ความเชื่อจากประเพณีลากพระของอำเภอไชยา


       คุณแม่ของผู้เขียนเป็นคนใจดี ชอบคุย ชอบเล่าสิ่งต่างๆให้ลูกหลานฟัง ขณะนี้ท่านก็แก่มากแล้ว ถ้าไม่เอาเรื่องที่ท่านเล่ามาเขียนมาเล่าบ้างก็น่าเสียดาย จึงขอบันทึกเรื่องเล่าอันเป็นประโยชน์ให้ทุกท่านที่สนใจได้อ่านกัน

       เมืองไชยา หรืออำเภอไชยา เป็นเมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์และมากด้วยประเพณีที่งดงามมาช้านาน ประเพณีต่างๆเหล่านี้ล้วนช่วยร้อยรัดประชาชนให้อยู่ด้วยความสามัคคีและสันติสุข ปัจจุบันอำเภอไชยาเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดที่มีคำขวัญว่า เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ นั่นเอง 

     ประเพณีลากพระหรือชักพระของอำเภอไชยา มีขึ้นในวันหลังออกพรรษา 1 วันตามความเชื่อในพุทธศาสนาว่า วันนี้พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการเทศนาธรรมโปรดพุทธมารดาจากดาวดึงส์ เมื่อพระองค์กลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงจัดทำบุษบกเพื่อให้พระองค์ประทับ และนำอาหารใส่บาตรพระพุทธองค์ ด้วยชาวพุทธที่มารับเสด็จมากมาย พระองค์จึงไม่สามารถรับบิณฑบาตรได้ทั่วถึง พระองค์จึงให้มัดทำเป็นข้าวต้มและโยนลงบาตรพระพุทธองค์ จากความเชื่อดังกล่าวเมื่อถึงวันนี้ ชาวบ้านอำเภอไชยาจึงจัดทำเรือพนมพระ จัดทำบุษบกนำพระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนพระพุทธองค์ขึ้นบุษบก และทำข้าวต้มเป็นส่วนหนึ่งของขนมสำหรับตักบาตรพระ ในอำเภอไชยาเมื่อผู้เขียนยังเด็กก็จะมีการทำเรือพนมพระอยู่ 2 วัดคือ วัดพระบรมธาตุไชยา และวัดประสพชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดใดก็พาลูกหลานไปลากเรือพระ หรือเรือพนมพระที่วัดนั้น และวัดชนะก็จะมีชื่อเสียงเป็นหน้าตาของชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดนั้น และถือว่าเป็นบุญกุศลที่ได้ลากพระหรือชักพระด้วย และนอกจากนั้นทุกๆบ้านก็ทำข้าวต้มห่อใบกระพ้อเพื่อตักบาตรพระที่นิมนต์มาจากทุกวัดในอำเภอไชยา ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เด็กๆดีใจที่จะได้ไปทำบุญตักบาตรและลากพระหรือไปดูการลากพระในวันรุ่งขึ้น

       คุณแม่เล่าให้ฟังว่าชาวไชยาเชื่อกันว่า ถ้าวัดพระบรมธาตุไชยาชนะ ข้าวจะแพง ถ้าวัดประสพชนะข้าวจะถูก และถ้าตอนตักบาตรหัวถนน(ในสี่แยกตลาดไชยา) มีข้าวหกเยอะ ข้าวจะถูก ถ้าปีใดข้าวหกน้อยหรือไม่หกเลยข้าวจะแพง ตอนเด็กๆจึงเชียร์ให้วัดพระบรมธาตุไชยาชนะทุกปี เพราะอยากให้ข้าวมีราคาแพง คุณแม่จะได้ขายข้าวได้ราคามากขึ้น วัดสองวัดนี้ระยะห่างจากตลาดใกล้เคียงกัน พอผู้เขียนโตขึ้นหน่อยจึงเข้าใจว่า ที่ชาวไชยามีความเชื่ออย่างนี้เพราะชาวไชยาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือทำนาเป็นส่วนใหญ่ ทิศตะวันออกของไชยาติดต่อกับทะเล ถัดจากนั้นจะเป็นทุ่งใหญ่เป็นผืนนาอันอุดมสมบูรณ์ ผู้เขียนจำได้อย่างแม่นยำว่า เวลาไปตลาดสิ่งที่คุณแม่สั่งให้ซื้อคือกะปี หัวหอม กระเทียม เท่านั้นนอกนั้นก็ไม่ต้องซื้ออะไรเลย เพราะทุกอย่างมีพร้อมแล้ว ชาวนายากจนแต่ไม่อดอยาก ผักก็ปลูกเองบ้าง เก็บในธรรมชาติ ในท้องทุ่งนาบ้าง ไข่ไก่ ไข่เป็ดก็มีกินเพราะเลี้ยงเอง ปลาก็หาได้ตามท้องนาไม่ขัดสน แต่ชาวนาปีหนึ่งจึงจะขายข้าวสักครั้ง และต้องเก็บไว้เพื่อให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียนกัน ข้าวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดทางเศรษฐกิจของชาวไชยา

       ในปัจจุบันประเพณีลากพระก็ยังมีอยู่และทำกันหลายวัด ความเชื่อข้างต้นหมดไป ชาวไชยาแปรเปลี่ยนนำต้นปาล์มไปปลูกในพื้นที่นาแทน เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เห็นว่าอะไรที่ชาวบ้านนำพื้นที่เพาะปลูกข้าวมาปลูกเป็นอย่างอื่น ผู้เขียนก็เคยคิดเหมือนกันว่าในอดีตเกิดสงครามสองปีชาวไชยาก็ไม่อดตายเพราะมีข้าวกิน

       ปัจจุบันเกิดสงครามสักเดือน ถนนถูกปิดข้าวจากอิสานบรรทุกลงมาไม่ได้ เราก็คงได้กินลูกปาล์มแทนเป็นแน่แท้เลย...แต่คงไม่มีกรณีอย่างนี้หรอกนะ

       ทุกอย่างที่คุณแม่เล่านั้น ล้วนตรงกับความเชื่อทางศาสนาพุทธตามที่ผู้เขียนได้เรียนหนังสือในโรงเรียนในเวลาต่อมา ส่วนความเชื่อของคนไชยาเกี่ยวกับประเพณีการลากพระ ส่วนนี้แหละที่ไม่มีในหนังสือ ผู้เขียนจึงต้องบันทึกไว้ให้ผู้สนใจได้อ่านกัน คุณแม่ผู้เขียนมีความรู้มากทีเดียวทั้งที่ท่านจบแค่ ป.4 เท่านั้นเอง ท่านมีความรู้จากประสบการณ์และการบอกเล่ามาเช่นกัน

                        เรือพระบก หรือเรือพนมพระ ของอำเภอไชยา

หมายเลขบันทึก: 256099เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2009 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ดีมากครับ ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมของเมืองไชยา

สวัสดีค่ะ คุณเมืองเก่า

. ขอบคุณค่ะที่เข้ามาเยี่ยมชม เป็นเรื่องที่คุณแม่เล่าให้ฟัง และดิฉันก็เห็นเช่นนั้นจริงๆด้วยค่ะ เป็นการช่วยแพร่วัฒนธรรมด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ ผศ.ดร. เมธา สุพงษ์

ขอบคุณค่ะที่แวะเข้ามาอ่านบันทึก และรู้สึกดีใจที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีค่ะ

คงสบายดีนะคะ

ผมเพิ่งกลับมาจากไชยา ที่บ้านเป็นศูนย์ข้าวบ้านนาหลวงตอนนี้กำลังปรับปรุงพันธ์ข้าวหอมไชยาและฟื้นฟูการทำนาแบบดั้งเดิมอยู่ผมหวังว่าข้าวหอมไชยาต้องเป็นพันธ์ข้าวของไทยเพื่อถวายแด่ในหลางและการทำนาเป็นอาชีพของบรรพบุรุษลูกหลานต้องต่อยอดไม่ใช่ทิ้งขว้างไม่สนใจซึ่งเท่ากับดูหมิ่นตระกูลของตัวเอง ผมมีเป้าหมายว่าในอนาคตต้องมีการทำนาแบบมีการบริหารจัดการ ชาวนาจึงจะอยู่ได้ ขอให้ผู้ที่มีความรู้ที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนการทำนาด้วยครับ บรรพบุรุษจะได้ดีใจที่ไม่ทิ้งอาชีพที่ท่านทำเลี้ยงประเทศมานะครับ ขอให้หันหน้ามาช่วยกันครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ คุณประสิทธิ์ นกบิน

.ตอนดิฉันเด็กๆ ขณะที่ไปช่วยแม่ทำนา ก็พิจารณาว่าสักวันหนึ่งจะต้องหมดคนทำนา เพราะพ่อแม่ไม่อยากให้ทำนา เพราะเหนื่อยยากและได้เงินน้อย เมื่อลูกๆทุกบ้านเรียนหนังสือจึงไปประกอบอาชีพอื่นกัน นาจึงไม่ค่อยมีคนทำ ทิ้งร้างว่างเปล่า น่าเสียใจตรงที่เอาที่นาไปปลูกปาล์มน้ำมัน ข้าวหอมไชยาก็เกือบจะสูญพันธุ์ เพราะชาวนาหันมาปลุกข้าวสามเดือนตามเจ้าหน้าที่รัฐแนะนำ เพราะได้ผลผลิตมาก ปลุกได้ปีละ 2 ครั้ง แต่กินไม่ได้ แข็งและไม่อร่อย และจะได้เนเพิ่มขึ้น ข้าวหอมไชยาได้ผลผลิตน้อยแต่กินอร่อยและหอมมาก ถ้ารัฐบาลส่งเสริมราคาข้าว ในอดีตคงไม่มีใครละทิ้งนา ก็ดีใจที่คุณเห็นความสำคัญในข้อนี้

.ขอบคุณค่ะที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกัน

ขอที่มาของประเพณหาบวัดหรือประเพณีสละพัดหน่อยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท