แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

อยากศึกษาธรรมะ จะเริ่มยังไง? by ครูกวี


 

เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ

อยากศึกษาธรรมะ จะเริ่มยังไง?


เรียบเรียง ; กวี คงภักดีพงษ์
โยคะสารัตถะ ฉ.; พ.ค.'๕๒

ถ้าจะว่าไป การเริ่มต้นปฏิบัติธรรม ไม่ต่างไปจากการเริ่มต้นฝึกโยคะ จริงๆ แล้ว การเริ่มต้นทำกิจกรรมที่เป็นการเดินทางเข้าสู่ด้านในทั้งหลาย ก็ล้วนเป็นเช่นนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ ลุยไปได้เลย เราเคยเริ่มโยคะได้สำเร็จ เราก็เริ่มปฏิบัติธรรมได้ในทำนองเดียวกัน

มีคำถามเข้ามาจากเพื่อน อยากศึกษาธรรมะ และฝึกวิปัสสนา จะเริ่มยังไง? ผมลองเสนอดังนี้

เมื่อตอนที่เราสนใจที่จะดูแลตนเอง มีประกาศเรื่องการอบรมโยคะเต็มไปหมด เราเริ่มสนใจโยคะละ ก็หาหนังสือมาอ่าน บางทีไปสัมนาต่างจังหวัด เขาฝึกโยคะกัน เราก็ไปร่วมฝึก ไปลองชิม จนบอกกับตัวเองว่า เออ ชอบแฮะ คราวนี้ก็ศึกษาจริงจัง ตัดสินใจเลือกคอร์สอบรมที่น่าจะเหมาะกับตัวเอง ไปเรียน กลับบ้านก็ฝึกสม่ำเสมอ เริ่มให้ความสำคัญกับโยคะมากขึ้นๆ จนเริ่มนำโยคะมาเป็นตัวตั้งในชีวิต จะตัดสินใจอะไร โยคะมาก่อน อย่างอื่นไว้ทีหลัง สนใจโยคะมากขึ้น ขวนขวายศึกษามากขึ้น ไปอบรมเพิ่มเติม ยิ่งถ้าเจอครูที่ถูกคอ ยิ่งก้าวหน้า พบว่าตนเองมีพัฒนาการเชิงก้าวกระโดดเป็นช่วงๆ จนโยคะกลายเป็นนิสัยหลักของชีวิต และก็ดำเนินวิถีโยคะต่อเนื่องไป ... (จนกว่าจะถึงโมกษะมั้ง)

เมื่อสนใจที่จะพัฒนาจิตก็เช่นกัน ในสังคมมีพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเต็มไปหมด อยู่มาวันนึง เราเริ่มสนใจ ก็เริ่มหาข้อมูล คุย อ่านหนังสือ ฟังซีดี อาจมีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมกับเขาบ้าง จนบอกกับตัวเองว่า เออ น่าสนใจแฮะ น่าจะมีประโยชน์กับชีวิตเรานะ คราวนี้ก็เริ่มศึกษาจริงจัง หาแนวทางปฏิบัติที่น่าจะเหมาะกับตนเอง (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) แล้วก็เริ่มฝึก เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตมากขึ้น จนเอาการปฏิบัติธรรมมาเป็นตัวตั้งของชีวิต จะตัดสินใจทำอะไร ให้สิทธิ์การพัฒนาจิตก่อน อย่างอื่นเริ่มผัดผ่อน ถ้าชนกัน ต้องติดทิ้งก็ยอม สนใจพัฒนาจิตมากขึ้น ขวนขวายศึกษามากขึ้น อบรมเพิ่มเติม ยิ่งถ้าเจอพระ เจอหนังสือ เจอศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ถูกคอ ยิ่งก้าวหน้า พบว่าตนเองมีพัฒนาการเชิงก้าวกระโดดเป็นช่วงๆ จนการพัฒนาจิตกลายเป็นนิสัยหลักของชีวิต ยึดวิถีธรรมเป็นเครื่องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างนั้น เกิดฉุกใจ นี่เราประมาทอยู่หรือเปล่า เมื่อไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน โอ้ เราประมาทมาก ก็เร่งความเพียร จนกว่าจะถึงนิพพาน

ถ้าจะว่าไป การเริ่มต้นปฏิบัติธรรม ไม่ต่างไปจากการเริ่มต้นฝึกโยคะ จริงๆ แล้ว การเริ่มต้นทำกิจกรรมที่เป็นการเดินทางเข้าสู่ด้านในทั้งหลาย ก็ล้วนเป็นเช่นนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ ลุยไปได้เลย เราเคยเริ่มโยคะได้สำเร็จ เราก็เริ่มปฏิบัติธรรมได้ในทำนองเดียวกัน

โยคะมีหลายครู หลายโรงเรียน ตอนเริ่มเลือกเราก็งงๆ การปฏิบัติธรรมมีหลายอาจารย์ หลายนิกาย เราก็งงๆ เช่นกัน แต่สังเกตดูสิ ทำไมเราไม่ไปเรียนโยคะกับอาจารย์คนนั้นคนนี้ ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็พูดถึง เพราะเคมีมันไม่ตรงกัน เช่นกัน เริ่มปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปกังวล ยกตัวอย่างเช่น ไม่เห็นพวกเราไปปฏิบัติธรรมที่นั่นที่โน่นเลย คนไปกันเยอะแยะ เพราะแนวคิดไม่ตรงกัน เราต้องเชื่อมั่นตัวเองในระดับนึงว่า เรามีฐาน มีทุนเดิมที่จะศึกษาธรรมะ ในแนวนี้แหละ

เมื่อรู้แนวแล้ว คราวนี้บางคนอาจกังวล อยากได้ครูที่ดีที่สุดของสายนี้ คือกลัวว่าครูน้อยจะสู้ครูใหญ่ไม่ได้ อะไรทำนองนั้น จริงหรือ ลองพิจารณาดูพฤติกรรมการเรียนรู้ของเราสิ เรามีเพื่อนครูคนนึง ฝึกโยคะแนวพุทธกับอาจารย์ท่านนึง พอมาเจอสายไกวัลย แกก็มาศึกษาสายนี้จริงจัง ขณะที่พรรคพวกแกไม่มีใครมาสักคน เหตุการณ์นี้บอกอะไรเรา มันบอกว่า พวกเราเป็นชุมชนที่ไม่ยึดตัวบุคคล เราไม่ยึดครูฮิโรชิ ไม่ยึด ดร.กาโรเต้ เรายึดหลักการโยคะ ในการปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เมื่อได้แนวทางปฏิบัติที่ตรงจริตแล้ว เริ่มไปได้เลย ไม่ต้องไปสนใจว่า จะต้องเป็นคำสอนจากพระรูปนี้รูปนั้นเท่านั้น ลองดูอีกตัวอย่างสิ พระอาจารย์ปราโมทย์ศึกษาธรรมะกับอาจารย์ราว 40 รูป และพวกเราไม่ได้ยึดตัวอาจารย์ปราโมทย์นะ เรายึดแนวทางของท่านต่างหาก ผมเห็นว่า สำหรับพวกเรา เรายึด "การรู้และเข้าใจตนเอง" เป็นสำคัญ พวกเราไม่ใช่นักเรียนที่ใช้ครูพร่ำเพรื่อนะ

ในการเริ่มปฏิบัติโยคะ มันเป็นรูปธรรมมาก คือเริ่มจากอาสนะ เมื่อเวลาผ่านไป เราเข้าใจมากขึ้น เราก็ขยับจากเปลือกไปที่แก่น ซึ่งได้แก่สมาธิ ในการเริ่มปฏิบัติวิปัสสนา ก็เช่นกัน เราเริ่มจากการนั่งหลังตรงนิ่งๆ เมื่อเวลาผ่านไป เราเข้าใจมากขึ้น เราก็ขยับจากรูปธรรมไปที่แก่น ซึ่งได้แก่ การ "เห็นตามความเป็นจริง"

อยากจะตอบผู้ถามคำถามข้างต้นนี้ว่า จริงๆ คุณได้เริ่มไปแล้ว ยกเท้าก้าวแล้ว เดินเลยครับ มีรูปธรรมอะไรในการฝึกวิปัสสนาบ้างล่ะ ก็คือ มรรค 8 ของพุทธศาสนานั่นเอง เริ่มได้หมด รูปธรรมในการมองของพุทธเป็นอย่างไร ก็เริ่มมองอย่างนั้น รุปธรรมในการคิดแบบพุทธเป็นอย่างไร ก็เริ่มคิดอย่างนั้น รูปธรรมในการพูดแบบพุทธเป็นอย่างไร ก็หัดพูดอย่างนั้น รูปธรรมชีวิตประจำวันแบบพุทธเป็นอย่างไร ก็หัดใช้ชีวิตอย่างนั้น รูปธรรมในอาชีพแบบพุทธเป็นอย่างไร ก็ทำงานอย่างนั้น รูปธรรมในความเพียรของพุทธเป็นอย่างไร ก็เพียรใปในแนวทางนั้น รูปธรรมในการระลึกรู้แบบพุทธเป็นอย่างไร ก็ใหัระลึกรู้อย่างนั้น รูปธรรมในความตั้งมั่นแบบพุทธเป็นอย่างไร ก็หัดตั้งมั่นเช่นนั้น ไม่ยากครับ ลุยเลย  

 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 274638เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2009 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

..แวะมาทักทายขอรับ..

การฏิบัติสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาถ้าตั้งใจจริง

ไม่จำเป็นต้องนุ่งขาวห่มขาวนั่งสมาธิเดินจงกรมที่วัดสำนักปฏิบัติ

ถ้าเรารู้ว่าขณะเวลานี้เราทำอะไรอยู่ก็เป็นการปฏิบัติในตัวสมบูรณ์แบบ

บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังหายใจเข้าออก

ตามรู้อย่างนิ่มนวลแล้วจะรู้ว่าการปฏิบัติธรรมง่ายนิดเดียว

กราบนมัสการค่ะ ท่านธรรมฐิต

ขอบพระคุณมากนะคะ ที่ให้ความกระจ่างเพิ่มเติมนะคะ

เป็นความคิดที่ใจตรงกันมากเลยค่ะ

เพราะหลายคนคิดว่า ฉันจะปฏิบัติธรรมแล้วนะ ก็วิ่งเข้าวัดทันที

แต่ถ้าเขาได้เรียนรู้ว่า การปฏิบัติธรรมนั้นสามารถทำได้ทุกขณะจิตนั้น

สังคมเราคงน่าอยู่กันมากนี้กว่านี้นะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท