ปฏิรูปการปฏิรูปการศึกษา


          บทความเรื่อง Reforming Educational Reform โดย Robin McTaggart ในหนังสือ International Conference on Educational Reform 2007 (ICER 2007) ISSN 1906-0653 www.icer2007.msu.ac.th   จัดพิมพ์โดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้

          ทำให้ผมไตร่ตรองว่า    เนื่องจากมีหลักฐานมากมายที่บอกว่าการปฏิรูปการศึกษาไทยในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาล้มเหลวในด้านคุณภาพ    เราจึงต้องปฏิรูปการปฏิรูปการศึกษาของเรา    โดยที่ข่าวคราวของการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง    ดูจะเป็นการปฏิรูปต่อเนื่องจากของเดิม    ซึ่งเท่ากับเป็นการต่อยอดความล้มเหลว   หรือต่อยอดวิธีการที่ล้มเหลว

          ดังนั้นหลักการสำคัญที่สุดของการปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษที่ ๒ คือ    ต้องปฏิรูปให้แตกต่างไปจากวิธีการหรือยุทธศาสตร์ที่ใช้ในทศวรรษแรก   หรือหาจุดอ่อนของการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษแรกให้พบ   แล้วแก้ไขจุดออ่นเสีย
 
          บทความของ Robin McTaggart ทำให้ผมตระหนัก ว่ากระบวนการปฏิรูปเป็นการต่อสู้ทางอำนาจ หรือทางการเมืองอย่างหนึ่ง    และการปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษแรก เป็นชัยชนะของนักการศึกษา หรือกระทรวงศึกษาธิการ    ที่รวบอำนาจการจัดการศึกษาไว้มากขึ้น   ผมเข้าใจอย่างนี้ไม่ทราบว่าผิดหรือถูก    และต้องขออภัยมิตรนักการศึกษาทั้งหลายด้วยที่วิเคราะห์ตรงๆ เช่นนี้    โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยกันฟื้นคุณภาพการศึกษาไทยเป็นหลัก    ไม่ได้มีเจตนาจ้วงจาบนักการศึกษาแต่อย่างใด

          ที่ผมเข้าใจเช่นนี้ ก็เพราะผมเปรียบเทียบกับการปฏิรูประบบสุขภาพของไทยในช่วงเวลาเดียวกัน   เชื่อไหมครับ ว่าใน ๑๐ ปีที่ผ่านมา ระบบสุขภาพเปลี่ยนแปลงมากกว่าระบบการศึกษา    และเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้ามกับระบบการศึกษา    คือระบบสุขภาพ เกิดความหลากหลายขององค์กรในระบบมากขึ้น (เป็น Complex Adaptive Systems ยิ่งขึ้น)    มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจในระบบ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรของประเทศมากขึ้น    ประชาชนเข้ามามีส่วนมีเสียงในการตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น และกำกับดูแลระบบมากขึ้น   ที่สำคัญคือ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ประชาชนได้รับประโยชน์และมีความพึงพอใจต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพอย่างมากมาย  

          ผมมองว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยทศวรรษแรก มองเชิงระบบ เป็นการถอยหลังเข้าคลอง    ในลักษณะที่เน้น bureaucracy มากขึ้น   เน้น unity ของระบบ มากกว่า diversity ของระบบ   เน้นการจัดการแบบ simple top-down system มากกว่า Complex Adaptive Systems   เน้นให้อำนาจของวิชาชีพการศึกษา มากขึ้น   คือเน้นปริญญาครู มากกว่าเน้นผลงานต่อศิษย์  

          ไม่ทราบว่าผมคิดผิดหรือถูก ที่มองว่าการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ ๒ ต้องตีโจทย์ให้แตก    ว่าหัวใจของการปฏิรูปคืออะไร   และผมว่าหัวใจคือการปฏิรูประบบ ปฏิรูปวิธีคิดเชิงระบบ    ว่าระบบการศึกษาควรมีลักษณะอย่างไร   ควรแตกต่างไปจากทศวรรษแรกอย่างไร  

          ต้องระวัง ไม่ให้ประเด็นเชิงเทคนิคกลายเป็นหัวใจของการปฏิรูป    ต้องให้ประเด็นเชิงระบบเป็นหัวใจ    การปฏิรูปเทคนิคภายใต้ระบบที่ผิด จะยิ่งจมลงไปในปัญหา    ยิ่งปฏิรูปคุณภาพของผลการศึกษายิ่งเลวลง

ิจารณ์ พานิช
๒๓ มี.ค. ๕๒


           
 

หมายเลขบันทึก: 252138เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท