สาวสิงห์บุรี
นาง กุลภัสสรณ์ เจี๊ยบ พิทักษ์ศักดาชัย

แนวโน้ม HR Outsourcing กับอนาคตของนักบริหารทรัพยากรบุคคล


แนวโน้ม HR Outsourcing กับอนาคตของนักบริหารทรัพยากรบุคคล

แนวโน้ม HR Outsourcing กับอนาคตของนักบริหารทรัพยากรบุคคล

 

      ในช่วงเวลานี้คงจะไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินศัพท์คำว่า Outsourcing โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการคอมพิวเตอร์ที่ล่าสุดทางธนาคารไทยพาณิชย์ ( หรือกสิกรไทย …ไม่แน่ใจ ) ได้โอนงานด้านคอมพิวเตอร์ทั้งหมดไปให้บริษัทไอบีเอ็มเป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งหมายถึงการที่ธนาคารไม่มีฝ่ายคอมพิวเตอร์ภายในธนาคาร แต่ใช้บริการจากบริษัทไอบีเอ็ม ที่เข้ามาให้บริการ เรื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดแก่ธนาคารนั่นเอง

      การ Outsourcing เป็นแนวโน้มที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในปัจจุบัน องค์กรต่างๆ ได้เริ่มมุ่งเน้นและทุ่มเททรัพยากรที่ภาระกิจหลักของตนเอง ดังนั้นงานต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องบริหารเองจึงถูกส่งมอบให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาทำแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านสนับสนุนต่างๆ ภายในองค์กรเช่น การทำความสะอาด การขนส่ง การจัดทำบัญชี การดูแลระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 

      ในส่วนของงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคล สิ่งที่พวกเราคุ้นเคยกันดีในเรื่องการ Outsourcing คือการรับจัดทำ PAYROLL , การรับสรรหาผู้สมัคร ( Recruitment Agency ) ซึ่งหลายองค์กรก็ได้ใช้บริการอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าเราได้ติดตามแนวโน้มดังกล่าวมาเรื่อยๆ เราจะพบว่าในต่างประเทศได้มีการ Outsource งานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งระบบกันแล้ว ซึ่งท่านสามารถศึกษารูปแบบของบริการดังกล่าวได้จาก http://www.outsourcing-hr.com/

สำหรับรูปแบบของการ Outsourcing งาน HR ณ ปัจจุบัน ผู้เขียนสามารถสรุปรูปแบบได้ดังนี้

      1. การ Outsource งานเฉพาะด้านเช่น การทำ Payroll , การสรรหาพนักงานเฉพาะตำแหน่งที่หายาก ( ยังคงมีเจ้าหน้าที่และผู้จัดการแผนกบุคคลทำงานประจำ )

      2. การ Outsource งานธุรการ – บุคคล ทั้งหมดให้หน่วยงานภายนอก โดยที่หน่วยงานที่รับ Outsource จะส่งพนักงานเข้ามาทำงานดังกล่าวให้ภายในบริษัทเป็นครั้งๆ ไป ( จะไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการ – บุคคล ประจำฝ่ายบุคคล แต่จะมีเฉพาะผู้จัดการแผนกบุคคล )

      3. การ Outsource งานระดับกลยุทธ HR โดยหน่วยงานที่รับ Outsource จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาจัดทำระบบและประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารเพื่อวางแผนด้าน HR เป็นครั้งๆ ไป ( จะไม่มีผู้จัดการแผนกบุคคล ประจำฝ่ายบุคคล แต่จะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ประสานงาน )

      4. การ Outsource งานธุรการ – บุคคล ทั้งหมดให้หน่วยงานภายนอก โดยที่หน่วยงานที่รับ Outsource จะเข้ามาติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถให้บริการต่างๆ แบบออนไลน์ภายในบริษัท ( Intranet ) แก่พนักงานได้ เช่น การลา การขอเบิกสวัสดิการต่างๆ ( จะไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการ – บุคคล ประจำฝ่ายบุคคล แต่จะมีเฉพาะผู้จัดการแผนกบุคคล )

      5. การ Outsource งานธุรการ – บุคคล ทั้งหมดให้หน่วยงานภายนอก โดยที่หน่วยงานที่รับ Outsource จะเข้ามาติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถให้บริการต่างๆ แบบออนไลน์ แต่ระบบคอมพิวเตอร์จะติดตั้งอยู่ที่หน่วยงานที่ให้บริการ Outsource ( เป็นการเชื่อมต่อผ่านเครื่อข่าย Internet ) แก่พนักงานได้ เช่น การลา การขอเบิกสวัสดิการต่างๆ ( จะไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการ – บุคคล ประจำฝ่ายบุคคล แต่จะมีเฉพาะผู้จัดการแผนกบุคคล ) ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมสามมรถศึกษาได้จากบริการของบริษัท Out – Smart ที่ http://www.out-smart.com/OS_OurSolutions.htm

      จะเห็นได้ว่าพัฒนาการและรูปแบบของการ Outsource งานด้าน HR ดังกล่าวข้างต้นจะมีความหลากหลายและแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของบริษัทต่างๆ ว่าต้องการ outsource แค่ไหน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ กระบวนการทำงานภายใน ความพร้อมของบุคลากรของแต่ละองค์กร

      จากแนวโน้มดังกล่าวข้างต้น หลายท่านที่ทำงานด้านบุคคลอาจจะเริ่มกังวลถึงอนาคตของงานที่ตนเองรับผิดชอบแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจากพัฒนาการที่เกิดขึ้นจริงๆ จะเห็นว่างานของแผนกบุคคลที่เป็นงานธุรการต่างๆ ที่ต้องใชเอกสาร แบบฟอร์ม เช่นการลา การบันทึกเวลาทำงาน การเบิกจ่ายเงินค่าสวัสดิการ เป็นต้น จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นรูปแบบที่เขาเรียกว่า Web base HRM ซึ่งจะทำให้งานตรงนี้หายไป คำถามคือแล้วพนักงานที่เคยทำงานตรงนี้จะทำอะไร ซึ่งคำตอบก็ชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้ว ก็คงเหมือนกับงานหน้าเคาเตอร์ของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันถูกทดแทนด้วยเครื่อง ATM นั่นเอง

สำหรับบทบาทของวิชาชีพ HR ที่จะต้องเปลี่ยนไป อาจสรุปได้ดังนี้

1. เจ้าหน้าที่บุคคลจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากงานบริหารกระบวนการต่างๆ เป็นที่ปรึกษาภายในองค์กร

2. เจ้าหน้าที่บุคคลที่เคยทำงานประจำบริษัทต่างๆ จะถูกย้ายไปทำงานให้กับบริษัทผู้ให้บริการ Outsourcing เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้กระบวนการ HR ต่างๆ ดีซึ่งสามารถนำไปใช้ในการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ด้าน HR ให้กับบริษัทต่างๆ ได้

3. ผู้บริหารงานบุคคลจะต้องทำงานในระดับกลยุทธมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทีมบริหารที่ต้องวางกลยุทธการบริหารทุนมนุษย์ให้สอดรับกับเป้าหมายขององค์กร

      โดยสรุปวิชาชีพการบริหารงานบุคคลในอนาคตจะถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องดูแลงานประจำต่างๆ เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญในฐานะนักกลยุทธและที่ปรึกษา นักบริหารงานบุคคลจะต้องเข้าใจธุรกิจ การตลาด การเงิน จิตวิทยา ติดตามข่าวสารรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และเป็นนักพัฒนาเปลี่ยนแปลงองค์กร ( Change Agent ) ที่เป็นที่ยอมรับของทุกคนในองค์กร งานที่เคยอยู่บนแบบฟอร์มต่างๆ จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี Internet ที่สามารถให้บริการต่างๆ แก่พนักงานได้ภายในพริบตา ซึงภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นแน่นอนภายในระยะเวลา 4-5 ปีต่อจากนี้ไป ดังนั้นคำถามที่ท้าทายต่ออนาคตของนักวิชาชีพ HR คือ วันนี้ท่านเตรียมตัวพร้อมที่จะรับผิดชอบในบทบาทใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือยัง

 

 
ที่มา : http://www.readypremium.com/
คำสำคัญ (Tags): #jeab
หมายเลขบันทึก: 272709เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2009 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อีกบทบาทหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท