นวัตกรรมสร้างสรรค์ความสุข


การบริหารจัดการ การจัดการความรู้

 

 

 

 

 

นวัตกรรมสร้างสรรค์ความสุขในการบริหารทรัพยากรบุคคล

ดร. อภิชัย ศรีเมือง
วิทยากรที่ปรึกษาการบริหารทรัพยากรบุคคล
[email protected]

              คำว่า นวัตกรรมในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล” (HR Innovations) ผู้คนทั่วไปมักจะนึกถึง การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบซอฟแวร์ ในการจัดการฐานข้อมูล บางคนอาจจะให้ความหมาย ถึงเครื่องมืออุปกรณ์ แต่ที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นนวัตกรรมของการสร้างวิธีการทำงานใหม่ ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ มิได้หมายความถึงเทคโนโลยี แต่เป็นความคิดที่แปลกใหม่ คนคิดก็มีความสุขในการคิด คนที่มีส่วนร่วมก็มีความสุขในการปฎิบัติ เพื่อนำมาใช้ในการใช้สร้างความสุข
              หากถามถึงสิ่งที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขในการทำงาน บางคนบอกว่า มีหลายลักษณะ หากมองทางด้านกายภาพ เช่น สภาพแวดล้อม ภาวะอันตรายเสี่ยงภัยในการเดินทางมาทำงาน หากมองในแง่ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายใน ก็คงจะหมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่มีการปฎิบัติที่ไม่ดี มีความขัดแย้งเอาเปรียบ ไม่เป็นมิตร หรือองค์กรที่ทำงานแล้วเกิดการเอาเปรียบแก่งแย่งแข่งขันกันเอง บางองค์กรก็เน้นแต่เรื่องการปฎิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยผลงานก็ไมได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด    แต่ในทางตรงข้าม หากมองในแง่ปัจจัยภายใน องค์การที่ให้ความเป็นอิสระเป็นกันเองและยืดหยุ่นในการทำงาน จะทำให้พนักงานมีความพึงพอใจแก่พนักงานได้มากกว่า หากสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข เป็นความพึงพอใจเป็นสังคมที่น่าอยู่  เราลองมาดูการปฎิบัติของบางองค์การกันดู

              ผู้เขียนได้มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท ในเครือของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งเห็นว่ามีการออกแบบระบบที่ทำให้การทำงานของพนักงานให้มีความผ่อนคลาย บุคลากรมีความรับผิดชอบในตนเอง  และเป็นกิจกรรมที่มีสันมีชีวิตชีวา 
              กล่าวคือเป็นองค์กรที่อิสระให้ความสำคัญกับคน ความคิดของคน ที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่น โดยที่องค์การแห่งนี้ตั้งอยู่ในสังคมเมืองหลวง ท่ามกลางบรรยากาศตึกสูงๆ ที่เรียกว่าเป็น ป่าคอนกรีตไม่มีสถานที่โล่งที่จะนั่งเล่น  การพักผ่อนหรือเล่นกีฬา ในสำนักงานก็มีเพียงโต๊ะเก้าอี้ รูปภาพ อุปกรณ์สำนักงาน เมื่อลงมาจากลิฟท์บนตึกสูง มองมาด้านล่างก็เจอแต่ผู้คน รถติด จะให้มีกิจกรรมสนุกสนาน พนักงานจำนวนมาก เช่นดังโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีเครื่องจักร พนักงานมากหน้าหลายตา บริเวณพื้นที่กว้าง ก็คงจะไม่ได้ แต่วิถีชีวิตของพนักงานสำนักงานที่ต้องใช้ความคิด การใช้พลังสมองในการที่จะพัฒนาการทำงานหรือการให้บริการ ที่บริษัท เปิดโอกาสให้ เป็นการใช้ความคิดของพนักงานที่รู้จักนำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ความสุขมาใช้ ให้เหมาะสมกันบุคคลตามยุคสมัย จริงอยู่ในสังคมเมืองกรุงอาจจะมีพนักงานที่ปฎิบัติตนแบบสังคม นิยมพูดคุยเรื่องการแต่งกาย แฟชั่นที่ล้ำยุคสมัย ดูหนัง ฟังเพลง ทานอาหารอร่อยมีราคาบ้าง หรือไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง สังคมของพนักงานส่วนใหญ่จะมีความสุข ที่ตนได้มีโอกาสได้กระทำหรือปฎิบัติเช่นั้น มีโอกาสอย่างนั้น ซึ่งบริษัท ก็พยายามคิดค้นว่า สังคมของพนักงานมีความสุขอย่างไร ก็ลองหาทางที่จะสร้างบรรยากาศเพื่อให้พนักงานได้มีความสุขไม่ได้จัดขวาง แต่ส่งเสริม หากเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นความสุขของพนักงาน ภายใต้การทำกิจกรรมร่วมกันแบบง่ายๆ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย  เช่น เมื่อพนักงานรู้สึกว่าการได้มาทำงาน ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ไม่เป็นทางการ ระหว่างหัวหน้า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน  ไม่จำเป็นจะต้องมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด ต้องสวมเครื่องแบบมาทุกวัน ดูช่างเป็นเรื่องที่น่าจะอึดอัด พนักงานก็จะไม่ได้มีหน้าที่ไปให้บริการลูกค้าโดยตรงอะไรมากนัก หากวันใดได้แต่งตัวสวยๆ ตามรูปแบบที่ตนเองชอบ ก็จะมีความสุข จึงจัดให้มีกิจกรรมประจำปี ให้พนักงานทุกคน แต่งตัวตามสบายมาทำงาน แต่มีกิจกรรมการประกวด คือ เช่นมีอยู่ในช่วงปีก่อนหน้านี้ ให้มีกิจกรรมแต่งกายด้วยเสื้อยืดมาทำงาน  พนักงานทุกคนก็พร้อมใจใส่เสื้อยืดมาทำงาน เมื่อเกิดความรู้สึกว่าการทำงานกับบริษัท เป็นเรื่องการปฎิบัติตนง่ายๆ ไม่ได้มีระเบียบพิธีรีตองอะไรมากนัก พนักงานก็รู้สึกสบายใจ ในปีต่อๆ มาก็คิดต่อว่า จะเน้นการประกวดแข่งขันกันในเรื่องใด  ก็ช่วยกันคิด จัดให้มีกิจกรรมการประกวดการสวมใส่เสื้อผ้า กิจกรรมสวมใส่รองเท้า มีการคัดเลือกพนักงานที่แต่งตัวสวยเด่น หรือเป็นที่สะดุดใจแก่การพบเห็น ให้มีระบบการโหวตให้คะแนนกัน ในปีแรก ก็ได้รับความสำคัญ ในปีต่อๆมา พนักงานก็คิดกันเอง ว่าปีต่อๆไป จะเน้นจุดใดเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ก็มีการนำเสนอกันมา เช่นเห็นว่า การนุ่งกางเกงยีนส์ ดูจะเป็นการสะดวกแก่ทุกคนในการเคลื่อนไหวอริยาบท ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน นั่ง หรือวิ่ง ให้ทุกคนสวมกางเกงยีนส์มาทำงาน ทุกคนมีความสุขที่ได้นุ่งยีนส์ มาทำงานทุกวัน กิจกรรม สมาร์ทยีนส์ 2005 จึงเกิดขึ้น เมื่อมีความเหมือนกันหมด คนก็จะพยายามสรรหาจุดที่เด่นหรือแปลกสะดุดตากว่าคนอื่นๆ เพื่อรอรางวัลประเภทสุดจ๊าบ... อะไรทำนองนั้น ในขณะที่ผลการทำงานก็อยู่ในระดับปกติหรือดีขึ้นมิได้ตกต่ำไปกว่าเดิมแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าเมื่อคนมีความสุขก็จะเป็นบรรยากาศการทำงานที่เป็นพลังนำไปสู่ความสำเร็จได้ คนอยากจะใส่มาทำงานทุกวัน และปีต่อมา ก็นึกว่าจะมีกิจกรรมกันอย่างไรดี ในที่สุดก็โหวตว่าน่าจะเป็นการร่วมกันประกวดการสวมใส่รองเท้าดูบ้าง และมีการใช้ความคิดอีกต่อไปว่าจะประกวดการจัดและตบแต่งสถานที่ทำงานของแต่ละหน่วยงานให้ดูสวยงาม และนำมาสู่การประกวดแข่งขันกัน  ส่งเสริมบรรยากาศน่าอยู่ น่าทำงาน ให้เป็นเสมือนบ้านแห่งที่สอง  ผ่อนคลายหรือเปลี่ยนแปลงจากความรู้สึกว่าภายนอกอาคารคือท้องถนนที่การจราจรมีปัญหา รถติดหนัก ปัญหามลพิษไม่มีอะไรน่ารื่นรมณ์ หรือยังไม่อยากจะรีบกลับบ้านทันทีเมื่อเลิกงาน แต่นั่งทำงานต่อในบรรยากาศสถานที่ทำงานที่น่าอยู่ รอสักประมาณ 6 โมงเย็นหรือมืดไปแล้ว การจราจรเริ่มดีขึ้นค่อยกลับบ้านก็จะดีกว่า  อย่างในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นปีมหามงคล ก็มีจะมีอยู่วันหนึ่งในรอบสัปดาห์ที่จะสวมเสื้อเหลืองกัน ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจ พนักงานรู้สึกว่า การแต่งตัวแบบง่ายๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อะไรมากมาย  
              ตัวอย่างอีกองค์กรหนึ่งที่เป็นสำนักงานบัญชี (ตั้งอยู่ย่านถนนรัชดาภิเษก) พนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ผู้บริหารบริษัท ก็เปิดโอกาสให้ทุกคนแต่งตัวกันตามสบาย แต่ต้องสุภาพ แม้จะทำงานกันสัปดาห์ละ 6 วัน แต่วันเสาร์ ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่อาจจะหยุดงาน แต่สำนักงานบัญชีแห่งนี้ไม่หยุด เพื่อมิให้พนักงานรู้สึกน้อยใจและเบื่อหน่าย ผู้บริหารก็พยายามสร้างบรรยากาศ ให้รู้สึกว่าแม้จะเป็นวันเสาร์ทำงานแต่อยากจะให้พนักงานคิดว่าวันเสาร์คือวันหยุดพักผ่อนของพนักงาน แต่เพียงมีกิจกรรมพิเศษที่ได้แวะมายังสถานที่ทำงาน จึงให้ทุกคนแต่งตัวกันตามสบายมากขึ้น และให้มีกิจกรรมเล็กๆ คือให้ทุกคนนำอาหารขึ้นมาทานเลี้ยงกันได้ และหลังเที่ยงไปแล้วก็ให้ดัดแปลงห้องทำงานให้เป็นห้องร้องเพลงคาราโอเกะ พยายามสร้างสรรค์ความสุขให้ทุกคน ใครที่อยากจะร้องเพลงจนรู้สึกว่าเบื่อแล้วก็มาเคลียร์งานจนถึง 5 โมงเย็นก็เลิกงานกลับไป ซึ่งหลายครั้งที่พนักงานจะไปเที่ยวสังสรรค์กันต่อไป  
               ผู้เขียนเห็นว่า การที่จะสร้างนวัตกรรมเพื่อการผ่อนคลายหรือสร้างความสุขให้แก่พนักงานมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์การ บางองค์การหากผู้บริหารและพนักงานเข้าใจและยอมรับได้ก็ไม่มีปัญหา แต่หากวัฒนธรรมที่เคร่งครัดในเรื่องระเบียบเช่น กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมแบบญี่ปุ่น ที่ต้องการความเป็นระเบียบ และเน้นวินัยการแต่งกาย ก็อาจจะปฎิบัติได้เช่นกันหากผู้บริหารเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว แต่ทุกคนต้องมีการควบคุมตนเอง มีวินัยในตนเองรู้สำนึกรับผิดชอบความสุขก็จะตามมา...

                จากบทความนี้กระผม  นายประเสริฐ   สวนจันทร์   นิสิตปริญญาโทบริหารการศึกษา 

จันทบุรี  (ระยอง  รุ่น  1)   เห็นว่าเป็นประโยชน์  เพราะว่า  การทำงานของบุคลากรจะมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ต้องประกอบด้วยความพึงพอใจหลายประการไม่ใช่เฉพาะความต้องการเงินเท่านั้นแต่ความพึงพอใจจากการทำงานสำคัญยิ่ง   ทำอย่างไรที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารให้ความสำคัญเขาในฐานะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร    ต้องดูแลเขาที่หัวใจให้เขารักองค์กรและทุ่มเทให้องค์กรสู่ความสำเร็จที่มุ่งหวังมากกว่า  มุ่งว่าเขาเป็นลูกจ้างแรงงานเท่านั้น

 

หมายเลขบันทึก: 271546เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2009 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เนือหาok ครับ

แต่ชื่อเรื่องแก้ไขให้ตรงครับ อาจจะพิมพ์ตรงชื่อเรื่องผิดจึงกลายเป็นเรื่องซาก กอไผ่ เข้าไปตรงแก้ไขข้อความแล้วแก้ไขชื่อเรื่องได้เลยครับ

มีประโยชน์ผู้ต่อผู้อ่านมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท