พระเครื่องเก๊ ตัวชี้วัดเก๊ นักวิชาการเก๊ และผลกระทบ (Impact factors) เก๊ มีไว้ทำอะไร


ฝีมือคนสมัยนี้สูงมาก เขาจะทำตามตัวชี้วัดได้ทุกข้อ แต่ปลอมทั้งหมด และความรู้ที่สรุปแบบง่ายๆ สั้นๆ ในตำราจึงใช้แทบไม่ได้อีกต่อไป

หลังจากผมตะลุยเรียนรู้ในตลาดพระเครื่องมาระยะหนึ่ง ทำให้ผมได้เรียนรู้ถึงตัวชี้วัดต่างๆ ที่มีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ ในการแยกของจริง กับของปลอม

อันเนื่องมาจาก ผมได้พบตัวชี้วัดปลอมๆ (ที่นำมาจากของแท้) มากมาย จนผู้เรียนมือใหม่(อย่างผม) ต้องพบกับอาการมึนงงแล้ว มึนงงอีกอย่างแน่นอน

เพราะ ฝีมือคนสมัยนี้สูงมาก เขาจะทำตามตัวชี้วัดได้ทุกข้อ แต่ปลอมทั้งหมด

ทำให้ผมได้พระเครื่องปลอมๆ มาไว้จำนวนหนึ่ง ที่กำลังหาวิธีคัดออกด้วยความรู้ใหม่ ที่ไม่มีในตำรา

เพราะความรู้ในตำรานั้น นักปลอมพระ หรืออุตสาหกรรมการผลิตพระปลอม เขารู้และหาวิธี “ทำปลอมให้เหมือน” ได้หมดแล้ว

ดังนั้น ความรู้ที่สรุปแบบง่ายๆ สั้นๆ ในตำราจึงใช้แทบไม่ได้อีกต่อไป

ต้องศึกษาเพิ่มเติม หาบริบท และคำอธิบาย จึงจะไม่หลงทาง

วิธีการก็คือ

·        ต้องไปทบทวนวรรณกรรมใหม่ ที่ไปที่มาของแต่ละเรื่อง แล้วสร้างข้อสรุปใหม่

·        พยายามแยกความรู้ที่ได้ออกจากความรู้เดิม และจัดระบบความรู้เดิมให้ชัดเจนและใช้งานได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะที่นักปลอมพระยังทำได้ไม่ค่อยเหมือน

·        พยายามสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่นักผลิตพระปลอม ในอุตสาหกรรมการผลิตพระเครื่องยังไม่นำมาใช้ (หรือยังไม่รู้???)

พอจัดการได้ในระดับนี้ ผมก็แบ่งที่เก็บพระเครื่องไว้สามแหล่ง

1.    ของแท้ มั่นใจเกิน ๙๐% เก็บรักษาอย่างดี

2.    ของยังสงสัย ๕๐/๕๐ หรือไม่เกิน ๗๐/๓๐ เก็บไว้ตรวจสอบ

3.    ของปลอม แน่นอน เตรียมเก็บเข้ากรุ อีกสักพันปี ก็จะเป็นของโบราณได้เหมือนกัน

ประสบการณ์นี้ทำให้ผมย้อนกลับมาคิดถึงสังคมวิชาการวิจัยและพัฒนาที่ผมทำงานอยู่

ที่เรามีการกำหนดตัวชี้วัดทางวิชาการต่างๆ มากมาย ที่ทำให้มีนักอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษเปื้อนหมึก รู้กันหมดแล้ว และทำ(ปลอม)ได้ครบตามนั้นแบบไม่มีขาดตกบกพร่อง

 แบบเดียวกับนักผลิตพระปลอมออกมาขาย

มีตัวชี้วัดครบหมด ทุกเรื่อง ทุกประเด็น จนคนที่ทำงานจริงต้องยอมแพ้

(ภาษาพระเครื่องเขาว่า "สวยกว่าของแท้")

แต่ใครๆ ที่มีพอจะมีความรู้สักหน่อย ก็รู้ได้ทันทีว่า มามาดนี้ “ปลอมแน่ๆ” แต่เราก็ปล่อยๆไป ไม่เห็นมีใครว่าอะไร

แล้วก็ผ่านการประเมินกันเป็นว่าเล่น

เมื่อหลายเดือนก่อนผมได้มีโอกาสคุยกับศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงระดบโลกท่านหนึ่ง ท่านพูดอย่างเปิดอกว่า งานที่ท่านทำมาส่วนใหญ่ “ใช้ประโยชน์ไม่ได้” ท่านใช้คำภาษาอังกฤษว่า เป็นการสร้างขยะ (Garbage)

นี่ก็เป็นสิ่งยืนยันอีกมุมหนึ่งของการใช้ตัวชี้วัดที่ “ดูเหมือนจริง” ในการทำงานและการประเมินผลงาน และพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ

โดยอาศัยตัวชี้วัด ที่ใครๆก็รู้ว่าปลอม

แล้วเราทำไปทำไม

แค่ขอเงินเดือน หรือค่าตอบแทนขึ้น

หรือไปอ้างอิงในการทำงานด้านอื่นๆ

(ทั้งๆที่เอาของปลอม ไปแลกเงินจริง ถ้าเอาของปลอมไปขอแลกเงินปลอม จะไม่ว่าสักคำเลยครับ)

นี่คือสิ่งที่ผมได้ยินบ่อยที่สุด

เราจึงมีการตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อประเมิน “ผลงาน” ที่ไม่มีผลกระทบอะไร แต่มี Impact factors สูง เนื่องจากตีพิมพ์ในต่างประเทศ

มีใครเคยคิดไหมว่า Impact ที่ว่านั้น มันจริงแค่ไหน ใครอ่าน ใครใช้ ใครได้ประโยชน์ ประโยชน์ที่ว่าคืออะไร ตรงกับที่ตั้งไว้ไหม

ถ้าไม่ตรงก็ควรปรับใหม่เถอะครับ อย่าเก็บไว้เลย

ผิดพลาด แล้วแก้ไข ดีกว่าดันทุรังทำผิดต่อๆกันไปเรื่อยๆ

วันนี้ ผมจึงขอถามง่ายๆ ว่า เมื่อระบบเป็นเช่นนี้

เราจะเก็บพระเครื่องเก๊ ตัวชี้วัดเก๊ นักวิชาการเก๊ และผลกระทบ (Impact factors) เก๊ ไว้ทำอะไร

แยกที่ดีๆมาใช้ ของปลอมก็เก็บเข้ากรุซะ ไม่ดีกว่าหรือครับ

ประเทศไทยเรายิ่งจนๆอยู่ เราจะเลี้ยงนักวิชาการปลอมๆ ด้วยการประเมินผ่านตัวชี้วัดปลอมๆ ให้ได้อะไร

ใครรู้ช่วยตอบหน่อยครับ

 

หมายเลขบันทึก: 255323เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2009 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะอาจารย์

***อ่านบันทึกนี้แล้วหันไปมองรอบๆ ตัว รู้สึกหดหู่มากเลยค่ะ

***ขอสุขสันต์วันสงกรานต์นะคะ

เราต้องอยู่ด้วยความหวัง กับความจริง ที่ไม่เพ้อฝัน แล้วเราจะไม่หดหู่ครับ

ผมได้อะไรจากธรรมะ และ "สามก๊ก" มากเลยครับ

ตอนนี้ผมทำตัวเหมือน "ซุยเป๋ง" ที่เป็นเพื่อนกับขงเบ้ง แต่ไม่ยอมไปช่วยเล่าปี่ครับ

ดีกว่ากันเยอะเลยครับ

จะมีชีวิตที่ดี และไม่เครียดครับ

สวัสดีค่ะ อ.แสวง

พระเครื่องปลอม ต้องคนที่มีประสบการณืสัมผัส สังเกตพระเครื่อง

ความรู้ได้จากการทำค่ะ จากประสบการณ์ ถ้ามือใหม่คงดูพระเคร่องไม่เป็นค่ะ

ตอนนี้วิทยาการก้าวหน้า-พัฒนาการไปจนถึง ทำของปลอมให้เป็นของแท้

มันก้าวหน้าจนไม่สามารถจะแยกแท้ แยกปลอม ได้

ในที่สุดก็จะหาของแท้ไปเจอ เพราะไม่รู้ว่าว่ามันดีกว่าของปลอมตรงไหน อย่างไร

สุดท้ายก็มายอมรับโดยดุษฎีที่จะอยู่กับของปลอม สังคมปลอม

การปลอม หมายถึง การทำให้ดีขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้มันผิดตรงไหน

ยกอ้างได้ว่า..ดีกว่าไม่ทำอะไร

สังคมยุคนี้ต่างจากสมัยก่อน จุดนี้จะเป็นตัวแปร ให้ปลอมก็ได้ แท้ก็ดี

แล้วเล่าฮูจะทำยังไง

ต้องเรียนรู้็ที่จะอยู่กับของปลอมให้ได้

จะสบายใจ ถ้ามองว่ามันเป็นธรรมดาของโลก

ก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์มีไวรัส จะทำยังไงกับมัน

นอกจากข่มใจ ทนอยู่กันไป

ดีนะที่ไม่พระปลอม ไม่อย่างนั้นพระแท้เดือดร้อนกว่านี้

เอาพระเครื่องเก็บเข้ากรุ..หันมาหาพระเป็นๆดีไหม

สวดได้ คุยได้ อย่างท่านมหาชัยวุธ สุดยอด ไม่ต้องกล้วของแท้ ของปลอม

อิิ อิ

ครับท่านครูบา

พระเป็นๆปลอมๆก็มีนะครับ ต้องเลือกพอๆกันแหละครับ

แต่ผมก็เห็นด้วย ที่เราต้องเรียนเพื่อจะอยู่กับของปลอม

แต่ยังไงยังไง ผมยังไม่ยอมรับของปลอม เพราะรับไม่ได้ครับ

ของปลอมต่างๆ นั้น อยู่บนถนนคนละเส้น หรือไม่ก็คนละฟากถนนกันครับ หรือคนละขั้วโลกไปเลยยิ่งดีครับ

ยอดเยี่ยมครับท่านอาจารย์ ขอลอกแนวคิดนี้ไปใช้เลยครับ สบายใจดี ไม่กลัวปลอม

Suttipong Pruangka

an alumnus of KKU

ดีมากครับ

ทำไปเลยครับ

ทำดีไม่ต้องรอครับ

ดีมากครับ

ทำไปเลยครับ

ทำดีไม่ต้องรอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท