เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของอุดมศึกษา (๕)


เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของอุดมศึกษา (๕)

ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔

 

การทำให้กิจกรรมอุดมศึกษาเป็นของคนทุกกลุ่มอายุ (Education for All)  ของทุกภาคส่วน (sector) ในสังคมไทย (๒) 
 

          หน้าที่อย่างหนึ่งของ กกอ./สกอ. คือ ดูแลให้ระบบอุดมศึกษาเป็นระบบที่ “เป็นธรรม” หรือกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่ามี equity   กล่าวคือ เอื้อให้คนทุกภาคส่วนของประเทศ ได้รับผลประโยชน์จากระบบอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน  

 
          ผมมองว่า เวลานี้ระบบอุดมศึกษาเป็นระบบที่ไม่เป็นธรรม   คือรับใช้คนมีเงิน คนมีโอกาส มากกว่าคนจน คนด้อยโอกาส    ผมคิดไปไกลกว่านั้น ว่า คนในระบบอุดมศึกษายังไม่เคยคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย  


          ระบบอุดมศึกษาส่วนที่เน้นสนองความต้องการของผู้ด้อยโอกาส คือวิทยาลัยชุมชน ก็ยังอยู่ในสภาพไม่แข็งแรง   และยังมีคนในท้องถิ่นมุ่งจะยกระดับให้เป็นมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นผลงานของตน   โดยที่กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จาก วชช. ก็ยังไม่รู้ว่า ความเคลื่อนไหวนั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้เคลื่อนไหว   ไม่ใช่ประโยชน์ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส


          เนื่องจากประชาชนกลุ่มที่ยากจน และด้อยโอกาส เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ    ระบบอุดมศึกษาส่วนที่รับใช้คนกลุ่มนี้ จึงต้องใหญ่มาก   ไม่ใช่เล็กนิดเดียวอย่างในปัจจุบัน  


          แต่ก็ต้องระวัง ไม่ให้อุดมศึกษาส่วนที่รับใช้คนจน และคนด้อยโอกาส กลายเป็นกลไกชวนสังคมย่ำเท้าอยู่กับที่   กลายเป็นอุดมศึกษาส่วนที่ล้าหลัง   แต่จะต้องทำหน้าที่เปิดโอกาส ให้คนยากจน คนด้อยโอกาส ได้เรียนรู้ สร้างตัว และสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง   เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเรียนรู้และสังคมอุดมปัญญา 


          คนจนและคนด้อยโอกาส มีที่มาส่วนหนึ่งจากการหมดความมั่นใจในตนเอง (self-respect)   เนื่องจากการครอบงำของสังคม   สถาบันอุดมศึกษาส่วนหนึ่งน่าจะได้พัฒนาทักษะและความรู้เพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ   งานนี้จะเป็นการสร้างสรรค์วิชาการที่ทรงคุณค่ายิ่ง


          ที่จริงสังคมไทยภาคชนบทกำลังค้นพบแนวทางสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ผ่านกระบวนการ/เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน  มหาวิทยาลัยชีวิต  โรงเรียนชาวนา  กระบวนการประชาคม  ฯลฯ    คือจริงๆ แล้วมีหน่ออ่อนของขบวนการเรียนรู้ในภาคชนบท ที่ส่วนใหญ่ชาวบ้านดำเนินการกันเอง อยู่แล้ว    หากสถาบันอุดมศึกษาหาวิธีเข้าไปหนุนเสริม (empower)    และทำงานวิชาการเพื่อหนุน/ร่วมมือ ให้เกิดพลังเสริม (synergy) ระหว่างกัน   การทำหน้าที่นี้จะเป็นงานที่ไม่ยาก  สนุก และยังจะมีรายได้ด้วย   เพราะเวลานี้ อปท. มีงบประมาณเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 


          ที่สำคัญคือ จะต้องมีการวิจัยเชิงระบบ เพื่อประเมินว่า ระบบอุดมศึกษาในภาพรวม ได้รับใช้คนยากจน คนด้อยโอกาส อย่างเป็นธรรมหรือไม่   และควรมียุทธศาสตร์เชิงระบบอย่างไร ที่จะทำให้ระบบอุดมศึกษามีความเป็นธรรมมากขึ้น   รวมทั้งต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม

 


วิจารณ์ พานิช     
๑๐ พ.ค. ๕๒

              
                   
         
        

 

 

หมายเลขบันทึก: 260843เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2009 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท