LiBraRianCSR!!!
นาย รัชชานนท์ เจริญเกียรติสถานนท์

การจัดการความรู้ : แนวคิดและแนวทางปฏิบัติ


การจัดการความรู้ : แนวคิดและแนวทางปฏิบัติ

ได้เข้าสัมมนาหลักสูตร การจัดการความรู้ : แนวคิดและแนวทางปฏิบัติ วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2552 เวลา 08.30 12.30 น.ณ ห้องประชุม 6-1 อาคารอธิการบดี 2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

 

สาระความรู้ที่ได้ในการสัมมนาครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 แนวคิดการก้าวไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ : บมจ. ธนาคารกรุงไทย เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีพนักงานประมาณ 16,000 คน การให้ความรู้ การฝึกอบรม การพัฒนาพนักงานไม่สามารถทำให้ทั่วถึงทั้งองค์กรได้ ประกอบกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กรมีแนวคิดเรื่องต้นทุนทางปัญญาและพยายามค้นหาแนวทางเพื่อนำต้นทุนทางปัญญาของพนักงานแต่ละคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ดังนั้นจึงได้นำแนวคิดการจัดการความรู้มาใช้ในองค์กรและได้ดำเนินการตามแผนการพัฒนาองค์กร  ดังนี้

ปี 2549 ใช้แนวคิด Learning Organization การเรียนรู้ทั่วทั้งองค์กร โดยองค์กรต้องให้อิสระในการเรียนรู้ แบ่งปันความรู้และประสบการณ์แบบพึ่งพิงอิงกัน มีการทำงานเป็นทีม ลดการยึดความคิดตัวเองเป็นหลัก หันมารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นให้มากขึ้น

ปี 2550 2551 ใช้แนวคิด Knowledge Management องค์กรมีการจัดการทั้งความรู้และประสบการณ์ โดยการจัดการองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ มีระบบการจัดเก็บความรู้ การเผยแพร่ความรู้ การแลกเปลี่ยนความรู้และมีความสะดวกในการเรียกใช้องค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็วทั่วทั้งองค์กร

ปี 2552 ใช้แนวคิด Creative Organization องค์กรแห่งความคิดสร้างสรรค์ เน้นการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยสิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยความคิดสร้างสรรค์ในงานต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมกับองค์กร

การจัดการความรู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  มีองค์ประกอบดังนี้

1.     หน่วยงานกลางที่รับผิดชอบการจัดการความรู้ต้องผลักดันให้ผู้บริหารและพนักงานเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ และการเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรม รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ของการจัดการความรู้ให้กับผู้บริหารและพนักงานเข้าใจตรงกันเพื่อที่จะได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

2.     ระบบการแลกเปลี่ยนความรู้ มีการจัดสถานที่ที่เอื้ออำนวยให้พนักงานแลกเปลี่ยนความรู้ และจัดสรรเวลาให้พนักงานมีโอกาสในการเรียนรู้ในช่วงเวลาการทำงาน  องค์กรให้การสนับสนุนด้านเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนคอมพิวเตอร์มากกว่าจำนวนพนักงาน สร้างระบบ Intranet ภายในเพื่อเป็นระบบการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ ระบบดาวเด่น ดาวปัญญา คือ การดึงความรู้ของคนเก่งในองค์กร

3.     สร้างระบบการจัดเก็บความรู้ ให้สามารถจัดเก็บความรู้ที่ง่าย สืบค้นรวดเร็ว โดยรวบรวมข้อมูล ความรู้ที่จัดเก็บ คือ ระเบียบ คำสั่ง ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ปัญหา แนวทางแก้ไขปัญหา ฯลฯ

4.       การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบพึ่งพิงอิงกัน โดยการนำวัฒนธรรมองค์กรนำไปเชื่อมโยงกับ Core – Competency และ Functional – Competency รวมทั้งการนำการการเรียนรู้มาเชื่อมโยงตำแหน่งตามเส้นทางความก้าวหน้า (Career Path) ของแต่ละบุคคลผ่านระบบ E – Testing

ส่วนที่ 2 การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรภาคเอกชน : บริษัท Microsoft (Thailand) จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นการจัดการความรู้ที่การนำข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กรมารวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลที่มีคุณค่าและมีผลต่อการดำเนินงานขององค์กร สิ่งที่รวบรวมเป็นความรู้ คือ สภาพทั่วไปขององค์กร รายละเอียดขององค์กร นโยบาย ผลิตภัณฑ์ คู่ค้า การฝึกอบรม วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การวางแผนด้านงบประมาณประจำปี ฯลฯ ซึ่งบริษัท Microsoft (Thailand) นำข้อมูลเหล่านี้ในปีที่ผ่านมา มาวิเคราะห์สภาพทั่วไปขององค์กร รวมทั้งข้อมูลภายนอกองค์กร เช่น ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ นโยบายทางด้าน ICT โครงการจากองค์กรทางด้าน ICT เช่น SIPA NECTEC ATCI ATSI ฯลฯ  อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทำให้บริษัทสามารถวางแผนการดำเนินงานประจำปีได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทางบริษัทได้ให้คำแนะนำในการดำเนินการจัดการความรู้ ดังนี้

1.       KM Tools ที่นำมาใช้ควรเลือกให้เหมาะสมกับองค์กร ดังนี้

-          Portal เว็บท่าความรู้ นำมารวบรวมและเผยแพร่ความรู้

-          Blogs บันทึกความรู้ของพนักงานแต่ละคน สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยตนเอง

-       Wikipedia และ Google Knol การแบ่งปันความรู้ในรูปแบบสารานุกรมออนไลน์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรวบรวมสาระความรู้ขององค์กร สามารถสืบค้นรายละเอียดของความรู้เหล่านั้นได้

2.       เทคนิคในการดำเนินกิจกรรม KM ให้ประสบความสำเร็จ

-       การดำเนินกิจกรรม KM ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ ภารกิจ พันธกิจขององค์กรเพื่อเป็นคำตอบสำหรับผู้บริหารว่าองค์กรได้ประโยชน์อย่างไรบ้างจากกิจกรรมนี้

-          ผู้บริหารต้องให้การสนับสนุนและเอาใจใส่อย่างจริงจัง

-          การให้รางวัลจูงใจในการทำกิจกรรม เช่น ของรางวัล การเลื่อนขั้นเงินเดือน โบนัส  

ส่วนที่ 3 การจัดการความรู้ของภาครัฐ : กรณีศึกษากรมอนามัย กรมอนามัยได้นำกิจกรรมการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เข้ามาดำเนินการโดยสืบเนื่องมาจาก พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 11 กำหนดไว้ว่าส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประเมินผลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในการสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และมีหน่วยงานหลักในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานและให้คำปรึกษา คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งได้กำหนดให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยงานต้องดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้ ซึ่งกรมอนามัยก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้ โดยเริ่มต้นวางแผนการจัดการความรู้ว่าจะดำเนินการจัดเก็บความรู้จากผู้เกษียณ จัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัย Study Group และการศึกษาดูงาน เป้าหมายเพื่อการทำงานดีขึ้น คนในองค์กรเก่งขึ้น ความรู้ขององค์กรสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และวัฒนธรรมขององค์กรเปลี่ยนไป

แนวคิดการทำงาน คือ การกระตุ้นผู้นำองค์กร การสร้างแกนนำ และการสร้างกิจกรรม
มีรูปแบบการทำกิจกรรม
KM อย่างหลากหลาย เช่น การให้ผู้บริหารเปิดการฝึกอบรม / การสัมมนาในลักษณะของ KM การจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานที่รับผิดชอบ การจับกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามความสนใจ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการบันทึกด้วยตนเอง / แฟ้มภูมิปัญญา การนำ KM ไปใช้ในการจัดการประชุมใหญ่ การนำ KM ไปสร้างภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานในองค์กรและหน่วยงานภายนอก ฯลฯ การดำเนินกิจกรรม KM ของกรมอนามัยจะมีทีมงานกลาง เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการดำเนินงาน แต่ทีมงานหลักซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นตัวขับเคลื่อน KM โดยให้ออกแบบรูปแบบการดำเนินกิจกรรม KM กันเอง สามารถออกแบบได้อย่างหลากหลาย ให้เหมาะกับสภาพการทำงาน สภาพแวดล้อมที่ปฏิบัติงาน จากนั้นให้เขียนแผนการจัดการความรู้เพื่อเป็นการติดตามงานของผู้บริหารและทีมงานกลาง

หมายเลขบันทึก: 258176เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2009 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ
  • วันนี้มีบุญมาฝากครับ
  • http://gotoknow.org/blog/day4dream0001/257791
  • ช่วยสานต่อกำลังใจ เติมต่อพลังชีวิตให้น้องๆ ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งครับ
  • ขอบพระคุณครับ
  • ขอบคุณมากค่ะได้ความรู้แน่นเอียด

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท