เรื่องดีๆ จากปัตตานี


การดูแลที่เน้นคน (ผู้ป่วย ครอบครัว) เป็นศูนย์กลาง และเป็นการทำงานที่มี “ใจนำ” ไม่ใช่วิชาการนำ จึงหลุดพ้นจากข้อจำกัดของระบบต่างๆ ที่มี

เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒ ดิฉันไปทำหน้าที่วิทยากรบรรยายเรื่อง “การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังด้วยจิตวิญญาณ” ในการประชุมวิชาการ “การวิจัยเชิงคุณภาพกับสุขภาพองค์รวม” ณ โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี สสส. และชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ดิฉันเข้าใจว่าการประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการศึกษาบทบาทพยาบาลในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒

ทีมจัดการประชุมส่งรถตู้ของ รพ.โคกโพธิ์ มารับพร้อมกับน้องนก นฤมล บุญเลิศ พยาบาลจาก รพ.เทพาและเพื่อนอีก ๑ คน ทั้งหมดมาค้างที่เรือนวลัยภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่คืนวันที่ ๑๘ เนื่องจากคืนนั้นมีงานเลี้ยงที่นักศึกษาพยาบาลปี ๒ จัดให้รุ่นพี่บัณฑิตใหม่ ดิฉันจึงขอเดินทางไปปัตตานีในตอนเช้าวันที่ ๑๙ เวลา ๐๔.๓๐ น. เพื่อให้ทันการบรรยายที่จะเริ่มในเวลา ๐๙.๐๐ น.

คืนวันที่ ๑๘ ดิฉันกลับจากงานเลี้ยงถึงบ้านพักเกือบ ๒๐.๓๐ น.แล้ว จัดการธุระส่วนตัวเสร็จก็เริ่มจัดเตรียมไฟล์การนำเสนอ ได้พบว่าคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คไม่สามารถต่ออินเตอร์เน็ตผ่านระบบ ADSL ได้ สงสัยว่า driver อาจจะมีปัญหา (เคยเกิดมาครั้งหนึ่งแล้ว) จึง download กรณีตัวอย่างจากบันทึกใน Gotoknow ตามที่ตั้งใจไว้ไม่ได้ จะไปทำที่ office ก็ดึกมากแล้ว เลยเปลี่ยนแผนใหม่ ใช้เวลาตกแต่งโน่นนี่อยู่นานกว่าจะได้เข้านอนก็เลยเวลา ๐๑ น.ไปนานเลย

ตื่นนอนเกือบ ๐๔ น.ตามนาฬิกาปลุก ดื่มกาแฟได้ครึ่งถ้วย รถตู้มารับที่บ้านพักตรงเวลา เราใช้เส้นทางผ่านระโนด เจอฝน (ไม่หนัก) เป็นบางช่วง พบเห็นชาวบ้านบางส่วนเดินออกกำลังกายกันแต่เช้ามืดเป็นระยะๆ พระออกบิณฑบาทแล้ว ดิฉันไม่รู้สึกง่วงคุยเรื่องต่างๆ กับน้องนกไปตลอดทาง คุณลุงโชเฟอร์ขับรถอึดและทนมาก หยุดพักเพื่อเข้าห้องน้ำเพียงครั้งเดียว เราแวะส่งเพื่อนของน้องนกที่ต้องไปทำงานในวันนี้ระหว่างทาง

เราเดินทางถึงโรงแรมซีเอส ประมาณ ๐๘.๑๕ น. มีเวลารับประทานอาหารเช้า และทักทายคนรู้จัก เช่น ผศ.ดร.กิตติกร นิลมานัต อาจารย์พยาบาลจาก มอ. คุณปั้ง วิไลวรรณ ชัยรัตนมโนกร จาก สสจ.สงขลา (เคยทำงานอยู่ที่ สสจ.ปัตตานี) คุณกุ้ง จาก สสจ.ปัตตานี คุณอรัญญา ฤทธิเดช จาก รพ.แม่ลาน เป็นต้น ทีมผู้จัดงานซื้ออาหารขึ้นชื่อเป็นข้าวเหนียวกับแกงปลาและไข่มาให้ลองรับประทานด้วย

ในการบรรยายดิฉันใช้กรณีการทำงานของทีมเครือข่าย KM เบาหวาน เป็นตัวอย่างของการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังด้วยจิตวิญญาณ หลายตัวอย่างของการทำงานไม่ว่าจะเป็นของทีมครบุรี ทีมพุทธชินราช ทีม รพร.ธาตุพนม และทีมวารินชำราบ เป็นการดูแลที่เน้นคน (ผู้ป่วย ครอบครัว) เป็นศูนย์กลาง และเป็นการทำงานที่มี “ใจนำ” ไม่ใช่วิชาการนำ จึงหลุดพ้นจากข้อจำกัดของระบบต่างๆ ที่มี

เดิมดิฉันตั้งใจว่าจะบรรยายไปช่วงหนึ่งก่อนแล้วฉาย VDO “หมอฝอยทอง” แต่บังเอิญในวันนั้นที่โรงแรมมีการประชุมหลายงาน เขาจึงไม่มีเครื่องฉาย VDO แยกให้ต่างหาก ดิฉันจึงต้องฉาย VDO ให้เสร็จตั้งแต่เริ่มต้น สังเกตเห็นว่าผู้เข้าประชุมให้ความสนใจกันดีมาก ดิฉันเองดู VDO เรื่องนี้นับสิบๆ ครั้ง ยังไม่รู้สึกเบื่อ จับประเด็นเล็กๆ ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้ง

ดิฉันได้รับทราบว่าในจังหวัดปัตตานีก็มีเรื่องดีๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเบาหวานหลายเรื่อง ที่เห็นมาจากงาน HA Forum เรื่องหนึ่งก็คือการประยุกต์ใช้ Vacuum Dressing ของคุณหมอยา สารี รพ.ไม้แก่น ดิฉันขอให้ผู้มีเรื่องราวดีๆ เขียนเรื่องเล่าความสำเร็จส่งมาให้และเชิญชวนเข้าร่วมตลาดนัดความรู้เบาหวาน-ความดันสูง ระดับภูมิภาคและงานมหกรรม KM-DM HT ในเดือนสิงหาคม

คุณวัชรา วาเห็ง พยาบาลจาก รพ.มายอ สนใจและซื้อ VCD เพื่อเอาไปฉายให้ผู้ป่วยของตนดูและเล่าว่าได้นำหลักศาสนามาประยุกต์ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ดิฉันขอชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้เพื่อจะได้ติดต่อและติดตามการทำงานของน้องต่อไป คุณวัชราถามว่าอยากให้ดิฉันไปช่วยที่โรงพยาบาล จะกล้าไปไหม ดิฉันตอบว่าไปได้เพราะน้องๆ ยังอยู่ทำงานกันได้เลย

หลังพักรับประทานอาหารว่าง มีการนำเสนอผลงานวิจัยเชิงคุณภาพของพยาบาลจาก รพ.ต่างๆ มองเห็นโอกาสในการพัฒนางานหากมีการศึกษาให้ลึกยิ่งขึ้นและให้เลยกรอบความคิดเดิมๆ ที่เราคุ้นชิน

หลังรับประทานอาหารกลางวัน เราออกเดินทางกลับ เที่ยวนี้เราแวะส่งอาจารย์ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มอ. และส่งผู้เข้าประชุมท่านหนึ่งที่จุดต่อรถไปสตูล เที่ยวนี้คุณลุงโชเฟอร์ชวนภรรยานั่งไปเป็นเพื่อนด้วย ระหว่างทางเราเอาขนมฝากให้ทหารตามจุดตรวจต่างๆ โดยแต่ละจุดก็บอกว่าเป็นของฝากจากพยาบาลจังหวัดปัตตานีบ้าง รพ.อื่นบ้าง รวมทั้งจากอาจารย์พยาบาล ทหารเหล่านี้ดูยังมีอายุน้อย ท่าทางสุภาพและ อ่อนน้อม

เราเจอฝนตกแถวสงขลา เส้นทางของเราต่างจากขาไปจึงใช้เวลากว่า ๕ ชม.จึงถึงท่าศาลาเมื่อเวลา ๑๘.๑๕ น. ดิฉันชวนทุกคนไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้าน “ท่าศาลาซีฟู๊ด” ใช้เวลากันนานหน่อยเพื่อพักขา เปลี่ยนอิริยาบถให้คลายความเมื่อย

อาหารมื้อเย็นมีหอยตลับต้มตระไคร้ (หวานมาก) ปูม้าสดๆ นึ่ง ปลาอินทรีย์ทอดซีอิ้ว และยำผักกรูด ดิฉันมีความสุขที่ทุกคนรู้สึกเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะคุณลุงโชเฟอร์ หลังจากส่งดิฉันที่บ้านพักเรียบร้อยแล้ว ทีมที่มาส่งก็เดินทางกลับ คาดว่าน่าจะถึงปัตตานีราวๆ ๒๔ น. ดิฉันรู้สึกชื่นชมทั้งคุณลุงโชเฟอร์และน้องนกที่ต้องเดินทางไป-กลับตั้งแต่เมื่อวานนี้ถึง ๔ เที่ยว นับเวลากว่า ๑๒ ชม.โดยไม่มีท่าทีเบื่อหน่าย รู้สึกชื่นชมการทำงานและอัธยาศัยของทีมงาน สสจ.ปัตตานี ชื่นชมน้องๆ พยาบาลที่หยิบเอาการวิจัยเชิงคุณภาพมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการทำงานของตนเอง

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 249846เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2009 23:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์ นั่งอ่านนั่งคิดตามนั่งลุ้นคนขับ รถกับสายฝน นั่งคิดต่อว่าอาจารย์จะไปฃ่วยคุณวัชราที่มายอ ติดต่อเรื่องร้ายๆ ที่หลายคนอยากไปช่วย แต่ไม่กล้าเสี่ยง ทำให้พื้นที่ขาดโอกาส

แต่สุดท้ายก็มีความสุขเหมือนได้ซดน้ำหอยหลับต้มไคร

ขอบคุณอาจารย์ครับ

มีความสุข ตอนนึกถึงอาหารทะเลสดๆ ในย่อหน้าสุดท้าย ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท