ชีวิตที่พอเพียง : ๗๗๔. เรียนรู้เรื่องคนไร้รัฐ



          วันที่ ๖ มิ.ย. ๕๒ อาจารย์แหววให้ลูกศิษย์นัดไปให้ความเห็นวิธีทำงานเรื่องคนไร้รัฐ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ทำให้ผมได้เข้าไปชื่นชมบรรยากาศยามเช้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สดชื่นด้วยสายลมที่โชยมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา    และมีการปรับปรุงบริเวณเป็นระเบียบสวยงามกว่าเมื่อก่อนมาก   ในสนามฟุตบอลล์ตรงกลางบริเวณมีนกเอี้ยงกิ้งโครง ๒ ตัวและนกเขาจำนวนมากมาหาอาหารกิน   รวมทั้งมีเสียงนกตีทองร้องมาแต่ไกลๆ  


          คนที่มาร่วมประชุมน่าจะถือได้ว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชน หรือนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน   ที่ทำงานเป็น NGO บ้าง    เป็นนักวิชาการบ้าง   และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบ้าง    แต่กลุ่มหลังดูจะมีน้อยไปหน่อย    พูดในภาษาของ อ. ไกรฤทธิ์ คนเหล่านี้เป็นสาวกของอาจารย์แหวว พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร    โดยมีทีมแกนนำคือคุณปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว กับคุณดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล


          อาจารย์แหววยุลูกศิษย์ให้จัดตั้งสถาบันขึ้นทำงานด้านคนไร้รัฐ แยกออกไปจากคณะนิติศาสตร์    จึงจัดตั้ง SWIT (Stateless Watch Research and Development Institute of Thailand – สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ)    และที่เชิญภาคีมาร่วมประชุมก็เพื่อหารือวิธีทำงานของ SWIT   โดยผู้ใหญ่ที่มาร่วมประชุมอีกท่านหนึ่งคือคุณเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา   อดีตวุฒิสมาชิก


          การประชุมเดินเรื่องด้วย ๑๐ สถานการณ์เด่นของปัญหาคนไร้รัฐ    โดยที่ อ. แหวว บอกว่า งานวิชาการและเคลื่อนไหวแก้ปัญหาคนไร้รัฐเริ่มด้วยการสนับสนุนของ สกว. ช่วงที่ผมเป็นผู้อำนวยการ    ในช่วงเวลากว่า ๑๐ ปี ความเข้าใจของสังคมเพิ่มขึ้นมาก    ทาง สปสช. ก็ยอมรับดูแลสุขภาพของคนเหล่านี้ โดยเสนอของบประมาณรายหัวเท่ากับคนไทย คือปีละ ๒,๒๐๒ บาท   รวม ๕๐๕,๙๓๐ คน เป็นเงิน ๑,๑๑๔,๐๕๗,๘๖๐ บาท  

        ทีมนี้ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าชื่นชมจากการทำงานโดยใช้ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”   คือทำงานวิชาการ  เอาความรู้ไปสื่อสารกับสังคม (เคลื่อนไหว)   และอาศัยการเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกับฝ่ายผู้ถืออำนาจกฎหมาย


          ผมกลับมา AAR ที่บ้าน ว่าคุณูปการต่อสังคมไทยของทีมนี้น่าจะมีมากกว่าการช่วยคนไร้รัฐ  มากกว่าการสร้างระบบสิทธิบุคคลในการเป็นสมาชิกของสังคม   ผมเห็นภาพการเข้าไปสร้างมิติของความเป็นมนุษย์ให้แก่ราชการไทย โดยเฉพาะมหาดไทย    คือตามปกติราชการที่ทำหน้าที่ลงทะเบียนราษฎร จะมองคนชายขอบเหล่านี้เหมือนไม่ใช่คน   ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของเขา   หรือพูดแรงๆ คือเอากฎหมายเหนือความเป็นมนุษย์    หลังจากมีขบวนการของอาจารย์แหววและสานุศิษย์ ราชการไทยเคารพความเป็นมนุษย์ของคนที่น่าเห็นใจเหล่านี้มากขึ้น 


          เขาจัดเวลาให้ผมให้ข้อเสนอแนะถึง ๔๕ นาที    แต่ผมพูด ๑๕ นาทีก็สิ้นใส้สิ้นพุงแล้ว    โดยที่ผมตีความว่า ที่จัดประชุมนี้ เป้าหมายใหญ่คือต้องการปรึกษาวิธีตั้งตัว กำหนดตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ของ SWIT   ผมจึงแนะนำวิธีคิดว่า SWIT เป็นเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งใน “ป่าแห่งหน่วยงานและกิจกรรมเรืองคนไร้รัฐ”   ต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า “เราคือใคร” ต้องการทำอะไร  ความสำเร็จที่ต้องการคืออะไรแน่   นี่คือ “รู้เรา”   แล้วก็ต้อง “รู้เขา” คือเพื่อนร่วมวงการคนไร้รัฐ   ต้องรู้ลึกเข้าไปที่ความต้องการลึกๆ ของเขา และจุดแข็งของเขาที่เมื่อเราไปร่วมมือเชื่อมต่อ จะสร้างความสำเร็จต่อยอดได้  

          มีการซักถามแลกเปลี่ยนกันลึกๆ จนครบ ๔๕ นาที   เป็นความสามารถพิเศษของ อ. แหวว ที่จะตั้งคำถามให้ผมตอบออกจากใจ   โดยที่เธอจะบอกเป็นระยะๆ ว่าคำตอบนั้นผมเคยบอกแล้วเมื่อปี ๔๓   คำตอบนี้ผมเคยตอบแล้วเมื่อปี ๔๘   ผมจึงถามกลับว่า แล้วคำตอบวันนี้ตรงกับคำตอบเมื่อหลายปีก่อนไหม  

          ผมคิดว่านี่คือคุณค่าของกัลยาณมิตร    คุณค่าของการ ลปรร. แบบมาจากใจ   แล้วผู้ต้องการวิธีคิด วิธีปฏิบัติ เอาไปตีความหรือย่อยต่อ   แล้วสังเคราะห์ดำเนินการให้เหมาะสมต่อสถานการณ์   คือเท่ากับผมแค่ทำหน้าที่จุดประกาย    ส่วนกองไฟจริงๆ ทีมงานต้องไปก่อไฟเติมฟืนกันเอาเอง    ผมโชคดีตรงที่เขาบอกว่าประกายเล็กๆ ของผมมคุณค่าต่องานของเขา 

          ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า เราต้องพยายามทำความเข้าใจ หรือมองเห็น ภาพรวมทั้งหมดของเรื่องคนไร้รัฐ   ต้องเห็นให้ลึกถึงตัวโรค ไม่ใช่เห็นผิวๆ แค่อาการโรค   ต้องเข้าใจว่าปัญหาคนไร้รัฐมาจากมรดกในอดีตส่วนหนึ่ง   และเป็นปัญหาที่สังคมไทยสร้างขึ้นใหม่จากวิธีคิดสร้างเศรษฐกิจบนฐานของแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก   ปัญหาใหญ่ในปัจจุบันเกิดจากสาเหตุหลังนี้   ทีม SWIT น่าจะคำนึงถึงการใช้ความรู้ที่ SWIT และภาคีสร้างขึ้น นำไปสู่การป้องกันปัญหาด้วย   ไม่ใช่มุ่งแต่แก้ปัญหา   

          การดำเนินการให้สิทธิด้านสัญชาติ ยึดหลักดุลยภาพระหว่างสิทธิของความเป็นมนุษย์ของบุคคล กับ ความมั่นคงของรัฐ   และที่เกิดปัญหามากเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้กฎหมายชิ้นเดียว   ดำเนินการโดยยึดตัวบทกฎหมายข้อเดียว    ไม่แตกฉานกฎหมายข้ออื่นที่เกี่ยวข้อง

          มีการแจกหนังสือ “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ใน...แม่อาย” ผมกลับมาค้นใน อินเทอร์เน็ต ไม่พบ   ท่านที่สนใจอ่านได้ใน บล็อก ที่นี่   ทีมนี้มุ่งใช้ ICT ในการสื่อสารเรื่องราวของคนไร้รัฐต่อสังคมด้วย    มีการนำมาเล่าใน Gotoknow อย่างน่าสนใจ 

 

วิจารณ์ พานิช
๖ มิ.ย. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 268557เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2009 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

"คนไร้รัฐ" ไม่ใช่เรื่องเล่นๆเลยนะครับ

ผมคิดว่าตนเองเข้าใจปัญหาระดับหนึ่ง

แต่พอมาอ่านบทความนี้ ก็รู้ว่าตนเองยังไม่เข้าใจอะไรอีกเยอะเลย

ขอบคุณค่ะอ.วิจารณ์ สรุปได้เข้าใจมากเลยค่ะ หนูชอบคำพูดของอ.วิจารณ์ โดยเฉพาะ ที่ว่า SWIT เป็นเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งใน “ป่าแห่งหน่วยงานและกิจกรรมเรืองคนไร้รัฐ” ต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า “เราคือใคร” ต้องการทำอะไร ความสำเร็จที่ต้องการคืออะไรแน่ นี่คือ “รู้เรา” แล้วก็ต้อง “รู้เขา” คือเพื่อนร่วมวงการคนไร้รัฐ   ต้องรู้ลึกเข้าไปที่ความต้องการลึกๆ ของเขา และจุดแข็งของเขาที่เมื่อเราไปร่วมมือเชื่อมต่อ จะสร้างความสำเร็จต่อยอดได้  

แต่การที่เราจะรู้เขาได้ มันต้องใช้เวลา และความจริงใจของเราด้วย บางเขาอาจใช้เวลานาน แต่บางเขาเข้าใจตรงกันก็ไม่นานนัก

ขอบคุณอีกครั้งค่ะที่กรุณามางานวันที่ ๖ มิ.ย. ๒๕๕๒ และขออภัยด้วยนะคะหากมีอะไรตกหล่นไป

ขอบพระคุณมากค่ะ

วันนั้น--โลกที่คาดว่าจะถูกเปิดให้กว้างจากข้อแนะนำ/คำแนะนำต่างๆ ของอาจารย์

มันกว้างขึ้นจริงๆค่ะ

สนุกดี ด้วยค่ะ

กำลังลอง/หาทางนำคำแนะนำดีๆ ของอาจารย์ไปปรับใช้อยู่ค่ะ

: )

เล่มนี้ เป็นการเขียนข้อกฎหมายในการแก้ปัญหาให้คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในแต่ละสถานการณ์อ่านค่ะ ใช้ภาษาง่าย เหมือนคู่มือสุขภาพ

แต่เรื่อง "คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ...ในแม่อาย" (ไม่มีรูปมาอวด)

เป็นการถอดบทเรียนของปัญหาที่เกิดที่แม่อาย ซึ่งความไร้รัฐไร้สัญชาติมาจากความเป็นคนชายแดน

ท่านใดอยากได้ ขอมาได้ค่ะ 

 

กราบขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งเช่นกันค่ะ ที่กรุณามาให้คำแนะนำกับพวกเรา พวกเรา หรือ SWIT ค่อยๆหัดเดินกันมาระยะหนึ่งแล้วค่ะ และคำแนะนำของอาจารย์ก็คงจะช่วยให้เราสามารถตั้งต้นและก้าวเดินต่อไปได้ชัดเจนและแข้งแรงยิ่งขึ้นค่ะ และหวังว่าสิ่งที่เราตั้งใจคงจะก่อเกิดมรรคผลต่อไปไม่มากก็น้อยค่ะ

การทำงานตามที่เรามุ่งหวังคงต้องใช้แรงกายแรงใจ และต้องใช้ระยะเวลา ในอนาคตก็หวังว่าคงจะได้รับความกรุณาจากอาจารย์อีกนะคะ

ขอบพระคุณค่ะ

ปิ่นแก้ว

เตือนมีรูปมาฝากค่ะ..

อันนี้ คือ หน้าตาของ หนังสือ ชื่อ "คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ใน...แม่อาย"

เป็นการถอดบทเรียนปัญหาของปัญหาที่เกิดขึ้นในแม่อาย ซึ่งความไร้รัฐไร้สัญชาติมาจากความเป็นคนชายแดนของคนแม่อายนั่นเอง มีการเล่าเรื่องแบบ true story จากผู้เขียนหลายๆ ท่าน ที่คลุกคลีอยู่ใน...แม่อาย

จะว่าไปแล้ว..หนังสือเล่มนี้จะคล้ายๆ "บันทึกการเดินทางและการต่อสู้" ของคนชายแดนแม่อายที่ต้องเผชิญปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติจากสาเหตุต่างๆ ค่ะ

นี้เป็นแค่ "บันทึกการเดินทาง เล่มที่ 1" เพราะเรื่องราวระหว่างทางของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ใน...แม่อาย ยังคงดำเนินต่อไปและมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ค่ะ..

หากเล่ม 2 คลอดเมื่อไหร่ จะรีบแจ้งค่ะ

ปล. ขอบพระคุณอาจารย์วิจารณ์มากค่ะ สำหรับคำแนะนำทุกๆ อย่าง พวกหนูจะจดจำและนำไปพัฒนาค่ะ :-)

ในวันนั้นซึ่งที่เตือนสติผมมากที่สุด ก็คือคำว่า "human error" เกิดมีขึ้นได้ จนท.ของรัฐเกิดความผิดพลาดส่วนนี้ได้ ขอบคุณอ.วิจารณ์ มากครับ

ความสำคัญนี้ก็คือ ผมยอมให้อภัยในความผิดพลาด การให้อภัยในความไม่เจตนา เพราะในที่สุดแล้วจนท.ของรัฐก็ยินดีแก้ไข

สิ่งที่ผมจะขออภัยก็คือผมแรงไปหน่อยที่บังคับให้ใช้กฎหมาย แต่ผมไม่มีทางเลือก หากผมมีความสัมพันธ์กับจนท.รัฐแบบไทย ๆ มาก่อน ผมก็คงไม่ใช้การบังคับทางกฎหมายอย่างนั้น ขออภัยจริง ๆ ครับ

แล้วหนังสือเรื่อง "คนไร้รัฐไร้สัญชาติในรัฐไทย" ดีจริงครับ ผมได้ความรู้เพิ่มเติมอีกเยอะเลย ที่สำคัญกว่าจะหาหนังสือเล่มนี้ได้ หายากมาก...ขอรับ

เรื่องหนังสือคนไร้รัฐคนไร้สัญชาตินั้น

มาตระหนักได้ว่า เป็นหนังสือที่เข้าถึงเจ้าของปัญหาได้จริง

ได้ไปคุยกับคุณเปา ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล เหมือนกันว่า อยากพิมพ์แจกค่ะ โดยคิดเอาง่ายๆ ว่า พอเจอเจ้าของปัญหา หลังอธิบายวิธีแก้ปัญหาแล้ว ก็เอาหนังสือใส่มือให้อ่าน

หรือไปอบรมเอนจีโอ ก็แจกกันเลย

จะกลับไปคุยกะคุณเปาอีกรอบ หรือไม่ก็ UNICEF

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท