ทำอย่างไรเยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 3


แต่ถ้าเมื่อใดมองเพลงพื้นบ้านแต่เพียงบางส่วนแล้วเหมาเอาว่า เล่นไม่สุภาพ หยาบคาย ไม่เห็นจะได้เรื่องราวอะไร ผมขอยืนยันว่า เป็นมุมมองที่คลาดเคลื่อน

ทำอย่างไร เยาวชนไทย

จึงจะหันกลับมาสนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 3)

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

 

จากคำถามที่ว่า เด็ก ๆ ที่โรงเรียนของอาจารย์ มีมากไหม ครับ ที่ให้ความสนใจเพลงอีแซว หรือเพลงพื้นบ้านที่อาจารย์ทำอยู่  ผมตอบไปว่า มีน้อยครับ ความจริงอยากตอบว่า มีน้อยมาก เพราะว่า เด็กที่จะหันมาสนใจเพลงพื้นบ้านได้นั้นมีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะสิ่งที่ครูเพลงจะต้องเอาชนะใจพวกเขาเหล่านั้นให้ได้ จึงจะสามารถรวบรวมเยาวชนเป็นกลุ่มสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ เด็ก ๆ จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกมองว่า มีความสำคัญต่อการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมความเจริญงอกงามที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นแทนคนรุ่นเก่า ๆ ที่จะต้องจากไปดังใบไม้แก่ ที่นับวันจะร่วงโรยและหลุดจากต้นหล่นลงดินและจะต้องมีใบไม้อ่อนที่ผลัดใบมาแทนที่ เพื่อรักษาชีวิตของต้นไม้เอาไว้ให้ได้

 ปัจจัยด้านเยาวชนหรือตัวของเด็กเองมีความสำคัญที่สุดในการที่จะช่วยดูแลรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ในขณะที่เราจะต้องยอมรับในวัฒนธรรมของต่างถิ่น ที่แพร่เข้ามา สิ่งใดดี มีความเหมาะสมก็รับเอาไว้ เป็นการศึกษา เป็นการแบ่งปันความรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน แต่ก็ต้องไม่ลืมสิ่งที่ดีมีคุณค่าของท้องถิ่น รักษาให้คงไว้บ้างในสิ่งที่เป็นหน้าตาของแผ่นดิน ณ จุดนั้น ๆ

 พ่อ แม่ ผู้ปกครองก็มีส่วนในทางตรงและทางอ้อม ในการชักจูงใจให้เด็กหันมาสนใจในเอกลักษณ์ของท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ในทุกส่วนของประเทศไทย ถึงแม้ว่า จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็เป็นจารีตที่งดงาม เพลงพื้นบ้านภาคกลางมีหลายชนิด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด เป็นเพลงพื้นบ้านที่ยังคงรักษาคุณภาพในศิลปะการแสดงที่เป็นมหรสพประดับงานหรือกิจกรรมหลัก ๆ ได้อย่างภาคภูมิใจ เพลงพื้นบ้านภาคกลางที่กล่าวมานี้ สามารถบอกสาระความรู้ บอกเรื่องราว และดำเนินเรื่องให้ผู้ที่สนใจได้รับรู้รับทราบได้อย่างสนุกสนานและมีคติสอนใจ แต่บางครั้งคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองและท่านผู้ชมบางรายไม่มีความเข้าใจศิลปะการแสดงอย่างถูกต้อง ปฏิเสธในสิ่งที่ลูกหลานของท่านตั้งใจที่จะกระทำ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ดี จนกลายเป็นความน่ารังเกียด ไม่อยากให้ลูกหลานเข้ามามีส่วนในการสานต่อหรือเพียงแต่เข้ามาเรียนรู้อย่างน่าเสียดาย

 ประเด็นที่ผู้ปกครองมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นต้นว่า

-       ไม่อยากให้ลูกหลานเล่นเพลงอีแซว คำที่ร้องหยาบคาย ไม่สุภาพ รับไม่ได้

-       เพลงอีแซว ลำตัดเล่นไม่สุภาพ แสดงท่าทางไม่เหมาะสม ทะลึ่งตึงตัง ไม่ชอบดู

-       กลัวว่าจะเสียการเรียนต้องเสียเวลาไปฝึกหัดไม่เห็นว่าจะได้อะไรฝึกไปก็เท่านั้น

-       เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด เป็นเพลงของคนโต ๆ ผู้ใหญ่เขาเล่นกันเด็ก ๆ ไม่ควรนำมาเล่น โบราณ ไม่เหมาะสม

-       ฝึกหัดไปแล้ว ไม่เห็นว่าจะได้อะไร เอาเวลาไปทำมาหากินอย่างอื่นยังดีกว่า

-       ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่า ผมไม่ชอบการแสดงประเภทนี้ จึงไม่ขอให้การสนับสนุน

                       ความจริงยังมีความเห็นอีกหลายประเด็นที่ผมได้รับจากผลสะท้อนกลับ แต่ก็ทำใจได้ ถึงแม้ว่าหลาย ๆ ประโยคเป็นความจริง เป็นความเห็นส่วนตัวที่จะต้องให้ความคารพ แต่ผมมองไปที่ภาพลักษณ์ของท้องถิ่น ความเป็นเจ้าของแผ่นดิน โดยเฉพาะท้องถิ่นที่เราได้ถือกำเนิดเกิดมา การเปิดทางให้เยาวชนได้สัมผัสกลิ่นไอแห่งความเป็นไทย ทำได้หลายบทบาทหน้าที่หรือหลายกิจกรรม แต่เมื่อแหงนมองขึ้นไปด้านบน มองคนที่เป็นต้นตำนานเพลง ที่มาจากจุดเริ่มต้นของมหรสพเพลงไทย เพลงพื้นบ้านมีส่วนในการสร้างความสนุกสนานบันเทิงให้กับกลุ่มบุคคลที่มาร่วมกิจกรรมเดียวกันอย่างน่าทึ่ง เพลงพื้นบ้านช่วยสร้างสีสันให้ท้องทุ่งมานานนับร้อยปี หากผู้ใหญ่ได้แยกแยะบางสิ่งบางอย่างแล้วให้โอกาสเด็ก ๆ ได้สัมผัสกับความเป็นไทยผ่านช่องทางเพลงพื้นบ้าน-เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด ฯลฯ เราอาจจะได้ผลตอบแทนที่มากด้วยคุณค่า ได้แก่ ความสมัครสมานสามัคคีของกลุ่มเยาวชน ความยับยั้งชั่งใจ อารมณ์ที่เยือกเย็น ความสนุกสนาน คติสอนใจ และได้สื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ สู่ผู้ชมผู้ฟัง และการมีรายได้จากการแสดงอีกด้วย

 แต่ถ้าเมื่อใดมองเพลงพื้นบ้านแต่เพียงบางส่วนแล้วเหมาเอาว่า เล่นไม่สุภาพ หยาบคาย ไม่เห็นจะได้เรื่องราวอะไร ผมขอยืนยันว่า เป็นมุมมองที่คลาดเคลื่อน เพราะคำว่า เล่นไม่สุภาพ หยาบคาย ไม่เห็นจะรู้เรื่อง เป็นเพียงการนำเสนอเรื่องราวในตอนปะทะคารมเท่านั้น และก็เป็นวรรณศิลป์ที่สรรสร้างอย่างมีศิลปะในคารม มิใช่คำต่อว่าที่หยาบคายมาจากคน 2 ฝ่ายทะเลาะกัน เพียงแต่นั่นคือศิลปะการแสดงที่ให้แง่คิดได้หลายทางตามแต่ใจจะคิด คิดไปทางใดก็ไปทางนั้น (คิดสองแง่สองง่าม) แต่ในตอนที่เป็นการสื่อสารเรื่องราวอื่น ๆ ที่ดี มีประโยชน์ กลับไม่ได้นำมารวมในการตัดสินใจ เป็นต้นว่า      -      ตอนไหว้ครู แสดงถึงความเคารพ ศรัทธาในตัวของครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนมา

-      ตอนออกตัว ฝากตัวไว้กับท่านผู้ชม เป็นตอนที่แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน

-      ตอนเล่นเรื่องที่เป็นประโยชน์ เป็นการสื่อสารเรื่องราว หลากหลายรูปแบบ

    (เล่นแบบเล่าเรื่อง เล่นแบบดำเนินเรื่อง เล่นแบบการแสดงประกอบเรื่อง ฯลฯ)

-       ตอนปะทะคารม เป็นตอนต่อว่ากัน (เล่นเพลงสนุกสนาน แฝงเอาไว้ด้วยแง่คิด)

-       ตอนลา เป็นการร้องอวยพร ฝากใจไว้กับผู้ชม เป็นช่วงเวลาที่ซึ้งใจ อาลัยอาวอน

         

         

         

ท่านคิดว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองมองเพลงพื้นบ้านอย่างไร มีวิธีการอย่างไรที่จะมีส่วนปรับเปลี่ยนความเห็น และช่วยให้เยาวชนได้หันมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้บ้าง

    

(ติดตามตอนที่ 4  ทำอย่างไร เยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

หมายเลขบันทึก: 260644เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอาจารย์อนุรักษ์เพลงอีแซวค่ะ แนวความคิดและประสบการณ์ของอาจารย์ที่สื่อสารผ่านบล็อกมานี้ สามารถส่งสารผ่านจาก Blog สู่ หนังสือได้ค่ะ เพื่อให้คนไทยอีกมากที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้รับรู้เรื่องราวนี้ด้วยค่ะอาจารย์

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ มากครับ หากสามารถที่จะขยายผลไปยังอีกหลาย ๆ คน ให้ได้รับรู้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับผมแล้ว ผมทำงานด้านนี้มานานมาก และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

เพราะผมรับมรดกทางปัญญา ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายด้าน จากคุณตา จากน้าชาย จากป้าอ้น ป้าทรัพย์ จากลุงหนุน ฯลฯ ในหลาย ๆ เรื่องราว เมื่อผมมีอายุมากเข้าก็รู้สึกเสียดาย อยากให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต้นกำเนิน แหล่งทีมาของศิลปะท้องถิ่นแล้วนำเอาไปเป็นพื้นฐานของชีวิตจริงในอนาคตต่อไป

อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อมองเห็นการทำงานด้านนี้แบบมีผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง ทำให้นึกเสียดายเวลา โอกาส สถานที่ และงบประมาณ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องใช้งบประมาณเลยสักบาทก็สามารถทำได้ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท