ราชภัฏ หยุดเถอะ


 

             ราชภัฏ หยุดเถอะ      

                             

            ช่วงนี้  อาจารญ์หมอวิจารณ์ ได้นำเอาบทความว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษา ในชื่อเรื่อง "วิกฤติ    กระบวนทัศน์  มโนทัศน์  เพื่อการปฎิรูปการศึกษา"ของ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ซึ่งท่านยกย่องบทความชิ้นนี้ว่าเป็น master piece ด้านให้ความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจระบบการศึกษาไทย และท่านแนะนำด้วยว่า  "ต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จึงจะได้รับประโยชน์เต็มที่"

            ผมได้อ่านแล้ว  เห็นด้วยกับ อาจารย์หมอวิจารณ์ที่ว่าเป็น master piece และเห็นว่า ประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้หยิบยกขึ้นมาอภิปราย และเสนอแนะนั้น  สมควรที่วงการศึกษาบ้านเรานำมา ถาม แถม เถียง กัน เพื่อให้ความคิดอ่านได้รับการขัดสีฉวีวรรณ ให้มีความเงางาม และเด่นชัดมากขึ้น แล้วผลักดันให้เป็นนโยบาย และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ในทุกภาคส่วนของการศึกษา น่าจะเป็นผลดีมากกว่า แนวความคิดที่รัฐบาลปัจจุบันใช้เป็นฐานในการบริหารจัดการการศึกษาอยู่ในขณะนี้ แม้ยังไม่สามารถดำเนินการในระดับชาติได้ในขณะนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ก็สามารถนำเอาไปเป็นประเด็นสำหรับอภิปรายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาในขอบข่ายที่ตนรับผิดชอบอยู่ได้

             ในบันทึกล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ของอาจารย์หมอวิจารณ์ เป็นตอนที่ 10 เนื้อหาในตอนนี้ กล่าวถึง การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่าควรให้การศึกษาในเรื่องอะไร แก่ใคร

             ผู้เขียน(ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร) ได้เสนอไดอะแกรมแสดงการเคลื่อนตัวของกำลังคนจากระบบการศึกษาระดับต่าง ๆสู่การประกอบอาชีพในสังคม ซึ่งผมขออนุญาตนำมาไว้ในบันทึกนี้เพื่อประกอบการทำความเข้าใจ ดังนี้
 

             จากไดอะแกรมนี้ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า "คนช่วงวัยทำงานมีจำนวนมาก  ประมาณกว่าสามสิบห้าล้านคน    คนเหล่านี้ต้องการการศึกษา   เราต้องปรับอุดมศึกษาให้คนเหล่านี้เรียนให้ได้   อุดมศึกษาต้องหันมาให้ความสนใจการศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตลอดชีวิต    ไม่ใช่อุดมศึกษากระแสหลักอย่างปัจจุบันที่จัดการเรียน 08.00-16.00 น.   อุดมศึกษาอนาคตต้องจัดเรียนสัปดาห์ละ 7 วัน  และเรียน 3 กะ   ใช้วิธีเรียนสำหรับผู้ใหญ่แตกต่างจากการเรียนแบบปกติของนักศึกษาช่วงวัยอุดมศึกษา"

                ในฐานะที่ผมอยู่ราชภัฏมีความเห็นว่า ราชภัฏปัจจุบันส่วนใหญ่ยังดำเนินการในลักษณะ "อุดมศึกษากระแสหลัก"อยู่มาก กลุ่มเป้าหมายหลักยังอยู่ที่ คนจำนวนหนึ่งในจำนวนทั้งหมด  1.2 ล้านคน  ซึ่งในจำนวนนี้เข้ามาในราชภัฏจำนวนน้อยเต็มที และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ  แม้ราชภัฏมีการจัดการศึกษาภาค กศ.บป.ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ผู้ที่ทำงานแล้ว แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันก็มีผู้เรียนที่เพิ่งจบมัธยมศึกษามาเรียนอยู่มาก  ที่สำคัญคือ หลักสูตร ซึ่งหมายถึงเนื้อหา และวิธีการยังเป็นแบบ "อุดมศึกษากระแสหลัก" ไม่ใช่ "วิธีเรียนสำหรับผู้ใหญ่ " ที่ "แตกต่าง จากการเรียนแบบปกติของนักศึกษา
               ในความเห็นของผมเห็นว่าการศึกษาที่ราชภัฏรับผิดชอบอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถ"เพิ่มผลิตภาพ(Productivity) ของประเทศ"ได้ ที่เห็นชัด ๆก็คือ ราชภัฏสอนคนที่ยังไม่ได้ทำงาน และไม่แน่ว่าจะได้มีโอกาสทำงานหรือไม่  วิธีเรียนเป็นการเรียนหนังสือไม่ใช่วิธีเรียนสำหรับผู้ใหญ่ สิ่งที่เรียนมีลักษณะ"ลอยตัวจากสังคม" และที่สำคัญคือราชภัฏไม่สามารถทำหน้าที่ของอุดมศึกษาใน "มิติทางการใช้ประโยชน์  ทางปัญญา  ทางจิตวิญญานและสังคม" ได้ 

            ถ้าราชภัฏต้องการจะปรับเปลี่ยน ให้เป็นอุดมศึกษาที่สามารถ "เพิ่มผลิตภาพ(Productivity) ของประเทศ"ให้ได้ ผมก็เชื่อว่า ราชภัฏไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ เพราะ หนึ่ง ไม่รู้เรื่องของคน สังคม และการอาชีพที่ในสังคมเขาทำกันอยู่ สอง ไม่คุ้นเคยกับ "วิธีเรียนสำหรับผู้ใหญ่ " ที่ "แตกต่างจากการเรียนแบบปกติของนักศึกษา" ประการหลังนี้ไม่หนักหนาสาหัสเท่าประการแรก  เพราะการเรียนรู้ "คน สังคม และการอาชีพที่ในสังคมเขาทำกันอยู่"เป็นเรื่องที่ต้องใช้สติปัญญาและเวลา กล่าวได้ว่าที่ผ่านมา ราชภัฏไม่เคยคิดจะเรียนรู้เรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง  หากจะดำเนินการก็อาจเรียกได้ว่าต้องเริ่มต้นจากศูนย์เลยทีเดียว  ดังนั้น ราชภัฏใดจะยกระดับตนเองให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าจริง จะต้องเริ่มต้นเสียแต่วันนี้ แม้ว่าพรุ่งนี้ก็ยังไม่สาย แต่จะมีประโยชน์อะไรที่จะทำร้ายท้องถิ่นต่อไปด้วยหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ด้อยผลิตภาพ

paaoobtong
14/16/52
7:29                           

ที่มา:

http://gotoknow.org/blog/council/266922

หมายเลขบันทึก: 268029เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 07:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งแต่ยังอยากให้กลับไปเป็นวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยครูก็ได้ คุณผลิตคนที่จะมาสอนคนอย่างเดียวก็พอ

สวัสดีค่ะ

  • อยากให้ราชภัฎฯ
  • เป็นสถาบันที่มุ่งผลิตครูดีมีที่คุณภาพ..เหมือนเดิมค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • เป็นความคิดเห็นที่มีเหตุมีผล มีความน่าจะเป็นสูงค่ะ
  • แล้วทำไม...ผู้มีอำนาจจึงไม่คิดบ้าง
  • ท่านผลิตคนออกมาเป็นครู ก็เป็นมืออาชีพของท่านอยู่แล้ว...
  • น่าจะสงวนสิทธิ์นี้ไว้นะคะ...
  • เคารพในความเป็นครู - อาจารย์ทุกท่านค่ะ

  • ตามมาเรียนรู้เรื่องใกล้ ๆ ตัวครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท