ประสบการณ์ที่ER


สนุกและได้รับความรู้ค่ะ

วันอังคารที่21เมษายนพ.ศ.2552 วันนี้ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่ดิฉันและเพื่อนๆได้มีโอกาสไปฝึกการปฏิบัติงานที่ERซึ่งได้รับความรู้และประสบการณ์ที่น่าจดจำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการผสมยาและนำยาที่ได้ผสมแล้วไปฉีดให้กัยผู้ป่วยหญิงที่มีอาการพูดเอะอะโวยวาย ด่าทอผู้คน แต่ยังมีพี่พยาบาลที่เข้าไปช่วยจับผู้ป่วยให้ก็สนุกดีค่ะ ได้สามารถควบคุมความตื่นเต้นของตนเอง ต้องตั้งสติมีสมาธิในการฉีด และบอกผู้ป่วยถึงการที่เราได้ฉีดยาให้ เหตุการณ์นี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดีรวมทั้งได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากพี่พยาบาลในเรื่องตำแหน่งของการฉีดยาต่างๆที่แตกต่างกันไป และได้ฉีดยาที่ห้องฉีดยาให้กับผู้ป่วยที่มารับการฉีดยาเป็นรายๆไป วันนี้ผู้ป่วยมารับการฉีดยาก็เยอะพอสมควรค่ะ ก็มีการแบ่งหน้าที่กันไป ช่วงเช้าดิฉันมีหน้าที่อยู่ที่ตรงรับผู้ป่วยจิตเวชรายเก่า  และรายใหม่ และต้องเก็บประสบการร์คนละ1 กรณีศึกษา กรณีศึกษาที่ได้ศึกษาเป็นผู้ป่วยรายเก่าที่ได้รับการรักษาตั้งแต่พ.ศ.2545 แต่ครั้งนี้ผู้ป่วยขาดยาไม่ได้ทานยามาหลายวันเกือบเป็นเดือนจึงมีอาการทางจิตขึ้นจนไม่สามารถควบคุมอาการได้ญาติจึงนำส่งมาที่นี่ วินิจฉัยโรค F20.3 (Schizophrenia undifferentiated  type) ดังนั้นดิฉันจะให้ทุกท่านไดเรียนรู้โรคนี้ไปพร้อมๆกันเลยค่ะ โรคจิตเภทSCHIZOPHRENIAคำจำกัดความ   โรคจิตเภท  เป็นโรคจิตที่รู้จักกันมานานและพบได้ทุกประเทศทั่วโลก  ซึ่งเป็นโรคจิตที่เกิดจากสาเหตุทางอารมณ์หรือจิตใจ  ( Functional ) ซึ่งเรื้อรังและรุนแรง  และพบมากที่สุด  ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของความคิด ( Thought ),  อารมณ์ ( Effect ) และพฤติกรรม ( Behavior )  ทำให้การดูแลเอาใจใส่ตนเอง  การปฏิบัติหน้าที่การงานและความสัมพันธ์กับสังคมเสียไปการรักษา  โรคจิตเภทเป็นโรคที่มีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน  การรักษาส่วนใหญ่ใช้หลายวิธีร่วมกัน  การรักษาผู้ป่วยจิตเภทอาจแบ่งออกเป็น  2  กลุ่มใหญ่    คือ

อุบัติการณ์ โรคนี้มักเกิดกับวัยรุ่น  หรือคนหนุ่มสาว  อุบัติการณ์สูงสุดในช่วงอายุ  15 – 34  ปี  ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นได้เท่าๆกัน  ประชากรทั่วไปร้อยละ 1 เป็นโรคนี้  ระดับเศรษฐกิจสังคมที่ต่ำจะเป็นมากกว่าระดับสูง  ซึ่งอาจเป็นเพราะความยากจน  การศึกษาน้อย  และข้อเสียเปรียบอื่นๆของคนจน  ทำให้เกิดความโน้มเอียงที่จะทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าหรือโรคนี้มีผลทำให้เศรษฐกิจและสังคมของผู้ป่วยต่ำลง  เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวไปรบกวนการศึกษา  การทำงาน  และการเงินที่ต้องใช้ในการรักษาตัวอยู่เป็นประจำก็อาจเป็นได้  นอกจากนั้นยังพบว่า  โรคนี้เกี่ยวข้องกับความกดดันทางอารมณ์อย่างรุนแรงด้วย

ชนิดของโรคจิตเภท สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน  ( American  Psychiatric Association, 1987 ) ได้แบ่งโรคจิตเภทออกเป็น  5  ชนิด  ในแต่ละชนิดมีลักษณะทั่วๆไป  ดังนี้

1)  ชนิดคาทาโทนิค  ( Catatonic  type )  ซึ่งแสดงความผิดปกติในการเคลื่อนไหว  5  ลักษณะ  คือ

1.1)  การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม  หรือการเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่างๆลดลง ( Catatonic  Stupor ) หรือไม่พูด  ( Mutism )

1.2)  ต่อต้านเมื่อจับให้เคลื่อนไหว   ( Catatonic Negativism )

1.3  แขน  ขา  และลำตัวเกร็ง  ถึงแม้ใช้กำลังบังคับก็ยังคงอยู่ในท่าเดิม  ( Catatonic Rigidity )

1.4 ตื่นเต้น  และเคลื่อนไหวอย่างไร้จุดหมาย  ทั้งๆที่ไม่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก  ( Catatonic Excitement )

1.5   อยู่ในท่าที่แปลกประหลาด  หรือท่าทางที่ไม่เหมาะสม  และคงอยู่เป็นเวลานานๆ  ( Catatonic Posturing )

2)  ชนิดแตกแยก  ( Disorganized  type)

  พูดจาไม่ต่อเนื่อง  อาจพูดเป็นคำ  พยางค์  หรือประโยคที่ไม่มีความหมายสัมพันธ์กันเลย  ทำให้ไม่เข้าใจว่ากำลังพูดเรื่องอะไร  มีพฤติกรรมแปลกประหลาด  แสดงอารมณ์ไม่เหมาะสม

 3)  ชนิดหวาดระแวง  ( Paranoid  type )

  มีความคิดหลงผิด  หวาดระแวงว่ามีคนปองร้าย  หรือหลงผิดว่าตนเองเป็นใหญ่  และมีประสาทหลอนทางหูเหมือนความคิดหลงผิด

4)  ชนิดไม่เด่นชัด  ( Undifferentiated  type )

  มีทั้งความคิดที่หลงผิด  ประสาทหลอน  พูดไม่รู้เรื่อง  พฤติกรรมแปลกประหลาดโดยไม่สามารถจัดเข้ากับชนิดใดชนิดหนึ่งดังกล่าวข้างต้น

5)  ชนิดหลงเหลือ  ( Residual  type )

  ไม่มีความคิดหลงผิด  ไม่มีอาการประสาทหลอน  พูดรู้เรื่อง  ไม่มีพฤติกรรมแปลกประหลาด  แต่มีอาการของโรคจิตเภทหลงเหลืออยู่บ้าง

สาเหตุสาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่นอน  แต่สันนิษฐานว่า  เกิดจากสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน  เชื่อกันว่ากรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุสำคัญ  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี,  สรีรวิทยาและจิตใจ  โดยผู้ป่วยซึ่งมีพันธุกรรมเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป็นโรคนี้ได้ง่ายอยู่แล้ว  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจะเกิดความผิดปกติของ  Catecholamine  Metabolism  ทำให้มี  Hyperactivity  ของ  Dopamine  การเปลี่ยนแปลงใน    Metabolism  ดังกล่าวนี้  และอาจร่วมกับความผิดปกติทางเคมีอย่างอื่นของสมองทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคจิตเภทได้ 

อาการและอาการแสดงโรคจิตเภทเป็นโรคที่สังเกตพบได้ไม่ยากนัก  เพราะมีอาการหลายอย่างที่ที่พบในโรคจิตเภทโดยไม่ค่อยพบในโรคจิตอื่น  และจากการซักประวัติครอบครัวจะพบว่า  มีความผิดปกติของความสัมพันธ์ในครอบครัว  หรือมีบุคคลที่เจ็บป่วยเป็นโรคนี้ในครอบครัว  บุคลิกภาพเดิมของผู้ป่วยมักเป็นคนเงียบขรึม  แยกตนเอง  ไม่ชอบสุงสิงกับใคร  ชอบคิด  ชอบเพ้อฝัน  เป็นคนเรียบร้อย  ไม่ค่อยเที่ยวเตร่  ไม่ชอบการแข่งขัน 

1)  การรักษาทางกายได้เรียนรู้สอบถามจากผู้ป่วยและสอบถามจากญาติ พร้อมกับเรียนรู้ไปพร้อมๆกับที่แพทย์ได้สอบถามญาติผู้ป่วยด้วย ได้เรียนจากแฟ้มประวัติถึงรายละเอียดต่างๆของผู้ป่วย  และนำเอามาศึกษา มาทำเป็นตรวจสภาพจิต

  การรักษากลุ่มนี้  ได้แก่  การรักษาด้วยวิธีการใดๆที่กระทำต่อร่างกาย  โดยใช้เครื่องมือ  อุปกรณ์ต่างๆ  ในปัจจุบันมีเพียงการรักษาด้วยยา  และการรักษาด้วยไฟฟ้า

1.1)  การใช้ยารักษาโรคจิต  ( Antipsychotic  Drug )

  การรักษาด้วยยาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  พบว่าเมื่อใช้ยารักษาโรคจิต  เช่น  Phenothiazine  หรือ  Butyrophenone  ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นร้อยละ 75 ในเวลา  6  สัปดาห์อาการของโรคจิตต่างๆจะลดลง  หรือหายไป  และพฤติกรรมของผู้ป่วยจะดีขึ้นด้วย  ในจำนวนนี้ร้อยละ  46  ไม่มีอาการของโรคจิตอีกเลย  เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้ว  ควรใช้ยาเป็น  Maintenace  Treament  ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี  เพราะเมื่อหยุดยาโอกาสที่โรคจะเป็นรุนแรงขึ้นใหม่มีมาก  ยังไม่มีผู้ใดอบได้แน่นอนว่า  ควรใช้ยาเป็นเวลานานเท่าไร  จึงจะเพียงพอกับการรักษา  การใช้ยานอกจากทำให้อาการของโรคจิตดีขึ้นแล้ว  ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีการปรับตัวและทนต่อความเครียดได้ดีขึ้น

  ยาที่ใช้รักษาโรคจิตที่ออกฤทธิ์นาน  เช่น  Fluphenazine  Decanoate  ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก  4-6  สัปดาห์  จะได้ผลดีในผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังที่ไม่มีอาการแบบ  Apathy  และ  Inappropriate และสะดวกกับผู้ป่วย  เพราะไม่ต้องรับประทานยามากซึ่งผู้ป่วยมักเบื่อและไม่ค่อยรับประทานอย่างสม่ำเสมอ  ทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นบ่อย

1.2)  การรักษาด้วยไฟฟ้า  ( Electroconvulsive  Therapy, E.C.T  )

  การรักษาด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วยโรคจิตเภท  แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันมากและไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป  แต่จิตแพทย์ส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าเป็นการรักษาที่มีประโยชน์มากและบางครั้งก็ขาดไม่ได้เลยถ้าต้องการช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้  การรักษาด้วยไฟฟ้าทำให้อัตราหาย  ( Remission  Rate )  ในกลุ่มที่ใช้การรักษานี้ด้วยดีกว่ากลุ่มที่ใช้ยารักษาเท่านั้น  อย่างไรก็ตามไม่ควรที่จะนำมาใช้เป็นการรักษาอันดับแรก  นอกจากมีข้อบ่งชี้ชัดเจนเท่านั้น  โดยทั่วไปข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วยจิตเภทมีดังนี้

-  ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง  (  High  Suicidal  Risk )  ไม่ว่าจะเป็นด้วยอาการซึมเศร้า  ประสาทหลอน  หรือหลงผิดก็ตาม  หากใช้การรักษาอื่นอาจไม่ทันการณ์  และการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้มีความยากลำบากมาก  เพราะผู้ป่วยมักจะทำอะไรที่คาดการณ์ยาก

-  ผู้ป่วยที่มีอาการ  Catatonia  อย่างรุนแรง ในรายที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเฉย  ไม่พูด  ไม่กินอาหารและยา  การดูแลผู้ป่วยมักยากลำบาก  และการให้ยาอาจเกิดพิษได้ง่ายหากต้องใช้ยานขนาดที่สูง  ในรายเช่นนี้การรักษาด้วยไฟฟ้าจะเป็นการรักษาที่ให้ผลเร็วที่สุด  ส่วนในรายที่เอะอะโวยวายก็อาจได้รับอันตราย  และการให้ยาในขนาดที่สูงอาจเกิดพิษได้ง่าย  ควรใช้การรักษาด้วยไฟฟ้าจะช่วยให้ผู้ป่วยสงบได้เร็วและปลอดภัยกว่า

-  ผู้ป่วยที่มีอาการทางอารมณ์  เช่น  Mania  หรือ  Depress  ที่รุนแรงพวกนี้จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยไฟฟ้าได้ดี  และให้ผลเร็วกว่าการรักษาด้วยยา

-  ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตรุนแรงและมีพฤติกรรมก้าวร้าว  ( Violence )  จนอาจเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น  การใช้ยามักทำได้ยากและได้ผลช้า  การรักษาด้วยไฟฟ้าจะทำให้การดูแลง่ายขึ้น  และลดอันตรายต่อตัวผู้ป่วยและผู้อื่น

-  ผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อฤทธิ์ยาได้  เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงที่รุนแรงหรือสาเหตุอื่น                การรักษาด้วยไฟฟ้าจะมีความปลอดภัยมากกว่า

-  ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองด้วยการรักษาด้วยวิธีอื่น  หรือการรักษามานานพอสมควรแล้วอาการไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรการรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ดีและผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น

     การรักษาด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วยโรคจิตเภทต้องใช้จำนวนครั้งมากกว่าโรคอื่นคือ  อย่างน้อย 

8-12  ครั้ง  หากใช้ขนาดไม่เพียงพอมีโอกาสกลับเป็นใหม่ได้ง่ายกว่า  ผู้ป่วยบางรายตอบสนองต่อการรักษาด้วยไฟฟ้าได้ดีโดยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น

 2)  การรักษาทางจิต

  การรักษากลุ่มนี้ใช้วิธีการทางจิตเป็นสำคัญ  โดยเน้นการพูดคุยกับทั้งตัวผู้ป่วยเองโดยลำพังและเป็นกลุ่ม  การพูดคุยกับญาติ  การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนการนำหลักการของพฤติกรรมบำบัดมาประยุกต์ใช้ด้วย  โดยทั่วไปการรักษาทางจิตมักต้องให้ควบคู่กับการใช้ยาทางจิต

2.1)  จิตบำบัดรายบุคคล  ( Individual  Psychotherapy ) 

  จิตบำบัดรายบุคคล  เป็นวิธีหนึ่งที่ผู้บำบัดสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล  ให้เวลาแก่ผู้ป่วยเพื่อได้พูดถึงปัญหาความคับข้องใจที่ผู้ป่วยมีโดยผู้บำบัดใช้เทคนิคการสื่อสารเพื่อการบำบัดเพื่อที่จะทำความเข้าใจเหตุการณ์ชีวิตของผู้ป่วยทำความเข้าใจพัฒนาการของผู้ป่วยและทำความเข้าใจในอาการแสดงออกของผู้ป่วยหาความหมายของความคิดผู้ป่วยที่แสดงออกในรูปความคิดหลงผิดหรือภาวะประสาทหลอนผู้บำบัดกระตุ้นให้ผู้ป่วยพูดถึงประสบการณ์ก่อนการเจ็บป่วย  ให้คำชมเชยผู้ป่วยเหม่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่พึงปรารถนาและเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของผู้ป่วย  นอกจากนี้  ผู้บำบัดอาจจะใช้เทคนิคอื่นเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ต้องการ  เช่นการผ่อนคลายความเครียด  เทคนิคลดความวิตกกังวล

2.2)  จิตบำบัดแบบกลุ่ม  ( Group  Therapy )

  ในผู้ป่วยโรคจิตเภท  การบำบัดแบบนี้มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ในด้านต่างๆ  เช่น  การสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วย  การเข้าสังคม  การแก้ไขปัญหา  การคิดโดยใช้เหตุผลตามสภาพความเป็นจริง  การปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม  และการยอมรับการเจ็บป่วยของตนเอง  วิธีการส่วนใหญ่เป็นแบบประคับประคอง  ไม่ใช่จิตวิเคราะห์ที่ลึกซึ้ง  หรือมุ่งแก้ไขที่ระดับจิตไร้สำนึกแต่อย่างใด  รูปแบบที่ใช้อาจทำได้หลายแบบ  เช่น  กลุ่มพูดคุยแก้ปัญหา  กลุ่มสันทนาการ  เป็นต้น

  2.3)  ครอบครัวบำบัด  ( Family  Therapy )

  การรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท  ต้องยึดหลักในการที่จะให้ครอบครัวผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น  ญาติผู้ป่วยนอกจะให้ประวัติและข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวผู้ป่วยแล้ว  ยังช่วยให้ผู้รักษาได้เห็นปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว  ตลอดจนพยาธิสภาพของครอบครัว  อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเจ็บป่วย  การทำครอบครัวบำบัดมีจดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวผู้ป่วยให้เป็นไปในทางที่เหมาะสม  และสร้างสรรค์  ความสัมพันธ์ที่ผิดปกติควรได้รับการแก้ไข  เช่น  การควบคุมผู้ป่วยมากเกินไป  หรือปฏิบัติต่อผู้ป่วยในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเครียด  การพบญาติและผู้ป่วยพร้อมกัน  จะช่วยให้ทุกฝ่ายได้ระบายความรู้สึกที่มีต่อกัน  และเรียนรู้วิธีที่จะปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม  มีการแสดงออกของอารมณ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อกัน

2.4)  สิ่งแวดล้อมบำบัด  ( Milieu  Therapy )

  การรักษาโดยสิ่งแวดล้อม  เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิตใจ  การงานและสังคมให้ผู้ป่วย  เป็นการป้องกันการเสื่อมของบุคลิกภาพเนื่องจากการอยู่โงพยาบาลนาน  วิธีการทำได้โดยการจัดสิ่งแวดล้อมของหอผู้ป่วยให้ดี  ไม่ว่าจะเป็นหอผู้ป่วยใน  หรือโรงพยาบาลกลางวันให้มีบรรยากาศดี  มีสภาพที่น่าอยู่ไม่แลดูเหมือนห้องขัง  มีการแบ่งหน้าที่กันทำ  และประสานงานกัน  มีการประชุมปรึกษาและวางแผนการรักษาร่วมกัน  มีการจัดกิจกรรมกลุ่มเป็นหลาย    รูปแบบ  กิจกรรมกลุ่มแต่ละกลุ่มมีจุดมุ่งหมายในการช่วยเหลือผู้ป่วยในแง่มุมต่างกันออกไป  แต่โดยส่วนรวมแล้วจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีการปรับตัวดีขึ้นทั้งทางด้านสังคม  การงานและการช่วยเหลือตนเอง  ทำให้ผู้ป่วยไม่แยกตัวเองออกจากสังคม  หรือเป็นภาระแก่สังคมมากเกินไป  ผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการเรื้อรังและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแล้ว  การรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก

  การรักษาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  มักให้ร่วมกันในผู้ป่วยจิตเภททุกราย  เพราะผลการวิจัยพบว่า  การรักษาที่ให้ร่วมกันทั้งทางกายและจิตใจ  ได้ผลดีกว่าการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว

 

และก็ได้ทำหน้าที่วัดสัญญาณชีพผู้ป่วยทั่วๆไป

  วันนี้ดิฉันได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบแบบแผนที่ ERโรงพยาบาลศรีธัญญาไม่ว่าจะเป็นการศึกษาจากอาการแรกรับของผู้ป่วยโดยตรงได้ศึกษาไปพร้อมๆกันกับเอาทฤษฎีที่ได้เรียนมามาเปรียบเทียบอาการที่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงค่ะ ได้เรียนรู้ถึงหลักของการฉีดยาจากพี่พยาบาลที่มีหน้าที่ฉีดยาโดยมีหลัก 5 Right คือฉีดยาให้ถูกขนาด ถูกวิธี ถูกเทคนิค ถูกคน ถูกเวลา หวังว่าทุกท่านคงจะได้รับความรู้จากที่ได้เข้ามาศึกษาบทความบรรยายที่ดิฉันได้เขียนบรรยายมานี้นะคะ ขอขอบคุณล่วงหน้ามากค่ะ.......................

หมายเลขบันทึก: 256821เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2009 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดี ค่ะ

ขอให้ สนุก และมีความสุข กับการทำงาน นะคะ

การช่วยเหลือคนที่มีความผิดปกติ ทางใจ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือ ไปถึง ครอบครัว ของเขาด้วย

เป็นกำลังใจให้ค่ะ

นุ่นไม่เห็นมีใครสนมาอ่านของเราบ้างวะ

ขอบคุณช้าไปมั้ยคะ ความรู้ของพี่ๆมีประโยชน์ต่อน้องๆ ที่กำลังขึ้นฝึกจิตเวชมากคะ


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท