สื่อเพื่อเด็ก กับ เด็กทำสื่อ โอกาสและความเป็นไปได้


คงจะต้องรีบหาคำตอบที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ในรูปของ การสนับสนุนด้วยเงินทุน ที่เรียกว่า กองทุนสื่อเพื่อเด็ก ที่มีภารกิจหลัก ๔ ด้าน สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์สื่อ สนับสนุนเด็กเยาวชน สร้างและเฝ้าระวังสื่อ สนับสนุนการวิจัยด้านสื่อ และ สนับสนุนพื้นที่ทางเลือกในการนำเสนอสื่อ

(๑)     ชวนกลับมานึกถึง เจ้าขุนทอง เห็ดหรรษา ทุ่งแสงตะวัน แผ่นดินเดียวกันบ้านฉันบ้านเธอ สำรวจโลก รายการดีๆที่ต้องพบอุปสรรคมากมาย

            หากนึกถึงรายการโทรทัศน์ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็ก เยาวชน ครอบครัว และ รายการถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่นั่งดูรายการโทรทัศน์แล้ว รายการ “เห็ดหรรษา” “เจ้าขุนทอง” “ทุ่งแสงตะวัน” “แผ่นดินเดียวกันบ้านฉันบ้านเธอ” “สำรวจโลก” ล้วนแต่ประสบกับปัญหาและอุปสรรคที่คล้ายๆกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสถานีโทรทัศน์จำต้องนำผลสำรวจคะแนนความนิยมเชิงปริมาณ (เรตติ้งเชิงปริมาณ) ที่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ชม (ที่ทางบริษัทผู้สำรวจที่ชื่อว่า AC Neilson อ้างว่าได้ไปทำการสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ) มาเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพิจารณาถึงช่วงเวลาในการออกอากาศ รวมไปถึง สามารถออกอากาศได้หรือไม่ (เพราะว่า ระดับเรตติ้งเชิงปริมาณ ส่งผลต่อ การสนับสนุนของบริษัทโฆษณารายการ และส่งผลต่อไปยัง ผลกำไรและความสามารถในการจ่ายค่าเวลาในการออกอากาศ) นั่นหมายความว่า รายการเหล่านี้ มักเป็นกลุ่มรายการแรกๆที่สถานีโทรทัศน์จำเป็นที่จะต้องขยับเวลา หรือ ไม่ก็ต้อง งดออกอากาศ

          เห็ดหรรษาออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๙ ทางสถานีโทรทัศน์ ITV ของ “น้านิด” หรือ ภัทรจารีย์ อัยศิริ ผู้ซึ่งเคยผลิตรายการ “ผึ้งน้อย” ที่ในอดีตย้อนหลังไปในปี ๒๕๒๙ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักรายการนี้ ทั้งสองรายการของน้านิด เป็นรายการโทรทัศน์ที่ส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้การมีชีวิตอย่างมีคุณค่าของเด็กๆ ทั้งยังสอดแทรกเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับวิชาต่างๆในชั้นเรียนเข้ากับเสียงดนตรีเป็นเพลงที่ทำให้เด็กๆมีชีวิตชีวาในการเรียนนอกห้องเรียน แต่ทว่า ตอนนี้ เด็กๆไม่มีรายการนี้ให้ร้อง เล่น เต้น ตามจังหวะหน้าจอโทรทัศน์อีกแล้ว

          เจ้าขุนทอง ของน้าอ้าว ทางช่อง ๗ เป็นรายการที่อยากให้เด็กๆได้รับการเรียนรู้ด้านภาษา และ จริยธรรม คุณธรรม หรือ รายการทุ่งแสงตะวัน ทางช่อง ๓ เป็นรายการตัวอย่างที่จะบอกถึงคำจำกัดความของคำว่า สาระบันเทิง (Edutainment = Education + Entertainment) ด้านสิ่งแวดล้อม และ ศักยภาพของเด็ก เยาวชน ในชุมชนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งสองรายการนี้ต้องขยับเวลาอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเวลานี้ออกอากาศในช่วงเช้ามืด ประมาณ ตีห้า ถึง หกโมงเช้า เท่ากับว่า เด็กๆที่อยากชมรายการนี้ ต้องขยันเป็นพิเศษ

          สำรวจโลก รายการสารคดีวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ที่สร้างเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์พร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว ประสบกับอุปสรรคจากเรตติ้งเชิงปริมาณ ต้องย้ายจากช่อง ๙ ไปช่อง ๕ และขยับเวลาจากช่วงเวลาดี หรือ ไพร์มไทม์ มาเป็นเวลานอกไพร์มไทม์ และในที่สุด ต้องย้ายไปอยู่ช่อง ๑๑ และขยับตัวเองไปอยู่ที่เคเบิ้ลทีวี

          หากย้อนกลับมาดูผังรายการโทรทัศน์ของทุกสถานีในช่วงกว่า ๓ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือน กันยายน ๒๕๕๐ ถึง ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ รายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในช่วง ๑๖.๓๐ น. – ๑๘.๓๐ น. มีรายการ ป และ ด รวมกันจากทุกสถานีเฉลี่ยเพียงร้อยละ ๑๐ หรือประมาณ ร้อยละ ๑.๗ ในแต่ละสถานี จากที่กำหนดไว้ถึงร้อยละ ๒๕ ในแต่ละสถานี

          รายการสำหรับเด็กหลายรายการต้องปิดตัวเองลง หรือไม่ก็ต้องย้ายไปอยู่ในสถานีโทรทัศน์ในสื่อกระแสรองที่จำกัดเฉพาะเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งที่สามารถรับชมได้ เช่น ETV หรือ เคเบิ้ลทีวี

          ไม่ต่างอะไรกับ รายการวิทยุสำหรับเด็กเล็กอายุ ๓-๕ ปีที่มีอยู่จำนวนน้อยเพียงไม่กี่รายการ เช่น รายการ “โลกของเด็ก” ที่หายไปจากหน้าคลื่น FM ๙๒.๕ MHz ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่เป็นสื่อของรัฐ กว่า ๓ ปีแล้ว สาเหตุหลักก็คือ “ขาดการสนับสนุน” หรือ รายการแบ่งฝันปันรัก รายการที่เป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดของเด็กทางคลื่นเดียวกัน ซึ่งแม้ได้รับการสนับสนุนจาก ยูนิเซฟ แต่ทั้งหมดกำลังสะท้อนความจริงว่า รายการวิทยุที่มีคลื่นอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นคลื่นของรัฐ กลับมีรายการวิทยุเพื่อเด็กอยู่เป็นจำนวนน้อย

            ในขณะที่สื่อภาพยนตร์ส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ถึง พ.ศ.๒๕๕๐ พบว่า ในบรรดาภาพยนตร์กว่า ๓๑๙ เรื่องในปี ๒๕๔๙ และ ๒๔๘ เรื่องในปี ๒๕๕๐ ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ในระดับที่ผู้ชมอายุต่ำกว่า ๑๓ ปีต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่กว่าร้อยละ ๓๕ และมีภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี (คือ ระดับ NC 17 และ R ถึงร้อยละ ๒๗-๓๑ ส่วนภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศไทย โดยผู้สร้างคนไทย เช่น ต้มยำกุ้ง เมื่อบินบัดฟ้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการติดสัญลักษณ์ NC 17

ย้อนหลังกลับไปในปี ๒๕๔๙ เราคงนึกถึง “โหมโรง” ที่ได้สร้างปรากฎการณ์ของภาพยนตร์เชิงคุณภาพที่ชูประเด็นเรื่องศิลปะ วัฒนธรรมด้านดนตรีไทย ถึงแม้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่าการเรียนรู้ ปลุกจิตสำนึกของคนไทย เหมาะสมที่จะให้เด็ก เยาวชน ได้เรียนรู้ และหวงแหนดนตรีไทย แต่กลับไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ทั้ง การส่งเสริมการผลิต สร้างสรรค์ รวมไปถึง ส่งเสริมวัฒนธรรมการสนับสนุนให้เกิดการชมภาพยนตร์คุณภาพ กว่าที่ โหมโรง จะไม่ต้องขาดทุนและเป็นต้นแบบของภาพยนตร์ดีแต่ขาดทุน ต้องอาศัยการสนับสนุนที่ได้มาอย่างยากลำบาก

พยายามที่จะกล่าวถึงภาพยนตร์สำหรับเด็ก และเยาวชน แต่เราคงนึกหน้าตาภาพยนตร์กลุ่มนี้ไม่ออก เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ปรากฎว่ามีภาพยนตร์ในกลุ่มนี้ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยฝีมือคนไทย ยังคงต้องอาศัยการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และ ต้องอาศัยโรงภาพยนตร์เฉพาะ และ ช่วงเทศกาลเฉพาะ เช่น เทศการหนังสั้นสำหรับเด็ก เยาวชน

ไม่เว้นแม้แต่สื่อประเภทหนังสือ “อิเล้งเค้งโค้ง” หนึ่งในหนังสือภาพ (ที่มีอยู่น้อย) ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กเล็ก เพราะจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้พร้อมไปกับพ่อแม่ที่ช่วยอ่าน แต่หนังสือกลุ่มนี้มีต้นทุนสูง ทำให้ราคาจำหน่ายสูงตามไปด้วย หรือ วรรณกรรมสำหรับเยาวชนที่จะช่วยสร้างเสริมจินตนาการ ที่จะพัฒนาไปพร้อมกับอุปนิสัยในการรักการอ่าน ก็มีจำนวนน้อยเมื่อเทียวกับจำนวนประกรเด็กและเยาวชนที่มีอยู่กว่าร้อยละ ๑๕ ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

www.sema.go.th หรือ www.thaigoodviews.in.th เว็บไซต์ที่บรรจุเนื้อหาสาระการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า E-Learning ที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือนอกห้องเรียน รวมไปถึง เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้นอกหลักสูตรการศึกษา เช่น  ความรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่าน www.thaiparents.net โดยเฉพาะเรื่องของความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวกับเพศ เช่น เว็บไซต์ www.eotoday.com/sexmustsay ที่จะเป็นภูมิต้านทานที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างถูกต้อง กลับมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับเว็บไซต์ที่มีอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต

GTA หรือ  Grand Theft Auto เกมคอมพิวเตอร์แบบออฟไลน์ที่เป็นข่าวคราวโด่งดัง สาเหตุหลักก็คือ ข่าวของเด็กวัยรุ่นชั้น ม.๖ ฆ่าแท็กซี่เสียชีวิต และให้การว่า เลียนแบบจากเกมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว สะท้อนภาพจริงในสังคมอย่างชัดเจนว่า ๒ ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นจากเกมคอมพิวเตอร์ ทั้ง การใช้เวลาเล่นเกมมากเกินไปจนเสียการควบคุมตนเอง และ โอกาสในการเลียนแบบเกมคอมพิวเตอร์ มีผลจากปัจจัยพื้นฐานว่า เรามีเกมทางเลือกในเชิงสร้างสรรค์ให้เด็ก เยาวชน ไทย น้อยมาก ทำให้เราต้องบริโภคเกมตามกระแสตลาดทุน ซึ่งมักจะต้องผลิตเกมที่เน้นด้านมืดของมนุษย์ ทั้ง เรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรง

จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดนี้ สื่อในกระแสจะอยู่รอดได้ ต้องอาศัยและพึ่งพากลทางการตลาด จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม สื่อเพื่อเด็ก ถึงแม้ ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นสิ่งที่ดีและต้องมื แต่เมื่อไม่สามารถตอบโจทย์การตลาดได้ สื่อเหล่านี้จึงต้องประสบชะตากรรมอย่างที่เป็นอยู่

 

(๒)   เส้นทางของการมีส่วนร่วมของเด็กกับสื่อ : เด็กทำสื่อ กับ เด็กเฝ้าระวังสื่อ

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กในประเด็นด้านสื่อ เป็นสิทธิพื้นฐานอันสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของสื่อที่ตรงกับความต้องการของเด็กอย่างแท้จริง ในแง่ของการมีส่วนร่วมของเด็กกับสื่อสามารถจำแนกได้เป็น ๒ ลักษณะใหญ่ๆ อย่างแรกก็คือ การมีส่วนร่วมแบบหน้าจอ นั่นหมายถึง การเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน ได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อ และถูกรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง พัฒนา เราเรียกกระบวนการนี้ว่า การเฝ้าระวังสื่อ เหมือนกับที่ “ขบวนการตาสับปะรด” หรือ “สภาเยาวชนแห่งประเทศไทย” ได้พยายามที่จะรวมกลุ่มตามธรรมชาติและทำการเผ้าระวังรายการโทรทัศน์ หรือแม้แต่ “เครือข่ายครอบครัวอาสาเฝ้าระวังสื่อ” ที่เป็นการรวมตัวของเครือข่ายพ่อแม่ที่มี “จิตอาสา” ที่จะเข้ามา “เฝ้าระวัง” และ “สะท้อนความคิดเห็น” ภายใต้ฐานงานวิชาการเรื่องเรตติ้งเชิงคุณภาพ ไปยังสถานีโทรทัศน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ผลิต สาถนีโทรทัศน์ นักวิชาการ และ เด็ก เยาวชน พ่อแม่ ไปด้วยกัน ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพรายการโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง

อย่างที่สอง ก็คือ การมีส่วนร่วมในฐานะของ “ผู้ผลิต” หลายคนคงจะรู้จัก “สำนักข่าวเยาวชนไทย” ของ พี่วีระ สุวรรณโชติ ที่เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน เป็นผู้ผลิตข่าว เป็นนักข่าว มีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ถ่ายทำ ตัดต่อ ไปจนถึง การเป็นนักข่าวรุ่นเยาว์ หรือ บ้านนอกทีวี ของมูลนิธิกระจกเงา ที่เปิดโอกาส พื้นที่ ให้เด็กในหมู่บ้านห้วยขม แม่ยาว เชียงราย ได้ทำรายการโทรทัศน์เองทั้งกระบวนการ โดยอาศัยการถ่ายทอดของทีวีชุมชนในตำบลเล็กๆ

“ขบวนการตาสับปะรด” นักข่าววิทยุรุ่นเยาว์ในรายการ “ร่วมด้วยช่วยเด็ก” ที่เป็นเพื่อนคุยรุ่นเดียวกันกับผู้ฟังรุ่นเยาว์ ทำให้การใช้ภาษา ความคิด ของดีเจเป็น “ภาษา” เดียวกับผู้ฟัง

เช่นเดียวกับกลุ่ม IGD หรือ (Interactive Graphic Development) เป็นตัวอย่างของเด็กและเยาวชน ๘ ชีวิต จากโรงเรียนนวมินทรราชูทิศ เตรียมอุดมน้อมเกล้า ที่สร้างสรรค์เกม Confuse Way เกมพิทักษ์สิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งเกมในประเภทแนวเกมแบบ Serious Game ที่เข้ามาช่วยทำให้มุมมองเรื่องเกม ไม่ได้มีแต่เพียงเกมที่เน้นความรุนแรงเพียงอย่างเดียวได้เป็นอย่างดี ไม่ได้หยุดแค่เพียงสมาชิกกลุ่มนี้ ยังมีเด็ก เยาวชนที่กำลังสนุกกับการสร้างสรรค์เกมคอมพิวเตอร์เชิงสร้างสรรค์ แต่ส่วนใหญ่ของน้องๆเหล่านี้ กลับไม่รู้อนาคตของตัวเองว่า ผลิตทำไม ? จะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ ? ทั้งที่ ผลลัพธ์ของการทำงานล้วนมีแต่ประโยชน์ต่อประเทศไทย

กลุ่ม FUSE.in.th เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ที่เปิดพื้นที่ในโลกอินเทอร์เน็ต และ ให้โอกาส เด็ก เยาวชน ที่มีความสามารถในการทำวีดีโอออนไลน์ เข้ามาตัดต่อวีดีโอ มิวสิควีดีโอ พื้นที่ของการ “ปล่อยของ” ที่เด็กๆเป็นผู้สร้างสรรค์ สะท้อนให้เห็นถึง วัฒนธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในยุคเว็บไซต์ 2.0 ที่เราไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนอ่านเว็บไซต์เท่านั้น แต่ เราเป็นหลักในการสร้างเนื้อหาบนเว็บไซต์ ได้เป็นอย่างดี การปล่อยของในลักษณะนี้ นำมาซึ่ง เนื้อหาความรู้ที่มีความหลากหลาย อยากให้นั่งจินตนาการดูว่า หากเด็กๆช่วยกันสร้างเนื้อหาในเว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้มากขึ้น เท่ากับว่า เราจะมี E-Learning มากมายเพียงใด

ประโยชน์ที่นอกเหนือไปจาก สื่อของเด็กที่เด็กเป็นผู้ผลิตจะ “ต้องใจ” และ “ตรงใจ” เด็กที่เป็นผู้รับสื่อแล้ว กระบวนการในการสร้างสื่อ กระบวนการในการทำงาน ล้วนแต่เป็น การสร้างความภาคภูมิใจ การสร้างตัวตน พื้นที่ โอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถ

แต่น่าเสียดายที่ต้องกลับมากล่าวอีกครั้งว่า ทั้ง เด็กเฝ้าระวังสื่อ และ เด็กทำสื่อ นั้น ขาดกระบวนการในการส่งเสริมอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่อง เพียงเพราะเหตุผลสั้นๆว่า “ไม่มีงบประมาณในการทำงาน” หรือ “ขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง” ทำให้หลายโครงการ หลายกลุ่มคน ของพลพรรคเด็ก(เยาวชน)สร้างสรรค์สื่อ ต้องชะลอการสร้างสรรค์ผลงานตามแรงบันดาลใจ แต่กลับต้องสานฝันในการสร้างสรรค์สื่อเท่าที่มีแรง และ ทั้งหมด คงต่อสู้ได้ไม่นาน

กลับมาแก้ปัญหาที่สาเหตุ : ทำไมสื่อเพื่อเด็กมีน้อย ทำไมเด็ก (เยาวชน) เฝ้าระวังสื่อ และ เด็ก (เยาวชน) ทำสื่อหายไป

          ไม่ว่าใครก็ตาม ล้วนอยากที่จะแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องสื่อเพื่อเด็กที่จำเป็นจะต้องเร่งเพิ่มปริมาณและคุณภาพให้มีมากขึ้นเพียงพอต่อเด็กและเยาวชนที่มีอยู่ว่าร้อยละ ๑๕ ของสังคมไทย

แต่เมื่อการผลิตสื่อโดยเฉพาะสื่อเพื่อเด็กที่จะต้องตอบโจทย์การตลาดที่ว่าจะต้องมีคนชมจำนวนมาก ส่งผลให้มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนรายการมากขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้น มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าเวลาในสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ สร้างกำไรจากภาพยนตร์สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว หรือ จากเกมคอมพิวเตอร์  

หรือ กรณีของสื่อที่เด็ก (เยาวชน) เป็นผู้ผลิต สร้างสรรค์ กลับจะต้องตอบทั้งโจทย์ของคุณภาพของงาน และโจทย์เรื่องการตลาด โดยไม่ได้มองลงไปที่คุณค่าของเนื้อหาของสื่อที่เด็กจะได้รับจากการรับสื่อ และ ไม่ได้มองลงไปที่คุณค่าของกระบวนการการผลิตสื่อที่ซ่อนอยู่ในขั้นตอนของการผลิตที่เด็กๆเป็นคนสร้างสรรค์

ทำให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้สนับสนุน ต้องยอมถอยฉากและเปิดพื้นที่การนำเสนอให้กับสื่อที่ตอบโจทย์การตลาด ได้มากกว่า ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้วสื่อเหล่านั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าด้านการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน ครอบครัวที่เป็นผู้รับสื่อ

ทั้ง ๒ กรณีเกิดขึ้นจากการขาดแรงเสริมจาก ๕ ข้อต่อ (๑) กระบวนการสร้างความรู้ในการสร้างสรรค์สื่อเชิงคุณภาพที่เรียกว่า สาระบันเทิง หรือ Edutainment อย่างจริงจังให้กับผู้ผลิตทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นรุ่นเยาว์ (๒) ระบบการสนับสนุนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้กับผู้ผลิตทั้งมืออาชีพและมื่อสมัครเล่นรุ่นเยาว์ (๓) กลไกการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัวในการเฝ้าระวังและสะท้อนเสียงความคิดเห็นที่ได้รับการยอมรับไปยังผู้ผลิตสื่อ (๔) กลไกการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว เป็นผู้สร้างสรรค์สื่อทั้งสื่อเก่า และ สื่อใหม่อย่างจริงจัง ที่ส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ผลักดันผลงานที่เกิดขึ้นจนได้รับการยอมรับและสามารถสร้างรายได้เพื่อเป็นต้นแบบและสร้างกระแสเชิงบวก (๕) การสร้างพื้นที่ในการนำเสนอสื่อทางเลือกเพื่อเด็ก เยาวชน ครอบครัว ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นรุ่นเยาว์ เช่น สถานีโทรทัศน์ วิทยุ โรงภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ และเว็บไซต์ เพื่อเด็ก เยาวชนครอบครัว

หากเรามีกลไกในการส่งเสริมให้เกิดสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน ครอบครัว จากผู้สร้างสรรค์สื่อประเภทนี้ที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม รวมทั้ง การส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเด็ก เยาวชน สร้างสรรค์สื่อ ที่ดี ที่เราก็มีเด็กๆกลุ่มนี้อยู่แล้วเป็นต้นทุนสำคัญ เราจะได้กองทัพคน และ กองทัพสื่อจำนวนมากมายมหาศาลให้เป็นทางเลือกให้กับเด็ก เยาวชน ครอบครัว

ถึงเวลานี้ คงจะต้องรีบหาคำตอบที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ในรูปของ การสนับสนุนด้วยเงินทุน ที่เรียกว่า กองทุนสื่อเพื่อเด็ก ที่มีภารกิจหลัก ๔ ด้าน สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์สื่อ สนับสนุนเด็กเยาวชน สร้างและเฝ้าระวังสื่อ สนับสนุนการวิจัยด้านสื่อ และ สนับสนุนพื้นที่ทางเลือกในการนำเสนอสื่อ

คุณหมอพรรณพิมล หล่อตระกูล เล่ากรณีศึกษาของเด็กผู้หญิงชั้นอนุบาลคนหนึ่งที่แต่งตัวอยู่หน้ากระจกนานมาก และมักจะโพสต์ท่าทางเป็น”นางแบบ” หน้ากระจก จากการพูดคุยกับคุณแม่ได้ความจริงว่า น้องคนนี้ชอบดูโทรทัศน์และมักจะเลียนแบบดาราในหน้าจอ หรือ ตัวอย่างจากรายการจุดเปลี่ยน ที่แสดงข้อเท็จจริงให้เห็นว่า การปล่อยให้เด็กเล็กๆดูโทรทัศน์มากเกินไปส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษา อารมณ์ อย่างชัดเจน

นั่นหมายความว่า วันนี้ เราคงต้องยอมรับความจริงว่า สื่อมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ต่อเด็ก เยาวชน แต่หากปล่อยให้สื่อกระแสตลาดครองพื้นที่ทั้งหมด โดย ไม่มีพื้นที่ให้สื่อเพื่อเด็ก เยาวชน เพื่อเป็นทางเลือกหลักให้กับเด็กๆ รวมไปถึง โอกาสและพื้นที่ของเด็กสร้างสรรค์สื่อ เท่ากับว่า เราปล่อยให้อนาคตของสังคมไทยต้องอยู่กับสื่อที่มีแต่ความรุนแรง เพศที่ไม่เหมาะสม ภาษาที่หยาบคาย

คงต้องเร่งการสร้างเสริมอย่างจริงจังและลงมือปฎิบัติ เพราะในระหว่างการรอคอยกลไลเหล่านี้ เด็กๆของเรากำลังดูละครตบจูบ เล่นเกมฟาดฟันกันอยู่...



[1] ยกร่างโดย อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ภายใต้การให้คำปรึกษาของ (๑) ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัตน์ (๒) พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล

หมายเลขบันทึก: 249224เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2009 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รับความรู้ครับอาจารย์ :)

ขอบคุณครับ

ตอนนี้ผมรับงานเป็นผู้ติดตามงานยุทธศาสตร์และจัดการความรู้ของเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนภาคเหนือ ที่ สสย. (แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน) สนับสนุนอยู่

  • ข้อมูลของอาจารย์เป็นประโยชน์ต่อการนำไปขับเคลื่อนงานสื่อเด็กภาคเหนือ โดยเฉพาะประเด็นประวัติศาสตร์ของการขับเคลื่อนสื่อเพื่อเด็กครับ
  • แต่ข้อมูลสื่อเพื่อเด็กก็เป็นภาพจากส่วนกลางซะมาก อาจารย์พอจะมีข้อมูลของภาคเหนือบ้างไหม หรือจะมีข้อแนะนำอะไรเพิ่มบ้างครับ
  • ภาคเหนือ เรามีแผนจะทำ Media monitor อาจจะออกในรูปโพลล์ สกู๊ปลง น.ส.พ. TPBS เบื้องต้นได้คุยกับ ม.แม่โจ้ไว้
  • เรื่องจัดการความรู้ก็กำลังค่อยเป็นค่อยไป ยังหน่อมแหน้มครับ จะหาเวลามาเก็บข้อมูลจากอาจารย์เรื่อยๆ
  • แวะเยี่ยมเยือนหน้าตาเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนของภาคเหนือได้ที่ http://www.childmedia-n.net/
  • ขอบคุณมากครับ

สื่อเด็กรวมไปถึง การจัดการร้านเกมคาเฟ่ด้วยไหม ครับ

เพราะในการทำงานของโครงการเน้นการทำงานในส่วนกลางเป็นหลัก ยกเว้นเรื่องไอซีที ที่จะมีข้อมูลในระดับส่วนภูมิภาคครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท