อให้

เกิดเป็นนิสัย จะต้องเขียนคำว่าอุเบกขาและอคติตัวโตๆ อยู่ในใจ....กระทั่งเมื่อมองเห็นประโยชน์ของศัตรูหรือคู่แข่งขึ้นมา และเมื่อรู้จักเข้าไปหาทางร่วมมือกันจนเกิดเป็นพันธมิตรได้เมื่อใด ก็นับว่าได้เห็นผลของการฝึก

และหากทุกคนช่วยกันฝึกอุเบกขา และขจัดอคติกันทั้งองค์การ ความขัดแย้งต่างๆ ก็ย่อมจะลดลง

เหลือแต่ความร่วมมือกันอย่างจริงใจ ถนอมไมตรีต่อกัน และทำให้องค์การเกิดความเข้มแข็ง...และยิ่งหากขยายไปสู่ภายนอกองค์การด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เกิดพันธมิตรข้ามองค์การที่ยั่งยืนอีกด้วยเทคนิคการบริหารองค์การมีอยู่ใกล้ตัวเรามานานกว่าสองพันห้าร้อยปี เป็นเทคนิคที่ลึกซึ้ง ทันสมัยอยู่เสมอ และรู้จักท่องจำกันมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ รู้จัก เข้าใจ แต่ไม่ซาบซึ้ง ไม่ลองปฏิบัติ จึงไม่เห็นประโยชน์ และไม่เกิดประโยชน์          จึงน่าที่จะทบทวน ทำความเข้าใจ และนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่องค์การต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #ความเป็นกลาง
หมายเลขบันทึก: 274905เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2009 06:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ถ้าคนทุกคนมีอุเบกขา ก็คงจะดีมีความเป็นเหตุเป็นผล ความอคติก็หมดไป บทความให้แง่คิดดีมากเลยจ๊ะ วาส

เป็นกำลังใจให้นะค่ะ จะแวะมาเยี่ยมใหม่

แวะมาเยี่ยมพี่วาดค่ะ พรุ่งนี้เรา สู้ สู้ นะค่ะ เพื่อนำเสนอรายงาน

แวะมาอ่านค่ะน้องวาส วันนี้รายงานได้ดีมากหาข้อมูลให้ความรู้ดี

 

                               

เจ้าวาสพี่ตามหาจน...ขอบตาเขียวดีใจที่พบน้อง

love you มากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ถ้าทุกๆคนมีอุเบกขาอยู่ในใจ โลกคงจะสงบสุข นะคะ (",)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท