แว่นใสใส่LEDสีฟ้าที่กรอบ รักษานอนไม่หลับ


 

...

[ aboutgadgets ]

ภาพที่ 1: ลำโพงยี่ห้อเคนวูด (Kenwood) ทำด้วยแก้วใส, ขาตั้งมีให้เลือก 2 แบบ คือ ฐานมีไฟดวงเล็ก (LED) สีฟ้ากับสีขาว > Thank [ aboutgadgets ]

ความจริงบริษัทน่าจะทำขาตั้งแบบที่ปรับสีได้ เนื่องจากผู้บริโภคยุคนี้ต้องการ 'Voice & Choices' (voice = เสียง; choices = ทางเลือกหลายทาง) อะไรที่ปรับเปลี่ยนได้หน่อยจะทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้มากกว่ามีสีเดียวให้เลือก

...

[ glassonweb ]

 

...

ภาพที่ 3: กระจกใสไ่ม่มีสี ใส่หลอดไฟดวงจิ๋ว (LED) ไว้ด้านข้าง ซ่อน LED ไว้ได้หลายชุด โดยมีชั้นวัสดุโปร่งใสนำไฟฟ้าได้อยู่ตรงกลาง (แถบสีแดง), ประกบด้วยกระจก 2 ข้าง, และใส่หลอด LED ไปตรงกลาง > Thank [ glassonweb ]

จุดอ่อนของการใส่หลอด LED แบบฝังในกระจก คือ เปลี่ยนไม่ได้เวลาหลอดขาด ซึ่งอาจทำให้คนรวยๆ หงุดหงิดได้ (สินค้าหรือบริการราคาแพงนี่... คนจะมีความคาดหวังสูงกว่าสินค้าและบริการทั่วไป)

...

ทางที่อาจจะดีคือ ใส่ LED หลายๆ สีไ้ว้ที่ขอบกระจกด้านข้าง-ด้านบน-ด้านล่างแทน ถ้าไม่ใส่ LED หลายๆ สี มีอีกวิธีคือ ใช้แผ่นกรองแสง (filters) หลายๆ สี และมีช่องให้สอดแผ่นกรองแสงเข้าไปได้

..................................................................

เป็นที่ทราบกันดีว่า คนสูงอายุและคนที่เป็นโรคซึมเศร้าส่วนหนึ่งจะมีอาการนอนไม่ค่อยหลับตอนกลางคืน ไปหลับกลางวันแทน

 

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเพราะการได้รับแสงแดด ซึ่งมีแสงสีฟ้าปนอยู่ด้วยน้อยเกินไป

...

การศึกษาใหม่พบว่า  การใช้แว่นสีฟ้าในคนสูงอายุมีส่วนช่วย "รีเซ็ต (reset)" หรือปรับระบบใหม่ คล้ายๆ กับการกดปุ่มรีเซ็ตของคอมพิวเตอร์ ทำให้กลับไปนอนหลับกลางคืนเหมือนคนทั่วไปได้

วิธีใช้คือ ให้สวมแว่นสีฟ้าตอนกลางวัน วันละ 1 ชั่วโมง

...

กลไกที่ทำให้คนสูงอายุหรือเป็นโรคซึมเศร้ามีนาฬิกาชีวิต หรือนาฬิกาธรรมชาติ (circadian rhythm) แปรปรวน คือ การอยู่แต่ในอาคาร ได้รับแสงแดดน้อยเกินไป

ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนกล่าวว่า การออกไปรับแสงแดดอ่อนตอนเช้าหรือเย็นวันละ 30 นาที มีส่วนช่วยให้นาฬิกาชีวิต หรือนาฬิกาธรรมชาติดีขึ้นได้

...

กลไกอื่นๆ คือ คนสูงอายุมีขนาดรูม่านตาเล็กลง และเลนซ์ตาหนาหรือขุ่นมากขึ้น ทำให้แสงผ่านไปยังจอรับภาพ (retina) ได้น้อยลง ทำให้เกิดอาการสับสนเรื่องเวลากลางวัน-กลางคืน

คณะนักวิจัยพบว่า แสงแดดมีแสงสีฟ้า (blue light) ปนอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้สมองรับรู้จากคุณภาพของแสงได้ว่า ตอนนี้เป็นกลางวันหรือกลางคืน

...

ถ้าแสงสีฟ้าลดลงหรือมืดไป สมองจะรับรู้ว่า พระอาทิตย์ตกแล้ว, ต่อมไพเนียล (pineal gland) ในสมองจะเริ่มสร้างสารเมลาโทนิน (melatonin) เพื่อให้คนเริ่มเข้าสู่วงจรของความง่วงเหงาหาวนอนมากขึ้นเรื่อยๆ

อ.มาเรียนา ฟิไกโร (Mariana Figueiro ) และคณะนักวิจัยจากสถาบันโพลีเทคนิคเรนซ์ซาแลย์ นิวยอร์ค (Rensselaer Polytechnic Institute in New York) ทำการวิจัยพัฒนา และประดิษฐ์แว่นแสงสีฟ้าขึ้น

...

กลไกของแว่นนี้คือ ใช้แก้วหรือพลาสติกใส-ไม่มีสี ใส่ีหลอดไฟเรืองแสงสีฟ้าขนาดจิ๋ว (blue light-emitting bulb / LED) ติดไว้ด้านบนของกรอบแว่นตา (คล้ายกับภาพประกอบข้างต้น)

คนที่สวมแว่นสีฟ้าจะเห็นภาพเหมือนจริง ทว่า... แสงสีฟ้าอ่อนๆ จะสะท้อนจากกรอบแว่นเข้าสู่ด้านหลังลูกตา (จอรับภาพ / เรตินา)

...

การศึกษานี้ทำในอาสาสมัคร 11 คน อายุ 51-80 ปี สุ่มให้กลุ่มตัวอย่างได้รับแสงสีฟ้าขนาดต่ำบ้าง สูงบ้าง และตรวจเลือดหาสารเมลาโทนิน ซึ่งเป็นสารช่วยผ่อนคลาย ทำให้คนเราง่วงเหงาหาวนอนตอนกลางคืน

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับแสงสีฟ้าขนาดต่ำมีระดับเมลาโทนินลดลง 35%, และกลุ่มที่ได้รับแสงสีฟ้าขนาดสูงมีระดับเมลาโทนินลดลง 60% (ปกติฮอร์โมนนี้ควรจะต่ำลงในช่วงกลางวัน จะได้ไม่ง่วงกลางวัน, สูงขึ้นกลางคืน เพื่อให้ง่วงกลางคืน)

...

ขณะนี้ศาสตราจารย์เดบรา สคีน (Debra Skene) ผู้เชี่ยวชาญสาขาระบบประสาท-ต่อมไร้ท่อ และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (Surrey U) สหราชอาณาจักร (UK) กำลังวิจัยว่า

การเพิ่มหรือเสริมแสงสีฟ้า 'blue-enriched' เข้าไปในแสงทั่วไปจะช่วยให้คนสูงอายุในบ้านพักคนชรามีอาการนอนไม่หลับตอนกลางคืนดีขึ้นได้หรือไม่

...

ข้อควรระวังคือ ถ้าออกไปนอกบ้าน ไม่ควรสวมแว่นตาสีฟ้า เนื่องจากสีฟ้ามีช่วงความยาวคลื่น (light spectrum) ใกล้แสงสีม่วงและอัลตราไวโอเลต (ultraviolet / UV) ทำให้จอรับภาพได้รับ UV ขนาดสูงขึ้น

การได้รับ UV จากแสงแดดขนาดสูงขึ้น เพิ่มเสี่ยงโรคต้อกระจก (cataract), จอรับภาพส่วนกลางเสื่อมสภาพ (macular degeneration)

...

วิธีที่น่าลองทำ เพื่อลดปัญหาการนอนไม่หลับตอนกลางคืนได้แก่

  • (1). การออกไปรับแสงแดดอ่อนตอนเช้า (ก่อน 9.00 น.), หรือตอนเย็น (หลัง 16.00 น.) อย่างน้อยวันละ 30 นาที, ถ้าออกกำลัง เช่น เดินเร็ว-แกว่งแขนไปด้วยยิ่งดี ฯลฯ
  • (2). การจัดไฟในบ้านให้มีสัดส่วนแสงสีฟ้า (ไม่ใช่ UV) มากขึ้นตอนกลางวัน เช่น ใช้หลอดไฟแบบ 'Day light' = แสงใกล้เคียงแสงแดดตอนกลางวัน (เพิ่มสีฟ้า), และใช้หลอดไฟแบบ 'Cool white' = แสงเย็นตาสีออกไปทางแดงเล็กน้อย หรือ 'Warm white' = แสงเย็นตาสีออกไปทางเหลืองเล็กน้อย เพื่อลดแสงสีฟ้าตอนกลางคืน
  • (3). ถ้าใช้คอมพิวเตอร์... ให้ลองหาไฟที่มีแสงสีฟ้าอ่อนๆ ฉายไปที่กำแพงด้านหลังจอ เพื่อเพิ่มแสงสีฟ้าตอนกลางวัน, และใช้ไฟที่มีแสงสีเหลืองอ่อนๆ ฉายไปที่กำแพงด้านหลังจอ เพื่อลดแสงสีฟ้าตอนกลางคืน
  • (4). บริษัททำโคมไฟ หรือไฟแสงสว่างต่างๆ น่าจะวิจัย พัฒนา และผลิตแหล่งแสงสว่างที่ใช้หลอดไฟเรืองแสงขนาดเล็ก (LED) แบบปรับสีได้ เช่น ใช้แผ่นกรองแสง (filter) พร้อมคำแนะนำให้ลูกค้า โดยเน้นเพิ่มแสงสีฟ้าช่วงกลางวัน, ลดแสงสีฟ้าช่วงกลางคืน ฯลฯ

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 > Thank [ glassonweb ]; [ aboutgadgets ]; [ Dailymail ]

ที่มา                                                                      

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >   > 19 มิถุนายน 2552.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

ภาพที่ 2: กระจกใสไ่ม่มีสี ใส่หลอดไฟดวงจิ๋ว (LED) ไว้ด้านข้าง ผู้เขียนเรียนเสนอว่า ถ้ามีหลายๆ สีให้เลือกเปิดได้ น่าจะดี > Thank [ glassonweb ]

หมายเลขบันทึก: 269630เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2009 01:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท