โลกที่ไม่หยุดนิ่งของไข้หวัดใหญ่


          ผมเล่าเรื่องศาลายาเสวนา ที่คุยกันเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ๒๐๐๙ ไว้ที่นี่    วันนี้อ่าน Newsweek ฉบับพิเศษ Double Issue 11/18 May 2009 ที่มีเรื่องประจำฉบับคือเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ๒๐๐๙   ชื่อเรื่อง The Path of A Pandemic : How one virus spread from pigs and birds to humans around the globe. And why microbes like the H1N1 flu have become a growing threat.   ความยาวถึง ๗ หน้า    อ่านแล้วตาสว่างขึ้นมาก   ว่ามนุษย์เรานั่นเองที่เป็น “คุณอำนวย” ให้แก่อวตารหรือการแปลงกายของเชื้อไข้หวัดใหญ่


          เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA   ดังนั้นตัวมันเองขยายพันธุ์เองไม่ได้   ต้องเข้าไปอยู่ในเซลล์ของสัตว์ที่เป็น “เจ้าบ้าน”   มันจึงจะไฮแจ็คกลไกภายในเซลล์มาสร้าง อาร์เอ็นเอ เพื่อขยายพันธุ์ตัวมัน   โดยการสร้างเป็นท่อนๆ แล้วหลายๆ ท่อนจึงมาประกอบกันเป็นตัวไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ละตัว    เข้าไปในเซลล์ตัวเดียว เซลล์ระเบิด ไวรัสออกมาเป็นล้านตัว


          เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่คงจะมีมากมาย เป็นเชื้อไวรัสของสัตว์หลากหลายชนิด    แต่ที่เราสนใจ (เพราะเกี่ยวกับผลประโยชน์ของคน) คือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของนก หมู และคน   ซึ่งมันติดต่อกันระหว่างสัตว์ ๓ ชนิดนี้ได้    และที่จริงเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของสัตว์แต่ละชนิดใน ๓ นี้ก็มีหลากหลายชนิด และแต่ละชนิดก็มีเป็นร้อยเป็นพันสายพันธุ์   เพราะตัวไวรัสมันเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง


          เรื่องใหญ่เกิดขึ้นเมื่อมีการ “แต่งงานข้ามชนิด”    เช้นมีเชื้อไวรัสของคนกับของหมูเข้าไปอยู่ในเซลล์เดียวกัน   ชิ้นส่วนของยีนที่สร้างขึ้นในเซลล์มันมีโอกาสที่จะประกอบเข้าด้วยกันเป็นแบบลูกผสมระหว่างไวรัสสองชนิดนั้น   นี่แหละครับคือที่มาของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ๒๐๐๙   ที่เป็นลูกผสม ๓ พันธุ์ทีเดียว    คือผสมระหว่างหวัดคน หวัดนก และหวัดหมู ที่ต่างก็เป็น H1N1 ทั้ง ๓ ชนิด


          เชื้อหวัด ๒๐๐๙ มันไม่ดีสำหรับเราตรงที่มันติดต่อง่าย   แต่ก็ยังดีตรงที่อาการไม่รุนแรง อัตราตายน้อยมาก   ต่างจากหวัดนก H5N1 ที่อัตราตายสูงมาก (๖๓%) 


          สมัย SARS ระบาด เราคุมอยู่เพราะใช้หลายมาตรการ    และมาตรการสำคัญคือใช้เครื่องมือ “นักสืบ” หาคนติดเชื้อแบบง่ายๆ คือวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องชนิดที่เดินผ่านก็จับได้ว่าใครมีไข้   และโมเมเอาไว้ก่อนว่าคนนั้นอาจไข้เพราะเชื้อไวรัส SARS   และกักตัวเอาไว้สังเกตอาการก่อน   ทำให้การระบาดจากการเดินทางระหว่างประเทศถูกคุมได้


          แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่ต่างจากเชื้อ SARS   คนติดเชื้อแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการ    การควบคุมจึงยากกว่า    ใช้เครื่องนักสืบหาคนมีไข้ก็ได้ผลเพียงบางส่วน   อาวุธสำคัญในการต่อสู้ควบคุมหวัด ๒๐๐๙ สำหรับคนธรรมดาแบบเราๆ จึงได้แก่

๑.   ออกกำลังกาย และปฏิบัติตัวให้ร่างกายแข็งแรงเข้าไว้    นี่เป็นมาตรการส่วนตัวที่ได้ผลอันดับ ๑ เลยนะครับ   เป็นมาตรการแบบ “พอเพียง” ด้วย   คือไม่ต้องเสียเงินเลย หรือเสียน้อยมาก


๒.   สวมผ้าปิดจมูกและปาก    ที่จริงคนเป็นหวัดทุกชนิด ไม่ว่าหวัดใหญ่หวัดเล็ก ควรสวมผ้าปิดจมูกและปาก เพื่อแสดงความรับผิดชอบไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนอื่น    เพราะเชื้อมันติดต่อทางการไอ และจาม คือไปกับฝอยน้ำมูกน้ำลาย    ขนาดของฝอยน้ำ (droplet) นี้มันใหญ่พอที่จะกรองได้โดยผ้าปิดจมูกและปาก


๓.   แน่นอนครับ การป้องกันตัวเองโดยหลีกไกลคนที่แสดงอาการหวัด เช้นกำลังไอ จาม สั่งน้ำมูก  จะช่วยได้มาก


๔.   ล้างมือครับ ล้างมือบ่อยๆ   โดยเฉพาะเมื่อไปจับอะไรๆ ที่มีคนใช้เยอะๆ  

 

 

          นักวิตกกังวลอาจถามว่า ควรฉีดวัคซีนไหม    คำตอบคือสำหรับคนทั่วไปไม่จำเป็นครับ   เพราะวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่มันไม่จำเพาะสำหรับเชื้อ ๒๐๐๙   และเวลานี้การระบาดมันยังไกลตัวเรามาก   รวมทั้งอาการโรคก็อ่อนมาก


          หนักเข้าไปอีก นักซูเปอร์วิตก อาจถามว่ากินยาป้องกันไว้ก่อนดีไหม    คำตอบคือ ไม่ดีครับ   เพราะไม่จำเป็น    ยกให้หมอเขาเป็นผู้สั่งให้แก่คนที่จำเป็นต้องใช้ดีกว่า    เพราะการใช้ยาพร่ำเพรื่อเป็นบ่อเกิดของเชื้อดื้อยา    และเวลานี้ก็พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ดื้อยา ทามิฟลู แล้ว


          ที่น่ากลัวคือ หากเชื้อดื้อยา ทามิฟลู มันเกิดแต่งงานกับเชื้อ ๒๐๐๙   เราก็จะได้เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มี ๒ โทษสมบัติ คือติดง่าย กับรักษายาก   ถ้าเกิดแต่งงานใหม่ได้มาอีก ๑ โทษสมบัติ คืออาการรุนแรง อัตราตายสูง   ก็จะครบโทษสมบัติ ๓ ประการ   คือ ติดง่าย ตายง่าย รักษายาก   ที่นี้การระบาดใหญ่ที่จะใหญ่กว่าการระบาดของหวัดสเปนในปี ค.ศ. ๑๙๑๘ (ประมาณว่าคนตายทั้งโลก ๑๐๐ ล้านคน) ก็จะเกิดขึ้น    ถึงตอนนั้นปราการสำคัญในการป้องกันนอกจาก ๔ ข้อข้างบนแล้ว ก็จะต้องฉีดวัคซีนชนิดที่จำเพาะต่อเชื้อนั้น 


          แต่ทุกอย่างมีข้อจำกัด   ความสามารถในการผลิตวัคซีนอย่างรวดเร็วมีอยู่เฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว    ถึงตอนนั้นเราไปขอซื้อ เขาก็คงไม่ขาย เพราะต้องใช้กับพลเมืองของเขาก่อน   เรา (ประเทศไทย) จึงต้องเร่งสร้างความสามารถในการผลิตวัคซีนเอง   ซึ่งถ้าเราเอาจริง ก็ไม่เกินความพยายาม


          ข้อจำกัดด้านความรู้เกี่ยวกับเชื้อ ๒๐๐๙ ก็ยังมีอยู่มาก    คือยังไม่รู้ว่าอัตราตายจากการติดเชื้อเป็นเท่าไรแน่   เรารู้แน่ว่าน้อยกว่าเชื้อหวัดนก H5N1 มาก   แต่ไม่รู้ตัวเลขแน่นอน   เพราะไม่รู้ตัวหาร   ซึ่งก็คือจำนวนคนติดเชื้อ    ข้อมูลนี้จะช่วยให้เกิด “ความพอดี” ของมาตรการป้องกัน และมาตรการเตรียมรับมือ    โรคระบาดแบบนี้ความสูญเสียเกิดจากความตระหนกเกินเหตุ ๘๐ – ๙๐%   เกิดจากตัวโรคเองเพียง ๑๐ – ๒๐%   คือมันทำให้เราขี่ช้างจับตั๊กแตนกันทั้งโลก  


          ความรู้ด้านระบาดวิทยาจึงช่วยให้เราไม่เป็นโรคขี่ช้างจับตั๊กแตน   รวมทั้งไม่เป็นโรคเฉื่อยชา


          กลับมีที่มนุษย์ผู้แสนดี   ที่ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (facilitator) ให้แก่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่    ให้เกิดอวตารกลายพันธุ์ได้โดยสะดวก   โดยการเลี้ยงไก่และหมูแบบที่เราเรียกว่า “ทันสมัย”   คือใช้พื้นที่น้อย เลี้ยงได้จำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ   อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์แบบแออัดนี่แหละคือการสร้างโอกาสให้เชื้อโรคกลายพันธุ์และผสมพันธุ์สะดวกขึ้น   กลายเป็นโรคสัตว์สู่คนชนิดใหม่    เกิดการระบาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น


          อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์แบบแออัดกระตุ้นโดยอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น    ในปี ๒๕๒๖ คนทั้งโลกบริโภคเนื้อสัตว์ ๑๕๒ ล้านตัน   เพิ่มเป็น ๒๒๓ ล้านตันในปี ๒๕๔๐   และ FAO ทำนายว่าจะเพิ่มเป็น ๓๘๖ ล้านตันในปี ๒๕๖๓


          สรุปว่า การระบาดใหญ่โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ที่มีครบ ๓ โทษสมบัติเกิดขึ้นแน่   เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็ว   และชุมชนโลกจะเตรียมพร้อมในการรับมือได้แค่ไหน 


          ยังจบไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้บอกว่า ร่างกายของคนเราก็ไม่หยุดนิ่งเหมือนกัน   เราจะค่อยๆ สร้างความคุ้นเคยกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่    จนในที่สุดเราก็อยู่กับมันได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก   เชื้อไข้หวัดใหญ่สเปน ๑๙๑๘ เวลานี้ก็ยังมีอยู่นะครับ   มันกลายเป็น “หวัดตามฤดูกาล”    และเชื้อไข้หวัดนก H5N1 มันก็ระบาดย่อยๆ อยู่ทั่วโลก   ความรุนแรงของเชื้อค่อยๆ ลดลง   กลายเป็นว่า เชื้อไวรัสกับคน อยู่ร่วมกันในธรรมชาติของโลกใบนี้ ตามทฤษฎี Co-evolution 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ พ.ค. ๕๒


           

หมายเลขบันทึก: 261798เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดิฉัน สนใจโรคสมาธิสั้นมาก เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยว กับหลานค่ะ ซึ่งมันอาจจะช้าเกินไป

ที่จะปรึกษา และคิดว่าคงไม่สายไป เรื่องมีอยู่ว่า ตอนเด็ก ๆ หลานมีอาการซน ไม่นิ่ง

ไม่อยู่กับที่ ให้ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ เรียนหนังสือก็ไม่ได้เรื่อง เอาแต่ใจตัวเอง เห็นแก่ตัว มีปัญหาที่โรงเรียนบ่อย ๆ ขี้โมโห ควบคุมตัวเองไม่ได้ บุคลิกหลุกหลิก ชอบใช้ความรุนแรง ไม่ฟังคำสั่งสอนใคร เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ทำตัวเป็นคนเกเร ก้าวร้าว ทางบ้านและครอบครัวก็ตำหนิ ดุด่าว่าทำตัวไม่ดี

ซึ่งตอนนั้นดิฉันและครอบครัวก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไรก็โืทษหลานว่าไม่ตั้งใจเรียน ไม่เอาไหนจนถึงทุกวันนี้ เขาก็โตเป็นหนุ่มอายุย่าง 27 แล้ว บอกตามตรงว่าไม่มีความรู้เรื่องสมาธิสั้นเลย จนวันนี้ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับโรคนี้ ตรงกับอาการของหลานมากเลย จึงมีความรู้สึกสำนึกว่า ที่เราโทษหลานว่าไม่เอาไหน แถมยังไม่ดูแลเอาใจใส่ และโทษว่าเป็นคนไม่เอาไหน นั้นดิฉันและครอบครัวทำผิดต่อหลานมาก เนื่องจากเราไม่มีความรู้เรื่องนี้จริง ๆ ณ ขณะนี้ดิฉันรู้สึกสงสารหลานมาก

ดิฉันจะช่วยหลานอย่างไรดี (หลานเป็นผู้ชาย) ตอนนี้ทางครอบครัวของดิฉันก็ยังไม่ทราบว่าหลานเป็นอะไร รู้เฉพาะดิฉันคนเดียวเพราะเพิ่งอ่านเจอ ที่นี้เมื่อรู้ก็อยากจะรักษาให้เขาหายจากโรคนี้ เพราะปัจจุบันเขาก็เรียนหนังสือไม่จบไม่มีอาชีพอะไร ได้แต่ทำตัวเกเรไปวัน ๆ ซึ่งมีปัญหากับชีวิตและอนาคตของเขา ใครก็ได้ช่วยแนะนำดิฉันดี

ว่าควรเริ่มต้นรักษาเขาอย่างไร หรือมีหมอที่จะแนะนำก็ได้ หรือดิฉันควรทำอย่างไรดี

ช่วยด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท