ผักหนาม


นนทบุรี ทุเรียน กระท้อน ผักหนาม

 

ผักหนาม


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 /6/52 ได้มีโอกาสไปเที่ยวแถวนนทบุรี  และได้มีโอกาสทานผักหนามเห็นว่าอร่อยเลยนำเรื่องราวที่น่าสนใจของผักหนามมาฝากจ้า
          ผักหนาม   เป็นผักพื้นบ้านพื้นเมืองที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างแท้จริง แม้ว่าผักหนามจะเกิดขึ้นทุกภาคของแผ่นดินไทย แต่ผักหนามเป็นที่รู้จักและนิยมกินกันอย่างมากในหมู่ชาวบ้านชนบทแถบภาคอีสาน และภาคเหนือ เป็นผักที่เก็บตามริมคลอง หนอง บึง ที่อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร

          ผักหนาม เรียกตามลักษณะของผักที่มีหนามเกาะเต็มลำต้น  หนามอ่อนที่อยู่ตามยอดอ่อนกินได้เพราะหนามนิ่ม หนามจะแข็งไปเรื่อยๆ ตามอายุความแก่ของลำต้น   ผักหนาม มีลักษณะเป็นเหง้าเหมือนผักประเภทเหง้าทั่วไป เช่น กล้วย  ต้นคูน  ต้นบุก  ต้นอีรอก เป็นต้น  มีเหง้าฝังอยู่ในดิน ชอบความชุ่มชื้น  ดังนั้นผักหนามจึงเกิดและเติบโตตามแอ่งน้ำ ริมน้ำทั่วไปในพื้นที่สูง ตามริมน้ำบนภูเขา ถ้าบริเวณที่ผักหนามขึ้น น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ก็สามารถมียอดผักหนามให้กินกันทั้งปี แต่โดยทั่วไปน้ำท่าชุ่มฉ่ำก็เฉพาะหน้าฝน ดังนั้นผักหนามจึงมีให้เก็บกินได้ถ้วนทั่วก็เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น

          ผักหนาม ก็จะเป็นหนึ่งในผักพื้นบ้านที่เกิดตามธรรมชาติที่ชาวบ้านนิยมเข้าป่าหาผัก  ผักที่ได้รวมกันมามีหลายชนิดในแต่ละฤดูกาล ฉะนั้นในฤดูกาลต้นหนาม ชาวบ้านก็จะเก็บผักหนาม  ผักอีรอก  เก็บเห็ดต่างๆ เรียกว่าเข้าป่าทีนึงก็ได้ผักมาหลายชนิดทีเดียว

          ผักหนาม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lasia spinosa Thw. เป็นไม้ล้มลุก ลักษณะผักหนามจะแทงยอดขึ้นมาจากเหง้า เลื้อยไปตามดิน บ้างก็แทงตรง บ้างก็งอหงิก ทั้งนี้เพราะลำต้นอวบน้ำ ไม่มีแก่นไม้ คล้ายผักประเภทต้นคูน หรือลำต้นสายบัว คือเป็นโพรงอากาศอยู่ภายใน ใบมีขอบหยักเว้าลึกออกเป็นแฉกๆ รอยเว้าลึกเข้าไปเกือบถึงเส้นกลางใบ แฉกใบกว้าง ก้านใบยาว ก้านใบมีสีเขียว สีแดงเลือดหมู ใบอ่อนจะม้วนเป็นแท่งกลม ปลายแหลม ช่อดอกเป็นแท่งและดอกย่อยอัดแน่น มีกาบหุ้มช่อดอกสีน้ำตาล ก้านช่อดอกยาวและมีหนาม

ผักหนาม กินสดไม่ได้ เพราะมียาง ทำให้คันคออย่างมากและมีพิษ เพราะมีสารชื่อ hydrocyanic acid และไม่อร่อยเป็นที่สุด  โดยทั่วไปชาวบ้านกินลำต้นอ่อนของผักหนาม จะกินแบบต้มแล้วเอาไปจิ้มสารพัดน้ำพริกประดามีของชาวบ้านเป็นหลักใหญ่ เพราะผักหนามที่สุกจะมีรสพิเศษของผัก คือออกรสหวานปนรสขม บางครั้งมีรสเปรี้ยวนิดๆ ขื่นหน่อยๆ ถือว่าอร่อยเป็นที่สุด เมื่อได้น้ำพริกรสเข้มข้น เผ็ด เค็ม เปรี้ยว ที่ลงตัว หรือต้มกับหางกะทิ  รสหวานมันของกะทิเพิ่มความนุ่มนวลและรสชาติให้กับผักอร่อยยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ผักหนามยังถูกนำมาปรุงเป็นแกงต่างๆ เช่น แกงส้มใส่เนื้อปลาช่อน  แกงกะทิใส่เนื้อปลาย่าง  เลือกใช้ปลาย่างปลาเนื้ออ่อนยิ่งอร่อย  ก่อนแกงต้องย่างปลาย่างอีกครั้งให้มีกลิ่นหอม หรือจะทำแกงบวน  แกงอ่อม ก็อร่อย หากกินกันไม่หมดในคราเมื่อเป็นหน้าของผักหนาม เอามาทำเป็นผักหนามดองเปรี้ยวแสนอร่อยไว้จิ้มกินกับน้ำพริกปลาร้าก็ยังได้

          ผักหนาม มีสารอาหารหลากหลายชนิด  ผักหนามในปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 18 แคลอรี  เส้นใย 0.8 กรัม  แคลเซียมและฟอสฟอรัสมีปริมาณใกล้เคียงกัน  มีวิตามินเอสูงถึง 6,383 I.U.  วิตามินบี 1 ประมาณ 0.92 มิลลิกรัม  วิตามินบี2 ประมาณ 0.004 มิลลิกรัม  ไนอาซีน 0.9 มิลลิกรัม  และวิตามินซี 23 มิลลิกรัม

          ผักหนาม มีขายในท้องตลาดทั่วไปในช่วงฤดูฝน มัดด้วยตอกเป็นกำๆ ขายราคากำละ 5 บาท  กำหนึ่งมีหลายยอดเลยทีเดียว ต้มจิ้มน้ำพริกก็ได้ผักต้มจานโต แกงก็ได้เป็นหม้อสำหรับครอบครัว 3-4 คน  ถ้าจะแกงหม้อใหญ่ก็ใช้เพียง 4-5 กำเท่านั้น

 

หมายเลขบันทึก: 267710เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2009 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ ผักหนาม ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ชอบดอง กินกับขนมจีนครับ เป็นคู่แข่งกับผักเสี้ยนดอง  และผักกุ่มดองครับผม

ขอบคุณที่นำมาให้ได้เรียนรู้ครับ

ผักหนาม ที่สุพรรณฯมีมั๊ย เรียกชื่อว่าอะไร เหมือนว่าจะไม่เคยเห็น

ผักหนามแถวบ้านปอก็เยอะเหมือนกันคะ ชอบเอามาลวกจิ้มน้ำพริกคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท