ปฏิรูปประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษาทำอะไร



          บ่ายวันที่ ๑๙ พ.ค. ๕๒ ผมไปร่วมประชุมขบวนการปฏิรูปประเทศไทย   ที่มี ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นหัวขบวน   ประชุมที่ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่
          นั่งฟังอยู่ ๒ ชั่วโมง จับความได้ว่า ขบวนการนี้จะปฏิรูปประเทศไทยด้วยขบวนการเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง  
          ในที่ประชุมมี ดร. เสรี พงศ์พิศ มานำเสนอโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต   คุณธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายก อบต. ปากพูน นำเสนอวิธีดำเนินการชุมชนเข้มแข็งที่จัดการโดย อบต.   คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ผู้จัดการ ธกส. เล่าการเปลี่ยนบทบาทของ ธกส. จากธนาคารที่สร้างหนี้สินให้ชาวบ้าน  ไปเป็นธนาคารที่ช่วยหนุนการเรียนรู้ของชาวบ้าน   และเรื่องธนาคารต้นไม้ ที่ริเริ่มที่จังหวัดชุมพร โดยผมเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก    
          มี ดร. ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ คอยเป็นผู้ถาม ว่าจะร้อยเรื่องราวเล็กๆ ที่เป็น micro phenomenon เป็น macro movement  หรือนโยบายสาธารณะ ได้อย่างไร    ในที่ประชุมมีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย   แต่ก็มีหลายคนอภิปรายว่า ให้ระวังราชการ (และการเมือง) ที่มักจะเข้าไปหนุนแบบฉาบฉวยหวังผลประโยชน์ หรือผลงานของตน   และกลายเป็นทำลายขบวนการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 
          รศ. ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ เล่าเรื่องชุมชนอ่อนแอ จากความอ่อนแอของคนรุ่นใหม่   ที่ถูกมอมเมาหล่อหลอมโดยขบวนการระบบตลาด   ทำให้ อ. หมอประเวศ บอกที่ประชุมว่า   การปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ต้องไม่ใช้ทฤษฎี macro economics นำ    ผมตีความว่า นั่นคือวิธีคิดแบบระบบตลาดนำ    แต่ที่กำลังปลุกกันอยู่นี้เอาระบบชีวิตที่มีการเรียนรู้นำ เอาชุมชนนำ เอาจิตวิญญาณมนุษย์นำ    โดยต่อสู้กับระบบตลาด   
          ผมไปร่วมประชุมสาย เขาพาไปนั่งข้าง ศ. ดร. สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผอ. สกว. คนใหม่    โดย อ. ประเวศ บอกว่า สกว. ได้ริเริ่มงานวิจัยชาวบ้าน  มีชาวบ้านกว่าหมื่นคนที่มีทักษะนี้ ที่จะเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน   วันหลังจะเชิญให้มาพูดนำเสนอในเวทีนี้   ผมจึงแซวผู้ดำเนินการประชุม คือ นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสส. ว่า ดร. สวัสดิ์ จะส่ง รอง ผอ. มานำเสนอแทน   ซึ่งหมายถึง ดร. สีลาภรณ์ ภรรยาของ นพ. สุภกร
          คนในวงการศึกษาที่มาร่วมคือ ดร. เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ กับ ผศ. ดร. เลขา ปิยะอัจฉริยะ   รวมมีคนร่วมอยู่ในวงนี้ ประมาณ ๓๐ คน    คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ เอาหนังสือของ ดร. เสรี มาให้ผมตั้งใหญ่  


          ผมกลับมา AAR กับตัวเองที่บ้านว่า สถาบันอุดมศึกษาทำอะไร ในขบวนการปฏิรูปประเทศไทยด้วยเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งนี้
          ผมตอบตัวเองว่า ต้องเริ่มจากการตีโจทย์ขบวนการเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง   ว่าองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง หรือเป็นหัวใจ คือกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน   ที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่อง ยกระดับขึ้นไปไม่มีสิ้นสุด   มีการเรียนรู้เพื่อต่อสู้กับกระแสครอบงำจากรอบทิศ   และหลากหลายมิติ  รวมทั้งต่อสู้กับตนเอง ที่เป็นกิเลสตัณหาภายใน   แต่การเรียนรู้นั้น ต้องเอาชีวิตของผู้คนในชุมชนเป็นตัวตั้ง    เอาวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง   นักวิชาการในมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาทักษะ และพัฒนาระบบการทำงาน ที่เข้าไปร่วมเรียนรู้กับชาวบ้าน   เข้าไปเป็น “คุณอำนวย” สร้างความสดวก และสนุกต่อการเรียนรู้ของชาวบ้าน ในหลากหลายรูปแบบ   ส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่เอาทฤษฎีเข้าไปตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง   และอีกส่วนหนึ่ง เข้าไปสร้างโจทย์วิจัย เอาไปทำวิจัยต่อยอด เพื่อสร้างความรู้หนุนการเรียนรู้ของชาวบ้าน

 
          นี่คือโจทย์สำหรับ กกอ. ในการออกแบบระบบ ที่จะเชื่อมโยงระหว่างระบบอุดมศึกษากับ “ภาคชีวิตจริง” (real sector) ของสังคม 

วิจารณ์ พานิช
๒๐ พ.ค. ๕๒

เรามีทั้ง tacit และ explicit knowledge

จาก success story เล็กๆ มากมาย

 

ที่เป็น Knowledge Assets

รอการขยายผลอย่างเป็นระบบ

 

ให้เกิดผลในระดับ macro

 

โดยใช้ยุทธศาสตร์สร้างพระเจดีย์จากฐาน

 

ช้การเรียนรู้ในชีวิตจริงนำ

 

เชื่อมโยง ขับเคลื่อนกันเป็นเครือข่าย

 

มี node ที่เข้มแข็งเป็น ตัวจริง เสียงจริง

 

มหาวิทยาลัยชีวิต

เอื้อการเรียนรู้ที่แนบแน่นกับชีวิตชาวบ้าน

หมายเลขบันทึก: 263445เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2009 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ในทัศนะผมเห็นว่า การเรียนรู้ร่วมกับชุมชนจะทำให้นักวิชาการได้สัมผัสกับข้อมูลมือหนึ่ง ซึ่งจะเปิดทางสู่การประยุกต์ใช้สิ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง เรียกว่า องค์ความรู้  ได้
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม  กำลังเตรียมการจัดทำวารสาร ใช้ชื่อว่า  วารสารการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
  • สาระสำคัญของวารสารจะเป็นการเล่าเรื่องการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคณาจารย์ นักศึกษาและชุมชนท้องถิ่น  โดยทุกบทความจะต้องมีบุคคลทั้งสามส่วนร่วมเขียนเรื่องเล่า
  • เตรียมการไว้ว่าฉบับปฐมฤกษ์จะเปิดตัวได้ในเดือนสิงหาคม 2552
  • ผม(เม็กดำ 1) เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้  จึงกราบขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์  ด้วยความเคารพ   ครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท