เรื่องเล่าวันที่ ๓๐ มีนาคม - ๓ เมษายน ๒๕๕๒


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร

วันที่ ๔  เมษายน  ๒๕๕๒

เรียน  เพื่อนครู  ผู้บริหาร ที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๓๐  มีนาคม   ๒๕๕๒  ภาคเช้าเรียนเรื่อง “บทบาทของประเทศไทยในเวทีการค้าโลก” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์  ไทยรุ่งโรจน์  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิทยากรได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกและของไทยให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็ง และแนวโน้มทางการค้าที่ประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ได้สำรวจผู้ประกอบการทุกขนาดเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจจำนวน 400 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 11-16 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่า แหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการ 69% มาจากธนาคารพาณิชย์ 26% จากธนาคารของรัฐ โดยธนาคารพาณิชย์ คิดดอกเบี้ย 8.95% ธนาคารรัฐ คิด 7.75% โดยส่วนใหญ่พบว่าผู้ประกอบการประสบปัญหาสภาพคล่องแล้ว 73% เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อลดลง ต้นทุนสูงขึ้นและแหล่งเงินทุนไม่ปล่อยสินเชื่อ ส่วนอีก 27% ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง และในจำนวนนี้คาดว่าจะมีปัญหาในอีก 3 เดือนข้างหน้า 19.6% และ 80.4% คาดว่าจะมีปัญหาในอีก 6 เดือน ทั้งนี้ เมื่อสอบถามวิธีแก้ปัญหาสภาพคล่องพบว่า ผู้ประกอบการ 45.5% นำเงินสะสมหรือกำไรสะสมมาใช้ โดยขอสินเชื่อจากธนาคารอื่นๆ 21.4% เจรจาผ่อนผันจากผู้กู้ 20.3% ส่วนความต้องการขอสินเชื่อปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการไม่กู้เพิ่ม 65.4% และมีผู้ประกอบการที่ต้องการกู้เพิ่ม 34.6% เพื่อนำไปใช้เสริมสภาพคล่องถึง 98.9% นอกจากนั้น พบว่ามีผู้ประกอบการที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง 49.2% และยังไม่ต้องการ 50.8% โดยเมื่อพิจารณารายธุรกิจพบว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากสุด มีถึง 62.5% เพราะเป็นธุรกิจต้นน้ำที่จะได้รับผลกระทบก่อนเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว รองลงมาเป็นภาคการผลิต 53.5% ภาคบริการ 40.3% ภาคเกษตร 36.1% และเมื่อพิจารณาขนาดของผู้ประกอบการพบว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือสภาพคล่องถึง 53.4% ขนาดกลาง 53% และขนาดย่อม 43.7%  บ่ายผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสุรพล  พงษ์ทัดศิริกุล บรรยาย  “ประสบการณ์นักปกครองในการแก้ปัญหาในพื้นที่”  ท่านยกกรณีตัวอย่างที่ท่านประสบมาในชีวิตราชการ  ผนวกกับหลักวิชาให้พวกเราประยุกต์ใช้ในการทำงาน

วันอังคารที่ ๓๑  มีนาคม  ๒๕๕๒  ภาคเช้า รศ.ดร.ธงทอง  จันทรางศุ  บรรยายเรื่องการปฏิบัติในงานราชพิธี  รัฐพิธี และการรับเสด็จ และการถวายรายงาน  เป็นเกร็ดความรู้ที่นักปกครองควรทราบ  เช่น  ราชพิธีกับรัฐพิธี  ต่างกันอย่างไร อาจารย์อธิบายว่า พระราชพิธี เป็นพิธีที่ในหลวงเป็นเจ้าภาพ  ส่วนรัฐพิธีเป็นพิธีที่ประเทศไทยหรือรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ  ส่วนใครจะเป็นประธานในพิธีไม่สำคัญ สำคัญที่เจ้าภาพ   การรดน้ำผู้ใหญ่ธรรมเนียมภาคกลาง ผู้ถูกรดน้ำต้องอายุเลย ๖๐ ปีไปแล้ว ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งใด  ผมเองก็ถือธรรมเนียมนี้เช่นกัน วันสงกรานต์จึงจะนำพรรคพวกสรงน้ำพระ นอกนั้นยังได้เรียนรู้ธรรมเนียมในวังอีกหลายเรื่อง   หลังอาหารกลางวันพวกเราขึ้นรถบัสเดินทางไปท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเพื่อศึกษาดูงาน  ความจริงผมเองมองเห็นท่าเรือแห่งนี้จากห้องพักทั้งกลางวันและกลางคืน  วันนี้มีโอกาสมาฟังศักยภาพของท่าเรือแห่งนี้  นับเป็นท่าเรือคู่ค้ากับสหรัฐอเมริกา ๑ ใน ๑๐ ประเทศแรก  มีเรือสินค้าเทียบท่าปีละหมื่นเที่ยว  มีอุปกรณ์ทันสมัยทั้งระบบตรวจสอบสินค้าและการขนส่ง   ได้ขึ้นบนหอสูงมองทิวทัศน์ของท่าเรือ   เสร็จจากท่าเรือรถพาเราไปกลุ่มสหพัฒน์ ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนม โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่มีข้อบกพร่องเล็กน้อย นำมาขายลดราคา  ได้แต่เดินดูเพราะมีครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว   เย็นไปทานข้าวที่ร้านปะการัง  แหลมฉบัง  ร้านนี้เป็นผู้ประกอบอาหารให้พวกเราทานกันที่หอพัก วันนี้บุกถึงร้าน ได้บรรยากาศริมทะเลยามเย็น  กลับวิทยาลัยนั่งทำบันทึกการเรียนจน ๔ ทุ่ม จึงได้นอน

วันพุธที่ ๑  เมษายน  ๒๕๕๒  ภาคเช้า รศ.ดร.ประภาส  ปิ่นตบแต่ง  บรรยายเรื่อง การเมืองภาคประชาชน พวกเรามีโอกาสแสดงความคิดเห็นกันตลอดเวลา  มีการวิเคราะห์ถึงกลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อแดง  อาจารย์พยายามวางประเด็นให้เราวิเคราะห์  บ่ายทีมงานธรรมะเดลิเวอรี่ มาบรรยายเรื่อง การพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์สำหรับนักบริหาร  หลวงพี่บรรยายได้ดี พวกเราไม่มีหลับ พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธOvercome an angry person by restraining your anger.พุทธพจน์ / Sayings of the Buddhaความโกรธเกิดจากความไม่อดทนAnger comes as a result of intolerance.กัณหชาดก / Kanhajatakaความอยากย่อมผลักดันให้คนวิ่งวุ่นCraving and desire make a man desperately forevermore.ปาเกยยสูตร / Pakeyyasutra  ตอนเย็นผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ ให้พวกเราวิจารณ์หลักสูตร ก็ว่ากันอย่างตรงไปตรงมามีทั้งดีและควรปรับปรุง  ท่านก็รับทุกเรื่องไปพิจารณา ผู้อำนวยการสถาบันบอกว่าวันศุกร์นี้ไม่มีการเรียนการสอน เรียนพรุ่งนี้วันเดียวก็ปิดเทอม เจอกันใหม่ปลายเดือนเมษายน ๒๕๕๒

วันพฤหัสบดีที่ ๒  เมษายน  ๒๕๕๒  วันนี้ทั้งวันรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ บรรยายเรื่อง การแก้ไขปัญหาการชุมนุมประท้วงของประชาชน   มีทั้งทฤษฎีและประสบการณ์  ความจริงเป็นกระบวนการแก้ปัญหา แบบวิทยาศาสตร์  แต่เนื่องจากการประท้วงของประชาชนเปรียบเหมือนพายุที่ก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศ พัฒนาตัวเองให้ทวีความเร็วและความแรงขึ้นได้จนถึงพายุไต้ฝุ่น  การเข้าใจปัญหาและสนองตอบในเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลาย  บ่ายหลังเลิกเรียนเก็บสัมภาระเดินทางกลับบ้าน เพื่อปฏิบัติราชการตามปกติในช่วงปิดเทอม  ปลายเดือนจะกลับไปเรียนต่ออีก ๑ เดือน  การเรียนที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ ๗  มกราคม  จนถึงวันนี้ ได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย ที่จะเป็นประโยชน์ในการครองตน ครองคนและครองงาน มีเครือข่ายจำนวนมากถึง ๑๑๒ คน ทุกภูมิภาคของประเทศ ที่สำคัญได้ชักนำให้เพื่อนพ้องน้องพี่เข้าใจและเห็นความสำคัญของการศึกษา  ถึงตัวจะไม่อยู่ทำงานที่เพชรบุรี เขต ๒ แต่งานสำคัญจะเป็นคนให้คำปรึกษาและตัดสินใจร่วมกันกับผู้รักษาราชการแทน  อยากให้สังคมครูเกิดความเป็นธรรม มีศักดิ์ศรี ไม่เห็นแก่ตัว และไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ลำพังคนเดียวคงเข็นไปไม่ไหว ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทุกฝ่าย นี่คือ ความตั้งใจมั่น 

วันศุกร์ที่ ๓  เมษายน  ๒๕๕๒    ศึกษาค้นคว้าส่วนบุคคลที่ค้างคาอยู่ โดยใช้ห้องสมุดออนไลน์ต่าง ๆ เปิดภาคเรียนจะต้องส่งอาจารย์  งานอีกชิ้นหนึ่งที่ยังไม่แล้ว คือ การไป Action Learning จะต้องสังเคราะห์รายงานออกมาเป็นจังหวัด  การลงไปคลุกคลีกับประชาชนทำให้เข้าใจชีวิตและปัญหาเขามากขึ้น  ผมไปดูงานที่เกาหลีไปโรงงานผลิตโสมของรัฐบาล  ราคาขายจะต่างกันตามจำนวนปีที่ปลูก ยิ่งนานยิ่งแพง เป็นสูตรตายตัวอย่างนี้ แม้แต่เมืองจีน  ไปหลังสวนมีมังคุดสวนหนึ่งอายุ ๒๐๐ ปี ผมถามว่าขายลูกละกี่บาท ชาวสวนตอบว่าราคาเดียวกันหมด ไม่ว่าจะมีอายุกี่ปี  เลยมาคิดว่าหากเราเอาความเก่าแก่มาขาย แต่ต้องคิดสรรพคุณว่าดีอย่างไร น่าจะมีคนจองล่วงหน้าหากต้องการกินมังคุด ๒๐๐ ปี คงได้ราคากว่าที่เป็นอยู่  เรื่องผลผลิตล้นตลาดก็เช่นกัน  หากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ไปเปิดร้านค้าถาวรที่จังหวัดเชียงใหม่  พิษณุโลก นครสวรรค์  ขอนแก่น  อุบลราชธานี นครราชสีมา อุดรธานี  ฯลฯ พอผลไม้ประเภทใดออกในฤดูกาลใดก็ส่งไปจำหน่ายตามร้านค้าสาขาจังหวัดเหล่านั้น พร้อม ๆ กัน ในราคาที่บวกค่าขนส่งเล็กน้อย ผลผลิตจะไม่พอขายด้วยซ้ำ  นี่คือแนวคิดของนักการศึกษาที่มาเรียนนักปกครอง ถูกผิดคงต้องพิสูจน์กันต่อไป

กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

       

สาวท่ายาง : ละอองดาว

หมายเลขบันทึก: 252951เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2009 05:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เพลงแปลกดี ไม่เคยได้ยิน

สวัสดีค่ะ

  • สนับสนุนและเห็นด้วยกับแนวคิดค่ะ
  • เพลง..ไม่เคยได้ยินเช่นกันค่ะ
  • ชอบฟังเพลงเก่า..ที่ชื่อว่า..เพชรบุรี  ค่ะ

เคยอ่านงานเขียนของท่านมาตั้งแต่ท่านยังอยู่ที่ เขต 1 ชุมพร น้องชายที่เคยทำงานกับท่านแนะนำให้อ่าน จึงติดใจอ่านมาเรื่อย ๆ ได้แนวคิดในการทำงาน การมองงาน มองคนหลากหลาย เข้าใจล่ะว่า ครูที่ชุมพรจึงเสียดายที่ท่านย้ายมา

เพชรบุรีเขต2 น่าจะเปิดการอบรมการใช้อินเตอร์เนต ให้ครูเพชรบุรี เขต2 บ้างนะเห็นเขตอื่นเขาอบรมกันแล้วช่วงปิดเทอมนี้

ครูเพชรบุรีเขต2

เห็นด้วยจังเลยครับๆๆๆๆๆๆๆๆอยากอบรมจังเลย

ครูท่ายาง

อยากอ่านอย่างต่อเนื่อง มีแนวคิดที่ดี นำไปใช้พัฒนาตนเองได้แน่นอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท