ข้อมูลครั้งที่ 13 :ปัญหาแรงงานกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน


อย่างไรก็ตามจากข้อมูลดังกล่าวกลับแตกต่างจากข้อมูลของศูนย์ ฯ ที่พบว่า ในกิจการจ้างงานประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะ สภาพปัญหาหลักมาจากการที่นายจ้างใช้ข้ออ้างปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเพื่อเลิกจ้างแรงงาน ส่วนใหญ่พบในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เช่น อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) แหลมฉบัง บ่อวิน อมตะซิตี้ สยาม อีสเทิร์น

ปัญหาแรงงานกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

6 ปัญหาหลัก + 1 ปัญหาต่อเนื่อง

รายงานจากศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์

และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงาน

ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

 

เอกสารฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายเรื่องปัญหาแรงงานกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดย วิไลวรรณ แซ่เตีย ในวันพุธที่ 17 มิถุนายน 2552 เวลา 10.45 – 12.30 น. ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นท์ เวทีประชุมวิชาการเรื่องการป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 4: วิกฤติเศรษฐกิจกับสุขภาพของผู้ประกอบ อาชีพ

 

จากสถานการณ์การเลิกจ้างที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องในรอบปี 2551 อย่างน้อยพบว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานอย่างน้อย 597 แห่ง มีแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 50,000 คน จึงทำให้กระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่าจำนวนตัวเลขผู้ว่างงานจากวิกฤติครั้งนี้จะสูงถึง1 ล้าน 5 แสนคน แม้ว่ากระทรวงแรงงานจะมีมาตรการในการรับมือกับวิกฤติผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานหลายประการ แต่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายองค์กรพันธมิตร เห็นร่วมกันว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ไม่ใช่มาตรการที่มีประสิทธิภาพยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานได้ครอบคลุมทุกกลุ่มจริง ดังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และถูกรายงานโดยสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องถึงสภาพปัญหาดังกล่าว


ฉะนั้นจึงทำให้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายองค์กรพันธมิตร จึงได้ร่วมกันเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงาน โดยเปิดเป็นศูนย์ในระดับชาติและในระดับเขตพื้นที่ย่านอุตสาหกรรม รวม 20 ศูนย์ ครอบคลุมทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานหญิง ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ ให้คำปรึกษา แสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาการถูกเลิกจ้างงาน และจัดเก็บข้อมูลด้านต่างๆ ของผู้ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงาน เพื่อนำเสนอต่อภาครัฐให้รับทราบถึงสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายต่อไป


จากการเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ฯ มากว่า 5 เดือน (20 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2552) ทำให้ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับ ปัญหาแรงงานกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน พบว่า รูปแบบของปัญหาที่มีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานในกลุ่มต่าง ๆ มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันไปตามสภาพการจ้างงานและเพศสภาพ


โดยภาพรวมพบว่าแรงงานทั้ง 4 กลุ่ม คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานหญิง ต่างต้องได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจอย่างยากจะหลีกเลี่ยง บางคนถูกลดเวลาทำงาน ลดค่าจ้าง ไม่ได้รับค่าชดเชย นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน


แต่ปัญหาสำคัญที่เด่นชัดกว่า คือ การที่นายจ้างใช้ข้ออ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจมาเลิกจ้างผู้ใช้แรงงาน ในส่วนนี้พบมากในกลุ่มแรงงานในระบบ อีกประการหนึ่ง คือ การไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ทั้งการไม่มีสวัสดิการ และการเข้าไม่ถึงการคุ้มครอง ส่วนนี้พบในกลุ่มแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ สุดท้ายในฐานะการเป็นเพศหญิง กลับยิ่งต้องมีภาระความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น หลังจากตกงาน โดยเฉพาะการแบกรับเรื่องค่าใช้จ่ายของบุตรหลานในบ้าน ที่ยังไม่สามารถทำงานได้ เช่น ค่าการศึกษา ค่านมบุตร เป็นต้น


โดยสรุปปัญหาทั้ง 7 เรื่อง ประกอบด้วย


(1)  ผู้ใช้แรงงานในระบบ ถูกนายจ้างฉวยโอกาสใช้ข้ออ้างเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจมาเลิกจ้างผู้ใช้แรงงาน


(2)  ผู้ใช้แรงงานในระบบ ถูกนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น การถูกลดเวลาทำงาน ลดค่าจ้าง ไม่ได้รับค่าชดเชย


(3)   ผู้ใช้แรงงานนอกระบบ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ


(4)   ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ เข้าไม่ถึงการคุ้มครอง


(5)   ผู้ใช้แรงงานหญิง ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของสมาชิกในบ้านที่ยังไม่สามารถทำงานได้เพิ่มขึ้น


(6)   ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม ขาดการรับรู้ข้อมูลส่วนราชการ และเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือต่างๆจากภาครัฐ


(7)   ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและความไม่ปลอดภัยระหว่างทำงาน


ดังมีรายละเอียดของแต่ละประเด็นปัญหา ดังนี้

 

อ่านต่อทั้งหมด click : ดาวน์โหลด

 

หมายเลขบันทึก: 267695เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2009 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท