คปก. ๑๐



         การประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ ๑๐ ของโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)   เป็นการประชุมวิชาการที่มีวิชาการเข้มข้นที่สุด เอาจริงเอาจังที่สุด มีการออกแบบเอกสารและออกแบบการประชุมดีที่สุดครั้งหนึ่งของวงการวิชาการไทย    เป็นการประชุมที่ใช้ภาษาอังกฤษในการนำเสนอและซักถาม    ไม่ว่าจะโดยชาวต่างประเทศหรือคนไทย


          การประชุมนี้มี ๔ ส่วนใหญ่ๆ คือ การบรรยายพิเศษ (๑๑) และรับเชิญ (๔๕ เรื่อง)   การนำเสนอผลการวิจัยของ นศ. คปก. แบบเสนอด้วยวาจา (๑๐๗)    แบบเสนอด้วยโปสเตอร์ (๔๗)   และการแจกรางวัล   


          คืนวันที่ ๓ เม.ย. ๕๒ มีการบรรยายเรื่องการปฏิรูปอุดมศึกษาของยุโรปตามโครงการ โบโลนญา (The Bologna Process)   โดย Prof. Philippe A. Bopp จากฝรั่งเศส    ซึ่งเท่ากับมาบอกความล้มเหลว อันเนื่องมาจากการที่ฝ่ายการเมืองต้องการใช้อุดมศึกษาในการรวมยุโรป    จึงสร้างโครงสร้างหลักสูตรอุดมศึกษาให้เป็นเอกภาพ    เพื่อเอื้อต่อ student mobility และต่อการจ้างงานทั่วประชาคมยุโรป    มีผลให้คุณภาพเลวลง


          ผมฟังแล้วงง ว่าทางยุโรปเขาเขลาขนาดเอาอุดมศึกษาด้านอาชีวะรวมกับอุดมศึกษาเพื่อวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันเช่นนี้เชียวหรือ    โชคดีที่ กกอ. มีมติให้แยกอุดมศึกษาไทยออกเป็น ๔ กลุ่ม  


         เช้าวันที่ ๔ เม.ย. ๕๒ ผมไปฟังการบรรยายรับเชิญ เรื่อง วิธีการใหม่ในการวิเคราะห์ภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงยีนที่นำไปสู่โรค บรรยายโดยศาสตราจารย์ฝรั่งเศส    ผมตื่นตาตื่นใจต่อภาพการวิจัยด้านพันธุศาสตร์ยุคใหม่ ที่ไม่ใช้ศึกษายีนเป็นรายยีนแล้ว    แต่ศึกษา Gene Network ที่หากมีการรบกวนเครือข่าย (อาจจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยยีนอื่น) ก็จะนำไปสู่โรค    เขาชิ้นเนื้อมาทำ microdissection เลือกเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ที่จำเพาะของโครโมโซมมาศึกษา    หรือศึกษา whole genome ก็ทำได้    และศึกษาหลายระนาบความลึก ได้แก่ genome, transcriptome, proteome, metabolome, interactome, physiome   ด้วยเครื่องมือที่วิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว    ได้ข้อมูลจากหลายระนาบป้อนเข้าสู่ระบบ bioinformatics    ที่ software ดึงเอาข้อมูลจาก database ทั่วโลกมาใช้ด้วย    วิเคราะห์ผลออกมาทำความเข้าใจความผิดปกติของ gene network ที่ก่อโรค    จากการวิจัยแบบนี้ เขาพบยีนเพิ่มขึ้น ๓ ยีน ที่เกี้ยวข้องกับโรคอ้วน


         โจทย์ใหญ่ เครื่องมือใหม่ราคาแพง ได้ high throughput data   ต้องประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง    ต้องดึงเอาข้อมูลจาก database อื่นๆ และจากรายงานผลการวิจัย  มาใช้แปลผล    นี่คือการวิจัยพันธุศาสตร์ยุคใหม่ 


         บ่ายวันที่ ๔ เม.ย. ผมไปฟัง Bharat B. Aggarwal จาก MD Anderson Cancer Center พูดเรื่อง Targeting Inflammatory Pathways for Prevention and Therapy of Cancer    พระเอกมี ๓ ตัวคือ  (๑) การอักเสบ  (๒) transcription factor ชื่อ NF-kappaB  (๓) ขมิ้น    พระเอกทั้ง ๓ นี้เหมือนกันที่มีฤทธิ์มาก ทำได้ทุกอย่างเหมือนกัน


         คือการอักเสบเป็นสาเหตุของโรคได้สารพัด รวมทั้งมะเร็ง    NF-kappaB ก็เป็นตัวเที่ยวกระตุ้นโน่นกระตุ้นนี่ทั่วไปหมด    และขมิ้นซึ่งสารออกฤทธิ์ตัวสำคัญคือ Curcumin รักษาสารพัดโรค รวมทั้งมะเร็ง 

   
         ผมชอบวิธีตั้งฐานคิดในการวิจัย ที่เริ่มจากความรู้ในตำนาน    เอามาพิสูจน์ด้วยวิธีการสมัยใหม่    เพื่อเป้าหมายเป็นยาแผนปัจจุบัน


         ผมได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานหลายท่าน    สังเกตเห็นชัดเจนว่าวิธีการจัดการ คปก. ได้กลายเป็นแบบอย่างของการจัดการโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ    โดยเฉพาะโครงการ สบว. และโครงการพัฒนาอาจารย์และวิจัย ของ สกอ.   โดยที่คนมักไม่ได้นึกถึงปัจจัยสำคัญของความสำเร็จที่ตัวอาจารย์ที่ปรึกษา ที่เป็นคนมีวัฒนธรรมวิจัย และ นศ. ได้ซึมซับวัฒนธรรมนี้เข้าตัวจากการทำงานวิจัยด้วยกัน    นี่คือการเรียนรู้ส่วนที่สำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องการวิจัยโดยตรง


         อย่างไรก็ตาม ผมสังเกตว่าในการเสนอผลงานของนักศึกษา ยังมีการซักถามหรืออภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกันน้อยมาก   ผมจึงได้เสนอ ศ. ดร. มนัส พรหมโคตร หัวหน้าโครงการประสานงานและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการวิจัย คปก. ว่าน่าจะหาทางสร้างวัฒนธรรมการประชุมที่มีการซักถามแลกเปลี่ยนอย่างสนุกสนาน    โดยกระซิบบอกให้ตัว นศ. ผู้นำเสนอหาหน้าม้ามาถาม ๓ คน คนละ ๑ คำถาม    เพื่อสร้างบรรยากาศ และเป็นเครื่องชักจูงคนอื่นๆ ให้ถามหรือออกความเห็น   และกำหนดให้การประชุมใช้เวลานำเสนอ ๖๐% ซักถามแลกเปลี่ยน ๔๐%  

    
        วันที่ ๕ เม.ย. ๕๒ มีการบรรยายรับเชิญถึง ๕ เรื่อง   ตามด้วยการแจกรางวัลผู้นำเสนอผลงานดีเด่น (ผมเป็นผู้แจก)    แล้วผมกล่าวปิดสั้นๆ


        การบรรยายพิเศษทั้ง ๕ เรื่องให้ความรู้ดีมาก    ทำให้คนห่างไกลวิชาการอย่างผมตื่นตาตื่นใจ  และเชื่อว่านักวิจัยที่มาร่วมคงจะได้เห็นโอกาส/โจทย์วิจัยมากมาย    ทั้งเรื่อง nanotoxicology   เรื่องการวิจัยด้านอาหารเพื่อช่วยลดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก   และการวิจัยด้านจริยธรรมในการวิจัยในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส


        เรื่อง Nanotoxicology บรรยายโดย Prof. Bengt Fadeel, Inst of Environmental Medicine, Karolinska Institute, Stockholm, Sweden   แสดงให้เห็นว่า nano particles ที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น ร่างกายมนุษย์ไม่รู้จัก   เมื่อเข้าไปในร่างกายมันคือสิ่งแปลกปลอม    ที่กลไกทางชีววิทยาภายในร่างกายต้องช่วยกันกำจัด    อนุภาคจิ๋วเหล่านี้รวมกันแล้วมีพื้นผิวกว้างใหญ่   เจ้า surface area นี่แหละที่ก่อเรื่อง    และเข้าใจว่าเมื่อเริ่มก่อกวนแล้วกลไกในร่างกายจะเดินเรื่องต่อ แม้ต้นเรื่องคืออนุภาคจิ๋วจะหมดไปแล้ว    จะเห็นว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของมนุษย์/ธรรมชาติ เป็นที่มาของโจทย์วิจัย  


       เรื่อง Accellerated Climate Changes : On the Seriousness and Need for Immediate Actions โดย Prof. Monique Y. Leclerc, U of Georgia, USA   ตรงกันข้ามกับเรื่องอนุภาคจิ๋ว ที่เป็นการวิจัยภาพใหญ่และเวลายาว    เขาเอ่ยถึงหลักฐานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกในช่วงล้านปี   จากการศึกษาเจาะเอา ice core ที่ขั้วโลกมาวิจัย   เมื่อรวมกับสาระจากเรื่อง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดย รศ. สิรี ชัยเสรี   ก็เห็นได้ชัดเจนว่า มนุษย์เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ จึงจะอยู่รอดในระยะยาว    และวิถีชีวิตใหม่นั้น คือวิถีชีวิตแบบพอเพียง    ไม่ใช่แบบฟุ่มเฟือยอู้ฟู่อย่างในปัจจุบัน    จะต้องมีการวิจัยเพื่อกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง ต่างๆ ทางการผลิต และการค้าอาหารอย่างมากมาย    มีการอภิปรายกันว่า ที่สำคัญคือต้องไม่บริโภคแบบเหลือทิ้งอีกต่อไป


          การวิจัยก็เหมือนอุตสาหกรรม มีการย้ายฐาน หรือ outsource ไปสู่ประชากรที่ทำวิจัยง่าย กฎข้อบังคับของประเทศไม่เข้มงวด   การวิจัยแบบนี้มักเป็นการวิจัยยา ในขั้นตอนที่ต้องการลองในคนจำนวนมาก   Prof. Reidar K. Lie, Dept of Bioethics, Clinical Center, NIH, USA amd University of Bergen, Norway  บรรยายเรื่อง Current Controversies in International Research Ethics   ชี้ให้เห็นว่า คำประกาศ เฮลซิงกิ ๒๐๐๘  ที่ระบุว่าการวิจัยที่ประเทศพัฒนาแล้วไปทำในประชากรของประเทศด้อยพัฒนา    ถือว่าไร้จริยธรรมหากไม่คำนึงถึงความต้องการด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มนั้น   และประชากรกลุ่มนั้นไม่ได้รับผลประโยชน์จากผลการวิจัยนั้น    เมื่อเอามาใช้ในสถานการณ์จริง ก็มีปัญหา    ดังตัวอย่างการทดลองยา Malarone ในอินโดนีเซีย   ซึ่งทางการอินโดนีเซียยึดตาม Helsinki Declaration 2008 ไม่อนุมัติ   เพราะยา Malarone เป็นยาป้องกันมาลาเรียสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาลาเรีย   ไม่มีประโยชน์ต่อคนบนเกาะนั้น ที่จะเป็นผู้ถูกทดลอง    รวมทั้งยาราคาแพง   แต่หัวหน้าชุมชนที่จะถูกทดลองโทรศัพท์ไปโต้แย้งทางการที่ จาร์กาต้า ว่าแม้ยาจะไม่มีประโยชน์ แต่การทดลองมีประโยชน์    เพราะบริษัทยาจะให้ผลประโยชน์แก่ชาวเกาะนั้นมากมาย   ช่วยให้สิ่งที่เป็นความต้องการด้านสุขภาพที่รัฐบาลอินโดนีเซียไม่สามารถให้ได้    ซึ่งในที่สุดรัฐบาลอินโดนีเซียก็อนุญาต


        ระหว่างฟัง ผมนึกในใจว่า นี่คืออาวุธของบริษัทยา    ที่จะเสนอผลประโยชน์ให้แก่หัวหน้าชุมชน และแก่ชุมชนที่ตนจะเข้าไปทดลองยา    เป็นการผิดจริยธรรมด้านให้สินบนหรือไม่ 

 

วิจารณ์ พานิช
๖ เม.ย. ๕๒

          

คำสำคัญ (Tags): #สกว.#520403#คปก.
หมายเลขบันทึก: 256901เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2009 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท