dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

งานศิลปะกับเด็กเล็ก


ศิลปะกับเด็กเล็ก

คุณค่าและความสำคัญของศิลปะต่อเด็กเล็ก

 

งานศิลปะในความคิดของคนเป็นจำนวนมากเน้นไปที่ความสวยงาม  ความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น  แต่งานศิลปะมีความหมายและคุณค่ามหาศาล  เริ่มตั้งแต่คุณค่าในกระบวนการทำงานศิลปะ  ที่ทำให้พัฒนากล้ามเนื้อเล็ก-ใหญ่  พัฒนาประสาทสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ  ส่งเสริมให้มีอารมณ์แจ่มใส  ร่าเริง  เพลิดเพลิน การแสดงออก  ความมั่นใจในตนเอง  พัฒนาด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ด้านมิติสัมพันธ์ คุณธรรมที่ปลูกฝังความเป็นมนุษย์ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มในวัยเด็กเล็ก คือความพอใจ  ความวิริยะอุตสาหะ  การมีสมาธิในการทำงาน  ความมีวินัยและความภูมิใจในตนเอง เป็นต้น

จุดมุ่งหมายในการเรียนการสอนศิลปะไม่ใช่อยู่ตรงที่ความสวยงาม  การแข่งขัน  การเป็นศิลปิน  ผลงานทางศิลปะชิ้นเอกต่างๆ  งานศิลปะเป็นการพัฒนามนุษย์  หล่อหลอมความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ในวัยที่ทำได้  หากพ้นวัยที่เหมาะสมหรือพ้นจากช่วงปฐมวัยไปแล้วโอกาสจะทำให้เกิดตามจุดมุ่งหมายก็เป็นไปได้ยาก  แล้วจะทำอย่างไร  มีโรงเรียนที่ทำได้สำเร็จและกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้  คือโรงเรียนรุ่งอรุณ  คณะครูศิลปะได้ประมวลปัจจัยการสอนศิลปะซึ่งได้จากการเรียนรู้  ปรับปรุง  และเปลี่ยนแปลง  ดังนี้

1. ผู้สอน  จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจคุณค่าของกระบวนการทำงานศิลปะ  และมีสายตาที่มองเห็นความงามในทุกสิ่งรอบๆตัว  สามารถนำมาเป็นเครื่องมือหรือสร้างเป็นงานศิลปะได้  เป็นคนที่เอาใจใส่  สังเกตการเรียนรู้ของเด็กเพื่อปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เหมาะสม

2. สภาพแวดล้อม  ห้องเรียนศิลปะไม่จำเป็นต้องตายตัว  ที่ไหนๆก็สามารถใช่เป็นห้องเรียนศิลปะได้ เช่น ใต้ต้นไม้  บนสนามหญ้า  สถานที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ  ได้ใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่

3. การเตรียมความพร้อมก่อนเรียน  ครูจะต้องเตรียมให้เด็กๆพร้อมทุกครั้งที่เรียน  โดยผ่านการเล่านิทาน  ฟังเพลง  บทบาทสมมติ  ชวนพูดคุยให้เกิดอารมณ์เชิงบอก  และมีสมาธิพร้อมที่จะดำเนินการตามกระบวนการทำงานลักษณะการพูดจาและท่าทีครู  จะมีส่วนช่วยให้เด็กๆเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้

4. ลักษณะโจทย์ที่เหมาะสมกับวัย  การเข้าใจธรรมชาติของเด็กจะช่วยให้ครูตั้งโจทย์ที่สอดคล้องกับความสนใจและความสามารถ  พัฒนาการของเด็กวัยนั้นๆได้  เด็กทุกวัยต้องการกำลังใจและความเชื่อมั่นจากครู  ว่าเขาสามารถทำงานได้ดีในแบบของตัวเองทุกคน  ครูจะต้องเข้าใจและรู้ถึงความสามารถของเด็กแต่ละคน

5. เรียนรู้ซึ่งกันและกัน  การเรียนรู้เกิดขึ้นอีกครั้งในการรับรู้งานของตนเองและงานของผู้อื่นผ่านการวิจารณ์ ชื่นชมผลงาน  การประมวลความรู้  แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันโดยที่งานศิลปะเป็นการสะท้อนจินตนาการ  ความคิดภายในออกมาเป็นรูปธรรมภายนอกแล้วป้อนกลับเข้าสู่สมอง  ทำให้สมองได้รับรู้จินตนาการและความคิดนั้นๆซ้ำอีกรอบ  ก่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น  ยิ่งทำยิ่งจัดระบบความคิดได้ดีขึ้น  การแสดงออกทางศิลปะต่อการได้สำรวจระบบความคิดของตัวเอง  อันเป็นกระบวนการที่สำคัญสำหรับสมองของเด็กที่กำลังพัฒนา

6. การประเมินผล  เป็นการเสริมแรงให้เกิดการพัฒนารายบุคคล  ครูต้องประเมินจากพัฒนาการของเด็กรายบุคคล  และไม่อาจเปรียบเทียบกับมาตรฐานของครูหรือของเพื่อนได้  วิธีการประเมินจะช่วยให้เด็กเข้าใจความสามารถของตนเอง  ทำให้เด็กเกิดการยอมรับตนเอง  มีความหนักแน่น  มีความภูมิใจและมั่นใจในตนเอง 

ผู้เขียนนำเสนอปัจจัยดังกล่าว  เพื่อให้ครูปฐมวัยได้ตระหนักในการสอนศิลปะ  งานศิลปะซึ่งในระดับปฐมวัยเรียกว่ากิจกรรมสร้างสรรค์  ครูจะได้จัดกิจกรรมตรงตามจุดมุ่งหมาย  เพื่อการพัฒนาเด็กเล็กๆอย่างเต็มที่สู่ความเป็นมนุษย์ที่เต็ม

 

 

หมายเลขบันทึก: 252532เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยเป็นอย่างมากค่ะ เกี่ยวกับการสอนศิลปะให้กับเด็ก เพราะศิลปะให้อะไรๆกับเด็กมาก แต่ผู้บริหารมักคิดว่า เมื่อเราสอนศิลปะแล้วเราต้องส่งประกวดแข่งขัน และต้องได้รางวัลด้วย มันเป็นความกดดันสำหรับคนสอนมากค่ะ

อยากให้ครูสอนเด็กเล็กๆ เข้าใจการสอนศิลปะ และทำให้ได้อย่างจริงจัง เด็กไทยจะได้

พัฒนาในแนวทางที่ถูกต้องสักที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท