ชีวิตที่พอเพียง : ๗๖๗. ความใฝ่ฝันของผม



          คำถามของ “คุณนายด็อกเตอร์” ในงาน Gotoknow Forum 1   ครบรอบ ๔ ปี Gotoknow ทำให้ผมกลับมา AAR ต่อที่บ้าน   ท่านที่อยากทราบรายละเอียดคำสนทนานี้อ่านได้จากบันทึกของ ดร. โอ๋ ที่นี่   และของคุณแก้วที่นี่


          ความใฝ่ฝันของคนนี่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะครับ   กาละ ประสบการณ์ และวุฒิภาวะ จะทำให้มันเปลี่ยนไปอย่างเป็นธรรมชาติ   แต่คงจะไม่ถึงกับเช้าฝันไปทางหนึ่ง บ่ายฝันไปอีกทางหนึ่ง    เพราะนั่นคือความโลเล   ไม่ใช่ความใฝ่ฝัน   ความใฝ่ฝันมันมีคุณสมบัติมั่นคง มีความมุ่งมั่น มีความเพียร มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ที่จะทำให้สำเร็จ 


          ผมเป็นคนมีความใฝ่ฝันแรงกล้ามาตั้งแต่เด็ก   เมื่ออายุน้อยก็มุ่งใช้ความเพียรทำฝันให้เป็นจริง   ซึ่งก็ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง   ส่วนใหญ่ทำไม่ได้    และบางเรื่องกว่าจะได้ผลตามฝัน ผมก็จากมานาน    ประสบการณ์นี้แหละครับที่มันสอนผม   ว่าความฝันของผมนั้น ผมไม่มีวันทำให้เป็นจริงได้ด้วยตัวคนเดียว    เพราะผมชอบฝันเรื่องที่ใหญ่เกินตัว    เป็นนิสัยที่แก้ไม่หาย (ภรรยาบอก)


          ผม AAR เรื่องเหล่านี้บ่อยๆ   และพบว่าความคิดของผมผิดทั้งหมด   เพราะผมไปทึกทักว่าความสำเร็จนั้น มาจากความฝันของผม   ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จที่ผมเห็นนั้น มาจากความฝันของคนอื่น   และส่วนใหญ่เป็นความฝันของ “คนอื่น” หลายคน    ผมจึงเข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ผมมี “เพื่อนร่วมฝัน” มากมาย   โดยที่เราต่างก็ไม่รู้ฝันของกันและกัน   เราเป็นเพื่อนกันผ่านความฝันที่ต่างคนต่างฝัน แต่มันมีส่วนที่มาตรงกันโดยไม่ได้นัดหมาย


          “ฝันร่วม” ของสมาชิก Gotoknow ก็คือ  การทำให้ Gotoknow เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงคน เชื่อมโยงความรู้    ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เสริมพลัง” (synergy)    และเกิดประโยชน์ต่อสังคม    เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอุดมปัญญา หรือสังคมเรียนรู้  


          แต่ในท่ามกลาง “ฝันใหญ่” นี้   ยังมี “ฝันย่อย” อีกเป็นพันเป็นหมื่นชิ้น   ที่จะเป็นพลังขับดันไปสู่ความสำเร็จตามฝันใหญ่ร่วมกันนั้น


          ศาสตร์และศิลป์ด้านการจัดการสอนผมว่า การทำงานที่มีพลังจะต้องมี shared vision ระดับที่มี ownership   คนลงมือทำต้องเป็นเจ้าของความฝันนั้น

  
          เวลานี้ผมได้เกษียณตัวเองจากฐานะ “คนลงมือทำ” เปลี่ยนบทบาทมาเป็น “กองเชียร์” (ฝ่ายกำกับดูแล – governance) มากว่า ๑ ปีแล้ว    กำลังสนุกกับบทบาทนี้อย่างเต็มที่   เมื่อคุณนายด็อกเตอร์ถามความฝันต่อ Gotoknow   ผมจึงตอบในฐานะกองเชียร์   คือฝันอยากเห็นทีมงานสร้างสรรค์ Gotoknow ได้มีโอกาสทำงาน และได้บรรลุความสำเร็จตามความฝันของตน    ไม่ใช่ตามความฝันของผม  


          แม้แต่ความใฝ่ฝัน ก็ต้องให้ถูกต้องตามบทบาทของตน   สำหรับคนแก่ ศีลที่ต้องยึดถือคือ อย่าให้ความฝันของตนไปปิดกั้นความฝันของคนรุ่นต่อๆ ไป

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ค. ๕๒


                   
           
        

หมายเลขบันทึก: 266062เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2009 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 01:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์หมอ

ได้อ่านคำตอบของอาจารย์จากบันทึกแล้วครับ

และได้มาอ่านคำตอบแบบขยายความในบันทึกนี้

ก็คงต้องขอกล่าวซ้ำอีกทีเช่นกันว่า

คำตอบของอาจารย์ได้แสดงความเป็นตัวอาจารย์อย่างแท้จริง และเป็นความสอดคล้องระหว่าง ความคิด คำพูด และการกระทำครับ

อย่าให้ความฝันของตนไปปิดกั้นฝันคนรุ่นต่อๆไป..นอกจากนั้นฝันของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่น่าจะเป็นฝันเดียวกัน...คือไม่ใช่ฝันต่างระดับ(ประโยคหลังเป็นความฝันของยายธี..เป็นความฝันของคนนอกวง)ขอบคุณค่ะ

ชอบบันทึกนี้ค่ะ

หนูเคยกลัวแก่

มาอ่านบันทึกของ "คนแก่" แบบอาจารย์

หนูคลายใจเรื่องโรคแก่ไปมากค่ะ

 

ชอบที่อาจารย์บอกว่า.. ใครทำอะไรอยู่  ก็ทำให้ดีที่สุดน่ะค่ะ

หนูใฝ่ฝันอะไร มักจะได้ตามนั้นเสมอ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท