เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของอุดมศึกษา (๖)


เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของอุดมศึกษา (๖)

ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔

ตอนที่ ๕

การทำให้อุดมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทุกประเภทในสังคม   
          ความเคลื่อนไหวที่น่าชื่นชมของระบบอุดมศึกษา คือนโยบายแบ่งกลุ่มสถาบันออกเป็น ๔ กลุ่ม   เพื่อให้มีจุดเน้นต่างกัน  สร้างขีดความสมารถหรือความเป็นเลิศที่แตกต่างกัน   และกระแสธรรมชาติที่สถาบันอุดมศึกษาที่เน้นเด่นเพียงบางด้าน บรรลุคุณภาพได้ง่ายกว่า กำลังผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละสถาบันจะต้องเลือกกลุ่มที่ตนถนัดหรือมีข้อได้เปรียบ
          ตัวขัดขวางเป้าหมาย ที่สถาบันอุดมศึกษา จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในสังคม ได้แก่  (๑) วัฒนธรรมลอยตัวเหนือสังคม  (๒) ไม่กำหนดเข็มมุ่งว่าจะเน้นกิจกรรมประเภทใดของสังคม   (๓) วิธีกำหนดภาระงานของอาจารย์  (๔) ความคับแคบของการกำหนดเกณฑ์ผลงานวิชาการ

วัฒนธรรมลอยตัวเหนือสังคม
          เราเคยชินอยู่กับวัฒนธรรมนี้ จนไม่รู้ตัว    จนระบบการทำงานของสถาบันอุดมศึกษา และของระบบอุดมศึกษา เป็นการทำงานแบบแยกตัวออกจากสังคม   จะมีเชื่อมโยงบ้างก็อย่างเป็นรายกิจกรรม รายโครงการ เป็นครั้งคราว   ไม่ได้ร่วมงานเป็นเนื้อเดียวกัน ร่วมหัวจมท้ายกัน 
          คนในวงการอุดมศึกษาภูมิใจอยู่กับสถานะเหนือสังคม   ไม่ได้ภูมิใจอยู่กับสถานะเป็นเนื้อเดียวกันกับสังคม
          นี่คือสิ่งทีเราจะต้องช่วยกันแก้ไข   และต้องทำอย่างเป็นระบบ มีวิธีการที่เป็นรูปธรรม


แต่ละสถาบันอุดมศึกษามีเข็มมุ่งว่าจะคลุกวงในของสังคมโดยเน้นกิจกรรมประเภทใด 
          นี่คือสภาพที่พึงประสงค์   และเป็นข้อท้าทาย กกอ./สกอ. ว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงจะชักจูงให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งเดินไปในแนวทางนี้


ภาระงานของอาจารย์แนวใหม่
          ต้องนับภาระงานคลุกวงในของสังคมตามเป้าหมายและแผนงานของสถาบัน เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน   มีการมอบหมายงานประเภทนี้อย่างเป็นทางการ หรือมีการทำความตกลงเป็นรายตัวของอาจารย์   มีการประเมินคุณภาพของผลงาน   มีการให้คุณค่าของผลงานที่มีคุณภาพสูง ทั้งในด้านรางวัล การยกย่อง และค่าตอบแทน   

 
การกำหนดเกณฑ์ผลงานวิชาการแนวใหม่
          นอกจากเกณฑ์ผลงานวิชาการที่ใช้อยู่แล้ว   ต้องสร้างเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาเป็นเกณฑ์คู่ขนาน เรียกว่าผลงานวิชาการรับใช้สังคม   ที่จะต้องสร้างวิธีประเมินคุณภาพทางวิชาการ    สร้างวารสารวิชาการแนวรับใช้สังคม   พัฒนาระบบ peer review แนวใหม่   เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง
          ความยากและท้าทายอยู่ที่กิจกรรมวิชาการจะมีหลากหลายรูปแบบ  และส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมสหสาขาวิชา    เป็นการทำ R&D แบบ Translational Research   เท่ากับเราจะต้องสร้างระบบวิชาการแนว Knowledge Translation หรือ Knowledge Application ขึ้นในสังคมไทย   อันจะเป็นเรื่องมีคุณค่า และมีความท้าทายอย่างยิ่ง
 

 

    วิจารณ์ พานิช     
๑๐ พ.ค. ๕๒

 

 

หมายเลขบันทึก: 261157เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท