KM ในเครือข่ายเข้มแข็งสู่การพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิต


โครงการวิจัย เรื่อง เครือข่ายเข้มแข็งสู่การพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ปี 2552 สถานีอนามัยบ้านหนองบัว ต.ขุมเงิน อ.เมือง จ.ยโสธร

วันนี้ข้าพเจ้าได้เดินทางไปทำกระบวนการจัดการความรู้ (KM) ที่วัดป่าเขื่องใน เดินทางออกจากตัวเมืองยโสธรประมาณสิบกว่ากิโลเมตร ข้าพเจ้าขันอาสาที่จะขับรถให้น้องหนุ่ย ส่วนหนิงและพี่หน่อยน้อยจะตามมาสมทบทีหลัง ... เราหลงทางกันนิดหน่อย แต่ก็ได้รับการบอกทางจากชาวบ้าน...ทำให้มาถึงที่หมายได้ทันเวลา

เมื่อขึ้นไปที่ศาลาวัด อันมีบรรยากาศร่มรื่นและสงบเงียบมาก ได้ยินเสียงพระอาจารย์กำลังเทศน์สอนเชิงบรรยายให้กับแกนนำ ... "การดำเนินชีวิตหากไม่มีศีลนำก็ยากที่จะทำให้การดำรงอยู่มีสุขได้" เป็นคำกล่าวจากท่านพระอาจารย์...ที่ข้าพเจ้าทันได้เข้าไปฟังพอดี... ด้วยความเมตตา ท่านมีเจตนาที่จะทำให้วัดแห่งนี้เป็นวัดนำร่องในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วย หลังจากที่ท่านพระอาจารย์ได้ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการนำวิถีพุทธสู่การดำเนินชีวิตแล้วนั้น น้องหนุ่ยหรือคุณสุภาพร จันทร์สาม ได้เล่าถึงสถานการณ์ของการเกิดการฆ่าตัวตายและปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ตำบลขุมเงินนี้ให้กับทางแกนนำได้ทราบ

จากนั้น...ข้าพเจ้าได้นำกระบวนการเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อมุมมองของแกนนำที่มีต่อเรื่องการขับเคลื่อนทางด้านสุขภาพจิตในชุมชน แรกๆ แกนนำบางคนมองว่าเป็นเรื่องเฉพาะของบุคคลที่คนนอกไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรได้มากนัก...แต่เมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อประเด็นดังกล่าว ทำให้หลายๆ คนต้องมาชวนคิดชวนมอง โดยแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ...

เราพบว่า มีแกนนำที่มาร่วมได้แก่

  • อสม.
  • กลุ่มแม่บ้าน
  • กรรมการวัด
  • ชมรมผู้สูงอายุ
  • สมาชิกชุมชน
  • อบต.

ในเวทีย่อยที่มีการนำประสบการณ์ที่ผ่านมาต่อการขับเคลื่อน...ทั้งที่เป็นประสบการณ์โดยตรงและโดยอ้อมนั้น ได้ภาพที่ออกมาเป็นการนำไปสู่การขับเคลื่อนของชุมชน ด้วยคนในชุมชนเอง ดังนี้

  • สำรวจปัญหาและข้อมูล
  • มี "คนต้นแบบ" เป็นตัวอย่างของการก้าวเดินออกจากเรื่องอบายมุข
  • สร้างภูมิคุ้มกันครอบครัว
  • แนะนำกลุ่มเป้าหมายเข้าวัดเรียนรู้ธรรมะ
  • แกนนำเป็นตัวอย่างที่ดี
  • แกนนำแทรกซึมเข้าไปในครอบครัว น้อมนำศีลมาเป็นแนวทางการปฏิบัติ ==> "โครงการครอบครัวมีศีล"
  • ปลอบใจและให้กำลังใจแก่บุคคลที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต
  • ช่วยให้คำแนะนำในเรื่องสุรา งด ละ เลิกดื่ม
  • ชักชวนทำจิตใจให้เบิกบาน เข้าวัดฟังธรรม
  • ลงมือแก้ไขปัญหาชุมชนเรื่องสุราและยาเสพติด
  • จัดตั้งคลินิกแก้ไขปัญหาในชุมชน
  • ล้อมรั้วครอบครัวให้มีความอบอุ่น

ทั้งหมดสรุปได้ว่า

  • แกนนำนั้นแทรกซึมเข้าไปในแต่ละครอบครัวพร้อมน้อมนำศีลมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการชักชวน ข้าพเจ้าชวนมองต่อว่า นี่น่าจะไปทำเป็น "โครงการครอบครัวมีศีล"...โดยให้แต่ละครอบครัวได้เรียนรู้การเชื่อมโยงหลักคำสอน อันมีวัดเป็นแกนนำที่เข้มแข็งนี้นำไปสู่การปฏิบัติในแต่ละครอบครัว จากนั้นก็นำบทเรียนที่แต่ละครอบครัวมาเล่าสู่กันฟัง
  • การจัดตั้ง "ศูนย์ช่วยเหลือหรือศูนย์ให้คำปรึกษา"...ในชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้ดำเนินการเอง ผู้นำ อบต. เสนอว่า "เป็นคลินิกแก้ไขปัญหาในชุมชน" หากแก้ไม่ได้เราก็จัดตั้งเป็นระบบส่งต่อให้กับเครือข่ายพี่เลี้ยง เป็นต้นว่า ... สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล เป็นต้น

ข้าพเจ้ามองว่า ชุมชนตำบลขุมเงินนี้ มีต้นทุนของชุมชนในเรื่อง มีแกนนำที่เข้มแข็ง เช่น วัดและกลุ่มผู้นำต่างๆ ... มีบุคลากรที่เอาจริงต่อการทำงาน มีคนต้นแบบที่ผ่านประสบการณ์ทางอบายมุขและพร้อมมาร่วมขับเคลื่อนเป็นแกนนำสำคัญ เมื่อไรก็ตามที่คนในชุมชนได้รับการคืนกลับของอำนาจในเรื่องของการรับผิดชอบสุขภาวะของตนเองและชุมชน โดยผ่านเปลี่ยนอำนาจจากผู้นำทางด้านสุขภาพ เปลี่ยนบทบาทมาเป็นพี่เลี้ยงและผู้สนับสนุนให้ชุมชนได้ขับเคลื่อนตนเองแล้ว...ข้าพเจ้าเชื่อว่า โอกาสของการได้ฟื้นฟูในเรื่องสุขภาพไปสู่มิติการเกิดความเข้าใจในเรื่องสุขภาวะนั้นจะมีเพิ่มมากขึ้น ของคนในชุมชน

ด้วยเหตุอันใด...เราจึงสนใจพื้นที่นี้

  • ประการแรกเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การติดสารเสพติด การดื่มสุรา และที่สุดนำไปสู่การเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพจิต จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย
  • มีการอุบัติการการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นสองเดือนติดต่อกัน สาเหตุเนื่องมาจาก...สุรา และมีอาการทางจิตที่เกิดขึ้นภายหลัง
  • แกนนำชุมชนเข้มแข็ง ดั่งเช่น พระและวัด กลุ่มผู้นำต่าง ๆ เจ้าที่สถานีอนามัย

วันนี้สำหรับข้าพเจ้า คือ การก้าวลงไปสู่การเรียนรู้พื้นที่และปัญหาหน้างานที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน ข้อมูลที่ได้ในวันนี้นำไปสู่การออกแบบสำหรับการขับเคลื่อนกระบวนการนี้ไปสู่การแก้ไขและพัฒนาปัญหาหน้างานของพื้นที่นี้อย่างจริงจัง และที่สุดข้าพเจ้าก็ปรารถนาไปถึงความยั่งยืนของการได้ดูแลและเป็นผู้รับผิดชอบชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง...

 

 

หมายเลขบันทึก: 270492เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2009 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ น้องกะปุ๋ม

นับว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถทำทุกคนให้คนยอมรับว่าเป็นหน้าที่ ที่ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง หาใช่เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ชื่นชมค่ะ

ที่ชุมชนหมู่ ๖ ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กำลังดำเนินการโครงการครอบครัวสุขสันต์ มีกิจกรรมหลายอย่าง มีกีฬา พ่อ แม่ ลูก ทัศนศึกษาเพื่อฟังธรรมตามวัดต่างๆ (ได้ใช้มัคคเทศก์ทองถิ่นทีเพิ่งจะผ่านการอบรมด้วยค่ะ)และกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมความรักความผูกพันธ์ในครอบครัว ซึ่งพี่ครูอรวรรณ ยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้มากนัก แต่ไดพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน (สตรีเหล็ก) แล้วก็เห็นถึงความสามัคคีของคนในชุมชนดีมากค่ะ โดยเฉพาะวัยรุ่น ในวันเสาร์ที่แล้ว ได้นัดให้ลูกศิษย์มาตัดหญ้าที่บ้าน เขามา ๔ คน แล้วรีบทำจนเสร็จภายในครึ่งวัน ก็เลยถามว่าเขาจะรีบไปไหน เขาตอบว่า จะรีบกลับไปปรับปรุงสนามตะกร้อที่หมู่บ้าน ก็เลยถึงบางอ้อ เพราะเคยคุยกับผู้ใหญ่บ้านมาแล้วค่ะ อ้อ มีหลายหน่วยงานเข้าไปให้การสนับสนุนด้วยค่ะ

เป็นกำลังใจให้น้องกะปุ๋มนะคะ

มันเหมือนเป็น "โจทย์" เลยค่ะ เวลาที่ลงพื้นที่หรือทำกระบวนการ กะปุ๋มจะถามตนเองว่าโจทย์สำหรับงานนี้คือ อะไร จากนั้นก็หาสาเหตุแห่งโจทย์นั้น แล้วก็ลง run กระบวนการตามเหตุแห่งโจทย์...นั้น เวลาที่ทำงานจึงทำให้รู้สึกว่าเรากำลังได้เกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ชีวิตการทำงานมี "ชีวิตชีวา" อยู่เสมอค่ะ

พี่  ครูอรวรรณ ต้องเข้าไปฉวยโอกาสการเรียนรู้ที่มีเกิดขึ้นดั่งเรื่องเล่าให้กะปุ๋มฟังนะคะ มีจะมองเห็นความหัศจรรย์ของเงื่อนไขคำว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" นั่นน่ะเป็นอย่างไร...

ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจนะคะ ชอบมากเลยกับการนำเรื่องเล่ามาต่อยอดกันค่ะ... :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท