แนวคิดเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ การเจ็บป่วย และตัวชี้วัดสุขภาพ


แนวคิดเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ

แนวคิดเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ การเจ็บป่วย และตัวชี้วัดสุขภาพ

การวัดหรือประเมินภาวะสุขภาพว่าบุคคลหนึ่งมีสุขภาพดีกว่าอีกบุคคลหนึ่งนั้น  เป็นสิ่งที่ยากลำบากยิ่ง  เพราะปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะสุขภาพนั้น มีตัวแปรมากมาย  และสลับซับซ้อนมาก  ดังนั้นมาตรวัดสุขภาพที่ทางการสาธารณสุขนำมาใช้วัดสภาวะสุขภาพคือ การเจ็บป่วยและการตาย  ซึ่งถือว่าเป็นการวัดสภาวะสุขภาพอนามัยโดยตรง

 

แนวคิดเกี่ยวกับภาวะสุขภาพและการเจ็บป่วย

การให้คำนิยามเรื่องสุขภาพ ( Health ) เป็นเรื่องที่ยุ่งยากขึ้นอยู่กับมิติการมองของแต่ละฝ่าย Pol & Thomas ได้สรุปแนวคิดสุขภาพตามแนวคิดต่างๆ ไว้ 4 แนวคิด  ดังนี้

1. แนวคิดทางการแพทย์ ( The Medical Model ) โดย Wolinsky ( 1988 ) มีรากฐานมาจากทฤษฎีว่าด้วยเชื้อโรค  เป็นการเน้นเรื่องของอาการที่แสดงออกมาที่สามารถตรวจพบได้  ภาวะสุขภาพดีและเจ็บป่วย จึงมีความหมายถึง ความปกติกับความไม่เป็นปกติ  เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถใช้ประเมินความผิดปกติหลายชนิดได้  จุดอ่อนของแนวคิดนี้คือ การที่เน้นเรื่องอาการแสดงทางคลินิกที่สามารถตรวจพบได้  ก่อให้เกิดปัญหาในการประเมินภาวะบางประการ เช่น การเจ็บป่วยทางจิต

2. แนวคิดที่เน้นด้านหน้าที่การทำงาน ( The Functional Model ) โดย Parsons ( 1972 ) แนวคิดนี้มองสภาวะสุขภาพและการเจ็บป่วยว่า เป็นการแสดงถึงระดับของความปกติทางสังคม มากกว่าความปกติทางสรีระ  บุคคลที่ถึงแม้จะไม่มีอาการแสดงทางคลินิก  แต่หากไม่สามารถปฏิบัติภารกิจในสังคมได้แล้ว  ก็หมายความว่าบุคคลนั้นมีสุขภาพป่วย เช่น คนติดสุราเรื้อรัง

3. แนวคิดด้านสุขภาพจิตใจ ( The Psychological Model ) โดย Antonovsky ( 1979 ) เป็นการประเมินภาวะสุขภาพด้วยการให้ตัวบุคคลเป็นผู้ประเมินตนเอง   เน้นเรื่องจิตใจเป็นสำคัญ  โดยมองว่า  ความเครียดคือ ตัวการที่ทำให้คนเจ็บป่วย

4. แนวคิดทางด้านกฎหมาย ( The Legal Model ) เป็นแนวคิดที่ใช้กับการเจ็บป่วยทางจิตใจเท่านั้น  ใช้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นต้องตัดสินสมรรถภาพของบุคคล  เพื่อพิจารณาว่าบุคคลใดสมควรต้องถูกส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรืออยู่ในความควบคุมหรือไม่

 

ตัวชี้วัดสุขภาพ/ สภาวะสุขภาพ หรือดัชนีอนามัย ( Health Indicator )

                ตัวชี้วัดสภาวะสุขภาพ หรือดัชนีอนามัย หมายถึง เครื่องบ่งชี้ภาวะสุขภาพอนามัยของชุมชน  โดยมากเป็นการวัดด้านปริมาณ  เพื่อแสดงถึงสุขภาพอนามัยของชุมชน  ในด้านต่างๆ มีลักษณะเป็นได้ทั้งในรูปอัตรา อัตราส่วน และสัดส่วน  ดัชนีอนามัย  เป็นเครื่องบ่งชี้ความถี่ของการเกิดการเจ็บป่วย  ความพิการ  การตาย  และภาวะสุขภาพอนามัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  อัตราป่วยและอัตราตายด้วยโรคต่างๆ   การให้และการใช้บริการอนามัยของชุมชน  ดัชนีหรือเครื่องชี้วัดที่แสดงถึงความรุนแรงของการเกิดความเจ็บป่วยหรือการตาย  ซึ่งเครื่องชี้วัดดังกล่าวมักอยู่ในอัตรา  อัตราส่วน  และสัดส่วน  หรือความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุ  สถิติที่นิยมใช้ทั่วไป  มักนิยมใช้เป็นอัตราต่อพันประชากร  หรืออัตราต่อแสนประชากร

 

การค้นหา วิเคราะห์ และแก้ปัญหาสาธารณสุข

                การค้นหา วิเคราะห์ เป็นหัวใจสำคัญในการวางแผนแก้ปัญหาสาธารณสุข  การที่เราจะทราบว่าที่ใดมีปัญหาสาธารณสุขหรือไม่นั้น  ต้องอาศัยตัวชี้วัดปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ได้แก่  ตัวชี้วัดสภาวะสุขภาพอนามัย  อาทิ  อัตราตาย  อัตราป่วย  อัตราการเจริญพันธุ์  และตัวชี้วัดการพัฒนาในระดับหมู่บ้าน หรือข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน

                เมื่อทราบว่าอะไรเป็นตัวชี้วัดปัญหาสาธารณสุข  จะต้องค้นหาข้อมูลตามตัวชี้วัดนั้น  ซึ่งสามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่แล้ว  หรือใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ  และรู้ขั้นตอนในการค้นหา  วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในชุมชน

                ปัญหาสาธารณสุข คือ ความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน  บางครั้งก็มีอาการป่วยมาก  บางครั้งก็มีอาการเล็กน้อย  มีทั้งชัดแจ้งและไม่ชัดแจ้ง  และปัญหาที่เกิดขึ้นตามแนวคิดทางการแพทย์ เนื่องจากการขาดความสมดุลย์ของปัจจัย 3 ประการ คือ

1.        สิ่งที่ทำให้เกิดโรค ( Agent )

2.        บุคคล ( Host )

3.        สิ่งแวดล้อม ( Environment )

 

ผลกระทบของปัญหาสาธารณสุข

                ปัญหาสาธารณสุข  นอกจากจะก่อให้เกิดการป่วย  การตาย หรือพิการแล้ว  ยังส่งผลให้ครอบครัวและชุมชนสูญเสียรายได้  ผลผลิต  การลงทุน  ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้านอื่นล่าช้าไปด้วย  ผลกระทบของปัญหาสาธารณสุขที่มีต่อตนเอง  ครอบครัว  และชุมชน  มีดังนี้

                1. ผลกระทบต่อตนเอง  ทำให้การเติบโตช้า  ร่างกายไม่พัฒนา  ทรุดโทรม  เรียนรู้ช้า  สูญเสียค่าใช้จ่ายและขาดประสิทธิภาพในการทำงาน

                2. ผลกระทบต่อครอบครัว  ต้องใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูง  ทำให้เศรษฐกิจครอบครัวไม่ดี  ขาดแรงงานในการผลิต  ผลผลิตได้ไม่เต็มที่

                3. ผลกระทบต่อชุมชน  ต้องใช้ทรัพยากรมากเพื่อการรักษาพยาบาล  เศรษฐกิจไม่ดี  บริการสาธารณูปโภคไม่ทั่วถึง  สินค้าทางการเกษตรเพื่อการบริโภคได้รับการรังเกียจจากผู้ซื้อ

หมายเลขบันทึก: 273966เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2009 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท