nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

พระจันทร์ครึ่งที่หายไป


...แต่ลูกมีวิธีคิดตามจินตนาการ น้องรักไม่ได้เข้าใจผิด น้องรักคิดและเชื่อแบบนั้นจริงๆ

เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งของ อาจารย์วิเชียร ไชยบัง เล่าไว้ในหนังสือ โรงเรียนนอกกะลา ตอนที่ว่าด้วย การสอนเพื่อสร้างความเข้าใจ (Teaching for Understanding)  ดังนี้

 

บางครั้งความเข้าใจผิดก็เป็นปัญหาใหญ่

เช่น

เด็กคนหนึ่งอธิบายว่าที่เครื่องบินบินได้เพราะเขาใช้วิธีสูบลม

เข้าใต้ท้องเครื่องเหมือนลูกโป่งสวรรค์ เขาอธิบายได้ อ้างอิงหลักการได้

แต่เป็นความเข้าใจผิด 

(โรงเรียนนอกกะลา : หน้า ๑๒๑)

 

 

          อ่านแล้วยิ้มได้  พอดีอาจารย์ไม่ได้บอกว่าเป็น ความเข้าใจ ของเด็กอายุเท่าไหร่   แต่คิดเอาเองว่าน่าจะเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๔ ขวบ   ทำให้ฉันอยากรู้ต่อไปว่า  เครื่องบิน ในความคิดของเด็กน้อยคนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร

          เด็กๆ คิดตามข้อมูลที่มีอยู่ บวก จินตนาการ   การคุยกับเด็กเล็กๆ  สนุกตรงที่เราสัมผัสได้ถึงจินตนาการที่ไร้ขอบเขต ไม่ต้องมีเหตุผล  ยิ่งคิดจินตนาการมากเท่าไหร่  สมองจะแตกกิ่งก้านมากเท่านั้น  โดยไม่จำเป็นต้องมีความถูกผิด หรือ สมเหตุสมผล

          เด็กยิ่งเล็กยิ่งจินตนาการสูง  จากประสบการณ์ส่วนตัวของการเลี้ยงลูก  พบว่า ความคิดแหลมคม เปี่ยมจินตนาการมีมากที่สุดตอนอายุ ๓-๔ ขวบ  หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง

          ฉันรวบรวมบันทึกเรื่องของลูกตอนเล็กๆ ไว้ พิมพ์เป็นหนังสือเก็บในห้องสมุดส่วนตัว  เรื่องหนึ่งจากหนังสือ วรรณกรรมน้องรัก ชื่อ พบแล้ว สะท้อนวิธีคิดของเด็กอายุ ๓ ขวบ ที่อยู่เหนือเหตุผลค่ะ

 

พบแล้ว

 

          เวลาค่ำ คุณพ่อชอบพาลูกๆ ไปเดินเล่นแถวท่าเรือข้ามฟากไปท่าฉลอม

          รัก  :  พระจันทร์หายไปไหนครึ่งหนึ่งครับแม่

          แม่  :  มันไม่หายไปไหนหรอกลูก  มันถูกโลกบังน่ะ

          รัก  :  โลกอยู่ข้างล่างจะไปบังได้ไง

          แม่  :  งั้น...มันคงอยู่ที่ไหนซักแห่ง

          กลับมาถึงบ้าน  รักวิ่งออกไปหน้าบ้าน   แหงนมองฟ้า  ตะโกนเสียงดังอย่างดีใจ

          รัก  :  โน่นไง  พระจันทร์อีกครึ่งที่หายไป

 

       กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓

รัก / ๓ ขวบ ๓ เดือน

 

          แม่พยายามสอนลูกด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์  แต่ลูกมีวิธีคิดตามจินตนาการ  น้องรักไม่ได้เข้าใจผิด  น้องรักคิดและเชื่อแบบนั้นจริงๆ  

เมื่อโตขึ้น  น้องรักก็สามารถคิดเชิงเหตุผลได้  และหัวเราะขำเมื่อกลับมาอ่านเรื่องของตัวเอง  รักคิดได้ไงนี่แม่

ฉันเชื่อว่า  การสอนเด็กเล็กๆ น่าจะเน้นที่การสร้างบรรยากาศพูดคุย  การเล่าเรื่องโดยครู  การให้เด็กๆ เล่าเรื่องตามจินตนาการ  แม้แต่การให้เขาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องรอบตัว  เราจะประหลาดใจกับมุมมอง วิธีคิดที่เราคิดไม่ได้ คิดไม่เป็น.

 

 

พุธที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 259498เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แวะมาอ่านเรื่องราวดีๆค่ะ

      เด็กๆมักจะมีจินตนาการที่เราคาดไม่ถึงเสมอ ^__^

      ขอบคุณเรื่องราวน่ารักๆนี้ค่ะ ^_^

  • สนุก ลึกซึ้ง ค่ะ
  • เอาอีก ...
  • ทำให้เราเข้าใจคนทำงานกับเรามากขึ้นด้วย
  • คลายเครียดได้ด้วย
  • แต่ทำงานไม่ทันอยู่ดี อิอิ
  • สวัสดีค่ะ ครูตุ๊กแก..ตัวดำ...
  • ดีใจค่ะที่คุณครูเข้ามาอ่าน
  • มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับครูเยอะ (เรื่องน้องรัก) วันหลังจะเล่าค่ะ
  • สวัสดีค่ะหมอนน...ไปเครียดมาจากไหน ไปเที่ยวกลับมาไม่ใช่หรือ
  • ทิ้งงานไปเที่ยวมาละซี  เลยทำงานไม่ทัน
  • คิดถึงจ๊ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท