ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

เกลอเขา-เกลอเล การเรียนรู้สู่ห้องสมุดธรรมชาติ


"ที่นี่จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อการเรียนรู้ นั่นหมายถึงจัดกระบวนการพัฒนาคน เพื่อเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติและการค้นหาความรู้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด และใช้ประโยชน์ได้ไม่มีวันหมด"


เกลอเขา-เกลอเล การเรียนรู้สู่ห้องสมุดธรรมชาติ

ทรงวุฒิ พัฒแก้ว-จินดา จิตตะนัง : เรื่อง บุญฤทธิ์ บุญมาศ : ภาพ
ที่มา หนังสิมพิมพ์มติชน หน้าที่ ๘ วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11390 มติชนรายวัน

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way01170552&sectionid=0137&day=2009-05-17




เกลาเขานำเกลอเลเยี่ยมชมห้องสมุดธรรมชาติเขาหลวง

ชายทะเล หมู่บ้านชาวประมง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มีโอกาสต้อนรับคณะเยี่ยมชมจากบ้านปลายอวน ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี หลังจากรับทราบว่า ทั้ง 2 พื้นที่มีความคล้ายกันในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ และกำลังจะดำเนินการ "ห้องสมุดสุขภาวะทางชีวภาพ" โดยใช้ป่าต้นน้ำและป่าชายเลน เป็นห้องเรียนธรรมชาติ และใช้ทรัพยากรทั้งหมดเป็นหนังสือ เพื่อสร้างห้องเรียนที่ยิ่งใหญ่ การแลกเปลี่ยนจึงเกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมเก่าแก่ที่เรียกว่า "เกลอเขา-เกลอเล"

หลังการแลกเปลี่ยนผ่านไป ข้อสรุปร่วมกัน คือ การเยี่ยมชมพื้นที่และสร้างการเรียนรู้ระหว่างกันในทุกด้าน โดยเกลอเลต้องขึ้นไปป่าต้นน้ำเพื่อเยี่ยมชมเกลอเขาก่อน วัฒนธรรมระหว่างชาวเขาและชาวเล ระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิม จึงเกิดขึ้นโดยมีธรรมชาติบนตัวร้อยเชื่อมสายสัมพันธ์

ห้องเรียนธรรมชาติ ท่ามกลางขุนเขา มีหนังสือเป็นผืนป่า มีบรรณารักษ์เป็นเด็กตัวน้อยๆ และแกนนำผู้ใหญ่ในชุมชน สร้างการเรียนรู้โดยการพาเดินเยี่ยมชมห้องสมุด ที่สะสมภูมิปัญญาและทรัพยากร อย่างภาคภูมิใจ

"ที่นี่จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อการเรียนรู้ นั่นหมายถึงจัดกระบวนการพัฒนาคน เพื่อเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติและการค้นหาความรู้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด และใช้ประโยชน์ได้ไม่มีวันหมด" ผศ.ดิเรก ศรีณพงษ์ นักวิชาการ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นพี่เลี้ยงและเป็นปราชญ์ชาวบ้านเล่าความเป็นมา

"บ้านปลายอวน แต่ก่อนนี้มีคลองปลายอวนที่กว้างใหญ่มาก มีการลากอวน วางอวน ตั้งแต่ทะเล แล้วไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดริมสายน้ำ แต่เมื่อมาถึงบ้านปลายอวน คลองเต็มไปด้วยแก่งและก้อนหิน สองข้างมีหาดทรายกว้างใหญ่ จึงไม่สามารถวางอวนได้ ชาวบ้านจึงนำอวนขึ้นมาตากบนหาดทราย ที่นี่จึงเป็นที่สุดท้ายในการวางอวน จึงชื่อว่า บ้านปลายอวน" อ.ดิเรกอธิบายห้องสมุดธรรมชาติที่บ้านปลายอวน ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี


บันทึกความรู้ในห้องสมุดใหญ่



ตลอด 3 วัน 2 คืน ของการอยู่ร่วมกันภายใต้การเรียนรู้จากผืนป่า ใช้กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้ เป็นหลักสูตรหนึ่งของการเข้าห้องสมุด เพื่อนำกระบวนการไปสร้างห้องสมุดในที่อื่นๆ ต่อไป เกลอเลคาดหวังว่า ต้องกลับไปสร้างห้องสมุดแบบนี้ให้ได้เช่นเดียวกัน กระบวนการก็ไม่ยากที่ทุกคนสามารถทำร่วมกันได้

ห้องสมุดธรรมชาติแตกต่างจากห้องสมุดทั่วไป เพราะเป็นห้องเรียนธรรมชาติผืนใหญ่ สัมผัสได้ด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และความรู้ที่ผ่านการศึกษาอย่างเข้มข้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากเด็กตัวน้อยๆ ที่คอยดูแล ช่างพูด ช่างอธิบาย ท่ามกลางเสียงสายธารที่รินไหล ลัดเลาะไปตามแก่งหิน บรรเลงเสียงเพลงสายน้ำ ให้ความสุขร่วมทั้งคนชมและคนนำ

"เรามีกิจกรรมเกี่ยวกับอนุรักษ์ตลอดหลายปีมานี้ที่เราสร้าง คือ เด็กตัวเล็กๆ เริ่มจากต้องการไปเที่ยวสนุกสนาน ค่อยๆ ซึมซับ ในที่สุดก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของผืนป่าไปสู่คนภายนอกที่มาเยือนได้ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากในตอนนี้ แต่เมื่อโตขึ้น หวังให้เขามาแทนเราในอนาคต" ลุงเอียด วัย 60 ปี ผู้ใหญ่ใจดีแห่งบ้านปลายอวนบอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานฟัง

การดำเนินงานของที่นี่ ถือว่ามีความพร้อมมาก ทั้งในเรื่องคน การจัดการ และสถานที่ ภายใต้ "ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเขาหลวงบ้านปลายอวน" คิดอย่างเป็นระบบ ทำอย่างเป็นระบบ แต่จากระยะเวลาที่มาเยือน ไม่มีคำว่า ท่องเที่ยวหลุดออกจากแกนนำคนไหนเลย มีแต่คำว่า "เรียนรู้ และ ศึกษา" นายมานิตย์ หาญกล้า หรือบังบ่าวเกลอเล ได้จับคู่กับน้องตู้ ซึ่งตลอด 3 วันทั้งคู่ไม่ห่างกันเลยตลอดกิจกรรม ตอนเดินป่าน้องตู้ก็คอยดูอย่างใกล้ชิด ช่างคิด ช่างอธิบาย ตลอดเวลา


แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันของเกลอ



"ป่าชายเลนกับป่าต้นน้ำเหมือนกันไหม เมื่อไหร่จะได้ไปเที่ยวทะเลบ้าง อยากให้เด็กชายทะเลมาเที่ยวที่นี่บ่อยๆ" น้องตู้ถามไปเรื่อยๆ พร้อมเดี๋ยวพาไปดูตรงโน้นนิด ตรงนี่หน่อย พร้อมกับเด็กคนอื่นๆ กว่า 10 คน

"เด็กที่นี่เก่งมากๆ ถามอะไรตอบได้หมด น้องตู้อายุรุ่นเดียวกับลูกบังบ่าว วันหลังจะพามาให้เป็นเกลอกัน" บังบ่าวกล่าวชื่นชม

"เกลอเขา นอกจากใช้ประโยชน์จากป่าแล้ว ยังสามารถโน้มน้าวสร้างจิตสำนึกไปยังเด็กตัวเล็กๆ เยาวชนกลุ่มนี้มีความรับผิดชอบมาก เมื่อกลับไปก็จะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และการอนุรักษ์ให้เด็กที่บ้านเหมือนกัน" บังบ่าวอธิบายเพิ่มเติม

กิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร ได้กลายเป็นสายใยสัมพันธ์อันเหนียวแน่นทางใจ ตั้งแต่เด็กตัวเล็ก จนถึงรุ่นใหญ่ โดยมีการเรียนรู้ และการใช้ประโยชน์จากป่า

"แท้จริง เขาและเลก็มีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่พื้นที่เท่านั้น หวังว่ารูปแบบการจัดการและการอนุรักษ์ของที่นี่ จะเป็นประโยชน์ต่อเกลอเล เพื่อนำไปจัดการต่อ และเราคงมีการเยี่ยมเยียนกันต่อเนื่อง" ลุงเอียดให้กำลังใจในวันอำลา

"วัฒนธรรมเกลอเขา เกลอเลนี้ แท้ที่จริงเหนียวแน่นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเชื่อมสัมพันธ์กันทางน้ำ แต่ในปัจจุบันสายน้ำตื้นเขิน และการติดต่อคมนาคมกันทางอื่นๆ ความสัมพันธ์จึงก่อเกิดได้หลายทางมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ทางนี้ลดระดับลงตามสมควร" ผศ.สุริยะ จันทร์แก้ว นักวิชาการ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช เล่าความเป็นมาให้ฟัง

"ในส่วนของ 2 พื้นที่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และการอนุรักษ์ได้ดีมาก ทั้งระบบความคิด ความสัมพันธ์ ในส่วนของวิชาการ นำไปเสริมบางเรื่องให้ชัดขึ้นเท่านั้นเอง เช่น ระบบนิเวศ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านจัดการในเชิงสังคม ส่วนเราช่วยในเรื่องวิทยาศาสตร์" สุริยะเล่าความประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นวัฒนธรรมเก่าๆ

ในอดีตแม่น้ำทุกสายในเมืองนครจะเชื่อมร้อยระหว่างคนกับต้นน้ำจนถึงชายฝั่ง โดยเกลอเลเอาปลาและอาหารทะเลขึ้นไปฝาก ส่วนเกลอเขาเอาผักและผลไม้ลงมาให้ บางครั้งก็นอนค้างกันสัก 2-3 วัน เพื่อสนทนาให้หายคิดถึง

แต่จุดเด่นที่สำคัญของเกลอเขาพรหมโลกและเกลอเลท่าศาลาครั้งนี้ คือนับถือต่างศาสนา ทั้งประเพณีและวัฒนธรรมก็ต่างกัน แต่มีรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ เป็นหนึ่งเดียวกัน

จุดเล็กๆ ของวัฒนธรรมแหล่งนี้ สักวันอาจจะขยายวงกว้าง กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งเกลอ ทั้งประเทศ

วัฒนธรรมไม่เคยทำร้ายใคร แต่คนนั่นแหละที่ทำลายคน และทำลายวัฒนธรรมไปด้วย

หน้า 8

หมายเลขบันทึก: 266549เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2009 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท