คำนิยมหนังสือ"เคล็ดไม่ลับR2R"


คำนิยม


หนังสือ


เคล็ดไม่ลับ R2R


วิจารณ์ พานิช
นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

          หนังสือ “เคล็ดไม่ลับ R2R” เล่มนี้เขียนแนว “เรื่องเล่า” (Storytelling) เพื่อสื่อสาระที่เป็น “ความรู้ฝังลึก” (Tacit Knowledge) ในการริเริ่ม  การก่อตัว  การจัดการ  และการดำเนินการ “ขบวนการงานประจำสู่การวิจัย” (R2R Movement) ที่ศิริราช ในช่วงเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา


          เป็นการเขียนหนังสือแนวเล่าเรื่องที่เร้าพลังได้ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่าน


          การเกิดขึ้น งอกงาม และขยายตัว ของ R2R ที่ศิริราช เป็นปรากฏการณ์ของสิ่งที่ซับซ้อนและปรับตัว (Complex Adaptive)    มี “ตัวละคร” ที่หลากหลาย แสดงบทบาทแตกต่างกันในหลากหลายมิติ    มีมิติของเวลา ที่ค่อยๆ เริ่มต้นจากความไม่ชัดเจน เป็นความฝันรางๆ    แต่มีกลุ่มคนที่กล้าร่วมกันทดลองลงมือทำ และปรับเปลี่ยนให้เกิดผลสำเร็จเล็กๆ   มีผู้บริหารที่กล้าเสี่ยงจัดสรรเงินสนับสนุนให้   และกล้าจัดตั้งหน่วยงานเล็กๆ ขึ้นเป็นหน่วยจัดการ R2R ที่แยกออกไปจากรูปแบบการบริหารงานประจำ    และกล้าใช้ทีม มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) ที่มี นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นหัวหน้าทีม  มาทำหน้าที่ “ครูฝึก” (โค้ช) ให้แก่ทีมจัดการ R2R

 
          ทีมจัดการ R2R ได้เรียนวิทยายุทธด้านการจัดการงานวิจัยภายในหน่วบงานวิชาการและบริการขนาดมหึมา   ที่มีคนทำงานจำนวนกว่า ๑๒,๐๐๐ คน    มี “เพชร” ซ่อนอยู่ในองค์กรมากมาย   ทั้งในรูปของคนทำงานประจำที่มีทั้งใจและประสบการณ์,  ในรูปของข้อมูลหรือเรื่องราวของผู้ป่วยจำนวนมากมาย,  ในรูปของนักวิจัยระดับนานาชาติ,  ในรูปของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง,  ฯลฯ    เมื่อทีมจัดการ R2R ทำงานสนับสนุนการสร้างความรู้จากงานประจำอย่างเป็นระบบ   จึงเกิดความรู้เกี่ยวกับการจัดการ R2R ในหลายระดับ   ทั้งระดับผู้บริหารสูงสุดขององค์กร,  ระดับทีมงานของหน่วย R2R,  ระดับที่ปรึกษาหรือโค้ชของหน่วย R2R,  ระดับ CF,  ระดับหน่วยงานที่ดำเนินการ R2R ได้แก่ภาควิชา  สาขาวิชา  หอผู้ป่วย  หน่วยให้บริการ    การจัดทำหนังสือ “เคล็ดไม่ลับ R2R” จึงเป็นการรวบรวมความรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้เกี่ยวข้องจัดทำเป็นหมวดหมู่และรูปเล่ม   นับเป็นหนังสือในหัวข้อนี้เล่มแรกของประเทศไทย   และอาจเป็นเล่มแรกของโลก


          เป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่งต่อวงการวิจัย R2R   และวงการวิจัยด้านสุขภาพโดยทั่วไป


          ผมเดาว่าหนังสือเล่มนี่น่าจะเป็นเล่มแรกของ series   น่าจะมีการวางแผนทำเล่มที่ ๒, ๓, ๔, … ออกมา   เพราะยังมีประเด็นเกี่ยวกับการจัดการ R2R อีกมากมายหลากหลายประเด็นที่น่าจะได้รวบรวม สังเคราะห์ และเผยแพร่    ผมคิดว่าน่าจะทำออกมาอย่างน้อย ๒ ปีต่อ ๑ เล่ม   โดยในเล่มที่ ๒ น่าจะเขียนหลักการและเทคนิคการทำงานของทีมผู้จัดการ R2R  และทีม CF   เพราะว่าทั้ง ๒ ทีมนี้จะต้องทำงานกับผู้ทำงานประจำที่เป็นทีม R2R ที่หลากหลายมาก   ศาสตร์และศิลป์เกี่ยวกับการทำงานกับคนต่างกลุ่ม ต่างความคิด ต่างทักษะ ต่างวิชาชีพ น่าจะได้มีการรวบรวมและสังเคราะห์ไว้   โดยที่ประเด็นที่ควรรวบรวมมีมากมาย เช่น การตั้งคำถามวิจัย  การออกแบบกระบวนการวิจัย  การขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมว่าด้วยการวิจัยในมนุษย์   การจัดทีมและแบ่งหน้าที่ของสมาชิกในทีม  การดำรงความเข้มข้นสนุกสนานในการวิจัยในสถานการณ์ที่งานประจำล้นมือ   การแก้ปัญหาที่เผชิญโดยไม่คาดฝัน   การเก็บข้อมูลวิจัย   การวิเคราะห์ข้อมูล   การแปลผลข้อมูล   การเตรียมการนำผลวิจัยไปนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ   การเตรียมเขียนบทคัดย่อของผลงานวิจัยเพื่อนำเสนอ   การเตรียมเขียน manuscript ส่งไปลงพิมพ์ในวารสารวิชาการหลากหลายระดับของความยากในการรับลงพิมพ์ เป็นต้น


          พลังของหนังสือเล่มต่อๆ ไป จะอยู่ที่การเขียนแบบที่แยกแยะวิธีดำเนินการในต่างกลุ่มของผู้ดำเนินการ R2R (เน้น specific knowledge)   ไม่ใช่เขียนแบบเน้น generic knowledge ที่ใช้ได้กับนักวิจัย R2R ทุกกลุ่ม


          มีประเด็นสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของ R2R ที่ศิริราช    ที่อาจยังไม่ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้อย่างชัดเจน   คือการสร้างความชัดเจนของสิ่งที่เรียกว่า ผลงานของผู้จัดการ R2R (R2R Manager)   ผู้จัดการ R2R ต้องไม่เข้าไปมีชื่อเป็นเจ้าของผลงานวิจัยไม่ว่าในกรณีใดๆ    ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าโครงการ หรือเป็นผู้ร่วมวิจัย    ความชัดเจนในเรื่องนี้ ที่เกิดขึ้นที่ศิริราช ได้สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจที่ทีมเจ้าหน้าที่ประจำ มีต่อทีมจัดการ R2R   ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายมีความชัดเจน   ว่าทีมจัดการ R2R เป็นผู้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกอย่างแท้จริง   ไม่ใช่ผู้มาตักตวงผลงานวิจัย

  
          เมื่อความสัมพันธ์ชัดเจนเช่นนี้    พฤติกรรมของทีมจัดการ R2R ก็ชัดเจนด้วย    ว่าจะไม่เข้าไป “จับมือทำ” หรือช่วยทำ    ผู้ออกความคิดส่วนใหญ่และลงมือทำต้องเป็นทีมเจ้าหน้าที่ประจำ ที่เรียกว่าทีม R2R นั้นเอง    ถ้าทีม R2R ต้องการเวลาในการคิดโจทย์วิจัยให้ชัด ทีมจัดการ R2R ก็ต้องใจเย็น ปล่อยให้ใช้เวลาตามธรรมชาติ    แต่ในขณะเดียวกัน ทีมจัดการ R2R ก็ต้องคอยช่วยประคับประคอง หรือกระตุ้น ให้ไฟแห่งความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาและตอบโจทย์วิจัยยังลุกโพลงในกลุ่มสมาชิกของทีม R2R


          ขบวนการ R2R ที่ศิริราช ได้จุดชนวน R2R ประเทศไทย    การ “ทำวิจัยซ้อนวิจัย” และรายงานผลการวิจัยวิธีจัดการงานวิจัย R2R ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ จึงมีคุณูปการยิ่งต่อประเทศไทย   ไม่เฉพาะต่อวงการ R2R ด้านสุขภาพ   หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเครื่องจุดประกายให้ขบวนการ R2R ลุกลามไปสู่วงการอื่นๆ ในประเทศไทยได้ด้วย

            วิจารณ์ พานิช
    ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒     

 

หมายเลขบันทึก: 267669เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2009 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนใจมากๆครับ ท่านอาจารย์หมอ

มีวางขายที่ไหนบ้างครับ

อยากจะตามไปซื้อมาอ่านบ้าง

คำถามเดียวกันกัน คห.1 แล้วจะได้คำตอบมั๊ยน๊า อยากรู้และอยากได้คำตอบจัง

สำหรับตอนนี้ ติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ที่เบอร์ 02-951-1286-93 ติดต่อ คุณวรรณพร ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท