บทบาท4


Role

              สำเริง หาญกล้า (2549, หน้า 13) ได้จัดแบ่งประเภทของบทบาทออกเป็น  2 ประเภท ได้แก่

                 ประเภทที่ 1 บทบาทที่ได้มาจากตำแหน่ง  เป็นบทบาทที่ถูกกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่ง  เป็นบทบาทตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ  คำสั่งต่างๆ ที่ถูกกำหนดให้   ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ จำเป็นต้องกระทำหรืองดเว้นการกระทำ บทบาทนั้นและต้องสอดคล้องกับหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้  และ

                 ประเภทที่ 2 บทบาทที่ปฏิบัติจริงเป็นบทบาทที่สังคมมุ่งหวังให้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นควรปฏิบัติ  และอาจถูกกำหนดจากบุคลิกภาพของผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ได้แก่  ค่านิยม  เจตคติ  การศึกษาอบรม  ประสบการณ์  ตลอดจนพื้นฐานทางวัฒนธรรมและประเพณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นยึดถือ

            เมเยอร์ (Mayer, 1983, p. 164) กล่าวว่า บทบาทเป็นชุดของความคาดหวังเกี่ยวกับตำแหน่งของบุคคลที่สังคมกำหนดว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร  ความคาดหวังในบทบาทแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

              1. ความคาดหวังในบทบาท (role expectation) เป็นบทบาทตาม  ความคาดหวังของผู้อื่นหรือเป็นบทบาทที่สถาบัน  องค์การ  หรือกลุ่มสังคมคาดหวังให้บุคคลปฏิบัติตามสิทธิหน้าที่ที่บุคคลนั้นครองตำแหน่งอยู่

                 2. การรับรู้ในบทบาท (role perception) เป็นการรับรู้บทบาทของตนว่าควรมีบทบาทอย่างไร และสามารถมองเห็นบทบาทของตนเองได้ตามการรับรู้นั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับความต้องการของบุคคลนั้นเอง ทั้งนี้การรับรู้ในบทบาทและความต้องการของบุคคลย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นฐานของบุคคลตลอดจนเป้าหมายในชีวิตและค่านิยมของบุคคลที่ สวมบทบาทนั้น

                 3. การยอมรับบทบาทของบุคคล (role acceptance) ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อมีความสอดคล้องกันของบทบาทตามความคาดหวังของสังคม  และบทบาทที่ตนเองรับรู้อยู่  การยอมรับบทบาทเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเข้าใจในบทบาท  และการสื่อสารระหว่างสังคมของบุคคลนั้นทั้งนี้เพราะบุคคลไม่ได้ยินดียอมรับบทบาททุกบทบาทเสมอไปแม้ว่าจะได้รับ  การคัดเลือก  หรือถูกแรงผลักจากสังคมให้รับตำแหน่ง  และมีบทบาทหน้าที่ปฏิบัติก็ตาม  เพราะถ้าบทบาทที่ได้รับนั้นทำให้ได้รับผลเสียหาย  หรือเสียผลประโยชน์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขัดแย้งกับความต้องการหรือค่านิยมของบุคคลนั้นผู้ครองตำแหน่งอยู่ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงและไม่ยอมรับบทบาทนั้น  และ

                     4. การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของบุคคล (role performance) เป็นบทบาท ที่เจ้าของสถานภาพแสดงจริง ซึ่งอาจเป็นการแสดงบทบาทตามที่สังคมคาดหวังหรือ      แสดงบทบาทตามการรับรู้และความคาดหวังของตนเอง  การที่บุคคลจะปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ ได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับบทบาทนั้นของบุคคลที่ครองตำแหน่งอยู่       ซึ่งเนื่องมาจากความสอดคล้องกันของบทบาทตามความคาดหวัง  และการรับรู้ในบทบาทของตนเอง

           จากที่นักการศึกษากล่าวมาสรุปได้ว่า  บทบาทแบ่งออกได้เป็น  3  ประเภท ได้แก่  1) บทบาทที่ถูกกำหนดไว้ เป็นบทบาทที่ได้กำหนดสิทธิ ระเบียบ และหน้าที่ไว้      โดยสังคม  ชุมชน กลุ่มหรือองค์การนั้นๆ เพื่อให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ปฏิบัติตาม  อันเป็นบทบาทสมบูรณ์แบบที่ผู้อยู่ในสภาพนั้นๆ ควรปฏิบัติ  2) บทบาทที่ได้มาจากตำแหน่ง  เป็นบทบาทที่ถูกกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่ง  ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งต่างๆ     ที่ถูกกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ จำเป็นต้องกระทำหรืองดเว้นการกระทำ บทบาทนั้นและต้องสอดคล้องกับหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้  และ 3) บทบาทที่ปฏิบัติจริง เป็นบทบาทที่สังคมมุ่งหวังให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นควรปฏิบัติ  และอาจถูกกำหนดจากบุคลิกภาพของผู้ดำรงตำแหน่งนั้น

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 259738เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท