เรื่องเล่าเรื่องราว ๙ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ (ตอนที่ ๑)


ตอนที่ ๑ - แนะนำทางนมัสการ พระโบราณเมืองทุ่งยั้ง

 


 


                     - ๙ มหามงคลแห่งเมืองท่าน้ำเหนือ -                 

  ๙ มหาพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์   
        แห่งเมืองอุตรดิตถ์        

9_holy_buddha_in_uttaradit
http://gotoknow.org/file/tevaprapas/image003.gif
http://gotoknow.org/file/tevaprapas/image004.gif

 

     หลายท่านอาจจะเคยทำบุญ ๙ วัด ถวายสังฆทาน ๙ วัด ปิดทองลูกนิมิต ๙ วัด หรือแม้กระทั่ง สะเดาะเคราะห์ ๙ วัด

     แหม อะไร ๆ ก็ ๙ แถม ๙ วัด อีกต่างหาก ทำไมไม่มาไหว้ "พระ" กันบ้างหนอ 

 

     วันนี้ผมจึงขอโอกาสนำเส้นทาง "นมัสการ ๙ พระพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุตรดิตถ์" มาเผยแพร่กันครับ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางชมของดีไหว้พระศักดิ์สิทธิ์อันน่าภาคภูมิใจของชาวอุตรดิตถ์เราครับ

 

     เส้นทางไม่ใกล้ไม่ไกลครับ ได้ไหว้พระ ๙ ศักดิ์สิทธิ์ ๙ มหามงคล แถมได้เที่ยวชมวัดที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญ ๆ ของจังหวัดอุตรดิตถ์เราครับ 

 

 

รายนาม ๙ พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดอุตรดิตถ์ (เรียงตามเส้นทางนมัสการฯ)

     
  • หลวงพ่ออู่ทอง (ทองคำ) (วัดดงสระแก้ว)  
  • หลวงพ่อธรรมจักร
  • หลวงพ่อพุทธรังสี (วัดพระยืนพุทธบาทยุคล)
  • หลวงพ่อสัมฤทธิ์ (วัดหมอนไม้)  
  • หลวงพ่อเพ็ชร   
  • หลวงพ่อเชียงแสน (วัดธรรมาธิปไตย)
  • หลวงพ่อสุวรรณเภตรา (วัดคุ้งตะเภา)  
  • หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์  
  • พระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) (วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ)
  •  

 

 

http://gotoknow.org/file/tevaprapas/road_to_9_holy_buddha_in_uttaradit.jpg

 

     โอ้โห! วิ่งรอกไหว้พระ ๙ องค์ ไม่ใกล้ไม่ไกลครับ ๓๐ กว่ากิโล แฮะ ๆ เอาเป็นว่าใครมีเวลาก็แบ่ง ๆ ไปก็ละกันครับ หรือใครศรัทธาแก่กล้า จะวิ่งวันเดียวครบ ๙ องค์ ๘ อาราม ก็ได้ครับ นับถือ ๆ

 

     วันนี้ขอนำประวัติมาลงให้อ่านกัน ๓ องค์แรกก่อนครับผม^^

 


 

   ๑       หลวงพ่ออู่ทอง ทองคำ (วัดดงสระแก้ว)    . 

Utongutt 

     หลวงพ่ออู่ทอง (ทองคำ) เป็นพระพุทธรูปสกุลช่างอู่ทองโบราณ เนื้อโลหะทองคำบริสุทธิ์ หนักกว่า ๒๐๐ กิโลกรัม มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓๔ นิ้ว พุทธลักษณะปางมารวิชัย มีอายุกว่า ๘๐๐ ปี

     หลวงพ่ออู่ทองเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็นพระปูนปั้นรอบระเบียงในพระอุโบสถ และต่อมาได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานในอุโบสถ วัดดงสระแก้ว จังหวัดอุตรดิตถ์ จนปูนที่หุ้มองค์พระเนื้อทองคำได้กระเทาะออกในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ 

     แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงพ่ออู่ทองก็ได้ถูกโจรกรรมจากวัดไป ซึ่งยังไม่สามารถติดตามคืนมาได้จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ทางวัดได้จัดสร้างองค์จำลองไว้ครับ สามารถไปกราบนมัสการกันได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดนี้มีอุโบสถไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เลื่องลือครับ สามารถไปลอดโบสถ์สะเดาะห์เคราะห์กันได้ครับผม ส่วนเคราะห์จะเดาะได้จริงหรือไม่นั้น ต้องไปลองเองคร้าบบ

ประวัติ 

     พระธรรมกิจโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดดงสระแก้ว นำหลวงพ่ออู่ทองมาจากวัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกทำลายจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ด้วยวิธีจับสลากเลือก และอัญเชิญมาลงยังสถานีอุตรดิตถ์โดยทางรถไฟ โดยเมื่อแรกนำมาประดิษฐานในอุโบสถนั้น ได้มาเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เทอะทะ ไม่สมส่วน คือส่วนพระเศียรใหญ่กว่าปกติ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ขณะช่างบูรณะอุโบสถ ได้ทำกระเบื้องตกใส่องค์หลวงพ่อ จึงทำให้ปูนกระเทาะออก เผยให้เห็นองค์พระทองคำข้างใน เป็นพระทองคำบริสุทธิ์ สกุลช่างอู่ทอง จึงสันนิษฐานได้ว่าสร้างในพุทธศตวรรษ ๑๗-๑๙

     หลวงพ่ออู่ทอง จึง เป็นพระพุทธรูปทองคำโบราณองค์สำคัญองค์เดียวของจังหวัดอุตรดิตถ์ มาตั้งแต่นั้น และเป็นพระพุทธรูปสำคัญ ๑ ใน ๓ องค์ ที่ได้นำขึ้นมาจากวัดราชบุรณะในคราวเดียวกัน แต่ปรากฏว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงพ่ออู่ทองได้ถูกโจรกรรมหายไปจากวัดอย่างไร้ร่องรอย และยังคงตามคืนมาไม่ได้จนปัจจุบันนี้

   
     วัดดงสระแก้ว
ตั้งอยู่ที่ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันเป็นวัดที่จำพรรษาของเจ้าคณะตำบลไผ่ล้อม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

     วัด ดงสระแก้ว ตั้งชื่อตามนามหมู่บ้านดงสระแก้ว หมู่ ๕ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยคณะศรัทธาของชาวบ้านดงสระแก้ว จากการนำของพ่อสุดใจ จันทา ในพื้นที่ ๑๑ ไร่เศษ เดิมนั้นมีเพียงแค่ศาลาและกุฎิสงฆ์มุงหญ้าแฝกพอกันแดดกันฝนได้ จนในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจกันสร้างศาลาการเปรียญสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา และชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างอุโบสถไม้สักทองทั้งหลังสำหรับประกอบสังฆกรรมของ พระสงฆ์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ และมีการพัฒนาก่อสร้างเสนาสนะและอาคารถาวรวัตถุเพิ่มเติมมาตลอดถึงปัจจุบัน  

     วัดดงสระแก้ว ปัจจุบันเป็นที่รู้จักของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และใกล้เคียง ที่นิยมไปทำพิธีลอดอุโบสถไม้สักทองของวัด

ขอบคุณข้อมูลจาก - เว็บไซท์วัดดงสระแก้ว, สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

  ๒       หลวงพ่อธรรมจักร วัดพระแท่นศิลาอาสน์    . 


 
  Phradhammajakuttaradit


 

       หลายคนไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ อาจจะไม่สังเกตเห็นหลวงพ่อองค์นี้ครับ (ไม่เห็นได้ไง ตั้งอยู่กลางวิหารเลยนะนั่น) เพราะเรา ๆ ท่าน ๆ ไปวัดพระแท่นฯ ก็ไปไหว้พระแท่นใช่ไหมครับ แล้วก็ไปยก ๆ พระเสี่ยงทาย (บางคนยกกลับบ้านไปก็มี เหอ ๆ (ตอนนี้ตามเจอแล้ว)) แล้วก็กลับ

    แต่เดี๋ยวครับ พระวิหารโดนไฟป่าไหม้ไปหลายรอบแล้ว แต่หลวงพ่อองค์นี้ไม่โดนไฟเลยแม้แต่น้อยครับ ชาวบ้านที่รู้จักนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาก ตามไปอ่านประวัติท่านเลยครับ

 

 


     หลวงพ่อธรรมจักร (วัดพระแท่นศิลาอาสน์) เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ สกุลช่างอยุธยา เนื้อโลหะ ปางสมาธิ ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในวิหารหลวงประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็น ที่เลื่องลือในด้านป้องกันไฟ เนื่องจากความอัศจรรย์ในเหตุการณ์ไฟไหม้วัดครั้งใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ที่วิหารประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรเป็นศาสนสถานหลังเดียวที่รอดพ้นจากไฟป่า อย่างปาฏิหาริย์

     ปัจจุบันหลวงพ่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง ด้านหลังพระแท่นศิลาอาสน์ เข้ากราบนมัสการได้ทุกวันครับผม

 

 

File:Dancing art Thai ancient show in the Wat Phra Thaen Sila At fair 07.jpg

   
     วัดพระแท่นศิลาอาสน์
เดิมชื่อ วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ที่บนเนินเขาเต่า บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ติดกับวัดพระยืนพุทธบาทยุคล ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก บนเนินเขาลูกเดียวกันแต่คนละยอด

     วัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง และสร้างแต่เมื่อใด ในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏข้อความกล่าวถึงพระแท่นศิลาอาสน์ แต่เพิ่งมีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๓ ได้แสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว จนเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง และทางราชการได้ นำพระแท่นศิลาอาสน์ไปประดิษฐานไว้ในตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แสดงถึงความศรัทธาเลื่อมใสและความสำคัญขององค์พระแท่นศิลาอาสน์ได้เป็นอย่าง ดี

     ปัจจุบันวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สังกัดธรรมยุตินิกาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙

ขอบคุณข้อมูลจาก -  หลวงพ่อธรรมจักร. กฤตภาค ฐานข้อมูลท้องถิ่น สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร. เรียกข้อมูลเมื่อ ๙-๔-๕๒, สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

  ๓       หลวงพ่อพุทธรังสี วัดพระยืนพุทธบาทยุคล    .

 

 
http://gotoknow.org/file/tevaprapas/Phra_Buddha_Rangsi.jpg

     หลวงพ่อพุทธรังสี
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๑ ใน ๙ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ องค์พระพุทธรูปเป็นพระสกุลช่างสุโขทัย สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในรัชกาลของพระเจ้าลิไทองค์พระเป็นเนื้อโลหะสำริด (แก่นาค) ปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในอุโบสถ วัดพระยืนพุทธบาทยุคล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

     สำหรับหลวงพ่อพุทธรังสี ทางวัดจะเปิดให้เข้าสักการะในวันสำคัญของทางวัดครับ ใครอยากนมัสการเรียนขออนุญาตจากทางเจ้าอาวาสได้ครับผม ได้เข้าวัดเข้าวา เจอพระเจ้าพระสงฆ์ แถมได้กราบพระปิดทองพระศักดิ์สิทธิ์ คุ้มเกินคุ้มครับ

ประวัติ 

     หลวงพ่อพุทธรังสี เดิมเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานในอุโบสถวัดพระยืนพุทธบาทยุคล สันนิษฐานว่าองค์พระสร้างโดยพระบรมราชโองการของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระเจ้าลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาประดิษฐาน ณ มณฑปรอยพระพุทธบาท ต่อมาในสมัยอยุธยา ไทยเกิดการสงครามกับพม่า ชาวบ้านจึงได้พอกปูนไว้อารักขาภัย

     ผ่านมาในสมัยรัตนโกสินทร์ กาลเวลาผ่านมากว่า ๕๐๐ ปี กลืนกินความทรงจำของชาวบ้านจนไม่มีผู้ใดรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้ม โลหะสำริดอยู่ข้างใน จนวันหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งเข้ามาสวดมนต์ในอุโบสถ ได้เห็นองค์พระปูนปั้นเปล่งพระรัศมีออกจากพระนลาฏ (หน้าผาก) และพระเกศเป็นฉัพพรรณรังสีให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้เห็น วัดจึงได้กะเทาะปูนออก จึงได้เห็นเป็นพระพุทธรูปสำริดสุกปลั่ง มีพุทธลักษณะสวยงาม ต่อมา พระยากัลยาวัฒนวิศิษฐ์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ (ท่านมีรกรากอยู่ที่เมืองลับแล) ได้ ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อพุทธรังสี" และทางวัดจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานใน อาคารอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ ประดิษฐานเป็นที่สักการะของประชาชนมาจนปัจจุบัน โดยจะมีงานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อพระพุทธรังสีเป็นงานใหญ่ประจำปี ระหว่างวันขึ้น ๘ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ทุกปี สืบมา

 

มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทภายในวัดพระยืน
 


     วัดพระยืนพุทธบาทยุคล
หรือ วัดพระยืน ตั้งอยู่ที่บนเนินเขา บ้านพระแท่น หมู่ที่ ๖ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ติดกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก บนเนินเขาลูกเดียวกันแต่คนละยอด

     วัด พระยืนพุทธบาทยุคลเป็นวัดโบราณร่วมสมัยกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ โดยมีปูชนียสถานที่มีตำนานเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองทุ่งยั้งร่วมกัน ภายในวัดมีศาสนสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญคือ มณฑปศิลปะเชียงแสนครอบรอยพระพุทธบาทประทับยืนทำด้วยศิลาแลง (มณฑปกว้าง ๔ เมตร ยาว ๔๙ เมตร)[๑] และหลวงพ่อพระพุทธรังสีภายในอุโบสถ เป็นพระประธานปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย

     วัดพระยืนพุทธบาทยุคล มีที่ธรณีสงฆ์ ๑๓๖ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา วัดแห่งนี้เคยได้รับยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖ อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก -  พระพุทธรูปมรดกล้ำค่าของเมืองไทย โดย ทศพล จังพานิชย์กุล. สำนักพิมพ์ข่าวสด. เรียกข้อมูลเมื่อ ๒๔-๔-๕๒, สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 


     สำหรับวันนี้ขอเสนอ ๓ องค์ก่อนครับ ทั้ง ๓ องค์นี้ อยู่ในเขตอำเภอลับแล (ทุ่งยั้ง-ไผ่ล้อม) เป็นถิ่นฐานบ้านเมืองเก่ามาแต่สมัยสุโขทัยครับ คนแถวนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังใช้สำเนียงแบบสุโขทัยดั้งเดิมขนานแท้อยู่ครับผม

 

     คราวต่อไปจะพาข้ามแม่น้ำน่านไปนมัสการพระฝั่งขะโน้น (แม่น้ำน่านฝั่งซ้าย) แล้ววกกลับมาฝั่งขะนี้ (แม่น้ำน่านฝั่งขวา) แล้วคราวต่อไปอีก ก็จะพาข้ามไปฝั่งขะโน้นแล้วจบลงที่วัดพระฝางฯ เมืองโบราณที่ (เกือบ) ถูกลืมครับผม

 


    


ข้อมูลในเวปไซท์นี้
สำหรับเผยแพร่ให้ความรู้แก่สาธารณะ
ไม่มีหวงห้ามและไม่ควรหวงห้าม 
(ผู้นำข้อมูลในเว็บไซท์นี้ไปใช้
ต้องแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-
และไม่ดัดแปลง)
ดั่งคำภาษิตที่ว่า
" อมเอาไว้หาย คายออกอยู่ "

 
Creative Commons Attribution-Noncommercial 3.0 Unported License

 


หมายเลขบันทึก: 258288เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2009 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท