รอยเกวียนที่หายไป


วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตไทยให้หายไป

รอยเกวียนที่หายไป

ชีวิตที่พอเพียง ก่อเกิด ดำเนินการสืบสานจากบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ส่งผ่านมอบให้ลูก หลาน ตามต้นตระกูล ในครอบครัวขยาย เมื่อลูกมีครอบครัวใหม่ก็ออกเรือนไปอยู่บริเวณรายรอบบ้านใกล้เรือนเคียง บางครอบครัวต่อสะพานจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่งหลังต่อหลัง เชื่อมสัมพันธ์กัน ผู้สูงอายุก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูก หลาน เหลน อย่างอบอุ่น ไม่เงียบเหงาว้าเหว่เหมือนปัจจุบัน
เมื่อฝนแรกมาถึง เกวียนใหม่ก็เริ่มปฏิบัติหน้าที่ ทั้งสีของไม้ใหม่ ประกอบกับเสียงล้อที่ทะยานไปตามแรงวัว ควาย ที่ได้กลิ่นอายของดินกับยอดหญ้าที่ยังคงเหลือน้ำค้างติดอยู่เป็นประกาย รับแสงแดดยามเช้าตรู่ มันเป็นโอโซนที่สดชื่น ทุกครอบครัวรู้ว่าฤดูกาลประกอบอาชีพเริ่มต้นขึ้น ใครมีเกวียนใหม่ก็เป็นที่จับตาของผู้คน ยิ่งเมื่อมีวัว ควาย ที่ได้รับการเลี้ยงดูมาเป็นอย่างดี อ้วนพีแข็งแรงมาเทียมคู่ มันเป็นความเท่ห์มีเสน่ห์อย่าบอกใคร ฝนตกลงมาใหม่ ๆ ก็จะเริ่มไถไร่สวนเอาแรงกัน วันนี้จะไปไถไร่ของใครบ้างก็กำหนดปฏิทินส่วนมากก็จะนับที่ขึ้นกี่ค่ำหรือแรมกี่ค่ำ ทุกวันพระจะหยุดไปทำบุญและไม่ใช้งานวัว ควาย ที่มีพระคุณจะเป็นบาป การไถอาจจะครบสัปดาห์ก็เวียนมาไถกลบและร่วมมือลงแขกปลูกแตงไทย แตงโม ข้าวโพด พริก มะเขือ ฟักทอง มันเทศ งา ถั่วฯลฯ จะเป็นพวกพืชระยะสั้น หรือพืชผักสวนครัว พอถึงฤดูกาลลงมือทำนาก็ได้ใช้เป็นอาหาร
"เกวียน" คือ พาหนะสำคัญประจำครอบครัว นอกจากมีเรือนหอสำหรับครอบครัวใหม่ เกวียนจะเป็นสิ่งสำคัญลำดับถัดมา ทั้งใช้ในการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ ชาวบ้านยังทำเกวียนขึ้นใช้เองไม่ได้ ถึงหน้าแล้ง ก็ไปซื้อมาจากภาคเหนือเป็นชิ้นส่วนนำขึ้นรถไฟมา และนำมาประกอบเป็นเล่มเกวียน ก่อนลงมือทำนาก็จะขนของใส่เกวียนไปไว้บ้านนา(เป็นบ้านชั่วคราวส่วนมากหลังคาหญ้าแฝก โครงไม้ไผ่ ปูพื้นด้วยฟาก) หากเป็นพื้นที่สูงที่กว้างใหญ่ก็จะมีหลายครอบครัวไปสร้างบ้านอยู่ด้วยกันตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ตื่นเช้าตรู่ตะวันยังไม่ขึ้น จูงวัว จูงควาย แบกไถลงสู่ทุ่งนา ก่อนเริ่มลงมือทำนาก็จะทำพิธีแรกนาก่อน การไถนาก็จะลงแขกเอาแรงกันอย่างสนุกสนาน จากวันเป็นเดือน หลาย ๆ เดือน วิถีชีวิตที่ซ้ำ ๆ และเพิ่มความละเอียดรอบคอบ ตามแผนที่วางไว้ประจำปี ทั้งแผนระยะกลาง ระยะยาว ครอบครัวใดปีนี้จะจัดงานบวช งานแต่งงาน งานทำบุญ ก็ต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะทำนามากน้อยแค่ไหน เด็ก ๆ จะเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ได้รับโอกาสให้ทดลองลงมือทำ (นัยว่าปัจจุบันหลายโรงเรียนให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติทำนา ดำนา เกี่ยวข้าว ตำข้าว แปรรูปข้าวเป็นอาหาร ผลที่ได้รับเด็กเห็นคุณค่าของข้าวมากขึ้นไม่กินทิ้งกินขว้างกินข้าวหมดทุกเม็ด) เด็ก ๆ จะได้รับการฝึกหัดให้เหยียบ บีบนวด เพื่อผ่อนคลายแก้เมื่อยแก้ปวดให้กับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีในครัวเรือน หลังจากตกกร้า ดำนาไม่นานนัก ใบข้าวจะเริ่มแตกใบอ่อนไหวพลิ้วเล่นลม มองไปทางไหนก็สบายตา ทรัพย์ในดินสินในน้ำ ปลา กบ เขียด อึ่งอ่าง แมงดาฯลฯ สัตว์ต่าง ๆ เริ่มโตและขยายเผ่าพันธุ์เช่นกัน บัวในสระกลางนาชูดอกบานแข่งกัน ชาวนามีอาหารอยู่รายรอบทั่วท้องทุ่งสารพัดเมนู ผลไม้หรือขนมก็ตามฤดูกาลหรือเทศกาล ไม่มีขนมขบเคี้ยวให้ฟันหรอหรืออ้วนจนน้ำหนักเกินอย่างทุกวันนี้ ผู้คนจะถูกสอนให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน มีความอดทน มีกระบวนการคิด มีการวางแผน ทำงานเป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ จะกินขนมครก ขนมเบื้อง ขนมหม้อแกง ขนมตาล ข้าวต้มมัด เม็ดขนุน ฯลฯ ขนมไทย ๆ เด็กจะเรียนรู้และมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการ การแช่ข้าว โม่ข้าวเป็นแป้ง ปอกมะพร้าว ขูดเอาเนื้อมะพร้าวด้วยกระต่าย คั้นทำน้ำกระทิ หรือทำมะพร้าวโรยหน้าขนม ตอนบ่าย ๆ ก็ได้ขนมจากน้ำพักน้ำแรงและน้ำใจกินด้วยความอร่อยและปลื้มปรีติด้วยฝีมือที่ทำเอง(มันต้องอร่อยเพราะหิว รอนานพอควร ไม่มีอะไรให้เลือกมากอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเด็กบางคนกินทิ้งกินขว้างอะไรไม่ถูกปากก็ขว้างทิ้งอย่างขาดความรับผิดชอบและไม่เห็นคุณค่า) การทำอาหารคาวหรืออาหารหวานต้องทำเผื่อครอบครัวอื่น ทำเสร็จก็จะนำไปแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันกิน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ถ้าเสน่ห์ปลายจวักแม่ศรีเรือนบ้านใดดีก็จะมีสาว ๆ มาเรียนรู้ฝากตัวเป็นศิษย์มาก โดยไม่ต้องเสียเงินเหมือนเรียนพิเศษเช่นปัจจุบัน มันเป็นบรรทัดฐาน มาตรฐานคุณภาพของชีวิตที่พึ่งพาอาศัยกัน "เรือนสาม น้ำสี่" เป็นคุณสมบัติติดตัวหญิงสาวที่ผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำไปพิจารณาเลือกให้เป็นลูกสะใภ้หรือหลานสะใภ้ "ดูวัวให้ดูที่หาง ดูนางให้ดูที่แม่ ถ้าจะดูให้แน่ต้องดูถึงยาย" ซึ่งการเรียนรู้งานบ้านงานเรือนของผู้หญิงไทยสำคัญมากกว่าการจะไปศึกษาเรียนรู้ในตำราหรือสถานศึกษาอย่างปัจจุบัน ส่วนฝ่ายชายก็จะเรียนรู้การทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ทำงานจักสาน ใช้มีด ใช้ขวาน ใช้เลื่อย ได้อย่างดี ทั้งการทำไม้คาน สานข้อง แห ลอบ ไซ กระด้ง กระบุง ตะกร้า ของใช้ในครัวเรือน เครื่องมือทำกิน หัวหมู หางไถ คันไถ ฯลฯ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตจริง ๆ จะมีโอกาสเรียนรู้หนังสือที่มากกว่าการจบการศึกษาภาคบังคับชั้น ป.๔ หรือ ป.๗ คือเมื่ออุปสมบทเป็นพระตอนอายุครบ ๒๐ ปี ในสมัยนั้นเป็นหน้าที่ของชายไทยที่นับถือพุทธศาสนาทุกคนที่ทุกครอบครัวถือเป็นหน้าตา นอกจากเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสู่สวรรค์ และเป็นค่านิมถ้ายังไม่อุปสมบทถือเป็นคนดิบ เมื่ออุปสมบทได้เรียนรู้ ปฏิบัติธรรมก็จะเป็นคนสุก จึงจะแต่งงานมีครอบครัว มิเช่นนั้นไปสู่ขอลูกสาวใครเขาก็ไม่ยกลูกสาวให้ เพลงแหล่ของไวพจน์ ในงานอุปสมบทจะดังผ่านเครื่องขยายเสียงไปไกล สะท้อนความเชื่อ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อค่านิยมประเพณี ดังที่มีผู้ศึกษาวิจัยไว้ เช่นเพลงขอลาบวช ทำขวัญนาค นาคสั่งนาง บวชแทนค่าน้ำนม ทิดใหม่ใจเศร้า ฯลฯ ผู้ที่จะบวชต้องไปมอบตัวเข้าวัดฝึกหัดท่องขานนาคหรือคำขอบวช และฝึกท่องบทสวดมนต์กับพระท่านให้คล่องล่วงหน้าเป็นเดือน ทั้งได้ฝึกปฏิบัติปรนนิบัติพระ ก่อนงานบวชต้องตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้สำหรับนาค สำหรับพระใหม่ นอกจากนั้นก็เป็นอาหารการกินที่ต้องให้เพียงพอกับญาติพี่น้องเพื่อนพ้องที่จะมาร่วมงาน และขาดไม่ได้คือคณะกลองยาว แตรวง มหรสพหนัง ลิเก คณะรำวง บางคณะที่ดัง ๆ ต้องจองล่วงหน้าเป็นปี เช่นรำวงคณะนกน้อยที่ยอดรัก สลักใจ เป็นนักร้องด้วยคนหนึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบมาก งานบวชนาคถือเป็นงานใหญ่ คนที่มีเงินมากก็อาจเชิญคุณชินกร ไกรลาส มาทำขวัญนาค หมอทำขวัญจะสั่งสอนนาคให้รำลึกถึงพระคุณพ่อแม่หรืออาจจะเป็นพระมาสอน ภายหลังจากปลงผม อาบน้ำนาคนุ่งห่มในชุดขาวในพิธีจะมีพานบายศรีเรียกขวัญนาค บ้างก็ใช้วงแตร หรือปี่พาท ขับกล่อมสลับหรือคลอไปให้จังหวะการแหล่ของหมอทำขวัญ พ่อนาคจะซาบซึ้งจนน้ำตาไหลร้องไห้ หลังจากนั้นก็จะเป็นการแห่นาคไปขอศีลกับพระที่วัดหรืออีกนัยหนึ่งก็ว่าเพื่อให้คนรับรู้หากนาคเคยหยิบยืมเงินทองสิ่งของแล้วยังไม่คืนให้จะได้ทวงเพื่อให้นาคเป็นบุคคลบริสุทธิ์จริง ๆ ในขบวนแห่นาคนั้นจะคึกคักสนุกสนานบางพื้นที่ใช้ช้าง หรือม้า ให้นาคนั่งแห่ไปตามหมู่บ้าน หากมีหลายวัดก็แห่ไปทุกวัด จะนำด้วยคณะของแตรวง คณะกลองยาว ถ้าบวชพร้อมกันหลายองค์ก็จะนัดหมายไปพร้อม ๆ เป็นขบวน เมื่อมีวงมโหรีดังกระหึ่มไปทั่วหมู่บ้านผู้คนก็หลั่งไหลมาร่วมขบวนรำวงนำหน้าอย่างสนุกสุดเหวี่ยง พ่อแม่ของนาคจะได้ถือผ้าไตรจีวร และที่ถูกจับจ้องมากที่สุดคือหญิงสาวที่ได้สิทธิ์ถือหมอนจากฝีมือการทำของตนเองที่อาจจะปักปอกหมอนเป็นรูปสัตว์ในนิทานชาดก หรือตัวหนังสือ ซึ่งสื่อให้รู้ว่าคือบุคคลสำคัญของนาค ที่ภายหลังจากการลาสิกขาก็จะเป็นคู่หมั้นคู่หมายคู่ชีวิต และการบวชสมัยนั้นเกิดจากศรัทธาจริง มิใช่บวชเปลืองข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน แต่บวชเพื่อศึกษาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ได้กราบไหว้ ได้เป็นพ่อพระ แม่พระ ตลอดพรรษา
ลูกชาวนา ได้เรียนรู้การขับเกวียนโดยสายเลือด ความชำนาญเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ขับอย่างไรก็ยังไม่เกิดอุบัติเหตุให้เกวียนชนกัน ยิ่งถ้ามีวัวสวยงามเหมือนเจ้าเมฆ กับเจ้าหมอก (น่าจะเป็นพันธุ์ขาวลำพูน) ทั้งคู่รูปร่างสูงใหญ่ เจ้าเมฆสีขนขาวล้วน ขอบตา เขา ปากและกลีบเล็บจะออกสีชมพู ส่วนเจ้าหมอกสีขนขาวหม่น ขอบตา เขา ปากและกลีบเล็บจะออกสีดำ ที่สำคัญทั้งคู่จะแสนรู้ จะคุ้นเคยกับคน สามารถขึ้นขี่หยอกล้อเป็นเพื่อนเล่นได้ มีอยู่วันหนึ่งขับเกวียนไปจอดตลาด ก๋งที่ขายขนมถ้วยฟูเห็นความน่ารักนำขนมมาให้มันกิน มันก็กินหน้าตาเฉย คนที่มาซื้อขนมเห็นก็พากันมามุงดูและซื้อให้มันกิน คนขับเลยมีโอกาสได้ส่วนแบ่งโดยไม่ต้องซื้อ เวลาขับเกวียนที่มีเจ้าเมฆ เจ้าหมอกปฏิบัติหน้าที่ จะขับสบายปล่อยมือยังได้(ปกติเวลาขับเกวียนต้องจับเชือกที่ผูกสะพายวัวไว้ตลอด) ถ้าจะให้เลี้ยวซ้ายก็ดึงเชือกแล้วผ่อนเป็นระยะ ถ้าจะให้เลี้ยวขวาก็กระตุกสะบัดมือไปทางขวา อยากหยุดก็ดึงเชือกรั้งไว้ แค่นี้ก็ไปถึงจุดหมายโดยไม่ต้องไปสอบขอใบขับขี่จากใคร พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นผู้ประเมินมาตรฐานและมอบความเชื่อมั่น ความไว้วางใจให้

การเดินทางสมัยนั้น ระหว่างบ้านไปนา หรือไปตัดไม้ตอก คันไถ เสาบ้าน กระดานบ้านฯลฯ เส้นทางที่ผ่านจะเป็นทางสาธารณะที่ไม่ต้องให้ทีวีช่องใดไปถ่ายทำมาเสนอฟ้องด้วยภาพ หน้าแล้งก็ฝุ่นตลบคลุ้งม้วนตัวตามท้ายเกวียน ยามหน้าฝนก็เฉอะแฉะชุ่มฉ่ำตลอดเส้นทาง แล้วการเดินทางแต่ละครั้งก็ต้องชักชวนกันไปพร้อม ๆ กันโดยเฉพาะหน้าฝน ไม่เช่นนั้นถ้าเกวียนไปติดหล่มก็จะเป็นชะตากรรมที่หนักอึ้งกว่าจะผ่านพ้นไปได้ ต้องสามัคคีกันเพื่อรวมพลัง มีแต่เจ้าเมฆ เจ้าหมอก และผองเพื่อนของมันที่ทำหน้าที่รับใช้โดยไม่ปริปากบ่น เกวียนที่บรรทุกหนักอึ้งจะขยับเขยื่อนตามแรงสี่ขา ขาหน้าก้าวเกร็ง สองขาหลังก้าวเหยียดย่ำตามรอยเท้าหน้า มีล้อเกวียนสองข้างบดทาบทับรอยเท้าตามไปตลอดเส้นทางเป็นกงกรรมกงเกวียน ถึงฤดูกาลน้ำมากสงสารเจ้าเพื่อนยากที่เพิ่มความลำบาก ถ้าเป็นดินทรายรอยเท้าของพวกมันเองก็ทำให้เกิดหลุมเล็กที่ล้อเกวียนผ่านก็จะสะท้อนขึ้นเป็นจังหวะ คนที่นั่งไปก็จะตัวสั่นหรือโยกเยกไปมา ตามเสียงบรรเลงจากกระดึงวัวควายแต่ละตัวดังสลับประสานกับเสียงล้อเกวียน ขัดจังหวะด้วยเสียงน้ำที่วัวควายเดินเตะกระจายไปตามแรงเหวี่ยง ควายจะชอบถ้ามีน้ำตลอดเส้นทาง ลากเกวียนไปเอี้ยวคอกินหญ้าข้างทางเพิ่มพลังไปเรื่อย ๆ คนที่นั่งเกวียนสบายเสียอีกอาจจะเบื่อเซ็ง กว่าจะเดินทางถึง(แต่ก็ไม่รู้จะรีบร้อนไปไหน ไม่เหมือนสมัยนี้รีบร้อนไปตาย ตายไม่ตายเปล่ายัดเยียดความตายให้กับคนอื่นด้วย) บ้างแก้เบื่อด้วยเสียงเพลงลูกทุ่ง ถ้าร้องขึ้นเมื่อใดเจ้ามอมที่วิ่งตามเกวียนมาด้วยก็จะหอนแข่งขึ้นทันที บางคนคว้าใบไม้ข้างทางมาเป่าเป็นเพลงตามแต่จะนึกได้ สอดแทรกสายลมแสงแดด คลอเคล้าสัมผัสยอดข้าวเขียวขจีที่ลู่ลมพลิ้วเป็นคลื่น บ้างก็คุยถามทุกข์สุขคนข้างทางที่พบเจอทั้งที่ไม่รู้จักกัน แต่ก็รู้ว่าเป็นเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน บ้างก็เอาผักที่ปลอดสารพิษแลกเปลี่ยนกับปลาที่เขากำลังกู้ลอบ กู้ไซ หรือข่ายดักปลาฯลฯ แบ่งปันกันไม่ต้องหาตาช่างมาตวง มาวัด ใครได้มากได้น้อยก็แบ่งกันกิน เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำใจ(เสียดายจริง ๆ ที่ปัจจุบันมันเหือดหายไปไหนหมด) ระหว่างทางต้องหาที่พักชั่วคราวให้วัวควาย เลือกที่เนินน้ำไม่ท่วม ปลดแอกให้วัวควายพักกินหญ้า(โดยไม่ต้องเสียเงินเหมือนเติมน้ำมัน ไม่มีอาหารการกินให้บริการ) ต้นสมอ มะขามป้อม มะขามเทศ ตะขบ ฯลฯ แล้วแต่ฤดูกาลหรือผลไม้ที่ปลูกไว้กินเป็นต้นว่า แตงไทย แตงโม พุทรา น้อยหน่า ฝรั่ง พวกเราเด็ก ๆ ก็จะนำมาแบ่งปันกันกิน ถ้าเกวียนจะหยุดอีกครั้งระหว่างทางก็ตอนจะต้องข้ามหล่มหฤโหดสุด ๆ ทั้งดินที่เหนียวหนึบ ระยะทางที่ยาวเกือบร้อยเมตร และน่าสงสารที่สุดก็เจ้าวัว ควาย ตัวเกร็งทุกส่วน แสร้ถูกตวัดลงบนหลังกระตุ้นให้กระตุกดันแอกลากเกวียนที่ล้อจมในโคลนลึกถึงเข่าหรือโคนขา ผู้คนต่างมาช่วยดันหรือยกเกวียนช่วยวัวควาย บางเล่มต้องแอกหัก เชือกคอวัวขาดจากการที่มันดันลากสุดชีวิต บางตัวอาจต้องคุกเข่าดิ้นรน กระเสือกกระสนสุดแรงเกิด บางตัวหมดแรงนอนแผ่ตาเหลือกต้องปลดออกจากแอกที่แบกมานาน รอจนหายเหนื่อยก็ลุยกันใหม่ หรือไม่ก็เปลี่ยนวัวควายที่ตัวใหญ่แรงมาก ซึ่งเจ้าหมอก เจ้าเมฆ ก็ถึงคราวเป็นพระเอก ขนสีสวยของมันก็จะเลอะด้วยโคลนตม

กว่าจะผ่านหล่มไปได้ทุกเล่มก็ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง บางครอบครัวที่โชคร้ายก็ถึงกับเกวียนหัก เป็นตำนานให้เล่าขานเพื่อเตือนสติของการดำเนินชีวิต ในความยากลำบากแต่มากด้วยน้ำใจ น้ำอดน้ำทนของผู้คนเพื่อนมนุษย์ที่เป็นความผูกพันธ์ เกิดภาวะผู้นำ ผู้ตาม เกิดการเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตแต่ละจังหวะ เราจะเข้าใจเห็นใจกันมากเมื่อยามตกทุกข์ได้ยาก เมื่อเลยหล่มที่ยากลำบาก ก็จะถึงน้ำใสและลึกถึงประมาณเอวระยะทางยาว เด็ก ๆ มีโอกาสลอยคอเกาะท้ายเกวียนที่เคลื่อนไปข้างหน้าสู่จุดหมายปลายทางเล่นน้ำกันสนุกสนาน เจ้ามอมก็อยากเล่นด้วยแต่พอมันเหนื่อยก็อุ้มขึ้นไว้บนเกวียน เราล้างโคลนที่เกาะล้อ เพลา เก๋งเกวียนและตามตัววัวควาย สีขนของมันก็กลับมาสวยเป็นมันเหมือนเคย
ตลอดฤดูการทำนาเด็ก ๆ นักเรียนหลังเลิกเรียนในวันศุกร์ก็จะจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้เดินด้วยเท้าไปหาพ่อแม่ที่นา เดินไปตามคันนาที่ใช้ในการสัญจรจนเป็นทางเดินหญ้าจะถูกเหยียบจนแห้งตายแต่มีหญ้าสดขึ้นข้างคันนาเป็นเหมือนลู่ บางคนอยากถึงเร็วก็วิ่งแข่งขันกัน บ้างหยอกล้อกันคันนาที่มีหญ้าขึ้นสูงคนที่ผ่านไปก่อนก็จะนำหญ้ามาผูกกั้นไว้ต่ำ ๆ คนเดินมาตามหลังไม่ทันระวังก็จะสะดุดกระเด็นตกน้ำเปียกปอนสนุกสนานกัน เย็น ๆ ก็จะไปพบหน้าพ่อแม่ บ้างก็นำเกลือ น้ำตาลไปให้ตามที่สั่งไว้ตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว หัวค่ำเวลากลางคืนก็จุดตะเกียงทำการบ้าน อ่านหนังสือ ท่องสูตรคูณ อาขยานเสียงดังแข่งกัน ใครจะอ่านคล่อง ท่องได้ไพเราะและเสียงดีมันดังสะท้อนไปตามน้ำ สายลม สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ปกครอง ตอนกลางวันก็จะช่วยงานพ่อแม่และก็หาอาหารทั้งพืชและสัตว์ไว้เป็นเสบียงกลับบ้านไปเรียนในเย็นวันอาทิตย์ สมัยนั้นโรงเรียนจะหยุดในวันโกน วันพระ เพราะโรงเรียนอยู่ที่วัด เรียนบนศาลาการเปรียญก็ต้องหยุดและมีโอกาสทำบุญ ปฏิบัติธรรม
เดือนสิบน้ำนองปลาไม่รู้มาจากห้วย หนอง คลอง หรือบึงบอระเพ็ด มีมากมายหลายชนิดทำปลาร้า น้ำปลาหรือใส่เกลือทำปลาเค็ม ที่แต่ละปีเมื่อน้ำนองจะมีเรือขนาดใหญ่ขนเกลือขึ้นมาขาย มีทั้งโอ่ง ไห อ่าง ถ้วยชาม ฯลฯ ชาวบ้านก็จะซื้อหาไว้ตามความต้องการ หรือนอกนั้นก็ทำปลาย่างเก็บไว้กินนาน ๆ พอข้าวตั้งท้อง ก็จะถึงงานบุญข้าวกระยาสราทที่ทำกันเองในแต่ละครัวเรือนในแต่ละคุ้ม วัสดุอุปกรณ์ก็มาใช้ร่วมกันที่ต้องซื้อก็มีเพียงน้ำตาลกับแบะแซ นอกนั้น ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา มะพร้าวก็เอามาแลกมาแบ่งปันกัน เดือนสิบสองน้ำทรงลอยกระทงและงานเทศกาลออกพรรษาก็จะมีการเทศน์มหาชาติเด็กวัดจะสนุกสนานเป็นพิเศษอาหารการกิน ผลไม้มากจนต้องให้เอากลับไปกินกันที่บ้าน ลมว่าวเริ่มพัดฤดูหนาวมาเยือนน้ำก็เริ่มลด ข้าวออกรวงท้องทุ่งนาที่เคยเขียวขจีก็เปลี่ยนสีเป็นเขียวเหลืองและเหลืองอร่ามไปทั่วท้องทุ่ง
การทำว่าวเป็นการเล่นประจำปีของทุกหมูบ้าน ยามเย็นก็จะมีว่าวหลากสีลอยอยู่บนท้องฟ้า ทั้งว่าวจุฬา ว่าวปั๊กเป้า ว่าวแซงแซว หรือว่าวธนูตัวขนาดใหญ่ที่ใช้กระดาษที่หนาทนน้ำค้างได้ดีมักจะปล่อยขึ้นตอนเย็น ๆ ใกล้ค่ำ ข้างบนหัวว่าวจะติดคันธนูที่เมื่อสัมผัสกับลมจะทำให้เชือกป่านจากใบลานเกิดเสียงดังอย่างต่อเนื่องกลายเป็นดนตรีธรรมชาติยามค่ำคืน ถ้าลมหมดก็จะตกลงพื้นตอนเช้าก็ไปตามเก็บ
งานหนักและใช้ระยะเวลานานของชาวนาก็มาถึงอีกครั้ง ต้องทำงานแข่งขันกับเวลาในการเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จก่อนที่ต้นข้าวจะแห้งเหี่ยว จนข้าวหักคอรวง เมล็ดข้าวจะร่วงหล่นก็จะเสียหายไม่ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ข้าวเบาที่ปลูกบนที่เนินจะแก่ก่อนก็จะต้องเกี่ยวก่อน ตอนเช้าตรู่ก็ใช้ไม้ไผ่ยาวที่ตากแห้งนาบให้ต้นข้าวโน้มไปด้านเดียวกันเพื่อความสะดวกในการเกี่ยว แต่ละครอบครัวก็จะมีการกำหนดปฏิทินลงแขกเกี่ยวข้าวในแต่ละผืนนา ๕๐-๑๐๐ ไร่ มีจ้างบ้างมีทั้งรายวัน หรือเป็นงาน เป็นไร่ ตามมาตราวัดของไทย ๘ เม็ดข้าว = ๑ นิ้ว ๑๒ นิ้ว = ๑ คืบ ๒ คืบ = ๑ ศอก ๔ ศอก = ๑ วา ๑๐๐ ตารางวา = ๑ งาน ๔ งาน = ๑ ไร่ หรือ ๑ ตารางวา = ๔ ตารางเมตร ๑ งาน = ๔๐๐ ตารางเมตร ๑ ไร่ = ๑,๖๐๐ ตารางเมตร หรือจ้างแบบเหมาจ่ายจนนาแล้วเสร็จ ส่วนมากแต่ละครัวเรือนจะเอาแรงกัน แขกจำนวน ๕๐-๑๐๐ คน หรือ ๑๒๐ คน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกสาวสวย มีความเป็นกุลสตรีเพียบพร้อมหนุ่ม ๆ ทั้งหมู่บ้านเดียวกันหรือต่างย่าน ก็จะมาช่วยเกี่ยวข้าวโดยนำแขกดอง(เกณฑ์คนมามาก ๆ) ความสนุกคึกครื้นก็จะดังกระหึ่มไปทั่วท้องทุ่ง ทั้งการร้องเพลง การเกี้ยวพาราศรี หนุ่ม ๆ ที่หมายตาสาวเจ้าคนใดก็จะถือโอกาสเข้าไปช่วยเกี่ยวใกล้ ๆ ได้พูดคุยสร้างความสัมพันธ์คุ้นเคย เด็ก ๆ ก็จะคอยบริการน้ำดื่มให้ทั่วถึง และเจ้าของนาก็จะจัดเตรียมข้าวใหม่ปลามัน หุงหาอาหารเลี้ยงแขกตอนกลางวันอย่างสุดฝีมือเสน่ห์ปลายจวักชนิดไม่ยอมกัน เลี้ยงกันอย่างเต็มที่ ทั้งคาวหวาน กลางทุ่งนาใต้ต้นไม้ใหญ่ และก็มีการละเล่นสนุกสนานทั้งเต้นกำรำเคียว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลูกทุ่งสมัยสุรพล สมบัติเจริญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ชาย เมืองสิงห์ ที่ได้ยินผ่านวิทยุที่ใช้ถ่าน ๖ ก้อน ๑๒ ก้อน แล้วแต่ขนาดของเครื่อง บ้างก็แกล้งหนุ่ม ๆ จัดหาอาหารใส่จานและเอาจานครอบไว้ พอเจ้าหนุ่มคนใดไปเปิดก่อนก็จะเจอกับกบเป็น ๆ กระโดดใส่ ตกกะใจกระโดดหนีทั้งคนทั้งกบเพื่อนผ้องก็เฮฮาสนุกสนานกันไป บ้างหิวจัดหยิบเนื้อทอดขึ้นมาเคี้ยวแต่กลับกลายเป็นเปลือกไม้ที่ฝาดอยากคายออกก็เจอกับสายตาของสาวเจ้าที่จ้องอยู่ทั้งอมยิ้มและเฮฮากันสนุกสนาน ในแต่ละวันก็จะมีการเล่นผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อย บ้างแข่งขันประลองความเร็วแสดงพลังความสามารถของชายหนุ่มเกี่ยวเป็นงาน(๑๐๐ ตารางวา)หรือเป็นไร่(๔๐๐ ตารางวา) แล้วแต่ข้อตกลงอย่าลืมว่าข้าวสมัยนั้นต้นใหญ่ตอซังหนาจนมองไม่เห็นพื้นดิน หรือบ้างก็แข่งขันกันเกี่ยวประเภทสวยงามด้วยศิลปะการเกี่ยวข้าวพันมือ ท่าทางการเกี่ยวคล้าย ๆ การร่ายรำ มือที่กำต้นข้าวตวัดม้วนซ้ายขวาขึ้นลงสัมพันธ์กับขาซ้ายขวาที่เตะต้นข้าวให้สูงขึ้นให้ทันกับมือที่กำอีกมือหนึ่งควงเคียวตวัดตัดต้นข้าวขึ้นวางไว้เบื้องซ้ายหรือขวาตามถนัด เรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย ใครท่วงทีท่าทางสวยงามและเสร็จก่อนก็จะชนะ มันเป็นศิลปะการประกอบอาชีพให้มีชีวิตชีวา ซึ่งสาบสูญสิ้นแล้วกับอาชีพเกษตรกรไทยที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เมื่อเกี่ยวข้าวตากแดดไว้สองสามวันก็จะหอบข้าวมัดเป็นฟ่อนใหญ่เท่าวงแขนคนโอบ ถ้าคืนเดือนหงายก็จะมัดในเวลากลางคืน อากาศไม่ร้อน หรือถ้าเร่งให้เสร็จเร็วก็จะจุดตะเกียงเจ้าพายุ ก็อีกนั่นแหละเจ้าหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ก็จะตะเบ็งเสียงเพลงพยายามส่งไปให้ถึงสาวเจ้า หรือกู่ร้องเรียกกันไปมาสร้างบรรยากาศยามค่ำคืน ไม่ได้มาจับเจ่านั่งดูให้ทีวีสะกดจิดอย่างทุกวันนี้ เกี่ยวเสร็จ มัดเสร็จก็ถึงคราวที่วัวควายและเกวียนจะทำหน้าที่ต่อ โดยบรรทุกฟ่อนข้าววางเรียงขึ้นสูงสามสี่ชั้นหนักจนล้อเกวียนมิดลงในดินที่ยังเปียกชุ่มอยู่ บดตอซังข้าวแตกเป๊าะแป๊ะไปตลอดทาง นำฟ่อนข้าวไปเรียงไว้บนลาน(พื้นที่ราบเรียบที่ดายหญ้าออกขูดดินด้านหน้าออกเหลือแต่ดินแข็ง นำขี้วัวขี้ควายมาผสมกับน้ำในถังด้วยเท้าให้เป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงเทลงพื้นใช้ไม้กวาดละเลงให้ทั่วพื้นที่ที่เตรียมไว้อาจจะเป็นงานหรือเป็นไร่ขึ้นอยู่กับจำนวนข้าวในแต่ละนา หรืออาจจะทำลานติดต่อกันเป็นสิบ ๆ ลานก็มี) ศิลปะการเรียงข้าวขึ้นลานทำเป็นชั้น ๆ ให้รวงข้าว หัวฟ่อนข้าวไปทางเดียวกัน ห้าชั้น หกชั้น หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับจำนวนข้าวที่ได้ในแต่ละปี จะเป็นสามเหลี่ยมหน้าตัด เวลาฝนตกลงมาน้ำฝนจะไม่ไหลซึมเข้าไปทำความเสียหายให้เม็ดข้าว ชั้นสุดท้ายจะทำเป็นงวงช้างอยู่ตรงกลาง ซึ่งจำนวนความยาวและความหนาของชั้นข้าวสามารถจะคำนวณได้ว่าจะได้ข้าวกี่เกวียน เมื่อขนข้าวขึ้นลานเสร็จก็อาจจะทำบุญลาน ที่เริ่มด้วยการเรียกขวัญข้าวตามผืนนา(นัยว่าอาจจะเป็นการตรวจสอบไปด้วยว่ามีฟ่อนข้าวหลงเหลือที่ยังไม่ได้เก็บหรือไม่) ก่อนปลงขวัญข้าวลงมาเพื่อการเริ่มต้นการนวดข้าว


การนวดข้าว จะนำฟ่อนข้าวลงมาเรียงไว้กลางลานโดยตั้งรวงขึ้นเป็นวงกลมเต็มลาน แล้วนำวัวหรือควาย ตัวที่อาวุโสจะอยู่ด้านในสุดแล้วจะผูกสะพายตัวถัดไปมาคล้องคอวัวตัวใน อาจจะเป็นพวงละ ๕-๘ ตัว ตามความกว้างของข้าวที่เรียงไว้ โดยนำวัวขึ้นวนเหยียบย่ำฟ่อนข้าวไปทางซ้ายมือ ตัวในสุดจะอยู่ตรงกลาง เดินย่ำจนเม็ดข้าวร่วงมากที่สุดก็จะพักวัวแยกออกจากกันให้กินหญ้า หรือฟาง น้ำ คนที่เอาแรงกันก็จะช่วยกันสงฟางให้สูงขึ้นเพื่อให้เม็ดข้าวร่วงลง ทำต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน ร่างกายจึงต้องแข็งแรงและอดทนอุตสาหะพากเพียรพยายามสูงนานเป็นเดือนแล้วจึงโกยข้าวกองรวมกันกลางลานก่อนใช้สีฝัดข้าวที่ต้องเอาแรงกันเช่นเคยเพื่อแยกฝุ่นละออง เศษฟาง เม็ดข้าวลีบออกจากเม็ดข้าวดีแยกกองออกไว้ เศษฟางไม่ทิ้งเอาไว้ใช้เผาถ่าน และเป็นช่วงเวลาวิดสระกลางนาจับปลาที่กำลังมันเป็นอาหารแล่มเกวียน ก็จะนับได้ว่าปีนี้ที่ลงมือลงแรงสามัคคีร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาจะได้ข้าวกี่เกวียน ซึ่งมาตราส่วนที่ควรรู้คือ ๒๐ ทะนาน = ๑ ถัง ๕๐ ถัง = ๑ บั้น ๒ บั้น = ๑ เกวียน หรือ ๑ ทะนานหลวง = ๑ ลิตร ๒๐ ลิตร = ๑ สัดหลวง ๑,๐๐๐ ลิตร = ๑ บั้นหลวง ๒,๐๐๐ ลิตร = ๑ เกวียนหลวง ดังนั้นยุ้งฉางสมัยนั้นต้องหลังใหญ่อยู่ใกล้บ้านใช้เก็บข้าวเปลือกไว้ได้นานรอราคาข้าวแพงจึงจะขายและจะเก็บพันธุ์ข้าวแยกไว้ในพร้อมขนาดใหญ่ การขนข้าวขึ้นยุ้งฉางเป็นการตัดเส้นทางใหม่สามารถขุดคันนาให้เป็นร่องเท่าล้อเกวียนเส้นทางพยายามไม่ให้โค้งมากตัดผ่านนาแต่ละทุ่งและจะมาร่วมใช้เส้นทางเดียวกัน จึงปรากฎเห็นคาราวานเกวียนขนข้าวเป็นแถวยาว ขนกันทั้งวันทั้งคืน เมื่อขนข้าวเสร็จก่อนขนข้าวของเครื่องใช้กลับบ้านก็จะเข็นฟางจากลานนวดข้าวไปกองไว้ข้างบ้านให้วัวกิน
กระบวนการสุดท้ายของการทำนาภายหลังขนข้าวขึ้นยุ้งฉางหมดก็จะมีพิธีเรียกขวัญข้าวโดยพ่อหมอประจำหมู่บ้าน อาหารหวานคาวต้องเตรียมให้พร้อม อย่างหนึ่งประจำทุกปีคือขนมจีนที่ทำกันเอง น้ำยาจากปลาที่ขังไว้ในโอ่งเหลือจากการวิดสระ ความดีใจจากความสำเร็จที่ผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความทุกข์ยากกลายเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว มอบรางวัลให้กับชีวิตทั้งประเพณีบวช แต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ บ้านนั้นบ้านนี้ หมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้ มีลิเก โขน หนัง จัดฉลองและเอาแรงกันไว้เช่นเดิม ญาติมิตรที่อยู่ห่างไกลก็จะได้มีโอกาสพบปะกันสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันต่อไป
เกวียนจึงมีคุณกับพวกเรา เป็นมรดกที่บรรพบุรุษมอบให้สร้างเสริมสั่งสมบรรทุกและส่งต่อวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายรับช่วงรุ่นต่อรุ่นของเกษตรกร เพราะผืนดินแห่งนี้เป็นเกษตรกรรม แล้วใครล่ะ มาทำอะไร ทำอย่างไร ให้ปัจจุบันพวกเราเหลืออะไร

บัดนี้ เกวียนเราหายไปไหน หายไปพร้อม ๆ กับวัฒนธรรม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณีวิถีชีวิตไทย บางครั้งพบเกวียนไปสงบนิ่งอยู่หน้าบ้าน ข้างบ้าน ซอกบ้านของคนรวย หรือบางรั้วบ้านก็ประดับด้วยล้อเกวียนตากแห้ง ตากแดด ตากฝนจนกว่าจะผุพังไป คอต้องหืดแห้งเมื่อลูกสาวขอให้พาไปกินเสต็กร้านใหญ่โตโอ่อ่า มีทั้งคนไทย ชาวต่างชาติไปใช้บริการ เมื่อก้มมองดูใต้จานเสต็กมันคือ "ล้อเกวียนที่หายไป"
หมายเหตุ ประสบการณ์ถักทอขึ้นใกล้วัดป่าสิริวัฒนาวิสุทธิ์ ที่พระพี่นางทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์
หมายเลขบันทึก: 255917เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2009 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2016 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาชม

น่าสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนะครับ

ขอบพระคุณครับอาจารย์ที่แวะมาเยี่ยมชม

สวัสดีค่ะคุณครู

ปูอ่านเรื่องนี้จบนานแล้วนะคะ หากแต่ยังประทับใจ นึกถึงเรื่อง ลูกอิสาน เลยค่ะ

มาทายทัก และส่งความระลึกถึง ปรารถนาดียังมิลืมเลือน ขอบคุณค่ะ

คิดถึงทุ่งนา บ้านหนองมะกอก ท่าตะโก แล้วจะกลับมาเยือน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท