BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ศีลปรมัตถบารมี


ศีลปรมัตถบารมี

พรุ่งนี้วันพระ... ตั้งใจว่าจะนำ สังขปาลชาดก ไปแสดงพอได้ความ คืนนี้จึงนำมาเล่าก่อนเพื่อตอกย้ำความคิดเห็นเบื้องต้น เนื่องจากเรื่องนี้ผู้เขียนยังขาดความคุ้นเคย ส่วนผู้สนใจจะอ่านฉบับเต็มก็ (คลิกที่นี้) อ่านได้เลย...

การรักษาศีลชั้นปรมัตถ์ก็ทำนองเดียวกับการให้ทาน นั่นก็คือ ยอมสละชีวิตของตนเองเหมือนกัน โดยในส่วนของทานนั้นพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นกระต่าย แต่ในส่วนของศีลนี้ได้ถือกำเนิดเป็นพญานาคราช ถ้าอย่างนั้น เรามาพิเคราะห์เรื่องราวโดยย่อกันเถอะ...

ความว่า ก่อนที่จะถือกำเนิดเป็นพญานาคราชนั้น พระโพธิสัตว์เป็นโอรสแห่งพระราชา เมื่อพระราชบิดาส่งไปเรียนยังนครตักกศิลาแล้วสำเร็จกลับมาก็ได้ยกราชสมบัติให้ ส่วนท้าวเธอก็ออกบวชเป็นฤาษี แม้จะได้เป็นพระราชาแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ได้ไปยังที่บำรุงของพระฤาษีราชบิดาเป็นประจำวันละสามเวลา ทำให้ราชฤาษีมีลาภมากมาย ไม่มีเวลาที่จะำบำเพ็ญสมณธรรม ดังนั้น เมื่อมีโอกาส ราชฤาษีจึงหลบเลี่ยงแล้วก็ไปอยู่ใกล้แม่น้ำสังขปาลเพื่อจะได้บำเพ็ญสมณธรรมตามความตั้งใจ...

เฉพาะประเด็นนี้ บ่งชี้ความจริงแม้ในปัจจุบันได้ว่านักบวชรูปใดก็ตาม ถ้าพระราชาหรือผู้มีอำนาจนับถือบำรุงบำเรอแล้ว ก็จะทำให้บริวารของท่านบำรุงบำเรอนักบวชรูปนั้นไปด้วย ซึ่งเอกลาภต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนักบวชนั้นๆ ใช่ว่าจะก่อให้เกิดความสุข แต่กลับจะก่อให้เกิดความเนิ่นช้าในการบำเพ็ญสมณธรรม ซึ่งอาจไม่เป็นที่ชอบใจของนักบวชรูปนั้นก็ได้ ดังนั้น นักบวชบางรูป (แม้ปัจจุบัน) จึงมักจะอยู่เงียบๆ สงบๆ ไม่หลงใหลในลาภสักการะ ต้องการความสุขสงบจากสมณธรรมมากกว่า...

 

เมื่อมาตั้งอาศรมอยู่ใกล้แม่น้ำสังขปาลแล้วเป็นอยู่ด้วยภิกษาจารในที่ละแวกใกล้เคียง ที่แม่น้ำนั้นเป็นที่อยู่ของบรรดานาค ซึ่งพญานาคราชและเหล่าบริวารมักจะขึ้นมาฟังธรรมจากราชฤาษีเสมอ... ฝ่ายพระราชาโพธิสัตว์ก็สืบเสาะจนได้ความว่าพระราชบิดามีอาศรมบทบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นี้ จึงยกทัพมาเยี่ยม แต่พักกองทัพไว้ในที่ไกลแล้วท้าวเธอพร้อมอำมาตย์คนสนิท ๒-๓ คนเข้ามาเฝ้าราชฤาษี ได้เห็นพญานาคราชที่เพียบพร้อมไปด้วยบรรดาสมบัติก็มีความละโมภอยากได้อยากมีอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง หลังจากปรนนิบัติพระราชบิด ๒-๓ วันแล้วกลับมา ก็ตั้งโรงทานทั้ง ๔ มุมเมือง ถวายทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา โดยอธิษฐานว่าขอให้ไปเกิดเป็นพญานาคราชที่สมบูรณ์ไปด้วยสมบัติพัสถานตามที่เคยเห็นมา ดังนั้น เมื่อสวรรคตแล้ว ท้าวเธอจึงได้ไปเกิดเป็นพญานาคราช...

ประเด็นนี้ บ่งชี้ว่าพระโพธิสัตว์เป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อบุพพการี แต่ก็ยังมีความโลภอยากได้ ไม่พอใจในสมบัติของตนตามประสาปุถุชน ยังปรารถนาสมบัติอื่นที่ตนเองพิจารณาเห็นว่าเลอค่ากว่าที่ตนเองเป็นอยู่... ทาน ศีล และภาวนาที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้แล้วสำเร็จผลดังหมายในชาดกตอนนี้ ตอกย้ำถึงความเชื่อเรื่องชาติหน้าดังที่พวกเราโดยมากก็เชื่อๆ กันอยู่...

 

เมื่อถือกำเนิดเป็นพญานาคที่แม่น้ำสังขปาลพร้อมด้วยสมบัติแห่งนาคภพดังใจหมาย ท้าวเธอกลับไม่พอใจ ใคร่ที่จะกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่มีการกล่าวไว้ก็คือ มนุษย์เท่านั้นเป็นสัตว์ที่มีความยับยั้งชั่งใจ และเป็นภพที่เหมาะสมในการบำเพ็ญกุศลกรรมเป็นที่สุด ดังนั้น พญานาคราชจึงเริ่มถืออุโบสถศีลด้วยอธิษฐานว่าให้ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง แต่อุโบสถศีลในนาคภพนั้นไม่อาจทำให้สำเร็จได้ จึงขึ้นมาถือศีลอุโบสถทุกวัน ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ ที่จอมปลวกริมแม่น้ำ ครั้นรุ่งเช้า ๑ ค่ำก็กลับไปยังนาคภพแห่งตน...

ต่อมา ก็มีพรานกลุ่มหนึ่งออกมาล่าสัตว์ ไม่ได้อะไร มาเจอพญานาคราชขดตัวอยู่รอบจอมปลวก คิดว่าเป็นอาหารได้ จึงใช้หลาวแทงที่ลำตัวให้เป็นช่องๆ แล้วก็ใช้หวายร้อยเป็นบ่วงช่วยกันหามกลับมาจากที่อยู่... ขณะที่พญานาคโพธิสัตว์ แม้จะเห็นพวกพรานในครั้งแรก แต่ก็หลับตาไม่มอง พลางอธิษฐานเพื่อมิให้อุโบสถศีลของตนเสื่อมไปเพราะสาเหตุนี้ แม้จะถูกทารุณอย่างไรก็ทนความเจ็บปวด ควบคุมจิตใจมิให้กำเริบโดยตลอด...

ประเด็นนี้ อาจสะท้อนได้ว่า ผู้ที่ไม่พอใจสถานภาพความเป็นอยู่แห่งตน กลับคิดว่าสถานภาพของบางคนวิเศษวิโสกว่าตนนั้น แต่ครั้นไปอยู่ในสถานภาพนั้นบ้าง ก็อาจเข้าใจได้เองว่า มิได้มีความสุขสบายดังที่เราคิด หรืออาจไม่เหมาะสมกับความปรารถนากับอุปนิสัยของเราก็เป็นได้ เช่นเดียวกับพระราชาโพธิสัตว์ต้องการจะเป็นพญานาค แต่เมื่อได้เป็นแล้วก็รู้ซึ้งว่ามีข้อบกพร่องบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง...

 

ขณะที่พวกพรานกำลังช่วยกันหามพญานาคกลับไปยังหมู่บ้านนั้น ก็สวนทางกับพ่อค้าซึ่งกำลังคุมกองเกวียนเดินทางไปค้าขายต่างเมือง... พ่อค้าเห็นพญานาคถูกทรมานเช่นนั้นก็เกิดความกรุณาเอ็นดู จึงขอแลกพญานาคกับวัว ๑๖ ตัว พร้อมทองคำเต็มซองมือของทุกคน และเสื้อผ้าอาภรณ์สำหรับบรรดาภรรยาของพวกพรานที่บ้านอีกด้วย ครั้นตกลงกันแล้วก็สั่งให้ปล่อยพญานาคกลับไป...

พ่อค้าเกรงว่าพรานจะมาจับพญานาคอีกจึงตามมาบอกให้พญานาครีบหนีไป ฝ่ายพญานาคเมื่อกลับไปยังนาคพิภพแล้วไม่นานก็กลับขึ้นมาหาพ่อค้าพร้อมบริวาร หลังจากเล่าเรื่องราวที่ถูกจับให้ฟังแล้วก็เชิญพ่อค้าไปอยู่ในเมืองของตน ให้บรรดานาคกัญญาบำรุงบำเรอเช่นเดียวกับตน ซึ่งพ่อค้าก็อยู่ด้วยประมาณหนึ่งปี... ครั้นภายหลังทราบความว่า พญานาคราชซึ่งมีฤทธิ์มากขนาดนี้ ยังยอมรับยอมทนความเจ็บปวดต่างๆ จากบรรดาพวกพรานเพราะไม่ต้องการทำลายอุโบสถศีลแห่งตน โดยตั้งความหวังว่าจะขอไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งดังที่เล่าไว้ในเบื้องต้น ก็เกิดความสลดใจในวิปากกรรม จึงได้ลานาคพิภพขึ้นมาบวชเป็นฤาษีท่องเที่ยวไป จนภายหลังได้เจอพระเจ้ากรุงพาราณสี จึงได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้สดับ...

เฉพาะการบำเพ็ญอุโบสถศีลของพญานาคโพธิสัตว์ในสังขปาลชาดกนี้ พระอรรถกถาจารย์จัดว่าเป็นศีลปรมัตถบารมี ด้วยว่าพญานาคโพธิสิตว์ยอมทนเจ็บปวดถึงกับจะยอมตาย แต่ไม่ยอมให้จิดกำเริบทำลายอุโบสถศีลของตน...

เรื่องราวต่อไปจากนี้ ก็เป็นบทสนทนาระหว่างฤาษีอดีตพ่อค้ากับพระราชา ซึ่งผู้่สนใจถ้ายังไม่ได้อ่านก็ไปเปิดอ่านได้ตามที่ให้ไว้ข้างต้น...

หมายเลขบันทึก: 272117เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2009 01:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • นมัสการพระคุณท่านที่เคารพยิ่ง
  • กายงามเพราะศีล จิตดีเพราะธรรม ชีวิตจักดีงาม เพราะศีลธรรมนำชีวิต
  • กราบ 3 หนขอรับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท