Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จำนวนคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย : ๒,๒๗๓,๖๔๔ คน เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒


เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลช สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดประชุมการส่งเสริมคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ราษฎร โดยมีผู้แทนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตของกรุงเทพฯ ผู้แทนจากหน่วยงานส่วนท้องถิ่นจาก จ.เชียงใหม่ อุบลราชธานี และ ชุมพร ร่วมประชุม

จากการสำรวจเด็กที่ถูกทอดทิ้งในสถานสงเคราะห์ที่กระทรวง พม.ดูแลนั้น มีจำนวน ๒,๘๖๒ ราย ส่วนกลุ่มบุคคลอื่นที่ไม่มีสัญชาติไทยจะอยู่ในการดูแลของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย นายวีนัส สีสุข หัวหน้ากลุ่มการทะเบียนราษฎรและสัญชาติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากตัวเลขผู้ไม่มีสัญชาติไทย แยกตามกลุ่มประเภทบุคคลที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติในระบบฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร ที่ส่วนงานทะเบียนราษฎร รวบรวมไว้เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒ มีจำนวนทั้งสิ้น ๒.๒ ล้านคน

ในจำนวนนี้มีกลุ่มบุคคลที่เป็นแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ ที่ขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงาน จำนวน ๑.๖ ล้านคน อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าหลังจากวันที่ ๑ – ๓๐ กรกฎาคมนี้ ที่ภาครัฐเปิดให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ มาลงทะเบียน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียงใด เพราะยังมีกลุ่มแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ยังไม่มาลงทะเบียนและอยู่นอก ระบบ ซึ่งหากกลุ่มคนดังกล่าวไปก่อคดีทำความผิด จะทำให้ยากต่อการติดตามตัวมาดำเนินคดี

ข้อมูลจากส่วนการทะเบียนราษฎร (สทร.) เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ระบุจำนวนผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ มีชื่อในระบบฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร มีจำนวนทั้งสิ้น ๒,๒๗๓,๖๔๔ คน

ในจำนวนดังกล่าวมีทั้งผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าเมืองถาวร หรือชั่วคราว หรือได้รับการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และ กัมพูชา ที่ขึ้นทะเบียนและขออนุญาตทำงาน

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกจำนวนมากที่อยู่นอกระบบทะเบียนราษฎรที่ไม่มาจดแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งรัฐบาลพยายามควบคุมให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว รวมถึงป้องกันปัญหาบางกรณีที่อาจไปก่อเหตุร้ายแรง หรือก่ออาชญากรรม และหลบซ่อนทำให้ไม่สามารถค้นหาประวัติได้

นายวีนัส กล่าวอีกว่า นอก จากนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำลังยกร่างยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลเพื่อเสนอคณะ รัฐมนตรี (ครม.) รองรับสถานะกลุ่มบุคคลที่ไร้สัญชาติทั้งชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในไทยมานานแต่ตก สำรวจ เด็กนักเรียนนักศึกษาที่เรียนอยู่ในไทย กลุ่มคนไร้รากหง้า เนื่องจากไม่ปรากฎบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ แรงงานต่างด้าวที่มีปัญหาในการส่งกลับประเทศต้นทาง ซี่งมีประมาณ ๑๙๑,๕๗๐ คน

นายวีนัส กล่าวด้วยว่า กรณีบุคคลที่ต้องการแปลงไปเป็นสัญาชาติอื่นเพื่อฟอกตัวหลบหนีคดีความนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่าการเสียสัญชาติไทยนั้นแม้บุคคลนั้นจะได้สัญชาติอื่นแล้ว ก็ไม่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ เพราะจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเษกษา

----------------------------------------------------------------

เตรียมดันร่างยุทธศาสตร์จัดการปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ เสนอ ครม.รองรับสถานะ 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 มิถุนายน 2552 09:36 น.

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000064375

----------------------------------------------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 269905เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2009 03:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท