อายุยืนดีหรือไม่ อะไรเป็นปัจจัยทำให้คนอายุยืน


ทำไม..คนบ้านป่าจึงอายุยืน เป็นคำถามที่ควรค้นหาคำตอบ

หลายคนคงอิจฉา หากพบเห็นคนที่มีอายุยืน......อาจเป็นเช่นนั้นจริง เพราะผู้คนมักจะพูดว่า "น่าอิจฉานะ คนมีบุญ อายุยืนจังเลย อยากมีอายุยืนเหมือนพ่อเฒ่าจัง ได้เห็นลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง"    แต่..สำหรับผมแล้ว คงไม่อิจฉาเหมือนคนอื่น แต่มีความรู้สึกทุกขเวทนาเสียมากกว่า.. ทำไม

ช่วง 2-3 ปีนี้ ผมได้มีโอกาสไปพบปะผู้คน ชาวบ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอนค่อนข้างมาก รวมทั้งการไปร่วมงานศพของผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลาย มีความรู้สึกว่า  พ่อเฒ่า แม่เฒ่าทั้งหลายเหล่านั้นมีอายุยืนกันแทบทุกคน เช่น แม่เฒ่านุบ้านปางหมู อายุ 91 ปี แม่เฒ่ามาดบ้านปางหมูอายุ 88 ปี พ่อเฒ่าแกงบ้านทุ่งกองมูอายุ 102 ปี พะตี่ที่บ้านห้วยผีอายุ 104 ปี หมื่อก่าบ้านมะขามป้อมอายุ 114 ปี มันจึงเกิดข้อสงสัยในใจว่า ทำไมคนบ้านเราถึงอายุยืนกันจังเลย ก็คาดคะเนคำตอบแบบงูๆปลาๆว่า เออ..คงเป็นเพราะอากาศดี สิ่งแวดล้อมดี อาหารธรรมชาติปลอดสารพิษ และไม่ค่อยมีเรื่องราวรุงรังหัวใจ   เมื่อสอบถามลูกหลาน ลูกหลานต่างก็ภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตนที่มีอายุยืน เพราะมีความเชื่อว่า ลูกหลานก็จะมีอายุยืนตามบรรพบุรุษด้วย มันเป็นเครือ เป็นตระกูล   เขาว่าอย่างนั้น......

ผมกลับมาครุ่นคิด โดยตั้งคำถามว่า ชีวิตหนึ่งของคนเรา เราแบ่งชีวิตเป็นกี่ช่วง ช่วงไหนที่เรามีความสุขที่สุด ได้พักผ่อน ผ่อนคลายความเหนื่อยยากจากทุกสิ่งทุกอย่าง หลายคนอาจจะบอกว่า "วัยชรา"สิ เป็นช่วงเก็บเกี่ยวความสุขมากที่สุด แต่..ผมว่าไม่จริง เพราะพิสูจน์จากตัวเองที่เริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มเหลือน้อย อายุย่างเข้า 56 ปี แหม...มันไม่เอาไหนเลย ร่างกายเริ่มถดถอยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โรคต่างๆก็เริ่มรุมเร้า ออกจะมีทุกข์และกังวลใจเสียมากกว่า  บางครั้งเบื่อตัวเอง เบื่อผู้คน ทนไม่ได้กับสิ่งที่ควรจะทน และก็นั่นแหละบางครั้งกลับทนได้กับสิ่งที่ไม่ควรจะทน  วุ่ยวายไปหมด ไม่เข้าใจตัวเอง (คนมีความรู้เขาแอบกระซิบบอกว่า นี่แหละที่เขาเรียกวัยทอง)  เออ....ก็ดีนี่   เรามีวัยเป็นทอง เก๋อย่าบอกใคร

ถามว่าคนที่อายุยืน ช่วงชีวิตที่เขาควรจะสบายที่สุดคือวัยชราใช่ไหม เป็นช่วงพักผ่อนของชีวิตที่ยาวที่สุด จากชีวิตที่เคยตรากตรำมาอย่างโชกโชน  และพวกเราก็คงไม่ปฏิเสธว่าช่วงนี้แหละที่เราต้องต่อสู่กับความเจ็บป่วย ความถดถอยของร่างกาย นั่นไง....ใครว่าเป็นสุข ใครว่าสบาย ไม่จริงหรอก ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงไม่อยากมีชีวิตที่ยืนยาวมากนัก ผู้เฒ่าหลายคนต้องนอนให้ลูกหลานป้อนข้าวป้อนนำอยู่หลายปีกว่าจะเสียชีวิต เป็นภาระให้ลูกหลาน ยิ่งลูกหลานสมัยนี้ไม่ค่อยมีเวลาเอาใจใส่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เหมือนสมัยก่อนเสียด้วย แล้วจะอยู่ไปทำไมให้เป็นภาระของคนอื่น หรือใครว่าไม่จริง

ผมเริ่มเข้าใจชีวิต ตามหลักธรรมแล้วนะนี่....หลักไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แปลว่า ชีวิตมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราหนีไม่ได้สักคน    เออ...จริงนะ  สิ่งที่แน่นอน คือความไม่แน่นอนนั่นเอง

ยิ่งเขียนก็ยิ่งว้าวุ่น....พอแล้วครับ   สำหรับผมแล้ว  ขอสัก 60 ปี(ช่วงนี้ทำแต่งาน) บวก15ปี  (ขอดูความสำเร็จของเจ้าตัวเล็ก)  บวกอีก 5 ปี (สำหรับอำลาทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้รวมทั้งลาเมียทุกคน)  หมายเหตุ...ไม่ขอนอนกินอย่างสบายอยู่บนเตียงโดยเด็ดขาด อันนี้ถือว่า..ขอร้อง (ไม่พึงปราถนาพระเจ้าค่ะ)

อาจารย์เก

หมายเลขบันทึก: 256584เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านเรื่องดีดีเตรียมตัวรับกับชีวิตในวันข้างหน้าอย่างไม่ประมาท

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณคุณสุวัฒน์เป็นอย่างสูง

ไม่มีอะไรดีไปกว่าการอ่านหนังสือเรื่องดีๆที่ท่านว่า หนังสือธรรมะดีๆผมมักสรรหามาไว้อ่าน แล้วนำเอาผลึกขององค์ความรู้นั้นถ่ายทอดไปสู่ประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดใกล้เคียง เป็นความสุขในบั้นปลายของชีวิต แถมยังเป็นการ "ส่งเสริมการเข้าถึงความรู้" อีกด้วยครับ

ขอบคุณอีกครั้ง

อาจารย์เก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท